Thai-Hindi 23 Sep 2023

 
prinwut
วันที่  23 ก.ย. 2566
หมายเลข  46589
อ่าน  747

Thai-Hindi 23 Sep 2023


- ธรรมอยู่ไหน (อยู่ปัจจุบันนี้) เดี๋ยวนี้ธรรมอะไร (เห็น) เพราะฉะนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความจริงที่มีทุกวันแต่ไม่มีใครรู้เลยว่าอยู่ไหน

- เดี๋ยวนี้มี “ชวนะ” ไหม (มี) เดี๋ยวนี้ “ชวนะ” เป็นอะไร (ชวนะเป็นส่วนหนึ่งของวิถีจิตในกระบวนการเห็นมีชวนะเกิดหลังจากเห็น)

- แล้วเดี๋ยวนี้ “ชวนะ” อยู่ไหน (ชวนะเกิดหลังจากโวฏฐัพพนะ) เดี๋ยวนี้ “ชวนะ” อยู่ไหน (ตอบเหมือนเดิมหลังจากเห็นมีชวนะ)

- พระพุทธเจ้าทรงแสดงให้รู้สิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ซึ่งไม่มีใครรู้มาก่อน เพราะฉะนั้นต้องไม่ลืมว่า“ธรรม” อยู่ไหน

- หมายความว่า ต้องให้เขาคิดแม้แต่คำถาม เพราะฉะนั้นต้อง “ฟัง” คำถามด้วยตัวเองทั้งหมดที่ฟังเพื่อเริ่มเป็นผู้ที่ “คิดละเอียด”

- เพราะฉะนั้น ถามใหม่ “ธรรม” อยู่ไหน (อยู่ปัจจุบัน เช่น เห็น เป็นธรรม) อยู่เดี๋ยวนี้

- “ชวนะ” อยู่ไหน (ก็อยู่เดี๋ยวนี้) อยู่เดี๋ยวนี้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นเราเรียนให้เข้าใจว่า ธรรมไม่ได้อยู่ไกล ไม่ต้องหา มีแล้วอยู่เดี๋ยวนี้แต่ไม่รู้ พูดเรื่อง “ชวนะ” ทุกคนอยากรู้จักชวนะแต่ไม่รู้ว่าเพราะเดี๋ยวนี้มีชวนะแต่ไม่รู้ กว่าจะรู้ไม่ใช่พูดเรื่องชวนะทุกวันแต่ไม่รู้ว่า ชวนะเดี๋ยวนี้ก็ไม่รู้เพราะลึกซึ้ง

- คนที่ไม่รู้ จะไม่รู้จักพระพุทธเจ้าว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้สิ่งที่มีเดี๋ยวนี้เพื่อให้คนอื่นรู้ว่า ธรรมอยู่ไหนและเดี๋ยวนี้มีอะไร

- สัมปฏิจฉันนะอยู่ไหน (เดี๋ยวนี้) สันตีรณะอยู่ไหน (ก็อยู่ตรงนี้) ภวังค์อยู่ไหน (ก็อยู่ตรงนี้) รู้ไหม (ไม่รู้) ถ้าไม่ฟังเลยจะรู้ไหม (ไม่รู้)

- เพราะฉะนั้นฟังแล้วรู้ว่า มีสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ ชวนะ เพื่ออะไร (เพื่อเข้าใจว่าทุกอย่างที่มีเดี๋ยวนี้เป็นธรรม) เพียงเข้าใจเท่านั้นหรือ (จากเข้าใจถึงจะมารู้จริงอย่างนี้จริงๆ ) สามารถรู้จริง ประจักษ์จริง ได้ไหม (ถ้าความเข้าใจเจริญขึ้นก็สามารถจะรู้ได้) สามารถจะประจักษ์ได้ไหม (ได้แต่ต้องใช้เวลานาน)

- นี่คือคำตอบ ต้องฟังคำถามเพื่อรู้ว่าถามอะไรและตอบให้ตรงคำถาม อะไรสามารถประจักษ์แจ้งความจริงได้ (ความเข้าใจ) ความเข้าใจถูกภาษาบาลีใช้คำว่า “ปญฺญา” เท่านั้น

- เดี๋ยวนี้สามารถรู้ประจักษ์แจ้งความจริงได้ไหม (เวลานี้ไม่สามารถรู้ได้) ต้องมั่นคงเป็น “สจฺจญาณ” เป็นสัจจบารมีและอธิษฐานบารมี

- เดี๋ยวนี้มีปัญญาบารมีไหม (มี) ถูกต้อง เก่งมาก ทุกครั้งที่เข้าใจเป็นบารมีทีละน้อยทีละหนึ่งจนกว่าจะรู้จริงๆ

- ถ้ารู้จริงไม่ใช่เพียงรู้ว่า เดี๋ยวนี้มีชวนะ เดี๋ยวนี้มีสัมปฏิจฉันนะ เดี๋ยวนี้มีจักขุวิญญาณ นั่นเป็นเรื่องของสิ่งที่กำลังมี เพราะฉะนั้นปัญญาขั้นแรกคือ ต้องฟังดีๆ เห็นความลึกซึ้งและค่อยๆ เข้าใจทุกคำ

- เดี๋ยวนี้กำลังรู้ว่า ธรรมอยู่ไหน เห็นอยู่ไหน กำลังเห็น ความเข้าใจเห็นยังไม่พอทั้งๆ ที่กำลังเห็นทำให้เริ่มรู้ความลึกซึ้งอย่างยิ่งของธรรมทั้งหมด

- คุณอาช่าอยากจะรู้อะไร (อยากจะรู้ความจริง) อยากจะเข้าใจจนรู้ความจริงของเห็นขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้นความเห็นถูกคือ เข้าใจถูกในสิ่งที่กำลังมี เริ่มรู้ว่าสิ่งนั้นๆ เป็นอะไร

- ถ้าไม่เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ทุกขณะเป็นปกติในชีวิตประจำวันจะรู้ความจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ไหม (ไม่รู้)

- อดทนไหมที่จะไม่รู้ว่า วันไหนกว่าปัญญาจะค่อยๆ รู้ทีละน้อย (อดทน) เหมือนคนในสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทีปังกรไหม

- คนสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกร เข้าใจธรรมมากกว่าเราหรือน้อยกว่าเราหรือเท่าๆ เรา (คิดว่ามากกว่าเรา) คิดไม่ได้แต่รู้ว่า ธรรมลึกซึ้ง เขาต้องเห็นความลึกซึ้งอย่างยิ่งที่สามารถประจักษ์แจ้งความจริงเดี๋ยวนี้ที่กำลังเกิดดับ (ถึงได้ตอบว่ามากกว่าเพราะเข้าใจว่าคนสมัยนั้นต้องเข้าใจความลึกซึ้งของธรรม) ๔ อสงไขยแสนกัปจากนี้ไปและมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้แล้วได้ฟังอีก เราไม่รู้ใครเคยฟังจากไหนจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทีปังกรหรือเปล่า (ไม่สามารถรู้ได้)

- ไม่มีใครรู้ได้ก็จริงแต่สามารถรู้ตัวเองจากการที่กำลังฟังเดี๋ยวนี้ เข้าใจแค่ไหน เพราะฉะนั้นเข้าใจความจริง ไม่ใช่เรา เป็นอะไร (เป็นธรรม ๑ เป็นเจตสิก)

- เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องจนกว่าจะมั่นคงจริงๆ ไม่มีเรา ไม่มีโต๊ะ ไม่มีห้องนี้ ไม่มีอะไรเพราะฉะนั้นอีกนานไหมกว่าจะค่อยๆ เข้าใจเดี๋ยวนี้พูดถึง ตา เห็น แต่ยังไม่รู้จักยังไม่ปรากฏ (ใช้เวลานานมาก) จริงไหม (จริง)

- สัจจบารมีมั่นคงขึ้น เป็นวิริยะด้วย เพราะว่าฟังแล้วไม่พอ ฟังอีกไม่พอ ต้องมีวิริยะทุกครั้งที่จะฟังเพื่อเข้าใจขึ้น ทำไมพูดอย่างนี้บ่อยๆ (เพื่อที่จะเข้าใจความจริงทุกอย่าง)

- เพราะฉะนั้นคนที่จะรู้จักพระพุทธเจ้าจะเข้าใจธรรมต้องเริ่มต้นด้วยการเห็นความลึกซึ้งอย่างยิ่งของสิ่งที่มีจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แต่คนอื่นยังไม่รู้ความจริงเลยจึงต้องฟังทุกคำ

- คนที่ไม่เข้าใจความลึกซึ้งอย่างยิ่งของคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเกี่ยวกับสิ่งที่มีจริงที่ลึกซึ้งอย่างยิ่ง ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้ไม่รู้จักธรรมไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงไม่มีบารมีเลย

- ถ้าไม่มีบารมีจะรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังเกิดดับเดี๋ยวนี้ไหม (ไม่) เพราะฉะนั้นที่จะฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อไปต้องเป็นผู้ที่เห็นความลึกซึ้งอย่างยิ่งของสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้

- เพราะฉะนั้นที่เราพูดถึงทั้งหมดเพื่อให้ไม่ลืมว่า เพื่อรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังมีซึ่งยังไม่รู้ ถ้าปัญญาไม่ค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย

- เพราะฉะนั้นเราจะเริ่ม เดี๋ยวนี้ก่อนเห็นมีจิตไหม (มี) จิตอะไรก่อนเห็น (อาวัชชนะ) ดีมากไม่ลืม รู้อาวัชชนะไหมเดี๋ยวนี้ (ไม่รู้) เดี๋ยวนี้รู้เห็นไหม (เห็นก็ยังไม่รู้) ก็มีเห็นเพราะฉะนั้นเห็นปรากฏจึงรู้

- ความลึกซึ้งเห็นมี ทุกคนกำลังเห็นแต่ไม่รู้ความจริงของเห็น ไม่รู้ว่าถ้าอาวัชชนจิตไม่เกิดก่อน เห็นเกิดไม่ได้ ค่อยๆ เข้าใจความเป็นอนัตตา ไม่มีใครทำอะไร ธรรมเกิดแล้ว เกิดแล้วตามเหตุตามปัจจัย ไม่ต้องทำให้เกิดเลยไม่มีใครทำได้

- อาวัชชนจิตเป็นชาติอะไร (กิริยา) เก่งค่ะ ทำไมเป็นกิริยา (เพราะไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศลไม่เป็นวิบาก) แล้วกิริยาคืออะไร เห็นไหม คำถามเดิมแล้วจะตอบอย่างไร (ตอบว่าเป็นจิตที่เป็นผลไม่ได้) เก่งอีก แสดงถึงความเข้าใจ ก่อนอาวัชชนจิตเป็นจิตอะไร (เป็นภวังค์) ภวังค์เป็นชาติอะไร (เป็นวิบาก) วิบากคืออะไร (เป็นผลของกรรมในอดีต)

- คุณอาช่ามีวิบากไหม วิบากแรกที่สุดคืออะไร (ปฏิสนธิ) (ท่านอาจารย์ยิ้ม) ดีนะคะ เก่งนะคะ ปฏิสนธิของคุณอาช่าเป็นสันตีรณอกุศลวิบากหรือเปล่า (ไม่) เป็นสันตีรณกุศลวิบากหรือเปล่า (ไม่) แล้วเป็นอะไร (เป็นผลของกุศลกรรม) ระดับไหน ขั้นไหน (เป็นกุศลที่ดีระดับหนึ่ง) เป็นกุศลที่ดีระดับที่เป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส

- รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสเป็นกามอารมณ์ที่น่าพอใจ ถ้าติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสเป็นอกุศล การติดข้องเป็นเหตุให้เกิดทุจริตต่างๆ ถ้าเป็นผลของกรรมที่เกิดจากทุจริตจะเกิดที่ไหน (ทำให้เกิดในทุคติภูมิ)

- เพราะฉะนั้นแมวสุนัขเกิด ปฏิสนธิจิตเป็นอะไร (เป็นอกุศลสันตีรณะ) แมวสุนัขมีชวนะไหม (มี) เมื่อไหร่​ (เมื่อเกิดวิถีจิตตอนนั้นมีชวนะ) แค่รู้ว่ามี พอไหม เวลาอกุศลจิตเกิดเป็นคุณอาช่าหรือเป็นแมวหรือเป็นสุนัข (เป็นธรรมอย่างหนึ่ง) เหมือนกันหมดเลยใช่ไหม (เหมือนกันหมด) จนกว่าจะเข้าใจว่า ไม่มีเรา ไม่มีแมว ไม่มีนก แต่ทั้งหมดเป็นจิตเป็นธรรม

- ก่อนเห็นเป็นอะไร (อาวัชชนะ) ต่างกับภวังค์อย่างไร (ต่างกันที่ภวังค์เป็นชาติวิบากส่วนอาวัชชนะเป็นชาติกิริยา) ทำกิจอะไรต่างกันไหม (ต่างกัน) ต่างอย่างไร (ต่างกันที่ภวังค์ทำกิจดำรงชีวิตส่วนอาวัชชนะทำกิจอาวัชชนะ)

- เพราะฉะนั้นจิตที่ทำกิจภวังค์ทำกิจอะไรอีก (คือจิตหนึ่งทำกิจหนึ่ง แต่จิตนี้นอกจากทำกิจภวังค์แล้ว ทำกิจปฏิสนธิและจุติด้วย)

- จิตที่ไม่ได้ทำกิจปฏิสนธิ ภวังค์ จุติต่างกับจิตอื่นอย่างไร (เป็นวิถีจิต) เก่งมาก ต้องฟังไว้ไม่ลืมเลยสำหรับคนที่ฟังธรรม จิตที่ไม่ได้ทำกิจปฏิสนธิ ภวังค์ จุติเป็น “วิถีจิต” ทั้งหมด

- ภวังคจิตต่างกับวิถีจิตอย่างไร (ต่างกันที่ภวังค์ไม่ผ่านทวารใด ส่วนวิถีจิตต่างผ่านทวารหนึ่งทวารใดใน ๖ ทวาร) หมายความว่า ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิตไม่ใช่วิถีจิตเพราะไม่รู้อารมณ์ของโลกนี้หรืออารมณ์อื่นนอกจากอารมณ์ของปฏิสนธิเท่านั้น

- เพราะฉะนั้นได้ยินคำว่า “ภวังคจิต” หมายความถึงจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้คิด ไม่ได้ทำอะไรเลย

- คุณอาช่าตายวันนี้ได้ไหม (ได้) ตายตอนเย็นนี้ได้ไหม (ได้) ตายเดี๋ยวนี้ได้ไหม (ได้) อะไรตาย (จิต) จุติจิตเท่านั้นเกิดขึ้นทำให้ไม่มีการเกิดต่อไปของกรรมที่ทำให้เป็นคนนี้

- กำลังเห็นเดี๋ยวนี้แล้วตาย จิตที่ตายเป็นจิตอะไร (จุติจิต) เพราะขณะตายไม่รู้อารมณ์ของโลกนี้เลย ถ้ารู้อารมณ์ของโลกนี้ยังไม่ตายแน่ ไม่มีใครเลยนอกจากธรรม เป็นธรรมที่เกิดดับตลอดไม่มีที่สิ้นสุดตราบใดที่ยังไม่เข้าใจว่า ไม่ใช่เรา

- กำลังเห็นเดี๋ยวนี้เป็นอะไร (เป็นจิต) จิตอะไร (เป็นวิบาก) จิตเห็นเป็นวิบากจิตทำกิจเห็น ดับแล้วเป็นอะไร (เห็นดับไปแล้วเป็นวิบากอีกจิตหนึ่งคือ สัมปฏิจฉันนะ)

- จักขุวิญญาณเห็นดับแล้วจิตอะไรเกิดต่อ (สัมปฏิจฉันนะ) สัมปฏิจฉันนะดับจุติจิตเกิดได้ไหม (ตามที่เข้าใจเป็นไปไม่ได้) ตามความเป็นจริงหรือตามที่คุณอาช่าเข้าใจเอง (เข้าใจว่าเป็นไปไม่ได้) เพราะเป็นธรรมไม่มีใครบังคับบัญชา

- ก่อนตายก็มีกรรมที่ทำให้ต้องเห็น ต้องได้ยิน เป็นต้น กำลังจะตายก่อนตายก็ต้องมีขณะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโดยละเอียดว่า จิตอะไรเกิดก่อน ใครก็รู้ไม่ได้เลย ขณะตายรู้ไหม (ไม่สามารถรู้ได้)

- จิตที่ทำกิจตายเป็นวิถีจิตหรือเปล่า (ไม่) เพราะฉะนั้นกรรมที่ทำให้เห็นต้องทำให้เห็นหมดจะทำให้มีตายก่อนหลังจากที่สัมปฏิจฉันนะไม่ได้

- ถ้าศึกษาธรรม ไม่คิดถึงธรรมเลย ไม่ไตร่ตรองเลย จะทำให้ค่อยๆ เข้าใจว่า ไม่ใช่เรา ไม่มีอะไรเลยนอกจากธรรมได้ไหม (ไม่ได้) เพราะฉะนั้นเห็นคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทำให้เราได้เข้าใจละเอียดขึ้นๆ และเริ่มรู้ว่า ไม่ใช่เรา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prinwut
วันที่ 23 ก.ย. 2566

- สัมปฏิจฉันนะเกิดกี่ขณะ (๑ ขณะ) ดับไหม (ดับ) มีอะไรที่ไม่ดับไหมที่เกิดแล้ว (ไม่มี) เพราะฉะนั้นจิตเกิดดับเร็วมากมีอายุ ๓ ขณะ เรียกว่า “อนุขณะ” ของจิต ขณะเกิดไม่ใช่ขณะที่ยังไม่ดับ ขณะที่ยังไม่ดับไม่ใช่ขณะที่ดับ

- จิตเหมือนกันหมดไหม มีจิตพิเศษที่ไม่เป็นอย่างนี้ไหม (ไม่มี ทุกจิตเกิดแล้วดับ) ต้องมั่นคง แล้วเจตสิก ล่ะ (เจตสิกก็แบบนี้) จิตและเจตสิกมีอายุเท่ากันคือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปทุกขณะ

- สัมปฏิจฉันนะดับแล้วอะไรเกิดต่อ (สันตีรณะ) ใครทำให้สันตีรณะเกิด (ไม่มีใครทำให้เกิด) สัมปฏิจฉันนะทำให้สันตีรณะเกิดหรือเปล่า (ทำให้เกิด) เพราะเป็นปัจจัย จิตทุกขณะยกเว้นจุติจิตของพระอรหันต์ดับต้องมีจิตที่เกิดต่อโดยจิตนั้นเป็นปัจจัย

- สัมปฏิจฉันนะดับทำให้ชวนจิตเกิดได้ไหม (ไม่ได้) เพราะมีปัจจัยที่เป็น “อนันตรปัจจัย” และ “สมนันตรปัจจัย”

- สันตีรณจิตมีอายุเท่าไหร่ (มีอายุเท่ากับจิตอื่น) สันตีรณะมีอะไรเป็นปัจจัย (มีสัมปฏิจฉันนะที่ดับไปเป็นอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัยแก่สัณตีรณะและเป็นผลของกรรม) ดีมาก

- เพราะฉะนั้นเมื่อสันตีรณะดับแล้วกรรมทำให้อะไรเกิดต่อได้ไหม (ไม่ได้) เพราะฉะนั้นกรรมทำให้วิบากจิตเกิดเท่าไหร่เฉพาะที่วิถีจิต (๓) อะไรบ้าง (คือปัญจวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ ที่รู้อารมณ์เดียวกัน) เท่านี้ เท่านี้เป็นผลของกรรม

- เพราะฉะนั้นจิตที่เป็นผลของกรรมจิตไหนจะรู้อารมณ์มากที่สุด (ปัญจวิญญาณ) แค่เห็น กระทบตาแล้วเห็นเท่านั้น สัมปฏิจฉันนะแค่รับเท่านั้น อารมณ์ดับหรือยัง (ยังไม่ดับ) เพราะฉะนั้นเป็นปัจจัยให้วิบากจิตเกิดได้ใช่ไหมยังไม่พอ แค่เห็นและรับไว้ยังไม่พอต้องมีอีก ๑ ขณะที่รู้อารมณ์ที่รับไว้แล้ว

- อกุศลวิบากจิตมีเท่าไหร่ (๓) ฟังคำถาม อกุศลวิบากจิตทั้งหมดมีเท่าไหร่ (๗) ​ อกุศลวิบากจิตมี ๗ เพราะฉะนั้นเมื่อกรรมทำแล้วให้ผลเป็นอกุศลวิบากจิต ๗ ใช่ไหม (ใช่)

- เพราะฉะนั้นอกุศลวิบากจิตไหนทำปฏิสนธิกิจ (สันตีรณะ) จักขุวิญญาณทำไม่ได้ สัมปฏิจฉันนะทำไม่ได้ เหลือสันตีรณวิบากเท่านั้นจึงทำปฏิสนธิกิจได้

- เพราะฉะนั้นสันตีรณะเท่าที่เราพูดถึงแล้ว ยังไม่นับอื่น ทำกี่กิจ ตามที่เราพูดถึงวันนี้สันตีรณจิตทำกี่กิจ (๑ ทำกิจสันตีรณะ ๒ ทำกิจปฏิสนธิ) พูดใหม่ (ทำกิจสันตีรณะ ทำกิจปฏิสนธิ) เราไม่ได้พูดถึงภวังค์กับจุติหรือ (เราพูดถึงภวังค์ จุติแต่ไม่ใช่จากมุมของสันตีรณะทำกิจแต่พูดโดยรวมว่า..) พูดถึงจุติกิจ (พูดโดยรวมแต่ไม่พูดถึงว่า สันตีรณะทำกิจปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ)

- เพราะฉะนั้นสันตีรณจิตทำกิจสันตีรณะและทำจุติกิจ แต่จุติจิตเป็นจิตประเภทเดียวกับจิตที่ทำกิจปฏิสนธิและภวังค์

- ยังสงสัยไหม (ไม่) จิตที่ทำกิจภวังค์ทำปฏิสนธิกิจและจุติกิจ และสันตีรณจิตทำปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจจุติกิจและสันตีรณกิจ และยังมีอีกกิจ ๑ ที่สันตีรณจิตทำแต่เรายังไม่พูดถึงเพราะว่า เมื่อสันตีรณจิตดับแล้วจิตอะไรเกิดต่อ (โวฏฐัพพนะ)

- โวฏฐัพพนะ กรรมทำให้โวฏฐัพพนจิตเกิดหรือเปล่า (ไม่) เพราะอะไร (เพราะกรรมให้ผลครบแล้ว ๓ ดวงแต่ดวงสุดท้ายเป็นปัจจัยให้โวฏฐัพพนะเกิดแต่ไม่ใช่เป็นผลของกรรม)

- เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า เห็นขณะนี้กรรมทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นรู้เท่าไหร่เท่านั้นแค่นั้นเองหมดหน้าที่ของกรรม เพราะฉะนั้นโวฏฐัพพนจิตไม่ได้เกิดจากกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม โวฏฐัพพนจิตเกิดไม่ใช่ผลของกรรมเพราะอะไร (เพราะรูปยังไม่ดับ เพราะอนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย และเพราะก่อนที่จะมีจิตที่รู้ต่อไป ถ้าไม่มีโวฏฐัพพนะ จิตต่อไปก็เกิดไม่ได้)

- เพราะเหตุว่า ถ้าเป็นกุศลกรรมจะทำให้กุศลวิบากเกิดรู้อารมณ์ที่ดีเท่านั้น ถ้าเป็นอกุศลกรรมจะเป็นปัจจัยให้อกุศลวิบากเกิดรู้อารมณ์ที่ไม่ดีเท่านั้น แต่โวฏฐัพพนะรู้อารมณ์ที่ดีก็ได้ ไม่ดีก็ได้ จึงไม่ใช่ผลของกรรมหนึ่งกรรมใด

- แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่กรรมเท่านั้นที่ทำให้เกิดจิตที่เป็นวิบาก จิตที่ไม่ใช่วิบากก็เกิดเพราะปัจจัยอื่นที่ไม่ได้เกิดจากกรรม แสดงว่า กรรมเป็นปัจจัยให้วิบากจิตเกิดเท่านั้นแต่จิตที่ไม่ใช่ผลของกรรมเกิดเพราะปัจจัยอื่น และต้องไม่ลืมว่า เรากำลังกล่าวถึงวิถีจิตทางตา หู จมูก ลิ้น กายซึ่งไม่ใช่เราและไม่รู้ด้วยว่าอะไรทำให้เกิดจิตแต่ละขณะแต่หมายความว่า แค่เห็นและมีสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะเท่านั้นพอหรือ เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้มีจิตอื่นเกิดต่อไปเรื่อยๆ เราจึงจะกล่าวถึงที่เกิดต่อจากโวฏฐัพพนจิต

- ทั้งวันมีจิตมากมายเกิดแล้วดับและไม่กลับมาอีกเลย แต่ที่เรากำลังกล่าวถึงเรากล่าวถึงเฉพาะจิตประเภทที่ไม่มีเหตุใดๆ เกิดร่วมด้วย ไม่มีโลภะเกิดร่วมด้วย ไม่มีโทสะเกิดร่วมด้วย ไม่มีโมหะเกิดร่วมด้วย จิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเป็น “อเหตุกจิต”

- คุณอาช่าลองนับ จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุทั้งหมดที่เรียนแล้วศึกษาแล้วทั้งหมดมีเท่าไหร่ เดี๋ยวนี้กำลังมีหมดเลย

- ถ้าเรารวมเป็นประเภท เราสามารถจะกล่าวได้ว่า จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ไม่ใช่กุศลถูกต้องไหมและไม่ใช่อกุศล เป็นจิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยทั้งหมดมี ๑๘ โดยมากเราจำจำนวนกับชื่อแต่เรากำลังเข้าใจว่าทั้งหมดกำลังมีขณะนี้

- จิตทั้งหมดต้องเป็นชาติหนึ่งชาติใดใน ๔ ชาติ เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล หรือเป็นวิบาก หรือเป็นกิริยาเพราะฉะนั้นอเหตุกะทั้งหมดไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล จึงมีแต่วิบากและกิริยาที่จะต้องเข้าใจ เมื่อไม่ใช่กุศลไม่ใช่อกุศลก็ต้องเป็นวิบากหรือกิริยา

- วิบากที่ประกอบด้วยเหตุก็มี ไม่ประกอบด้วยเหตุก็มี กิริยาที่ประกอบด้วยเหตุก็มี ไม่ประกอบด้วยเหตุก็มี แต่เราจะพูดเฉพาะจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ เพราะฉะนั้นต้องเป็นวิบากที่ไม่ประกอบด้วยเหตุและกิริยาที่ไม่ประกอบด้วยเหตุที่เรากำลังพูดถึงเป็น “อเหตุกจิต”

- เพราะฉะนั้นที่เราพูดถึงแล้วมีอเหตุกวิบากที่เป็นอกุศล ๗ และมีอเหตุกกุศลวิบาก ๘ สิบห้าดวงนี้ไม่ประกอบด้วยเหตุ เพราะฉะนั้นเราพูดถึงแล้วอเหตุกวิบาก ๑๕ อกุศลวิบาก ๗ กุศลวิบาก ๘ และเราพูดถึงกิริยาจิตแล้ว ๒ ปัญจทวาราวัชชนะกับมโนทวาราวัชชนะ จิตที่เรากล่าวถึงแล้วทั้งหมด ๑๗ ดวงใช่ไหม

- เพราะฉะนั้นสำหรับวันนี้ที่ควรเข้าใจก็คือว่า อเหตุกะทั้งหมดที่เรากล่าวถึงแล้วเป็นวิบาก ๑๕ และกิริยา ๒ ทำชวนกิจไม่ได้ซึ่งต่อไปเราจะพูดถึงชวนกิจ (อาจารย์ทวนใหม่) ที่เรากล่าวถึงแล้วอเหตุกะ ๑๕ ดวงใช่ไหมและกิริยาอีก ๒ ทั้งหมดเป็น ๑๗ ทำชวนกิจไม่ได้ ทำได้เฉพาะกิจของตนเท่านั้นแล้วแต่ว่าจะทำได้กี่กิจ

- คราวหน้าเราจะได้พูดถึงสิ่งที่คุณอาช่าอยากจะรู้ตั้งแต่ต้นคือ ชวนจิตหรือชวนกิจแต่ต้องเข้าใจพวกนี้ก่อนให้มั่นคง

- จะเข้าใจธรรมขึ้นเมื่อคิดไตร่ตรองละเอียดขึ้นๆ เพราะฉะนั้นก่อนที่จะถึงคราวต่อไปก็คงจะคิด ไม่ลืมและพิจารณาที่ได้ฟังแล้วละเอียดขึ้นๆ

- วันนี้ก็ขอบคุณคุณสุคินมากนะคะที่ได้ทำประโยชน์อย่างยิ่งและยินดีในกุศลทุกคนที่มีโอกาสที่จะได้เข้าใจธรรมมั่นคงขึ้นเป็นบารมีจนกว่าจะรู้ความจริง สวัสดีค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
prinwut
วันที่ 23 ก.ย. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ด้วยความเคารพยิ่ง

ขอบพระคุณและยินดีในกุศลของคุณสุคิน คุณอาช่าและสหายธรรมชาวอินเดียทุกท่าน

ขอบพระคุณและอนุโมทนาคุณอัญชิสา (พี่สา) ที่ช่วยเหลือตรวจทาน

กราบขอบพระคุณและกราบอนุโมทนาอ.คำปั่นในกุศลทุกประการครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 23 ก.ย. 2566

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 23 ก.ย. 2566

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
กราบยินดีในกุศลของคุณสุคิน ผู้ถ่ายทอดคำท่านอาจารย์เป็นภาษาฮินดี
ขอบพระคุณและยินดีในกุศลวิริยะของพี่ตู่ ปริญญ์วุฒิ เป็นอย่างยิ่ง ที่ถอดคำสนทนาของท่านอาจารย์ ทุกคำ เป็นประโยชน์เกื้อกูลอย่างยิ่ง
และยินดีในกุศลของผู้ช่วยตรวจทาน และยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
siraya
วันที่ 25 ก.ย. 2566

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ