พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความจริงที่มีเดี๋ยวนี้ตามลำดับ

 
เมตตา
วันที่  15 ธ.ค. 2566
หมายเลข  47073
อ่าน  299

สนทนาธรรม ณ แดนพุทธภูมิ @มุมไบ วันพุทธที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๖ (ช่วงเช้า)

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 22

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งที่มีวาทะว่าเที่ยง บัญญัติอัตตาและโลก ว่าเที่ยง สมณพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด ย่อมบัญญัติด้วยวัตถุ ๔ นี้เท่านั้น หรือด้วยอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๔ อย่างนี้ นอกจากนี้ไม่มี. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัดว่า ฐานะเป็นที่ตั้งแห่งวาทะเหล่านี้ ที่บุคคลถือไว้อย่างนั้นแล้ว ยึดไว้อย่างนั้นแล้ว ย่อมมีคติอย่างนั้น มีภพเบื้องหน้าอย่างนั้น. อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้เหตุนั้นชัด และรู้ชัดยิ่งไปกว่านั้น ทั้งไม่ยึดมั่นความรู้ชัดนั้นด้วย และเมื่อไม่ยึดมั่น ตถาคตก็รู้ความดับสนิทของตนเอง รู้ความเกิด ความดับ คุณ โทษแห่งเวทนาทั้งหลาย กับอุบายเป็นเครื่องออกไปจากเวทนาเหล่านั้น ตามความเป็นจริง. เพราะไม่ยึดมั่น ตถาคตจึงหลุดพ้น. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้ ที่ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบประณีต จะคาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ที่ตถาคตทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง อันเป็นเหตุให้คนทั้งหลายกล่าวชมตถาคตตามความเป็นจริงโดยชอบ. จบภาณวารที่หนึ่ง


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 119

ข้อความบางตอนจาก ...

โพธิราชกุมารสูตร

ธรรมที่เราบรรลุแล้วนี้เป็นธรรมลึก ยากที่จะเห็นได้ สัตว์อื่นจะตรัสรู้ตาม ได้ยาก เป็นธรรมสงบระงับ ประณีต ไม่เป็นวิสัยที่จะหยั่งลงได้ด้วยความตรึก เป็นธรรมละเอียด อันบัณฑิตจะพึงรู้แจ้ง.


พระคุณเจ้า: อยากเข้าใจ อยากรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ตามที่สรุปแล้ว ไม่ใช่โดยการแค่คิดและเข้าใจ แต่ด้วยการรู้ตัวจริงของธรรม

ท่านอาจารย์: ถูกต้อง เพราะว่า คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าลึกซึ้ง พระองค์ทรงรู้ว่า ก่อนที่จะได้ฟัง คำ ที่ทำให้เข้าใจ กว่าจะได้ฟัง และพอได้ฟังแล้ว นานเท่าไหร่กว่าจะเข้าใจขึ้นๆ จนรู้ความจริงอย่างเช่น พระองค์ได้ตรัสรู้ได้

เพราะฉะนั้น ต้องอดทนจริงๆ มีความเพียรจริงๆ ที่จะเข้าใจ แต่ละคำ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่มีความเข้าใจขั้นต้น จะไม่สามารถมีความเข้าใจยิ่งขึ้นเป็นขั้นที่สองได้

ถ้าไม่มีความอดทน ไม่มีขันติ ไม่มีอธิษฐานะ ไม่มีธรรมที่จะทำให้เข้าใจสิ่งที่พระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว ขั้นต่อไปไม่มีทางที่จะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ จึงเริ่มเห็นความสำคัญของบารมี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความจริงที่มี เดี๋ยวนี้ ตามลำดับ ต้องรู้ว่า ถ้าไม่รู้ความจริง เดี๋ยวนี้ ไม่มีทางที่จะเข้าใจความจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และทรงแสดง.

[เล่มที่ 74] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้าที่ 571

อีกอย่างหนึ่งบารมีย่อมผูกสัตว์อื่นไว้ในตนด้วยการประกอบคุณวิเศษ หรือบารมีย่อมขัดเกลาสัตว์อื่นให้หมดจดจากมลทินคือกิเลส หรือบารมีย่อมถึงนิพพานอันประเสริฐที่สุดด้วยคุณวิเศษ หรือบารมีย่อมกำหนดรู้โลกอื่นดุจรู้โลกนี้ด้วยคุณวิเศษคือญาณอันเป็นการกำหนดแล้ว หรือบารมีย่อมตักตวงคุณมีศีลเป็นต้นอื่น ไว้ในสันดานของตนเป็นอย่างยิ่ง. หรือบารมีย่อมทำลายปฏิปักษ์อื่นจากธรรมกายอันเป็นอัตตา หรือหมู่โจรคือกิเลสอันทำความพินาศแก่ตนนั้น


มังคลัตถทีปนีแปล เล่ม ๔ - หน้าที่ 185

แม้ในอรรถกถา สังคีติสูตร ท่านก็กล่าวไว้ว่า "ความอดทนคือความอดกลั้น ที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้อย่างนี้ว่า ในมาติกาที่ยกขึ้นตั้งไว้ว่า ขันตินั้น ขันติเป็นไฉน? คือ ความอดทน ความเป็นคือความอดทน ความเป็นคือความอดกลั้น ความเป็นผู้ไม่ดุร้าย การไม่ปลูกน้ำตา ความที่จิตเบิกบานอันใด นี้ เรากล่าวว่า ขันติ"

[๔๑๓] ฎีกาสัพพาสวสูตร ในมูลปัณณาสก์ว่า "ขันติ ชื่อว่า อธิวาสนา เพราะเป็นเครื่องอดกลั้น คือ อดทนแห่งบุคคล ได้แก่อโทสะ อันเป็นไปโดยอาการ คือ อดทนต่อหนาวเป็นต้น หรือได้แก่กุศลขันธ์ ๔ มีอโทสะนั้นเป็นประธาน "ขันตินั้นด้วย เป็นเครื่องอดกลั้นด้วย เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า อธิวาสนขันติ

ฎีกาสัพพาสวสูตรนั้นว่า "ขันติอันอดกลั้น ธรรมชาติมีความหนาว เป็นต้น ที่เข้ามาถึงแล้ว ย่อมเป็นประหนึ่งว่าให้ความหนาวเป็นต้นเหล่านั้นอยู่เหนือตน เหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า อาโรเปตฺวา วาเสติเยว บทว่า น นิรสฺสติ คือ ไม่กำจัด ก็ผู้ใด ไม่ทนความหนาว เป็นต้น ผู้นั้น ย่อมเป็นราวกับว่าสลัด คือ กำจัดอยู่ซึ่งความหนาว เป็นต้นนั้น"

ขอเชิญอ่านได้ที่ ...

ธรรมลึกซึ้ง

ตัวจริง ... ?

ขอเชิญฟังได้ที่ ...

อดทนที่จะค่อยๆ เข้าใจสภาพธรรม

ศึกษาอย่างไรจึงจะถึงตัวจริงของธรรม

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 15 ธ.ค. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
swanjariya
วันที่ 18 ธ.ค. 2566

กราบเท้าท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ขอบพระคุณและยินดีในกุศลค่ะน้องเมตตา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ