จักษุ ๓ อย่าง (จักขุสูตร)

 
chatchai.k
วันที่  21 ต.ค. 2566
หมายเลข  46820
อ่าน  124

ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ติกนิบาต วรรคที่ ๒ จักขุสูตรที่ ๒ มีข้อความว่า

จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคผู้เป็น พระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย จักษุ ๓ อย่างนี้ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ มังสจักษุ ๑ทิพยจักษุ ๑ ปัญญาจักษุ ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย จักษุ ๓ อย่างนี้แล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสคาถาประพันธ์ ดังนี้ว่า

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้สูงสุดกว่าบุรุษได้ตรัสจักษุ ๓ อย่างนี้ คือ มังสจักษุ ๑ ทิพยจักษุ ๑ ปัญญาจักษุอันยอดเยี่ยม ๑

ความบังเกิดขึ้นแห่งมังสจักษุเป็นทางแห่งทิพยจักษุ เมื่อใดญาณเกิดขึ้นแล้ว เมื่อนั้นบุคคลย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวง เพราะการได้เฉพาะซึ่งปัญญาจักษุอันยอดเยี่ยมเนื้อความแม้นี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วฉะนี้แล

จบสูตรที่ ๒

จักษุ ๓ คือ มังสจักษุ ๑ ทิพยจักษุ ๑ ปัญญาจักษุ ๑ สำหรับมังสจักษุ คือ ตาเนื้อ หรือปสาทจักษุ ทำให้เกิดการเห็น แต่ว่าเป็นการเห็นธรรมดา ใครมีมังสจักษุ ใครมีปสาทจักษุก็มีการเห็นสิ่งต่างๆ ตามปกติตามธรรมดา ไม่ใช่ทิพยจักษุ ไม่ใช่ปัญญาจักษุอันยอดเยี่ยม สำหรับทิพยจักษุไม่ได้ใช้คำว่าอันยอดเยี่ยม แต่สำหรับปัญญา พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ปัญญาจักษุอันยอดเยี่ยม

ทรงสรรเสริญปัญญาจักษุมาก เพราะเหตุว่าปัญญาจักษุนั้น คือ ญาณ ที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วทำให้บุคคลพ้นจากทุกข์ทั้งปวง

สำหรับตาทิพย์ เห็นสิ่งอื่นเกินวิสัยของมังสจักษุ หรือปสาทจักษุก็จริง แต่ว่าไม่ได้ทำให้ละกิเลสอะไร ใครจะมีทิพยจักษุ ใครจะเห็นอะไร ใครจะใช้ทิพยจักษุส่องไปทางนั้น ทางนี้ ดูนั่น ดูนี่ อะไรก็ตามแต่ ก็เป็นแต่เพียงเห็นรูปที่ไกลเกินวิสัยกว่าที่ตาธรรมดาจะเห็นได้ แต่ไม่ใช่เห็นสัจธรรม ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นและดับไปเป็นปกติธรรมดา

เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะมีทิพยจักษุ หรือว่าท่านผู้หนึ่งผู้ใดจะปรารถนาทิพยจักษุ แต่ทิพยจักษุไม่ได้ช่วยทำให้หมดสิ้นกิเลส แต่ที่จะทำให้หมดสิ้นกิเลสได้นั้น คือ ปัญญาจักษุ

ที่มา ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 278


ปรมัตถทีปนี อรรถกถา มีข้อความว่า

ก็จักษุเหล่านี้ โดยย่อมี ๒ อย่าง คือ ญาณจักษุและมังสจักษุ ส่วนญาณจักษุท่านกล่าวจำแนกเป็น ๒ ในที่นี้คือ ๑. ทิพยจักษุ ตาทิพย์ ๒. ปัญญาจักษุ ตา คือ ปัญญา

คำว่า ทิพยจักษุ ได้แก่ตาที่ชื่อว่าเป็นทิพย์ ก็เพราะเช่นกับด้วยสิ่งที่เป็นทิพย์ คือ เช่น ปสาทจักษุของพวกเทพ เป็นต้น ส่วนปัญญาจักษุนั้น คือ สภาพใดย่อมรู้ชัด เหตุนั้นสภาพนั้นชื่อว่าปัญญา

มีคำถามว่า ย่อมรู้ชัดอะไร

แก้ว่า คืออธิบายว่า ย่อมรู้ชัดอริยสัจ ๔

ปัญญา กล่าวคือ ญาณที่เป็นเครื่องทำความสิ้นไปแห่งอาสวะ พระผู้มีพระภาคทรงประสงค์เอาแล้วว่า เป็นปัญญาจักษุในที่นี้ ในบรรดาจักษุทั้ง ๓ อย่างนั้น มังสจักษุเป็นของเล็กน้อย คือ เป็นปริตตะ ทิพยจักษุเป็นสภาพใหญ่ ปัญญาจักษุเป็นจักษุไม่มีประมาณ

มังสจักษุ หรือปสาทจักษุ เห็นได้ก็เพียงแค่รูปารมณ์ คือ สิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น จะเห็นลึกซึ้งเกินกว่านั้นไม่ได้ ที่จะให้เกิดการเห็นด้วยความรู้อย่างปัญญาว่าเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมแต่ละชนิด อาศัยปัจจัยเกิดขึ้นแต่ละทาง แต่ละอย่าง เกิดขึ้นและดับไป ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่วิสัยของมังสจักษุ

มังสจักษุ หรือจักษุปสาทนั้น เป็นแต่เพียงปัจจัยที่ทำให้เกิดการเห็นธรรมดาๆ คือ เห็นรูปารมณ์

ข้อความต่อไปมีว่า

สองบทว่า อกฺขาสิ ปุริสุตฺตโม ความว่า พระผู้มีพระภาคผู้สูงสุด คือ ผู้เลิศกว่าบุรุษทั้งหลายได้แสดงไว้แล้ว ความเป็นไปแห่งมังสจักษุชื่อว่า ความบังเกิดขึ้น

บทว่า มคฺโค ได้แก่ อุบาย คือ เป็นเหตุแห่งทิพยจักษุ

ข้อความต่อไปมีว่า

จริงอยู่ทิพยจักษุย่อมบังเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีตาโดยปกติเท่านั้น เพราะการเจริญ อาโลกกสิณแล้ว ทำทิพยจักษุญาณให้บังเกิดขึ้นได้

อาโลกะ คือ แสงสว่างนั้น เป็นเครื่องที่ช่วยให้เห็นละเอียดขึ้น อย่างปัจจัยที่ทำให้เกิดจักขุวิญญาณ ในอรรถกถาแสดงไว้ว่ามีถึง ๔ คือ จักขุปสาท ๑ คือ รูปที่มีลักษณะที่ใส ที่สามารถรับกระทบสีสันได้ รูปนี้เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย ถ้าใครมีกรรมที่จะไม่ทำให้จักขุปสาทรูปเกิด ผู้นั้นจะมองอะไรไม่เห็นเลย เป็นคนตาบอด แต่เพราะเหตุว่ากรรมเป็นปัจจัยทำให้จักขุปสาทรูปเกิดขึ้น สามารถรับกระทบสีสันวรรณะต่างๆ ได้ การเห็นจึงต้องประกอบด้วยจักขุปสาทรูป

นอกจากนั้น ต้องมีรูปารมณ์ คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นของจริง เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่ปรากฏให้รู้ได้ทางตา นอกจากนั้นก็มีอาโลกะ คือ แสงสว่าง และมีมนสิการ ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งเกิดก่อนจักขุวิญญาณ เพราะฉะนั้น ปัจจัย ๔ ที่จะทำให้เกิดจักขุวิญญาณ ได้แก่ จักขุปสาทรูป ๑ รูปารมณ์ ๑ อาโลกะ คือ แสงสว่าง ๑ และมนสิการ คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑

แต่ในพระไตรปิฎก ทรงแสดงปัจจัยที่ทำให้เกิดการเห็นเพียง ๓ คือ จักขุปสาทรูป ๑ รูปารมณ์ ๑ และมนสิการ ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑

ที่เป็นอย่างนี้ เพราะเหตุว่าผู้ที่มีจักขุปสาท แม้ว่าขาดอาโลกะ คือ แสงสว่าง ก็ยังเป็นปัจจัยให้เกิดการเห็นได้ แต่ไม่ใช่เห็นละเอียด หรือชัดจนสามารถจะจำแนกออกได้ว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ ท่านที่มีจักขุปสาทอยู่ในห้องมืดๆ เห็นไหม เห็น และถ้าท่านอยู่ในห้องที่มืดๆ นานพอสมควร ก็เห็นชัดขึ้นอีก และเวลาที่มีแสงสว่าง เช่น เปิดไฟ อาโลกะ แสงสว่างมากขึ้น การเห็นของท่านก็ละเอียดขึ้น สามารถที่จะรู้ส่วนสัด ลักษณะต่างๆ ของสีสันวรรณะที่เห็น เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า เรื่องของการเห็นเกี่ยวกับแสงสว่าง อาโลกะมาก

สำหรับจักษุทิพย์ ผู้ที่จะมีตาทิพย์ได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่ได้เจริญสมถภาวนาจนกระทั่งฌานจิตเกิด มีความชำนาญอย่างแคล่วคล่องทีเดียว และเวลาที่จะให้เกิดทิพยจักษุนั้น จะต้องอาศัยการเจริญอาโลกกสิณ ให้มีแสงสว่างยิ่งขึ้น เพื่อจะได้เห็นรูปที่ไกล และละเอียดขึ้นได้

ข้อความในพระไตรปิฎกก็ชัดเจนแล้วที่ว่า ความบังเกิดขึ้นแห่งมังสจักษุเป็นทางแห่งทิพยจักษุ ถ้ายิ่งมีแสงสว่างมากเท่าไร ก็ยิ่งเห็นรูปละเอียดชัดเจน ไกลขึ้นเท่านั้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะได้ทิพยจักษุ เห็นสิ่งที่เกินวิสัยของจักขุปสาทธรรมดา จึงต้องเป็นผู้ที่เจริญสมถภาวนาอย่างชำนาญ แคล่วคล่อง และเจริญอาโลกกสิณเพื่อให้มีแสงสว่างยิ่งขึ้น

ที่มา ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 279


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ