กระบวนการของโยนิโสมนสิการ

 
teezaboo
วันที่  22 พ.ย. 2566
หมายเลข  46999
อ่าน  420

ลักษณะการคิดแบบโยนิโสมนสิการ เป็นแบบใด พระพุทธเจ้าเคยตรัสลักษณะการคิดแบบโยนิโสมนสิการเป็นลำดับไว้ไหม เพราะเหตุว่าศึกษาจากผู้อื่น แล้วพบว่า โยนิโสมนสิการมีลักษณะการคิด 10 ประการ

1. สืบสาวเหตุปัจจัย

2. แยกแยะส่วนประกอบ

3. สามัญลักษณะ – มองเห็นลักษณะพื้นฐานร่วมกันของสิ่งต่างๆ

4. อริยสัจจ์ – คิดแยกแยะ แก้ปัญหา

5. อรรถธรรมสัมพันธ์ – เข้าใจว่าหลักการ (ธรรม) นี้ มีจุดมุ่งหมายอะไร (อรรถ)

6. เห็นคุณ โทษ ทางออก

7. รู้คุณค่าแท้ คุณค่าเทียม – รู้คุณค่าที่แท้จริงของสิ่งนี้ รู้คุณค่าที่เสริมขึ้นมา

8. เร้าคุณธรรม

9. อยู่กับปัจจุบัน

10. วิภัชชวาท – คิดจำแนกแยกแยะให้ครบถ้วนทุกแง่มุม ทุกขั้นตอน ทุกทางเลือก

ซึ่งไม่แน่ใจว่าถูกต้องตามที่พระพุทธเจ้าต้องการจะสื่อหรือไม่

โปรดให้ความจ่างแก่เราด้วย

ขอขอบคุณ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 23 พ.ย. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอกล่าวถึงความหมายของคำว่า โยนิโสมนสิการ ว่า หมายถึงอะไร?
คำว่า โยนิโสมนสิการ มีความหมายว่า การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย, การใส่ใจอย่างแยบคาย, การใส่ใจอย่างถูกต้อง ไม่ใช่ตัวตนที่ไปทำ แต่เป็นธรรมเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ กระทำไว้ในใจหรือใส่ใจอย่างถูกต้องแยบคาย ในขณะที่เป็นกุศล ความหมายของโยนิโสมนสิการ ในอรรถกถาทั้งหลาย เช่น ในปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ปฐมเสขสูตร ได้อธิบายไว้ว่า

โยนิโสมนสิกาโร ได้แก่ มนสิการโดยอุบาย มนสิการโดยคลองธรรม มนสิการโดยนัยในอนิจจลักษณะเป็นต้นว่า เป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น หรือการพิจารณา การตามพิจารณา การรำพึง การใคร่ครวญ การใส่ใจอนุโลม (คล้อยตาม) ในของไม่เที่ยง นี้ชื่อว่า โยนิโสมนสิการ”


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แสดงให้เข้าใจสิ่งที่มีจริง โดยละเอียด ตามความเป็นจริงของสิ่งที่มีจริงนั้นๆ ซึ่งยากที่จะรู้ได้ เพราะได้อาศัยพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง จากที่มืดมิดด้วยความไม่รู้ ก็จะค่อยๆ เข้าใจในสิ่งที่มีจริงยิ่งขึ้น เข้าใจถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

ผู้ศึกษาพระธรรมก็พอที่จะพิจารณาเห็นได้ว่า ทั้งๆ ที่รู้ว่ากุศลคืออะไร และอกุศลคืออะไร กุศลก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และอกุศลก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นอกุศล ก็ยังตามอกุศล เป็นไปกับด้วยอกุศล ไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย แล้วแต่ว่าขณะใดโยนิโสมนสิการเกิดขึ้น ขณะนั้นก็เป็นกุศล มีการพิจารณาสภาพธรรมอย่างถูกต้องแยบคายขณะใด ขณะนั้นก็เป็นปัจจัยให้กุศลจิตเกิด

สำหรับในเรื่องของโยนิโสมนสิการ นั้น ตามความเป็นจริงแล้ว ถ้าไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ก็จะไม่สามารถจะรู้ได้ในความหมายของโยนิโสมนสิการ เพราะว่าโดยศัพท์ แปลได้ แต่ว่าไม่ทราบว่า ขณะไหนเป็นโยนิโสมนสิการ และขณะไหนไม่เป็นโยนิโสมนสิการ ก็เลยทำให้ดูเหมือนกับค้นหากันใหญ่ ถามกันว่านี่เป็นโยนิโสมนสิการไหม อย่างนี้เป็นโยนิโสมนสิการหรือเปล่า อย่างนั้นเป็นโยนิโสมนสิการหรือเปล่า แต่ว่าตามความเป็นจริง ถ้าเข้าใจหลักว่า ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นเป็นโยนิโสมนสิการ ขณะใดที่อกุศลจิตเกิด ขณะนั้นก็เป็นอโยนิโสมนสิการ ไม่ใช่โยนิโสมนสิการ

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าใครจะทำโยนิโส หรือว่าใครจะใช้โยนิโส แต่ว่าสภาพธรรมทั้งโยนิโสมนสิการและโยนิโสมนสิการต้องเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย บุคคลได้ฟังพระธรรม เห็นประโยชน์ของพระธรรม ก็ทำให้พิจารณาธรรมด้วยความถูกต้องได้ บางท่านมีเรื่องที่จะทำให้เกิดความขุ่นเคือง ไม่พอใจ แต่พอระลึกถึงพระธรรม ขณะนั้นจิตสงบ เป็นกุศล เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ขณะที่ระลึกถึงพระธรรมด้วยความถูกต้อง ด้วยความแยบคาย แล้วไม่เกิดอกุศล ขณะนั้นก็เป็นโยนิโสมนสิการ ไม่ต้องไปค้นหาที่ไหนอีก แต่ว่าวันหนึ่งๆ เดี๋ยวเป็นกุศล เดี๋ยวเป็นอกุศล ก็มีทั้งโยนิโสมนสิการ และ อโยนิโสมนสิการ

เพราะฉะนั้น ขณะใดที่เป็นกุศลเกิดขึ้น ไม่โกรธ หรือว่าไม่มีความคิดในทางที่ไม่ดีต่างๆ ขณะนั้นก็ให้ทราบว่าเป็นโยนิโสมนสิการ ก็คงจะเคยเป็นในลักษณะ เช่น ที่กำลังจะโกรธ แล้วก็นึกขึ้นได้ นึกถึงพระธรรม นึกถึงความไม่มีประโยชน์ของความโกรธ ขณะนั้นให้ทราบว่า ที่ไม่โกรธนั้นเป็นกุศลจิตและเป็นโยนิโสมนสิการ แต่ว่าขณะใดที่กำลังจะโกรธ แล้วก็ยังโกรธ และยังโกรธต่อไป ก็ให้ทราบว่า ขณะนั้น เป็นอโยนิโสมนสิการ ทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่ดี แต่เมื่อมีปัจจัยที่จะเกิดโกรธขึ้น ความโกรธที่เกิดนั้นก็เพราะอโยนิโสมนสิการ

เพราะฉะนั้น เวลาที่มีจุดประสงค์ที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็ไม่มุ่งที่จะเพียงแต่รู้ชื่อภาษาบาลียา วๆ ยากๆ แต่ต้องเข้าใจในอรรถว่า คำนั้นหมายความถึงสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้อย่างไร แม้แต่โยนิโสมนสิการคือขณะไหน ขณะที่กำลังฟังนี้เองแล้วเข้าใจ เป็นโยนิโสมนสิการแล้ว ก็จะไม่ต้องไปหาโยนิโสมนสิการที่ไหน แต่ว่าในขณะนี้เองที่กุศลจิตเกิด ขณะที่เข้าใจ ในขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่เป็นกุศลจึงเป็นโยนิโสมนสิการ

ดังนั้น เป็นโยนิโสมนสิการแล้ว ในขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน และเพราะเห็นประโยชน์ของกุศล ก็ย่อมจะไม่ละเลยโอกาสที่สำคัญที่จะทำให้กุศลเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการให้ทาน การรักษาศีล และ ที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา ทั้งหมดนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ครับ


... ยินดีในกุศลของคุณ teezaboo และทุกๆ ท่านด้วยครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 23 พ.ย. 2566

มนสิการเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง

มนสิการเกิดกับจิตทุกประเภท เกิดกับโลภะ เกิดกับโทสะ เกิดกับโมหะ เกิดกับวิบาก เกิดกับปัญญา เพราะฉะนั้นถ้าเกิดกับปัญญาๆ เป็นสภาพที่รู้ เห็นถูก แต่มนสิการเป็นสภาพที่ใส่ใจด้วยดีในขณะนั้น ปัญญาจึงเห็นถูก

จะมีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือไม่มี แต่จิตนั้นก็เป็นกุศลเพราะโยนิโสมนสิการ

ที่มา อ่าน และฟังเพิ่มเติม ...

โยนิโสมนสิการ-ปัญญา

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ