Thai-Hindi 02 Sep 23

 
prinwut
วันที่  2 ก.ย. 2566
หมายเลข  46515
อ่าน  705

Thai-Hindi 02 Sep 23


- ที่ดิฉันพูดธรรมอย่างละเอียดยิ่งสำหรับคุณอาช่า คุณอาคิ่ลและผู้ที่สนใจเพื่อให้เขามีความมั่นคง มีรากฐานของความเข้าใจเพื่อที่จะให้คนอื่นมีความเข้าใจต่อไป

- ถ้ามีความเข้าใจที่ละเอียดมั่นคงเป็นพื้นฐาน ไม่ว่าจะพูดกับคนที่เพิ่งเริ่มฟังหรือคนที่ฟังมาแล้วมาก จะไม่ผิด เพราะเหตุว่า มีความเข้าใจที่ลึกซึ้งและมั่นคงในความเข้าใจพระธรรมส่วนการที่จะให้คนใหม่ๆ ได้เข้าใจเป็นหน้าที่ของคุณอาช่าที่ต้องเริ่มทำแล้ว (คุณอาช่ากำลังพยายามทำอยู่และเข้าใจดีในเจตนาของท่านอาจารย์)

- ก็ดี เพราะเหตุว่า ถ้ามีคนที่เริ่มเข้าใจถูกต้องเพิ่มขึ้นอันนั้นสำคัญกว่าการที่จะเข้าใจผิวเผินและไม่ลึกซึ้งเพราะจะไม่สามารถเข้าใจความจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้

- เป็นประโยชน์ที่เริ่มได้รับจากการฟังพระธรรมและต่อไปจะเพิ่มขึ้นๆ แล้วคุณอาช่าเตรียมรายการที่จะสนทนาธรรมแล้วหรือยังว่า จะสนทนาธรรมที่ไหนอย่างไร (คุณอาช่ากำลังดำเนินการอยู่ พอจะกำหนดได้แล้ว)

- เพราะฉะนั้นการสนทนาธรรมทุกครั้งมุ่งที่จะให้มีความเข้าใจที่ละเอียดลึกซึ้งสำหรับผู้ที่จะเป็นกำลังต่อไปในการที่จะเผยแพร่พระธรรม (คุณอาช่าเห็นด้วยเพราะจากประสบการณ์เปิดหนังสืออ่านเองก็ไม่เข้าใจเหมือนกับที่ได้สนทนากับท่านอาจารย์)

- เพราะว่า การศึกษาต้องศึกษา “ละเอียดทุกคำ” และมีความเข้าใจจริงๆ จึงสามารถที่จะผ่านไปสืบต่อให้คนอื่นได้เข้าใจคำจริงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้คนได้ “เห็นคุณจริงๆ ” ได้รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจริงๆ เพราะเข้าใจความละเอียดอย่างยิ่งของพระธรรมซึ่งจะสะสมต่อไปที่จะตรงที่จะเข้าใจถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏ

- เพราะฉะนั้น วันนี้เราจะพูดกันต่อเรื่องความละเอียดของแต่ละคำที่เป็นพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ต้องเข้าใจความจริงว่า ไม่มีอะไรเลยแน่นอนถ้าไม่มีสภาพรู้เกิดขึ้นรู้จะไม่มีอะไรเลยปรากกฏว่ามี แต่สิ่งที่มีดับเร็วมากไม่มีทางที่จะรู้ได้ด้วยตัวเอง

- ต้องรู้ความเร็วอย่างยิ่งของธรรมที่ขณะนี้ปรากฏเพียงเห็นในขณะที่มีจิตที่ก่อนเห็นและจิตที่เกิดต่อจากเห็นก็ไม่ได้ปรากฏ

- ทุกอย่างที่เกิดขึ้นมีจริงๆ ในขณะที่เกิดแต่ทันทีที่เกิดก็ดับสืบต่อเร็วมากจนไม่มีขณะที่รู้ความจริง แต่ความจริงรู้ได้เพราะปรากฏให้รู้ว่ามี แต่ถ้าไม่มีการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีใครสามารถรู้ความจริงได้เลยเพราะเร็วมาก

- เพราะไม่รู้ความจริงจึงเข้าใจผิดว่า ขณะนั้นเป็นเราเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดตลอดมา ด้วยการบำเพ็ญพระบารมี ด้วยการตรัสรู้ความจริงด้วยพระองค์เองจึงทรงตรัสรู้ว่า ถ้าไม่มีการเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยในความจริงของสิ่งที่ปรากฏจนสามารถที่จะรู้ตรงและชัดขึ้นจนประจักษ์ความจริงจะสามารถละความเป็นเราเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้เพราะเกิดดับสืบต่อเร็วที่สุด

- เมื่อได้ทรงตรัสรู้แล้วทรงเห็นหนทางที่กว่าจะรู้ความจริงได้ต้องอาศัยการเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยนานแสนนานกว่าจะรู้แจ้งได้ เพราะฉะนั้น ทุกคำของพระองค์ที่ตรัสแล้วพิจารณาอย่างละเอียดจึงสามารถที่จะค่อยๆ รู้ความจริงว่า ความจริงเป็นอย่างนี้แล้วรู้ความจริงอย่างนี้จะเป็นประโยชน์อย่างไร ถ้าไม่รู้ความจริงอย่างนี้ก็จะไม่เห็นประโยชน์ของความเข้าใจความละเอียดความลึกซึ้งที่กล่าวถึง

- ถ้าไม่มีการเข้าใจความละเอียดของธรรมก็ย่อมจะไม่สนใจที่จะศึกษาให้รู้ความจริงซึ่งเป็นความละเอียดอย่างยิ่งได้ เพราะฉะนั้นต้องรู้ว่า ประโยชน์ของการที่จะรู้ความจริงทำให้รู้ว่าความจริงลึกซึ้งยากที่จะรู้ได้จึงไม่รู้เรื่อยมาในสังสารวัฏฏ์จนกว่าจะได้ฟังคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดง

- ก่อนที่จะได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าใจว่า ลาภ ยศ เงินทองของทุกอย่างมีประโยชน์ แต่เมื่อได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วจึงรู้ว่า สิ่งที่มีประโยชน์เหนือสิ่งใดคือ การสามารถรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังมี

- จะรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ขณะนี้ได้ต่อเมื่อมีความมั่นคงที่จะรู้ว่า การรู้ความจริงเป็นประโยชน์ยิ่งกว่าสิ่งใดทั้งหมด เพราะฉะนั้นต้องมั่นคงต่อการที่จะเข้าใจทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ละเอียดอย่างยิ่งแต่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

- ถ้าไม่รู้ความจริงของสิ่งที่เป็นความจริงเดี๋ยวนี้ในชีวิตประจำวันก็จะไม่รู้ประโยชน์อย่างสูงสุดของการที่ได้เข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงอย่างถูกต้อง ถ้าไม่รู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้ก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของทั้งหมดที่มีตั้งแต่เกิดจนตาย

- ถ้ารู้ความจริงเดี๋ยวนี้มีเมื่อเกิดแล้วก็ดับจะค่อยๆ เข้าใจถูกต้องว่า เป็นใครไม่ได้เลยนอกจากเป็นสิ่งที่เกิดตามเหตุปัจจัยแล้วดับ

- ทุกอย่างที่ปรากฏขณะไหนก็ได้เมื่อเห็น เมื่อได้ยิน เมื่อได้กลิ่น เมื่อลิ้มรส เมื่อรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เมื่อคิดว่า สิ่งนั้นเป็นเกียรติยศ เป็นลาภ เป็นเงินเป็นทอง ขณะนั้นไม่ได้รู้ความจริงว่าทั้งหมดเกิดแล้วดับแล้วไม่เหลือเลย เหมือนขณะตาย ไม่มีอะไร หมดแล้ว

- เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้ไม่ว่าเราจะพูดถึงอะไร สิ่งนั้นมีเพราะเกิดแล้วดับ ทุกอย่างที่มีที่ปรากฏเกิดขึ้นแล้วดับไปไม่กลับมาอีกเลย ฟังเพื่อรู้ความจริงว่า ไม่มีสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้เพราะสิ่งนั้นที่มีดับแล้ว

- เดี๋ยวนี้มีเห็น เห็นดับแล้ว ได้ยินเกิดได้ยินแล้วดับแล้ว จิตขณะแรกที่เกิด “ปฏิสนธิจิต” เกิดแล้วดับแล้ว จิตที่เกิดต่อเกิดต่อแล้วก็ดับแล้ว เดี๋ยวนี้จิตเห็นเกิดขึ้นแล้วดับไป ก่อนจิตเห็นต้องมีจิตที่ไม่เห็น

- จิตที่เกิดก่อนจิตเห็นเป็นอะไร (อาวัชชนะ) เป็นผลของกรรมหรือเปล่า (ไม่) เพราะอะไรจึงไม่ใช่ผลของกรรม (เข้าใจแค่ว่าเพราะว่าเป็นกิริยา) ทำไมไปพูดคำว่า กิริยา โดยไม่เข้าใจความหมายของกิริยา (เข้าใจตามที่เคยฟังว่า เพราะจิตนี้ไม่ได้เป็นผลของกรรม ไม่ได้เป็นกุศล ไม่ได้เป็นอกุศล) ทำไมไม่เป็นผลของกรรมและทำไมไม่ใช่กุศลอกุศล (เพราะรูปเพิ่งกระทบ กรรมยังให้ผลไม่ได้เพราะฉะนั้นต้องมีจิตนี้เกิดก่อน)

- เพราะเหตุว่า เมื่อรูปกระทบทวารถูกต้องไหม ทันทีนั้นก็กระทบจิตแต่จิตจะเกิดขึ้นรู้รูปนั้นทันทีไม่ได้จนกว่าขณะจิตที่ไม่ได้รู้อารมณ์นั้นต้องเริ่มที่จะรู้ ๑ ขณะเป็น “ภวังคจลนะ”

- เมื่อภวังค์เริ่มจะรู้ว่ามีอารมณ์กระทบดับไปแล้ว จิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นหรือยัง (ยัง) เพราะฉะนั้นเมื่อจิตนั้นดับไปแล้วเป็นปัจจัยให้ภวังค์สุดท้ายที่รู้อารมณ์เดียวกับภวังค์ก่อนไม่รู้อารมณ์นั้นอีกต่อไปเกิดขึ้น เป็นการรู้อารมณ์นั้นเป็นครั้งสุดท้าย

- เมื่อจิตที่เกิดก่อนรู้อารมณ์ของภวังค์ดับแล้ว จิตที่เกิดต่อจึงสามารถที่จะรู้ได้ว่า มีอารมณ์กระทบทวาร เมื่อจิตที่รู้อารมณ์ของอารมณ์เก่าดวงสุดท้ายดับไปแล้ว จิตอื่นจะเกิดต่อได้ไหมนอกจากจิตที่รู้ว่าอารมณ์กระทบทวาร (ก็ต้องรู้อารมณ์ที่กระทบ)

- ถ้าเป็นอารมณ์ทางตารู้อย่างไร (จิตนี้แค่รู้ว่ามีอารมณ์กระทบ) เพราะฉะนั้น จิตนี้รู้อารมณ์ที่กระทบได้กี่ทวาร (๕ ทวาร) จิตนี้รู้อารมณ์ได้ ๕ ทวารแต่เป็นจิตประเภทเดียวที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ได้ ๕ ทวารใช่ไหม (ใช่)

- จิตนี้เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางใจได้ไหม (ไม่ได้) แล้วจิตนี้เป็นกุศลหรืออกุศล (ไม่เป็นกุศลหรืออกุศล) เป็นวิบากหรือเปล่า (ไม่เป็น) ทำไมไม่เป็นวิบาก (เพราะจิตนี้ยังไม่รู้อารมณ์อย่างชัด) ไม่ใช่ เขารู้ไหมว่าเพราะอะไร ทำไมจิตนี้ไม่ใช่วิบาก (รู้แค่ว่าเพราะเหตุปัจจัยต้องเป็นกิริยา) ไม่ใช่ ทำไมไม่ใช่ (เป็นเพราะตอนนั้นอารมณ์เพิ่งกระทบ กรรมจะให้ผลรู้อารมณ์นั้นทันทีไม่ได้ ยังไม่ได้ทำหน้าที่รู้อย่างปัญจวิญญาณรู้ การที่จะรู้แบบปัญจวิญญาณต้องมีจิตหนึ่งเกิดก่อน) นี่เป็นความคิดของเราเอง เพราะฉะนั้นต้องฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อมั่นคง ทำไมพูดแล้วแล้วพูดอีก เพราะว่าความเข้าใจต้องมั่นคงยิ่งขึ้น

- เพราะฉะนั้น ทันทีที่จิตก่อนนั้นไม่มีอารมณ์นั้นอีกต่อไปเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นเป็นจิตที่รู้อารมณ์ที่กระทบจึงใช้คำว่า “อาวัชชนะ” รู้อารมณ์ที่กระทบได้ทั้ง ๕ ทวารทีละทวารจึงเป็น “ปัญจทวาราวัชชนจิต” และไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิตเพราะยังไม่ได้เห็นจริงๆ ยังไม่มีอะไรที่จะไปเป็นกุศลและอกุศลได้ และขณะนั้นสภาพธรรมที่เกิดไม่ใช่ผลของกรรมเพราะเหตุว่า ธรรมใดที่เกิดขึ้นเป็นผลของกรรมต้องรู้ เกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่ดีจึงเป็นผลของกรรมได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

- ต้องไม่ลืมสภาพของปัญจทวาราวัชชนจิตคือ สามารถรู้อารมณ์ที่กระทบไม่ว่าอารมณ์นั้นจะเป็นอารมณ์ที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ กระทบได้ทั้ง ๒​ จึงไม่ใช่วิบากของกรรมหนึ่งกรรมใด

- เพราะฉะนั้น ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นวิบากจิตได้ไหม (ไม่ได้) ตอนนี้ก็ชัดเจนจิตต้องเกิดขึ้นรู้อารมณ์หลากหลายต่างๆ เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจทุกจิตและเข้าใจเหตุผลด้วยว่า อะไรเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้นและเกิดขึ้นเป็นอะไรเพราะอะไร

- เพราะฉะนั้นมีตา มีสิ่งที่กระทบตา ถ้าจิตนี้ไม่เกิดจะเห็นอะไรไหม (ไม่) ใครไม่มีปัญจทวาราวัชชนจิต (ไม่มี) นอกจากคนที่ตาบอกหูหนวกใช่ไหม

- คนตาบอดมีอาวัชชนจิตไหม (มี) เกิดได้กี่ทวาร (๔) ​ คนหูหนวกมีปัญจทวาราวัชชนจิตไหม (มี) เกิดได้กี่ทวาร (๔) เพราะฉะนั้น ใครไม่สามารถจะบังคับให้อะไรเกิดได้ใช่ไหม (ใช่) เพราะฉะนั้น อะไรทำให้ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิด

- (คุณมธุบอกว่า ไม่สามารถเข้าฟังได้ทุกครั้งแต่รู้ว่าเป็นประโยชน์มากเพราะไม่เคยได้ยินได้ฟังแบบนี้มาก่อน) ประโยชน์สูงสุดคือ รู้ว่าไม่มีเรา เพราะฉะนั้นที่กำลังฟังเป็นสิ่งที่กำลังมีขณะนี้ ไม่ต้องไปแสวงหาไม่ต้องไปทำอะไรให้เกิดขึ้นเพราะมีแล้วแต่ไม่รู้จึงควรรู้ เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่ได้ฟังสำคัญมากที่จะทำให้เข้าใจถูกต้องทีละเล็กทีละน้อยว่า ไม่ใช่เราและไม่มีเรา

- ไม่มีเราแล้วมีอะไร (มีธรรม) ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ขณะที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ทางตา หู จมูก ลิ้นกายใจ ขณะนั้นจิตมีไหม (มีภวังค์) ภวังคจิตต่างกับขณะเห็นอย่างไร (คุณมธุยังไม่เข้าใจเรื่องอารมณ์แต่ตอนนี้เข้าใจแล้วว่า จิตต่างกันเพราะอารมณ์ของภวังค์ไม่ปรากฏ)

- เพราะฉะนั้น ขณะนี้ปัญจทวาราวัชชนจิตต่างกับภวังคจิตอย่างไร (อารมณ์ของภวังค์ไม่สามารถรู้ได้ แต่อารมณ์ของอาวัชชนะคืออารมณ์ที่กระทบปสาทรูปและจิตที่เกิดต่อคือเห็นได้ยิน) ตอบได้ถูกแต่มีอีกข้อหนึ่งที่ต่างกันไหม (กิจก็ต่างกัน ชาติของจิตก็ต่างกัน) เราพูดเป็นคำธรรมว่า ภวังคจิตไม่รู้อารมณ์ของชาตินี้ ข้อนี้ตอบแล้วและเพราะปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นวิบากจิตไม่ได้

- เพราะฉะนั้น กิริยาจิตทั้งหมดทุกดวงเป็นผลของกรรมหรือเปล่า (ไม่) กิริยาจิตเป็นของใครบ้าง (ปัญจทวาราวัชชนจิตและมโนทวาราวัชชนจิตเกิดกับทุกคน ส่วนหสิตุปปาทจิตเกิดกับพระอรหันต์) เก่งมากค่ะ แล้วจะลืมไหมเพราะคราวก่อนลืมหรือเปล่า

- เมื่อมีความเข้าใจจริงๆ ที่มั่นคงจะไม่ลืมความเป็นจริงเพราะขณะที่ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดเป็นวิถีจิตหรือไม่ใช่วิถีจิต (เป็นวิถีจิต) เพราะอะไร (เกิดทางทวารหนึ่งทวารใด) เพราะเป็นจิตที่รู้อารมณ์ของชาตินี้ใช่ไหม (ใช่) ด้วยเหตุนี้ถ้าไม่มีวิถีจิตที่เป็นปัญจทวาราวัชชนจิตจะมีโลกที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรส ที่กระทบสัมผัสไหม (ไม่มี) แสดงให้เห็นว่า ใครก็ทำให้อะไรเกิดไม่ได้นอกจากความเป็นไปของธรรมตามลำดับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prinwut
วันที่ 2 ก.ย. 2566

- (คุณมธุถามว่า เป็นไปได้ไหมว่า จิตจะรู้อารมณ์โดยไม่ผ่านทวารเลย) ทำไมจิตต้องรู้อารมณ์ (เพราะเป็นปัจจัยที่จิตเกิดต้องรู้อารมณ์) เป็นปัจจัยหรือเป็นความเป็นไปคือ ภาวะของธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเกิดรู้อารมณ์ (เข้าใจ)

- เพราะฉะนั้น กิริยาจิต คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต มโนทวาราวัชชนจิต หสิตุปปาทจิตต่างจากกิริยาจิตอื่นๆ หรือเปล่า (ต่างที่อารมณ์ กำลังพิจารณา) ไม่ได้ถามอย่างนั้น จิต ๓ ดวงนี้ต่างจากกิริยาจิตอื่นๆ อย่างไร (เข้าใจแล้วว่า ๓ ดวงนี้เป็นอเหตุกะ ส่วนกิริยาจิตอื่นๆ ประกอบด้วยเหตุ) นี่เป็นเหตุที่ต้องให้คิดถึงคำถามก่อน ถ้าตอบไม่ตรงก็ถามให้คิดว่า ถามว่าอะไรเพราะฉะนั้นที่ตอบไม่ตรงเพราะไม่ได้คิดถึงคำถาม

- เพราะฉะนั้น ขณะนี้มีหสิตุปปาทไหม (ไม่มี) เพราะอะไร (ที่นี่ไม่มีพระอรหันต์) เพราะฉะนั้น ก็เข้าใจกิริยาจิต ๓ ดวง

- (คราวที่แล้วท่านอาจารย์ว่าทำไมจิตนี้เกิดกับพระอรหันต์ได้ แต่ยังไม่ชัดเจน) เพราะฉะนั้น จะพูดต่อไปว่า หสิตุปปาทเกิดต่อจากจักขุวิญญาณได้ไหม (ไม่ได้) เพราะฉะนั้น เมื่อจักขุวิญญาณดับไปแล้วเป็นปัจจัยให้จิตอะไรเกิดต่อ (สัมปฏิจฉันนะ) สัมปฏิจฉันนะเป็นชาติอะไร (วิบาก) ทำไมไม่เป็นกิริยาจิตเหมือนปัญจทวาราวัชชนะ (เพราะกรรมที่ให้วิบากเกิดดวงแรก เช่น เห็น ยังต้องให้ผลต่อ ให้ผลขณะเดียวไม่ได้)

- เพราะฉะนั้นถ้าจักขุวิญญาณเป็นกุศลวิบาก สัมปฏิจฉันนะเป็นอะไร (เป็นกุศลวิบาก) เพราะอะไร (เพราะเป็นผลของกรรมเดียวกัน)

- เพราะฉะนั้นเมื่อสัมปฏิจฉันนะรับอารมณ์เดียวกันต่อจากจิตเห็น สัมปฏิจฉันนะเห็นไหม (ไม่) เพราะอะไร (เพราะต่างกันตรงกิจ) สัมปฏิจฉันนะดับแล้วหสิตุปปาทเกิดต่อได้ไหม (ไม่ได้) ทำไมไม่ได้ (เพราะเป็นปัจจัยเหมือนกัน) เพราะยังไม่ถึงเวลาเป็นกิริยาจิตเพราะกรรมยังให้ผลไม่หมด

- ชั่วขณะเดียวที่เกิดขึ้นเห็นไม่พอที่จะเป็นผลของวิบากเพราะเพียงแค่เห็นแล้วดับ เพราะฉะนั้นเมื่อรูปยังไม่ดับ สัมปฏิจฉันนะดับ กรรมให้ผลเพียงแค่รับไว้ยังไม่พอ เพราะฉะนั้นกรรมจึงทำให้ทันทีที่จิตที่เพียงรับไว้ดับก็ทำให้เกิดจิตที่รู้อารมณ์ที่รับไว้นั้นต่อเป็นสันตีรณจิต

- สันตีรณะดับแล้วกรรมจะเป็นปัจจัยให้ผลของกรรมเกิดอีกได้ไหม (ไม่ได้) เมื่อหมดหน้าที่ของกรรมที่จะให้ผลเป็นจิตเกิดขึ้นแล้ว จิตที่เกิดขึ้นต่อจากสันตีรณะเป็นอะไร (โวฏฐัพพนะ) โวฏฐัพพนะคืออะไร (เป็นกิริยาจิตหนึ่ง) เกิดขึ้นทำกิจอะไร (ทำกิจรู้เพิ่มรู้มั่นคงเกี่ยวกับอารมณ์นี้) ไม่ใช่ นี่เป็นความละเอียดที่ต้องรู้กิจด้วยว่า จิตอะไรทำกิจอะไร

- วิถีจิตที่รู้อารมณ์ทางทวารทั้ง ๕ ต้องรู้ว่า ขณะไหนเป็นผลของกรรม ขณะไหนไม่ใช่ผลของกรรม กรรมเป็นปัจจัยให้จิตเกิดแล้ว หมดแล้วที่เป็นผลของกรรมแต่ต้องรู้อารมณ์ที่ปรากฏที่กระทบตาต่อเพราะเหตุว่า อารมณ์ยังไม่ดับ

- เพราะฉะนั้น จิตที่เกิดต่อจากสันตีรณะรู้อารมณ์ที่ยังไม่ดับโดยทำกิจ “เปิดทาง” ให้กุศลและอกุศลที่มีมากมายมหาศาลในจิตสามารถที่จะเกิดได้ในอารมณ์ที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นจิตนี้“เลือก” ให้กุศลเกิดหรืออกุศลเกิดได้ไหม (ไม่ได้) แต่จิตที่จะเกิดต่อเกิดไม่ได้ถ้าจิตนี้ไม่เปิดทางให้ เพราะฉะนั้น เมื่อจิตนี้ดับ กุศลอกุศลที่สะสมมามากมายในจิตในสังสารวัฏฏ์ อะไรพร้อมที่จะเกิดจึงสามารถจะเกิดได้เมื่อจิตนี้ดับไปแล้ว เข้าใจหรือยังว่า ถ้าจิตนี้ไม่เปิดทางกุศลและอกุศลที่สะสมมาเกิดไม่ได้

- มีจิตที่เกิดต่อทำกิจรู้อารมณ์ที่ยังไม่ดับมาก ไม่ใช่ขณะเดียว เพราะฉะนั้น จิตนี้เกิดขึ้นเป็นกุศลหรืออกุศล ๑ ขณะ อารมณ์ยังไม่ดับ จิตก็เกิดต่อไปเป็นจิตประเภทเดียวกันคือ กุศลหรืออกุศลจนกว่าอารมณ์จะดับ

- ธรรมดาอารมณ์ยังเหลืออีก ๗ ขณะหรือ ๙ ขณะก็แล้วแต่ว่าจิตอะไรเกิดจึงทำให้อารมณ์เหลือเท่าไหร่ เพราะฉะนั้น จิตที่เกิดซ้ำๆ รู้อารมณ์เดียวกันเป็นโลภะประเภทเดียวกัน หรือว่าเป็นโทสะประเภทเดียวกัน หรือว่าเป็นกุศลประเภทเดียวกันเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นอารมณ์เดียวกันหลายขณะไม่ใช่ขณะเดียว

- กุศลประเภทเดียวกันหรืออกุศลประเภทเดียวกันเกิดดับสืบต่อเร็วมากรู้อารมณ์นั้น ๗ ขณะเป็นปกติ เมื่อจิตนั้นเกิดขึ้นรู้อารมณ์ซ้ำกันหลายๆ ขณะจึงทำให้รู้ได้ว่า จิตขณะนั้นเป็นโลภะหรือเป็นโทสะเป็นต้น

- เพราะฉะนั้น จิตที่เกิดต่อที่เป็นโลภะโทสะไม่ได้ทำกิจเห็น ไม่ได้ทำกิจสัมปฏิจฉันนะ ไม่ได้ทำกิจสันตีรณะ ไม่ได้ทำกิจโวฏฐัพพนะ แต่เป็นจิตที่รู้อารมณ์นั้นด้วยโลภะอย่างเร็วหลายขณะหรือด้วยโทสะอย่างเร็วหลายขณะจึงทำ “ชวนกิจ” เกิดดับรู้อารมณ์นั้นต่อกันเร็วมากจึงเป็นจิตที่ “เสพ” รู้อารมณ์นั้นมากกว่าขณะอื่นจึงเป็น “ชวนจิต”

- ด้วยเหตุนี้มีเห็น ๑ ขณะรู้ได้ว่า เห็นอะไร เพราะอะไร เดี๋ยวนี้มีเห็นเกิดขึ้นรู้ว่าเห็น แต่เห็นเกิดขึ้นเพียง ๑ ขณะเพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นสามารถรู้ได้และเห็นก็กำลังเห็นให้รู้ได้ว่าเห็นเพราะอะไรทั้งๆ ที่เกิด ๑ ขณะ

- ขณะโกรธเกิด ไม่ได้เห็น แต่รู้ได้ว่าโกรธเกิด เพราะอะไร คำถามว่า เพราะอะไรขณะนี้จิตเห็นเกิดรู้ว่าเห็น และขณะที่ความโกรธเกิดขึ้นซึ่งไม่ได้เห็นแต่รู้ว่า ความโกรธเกิดขึ้นเพราะอะไร (แค่รู้ว่าต่างกันและเป็นอกุศล)

- นี่เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ขณะเห็นก็รู้ว่าเห็นและชอบหรือไม่ชอบในสิ่งที่กำลังเห็นก็รู้ว่ามีจริงๆ แต่เพราะอะไรเมื่อมีจิตอื่นที่รู้สิ่งที่จิตเห็นด้วยแต่ไม่ปรากฏนอกจากเห็น แต่เมื่อชอบหรือไม่ชอบ แม้ว่ามีจิตอื่นก่อนและหลังแต่ไม่ปรากฏเพราะอะไรที่จะปรากฏเพียงเห็นและชอบหรือไม่ชอบสิ่งที่เห็น (คุณอาช่ายังไม่รู้คำตอบแต่คิดว่า ตอนที่โกรธเกิดเพราะเกิดติดต่อกันชาติเดียวกัน ๗ ขณะ) แล้วจิตเห็น (เข้าใจว่าก่อนเห็นไม่ใช่เห็นและหลังเห็นก็ไม่ใช่เห็น) แล้วทำไมรู้ว่า กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ทั้งที่เกิดขณะเดียว (เพราะนิมิตของสี) ถ้าไม่เห็นจะมีนิมิตไหม (ไม่มี) และจิตที่เกิดต่อไม่เห็นแล้วมีนิมิตไหม (ไม่มี) แล้วจิตเห็นเห็นแล้วมีนิมิตไหม (เห็นก็มีนิมิต) เห็นเกิด ๑ ขณะ จิตที่เกิดต่อ ๑ ขณะรู้เห็นแต่ว่าเห็นมีนิมิตอีกจิตหนึ่งไม่มีนิมิตหรือเพราะอะไร (เพราะไม่ใช่กิจเดียวกับเห็น)

- เพราะฉะนั้น ต่างกันที่กิจ จักขุวิญญาณแม้เพียง ๑ ขณะแต่ก็เห็นแจ้งสิ่งที่ปรากฏ แล้วโลภะโทสะที่สามารถรู้ได้แม้ไม่ได้ทำกิจเห็นแต่ทำกิจเป็นความโกรธ​ความชอบต่างๆ นานาเพราะเกิดซ้ำกัน ๗ ขณะ เพราะฉะนั้นธรรมดาชวนเกิดอย่างมากที่หลังเห็นหลังได้ยินเป็นต้น ๗ ขณะอารมณ์ดับหรือยัง (ยังไม่ดับ)

- เพราะฉะนั้น คราวต่อไปเราจะพูดจนกว่าจิตจะดับถึงสิ่งที่มีในขณะนั้น (คุณอาช่าฟังเรื่องชวนแล้วอยากจะฟังเพื่อให้เข้าใจเพิ่มขึ้น) เพราะฉะนั้นคราวหน้าเราพูดถึงชวนได้เพราะจิตอะไรก็ตามที่ทำกิจนี้เราพูดถึงได้ไหม

- นี่เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ทุกขณะแต่ไม่มีใครรู้เพราะลึกซึ้ง ถ้าไม่รู้และไม่เข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังมีและกำลังกล่าวถึงไม่สามารถที่จะละความเป็นเราได้เลย

- นี่เป็นสิ่งที่เราพูดถึง ธรรมที่มีจริงๆ ที่สามารถจะรู้ได้ว่าจริงในชีวิตประจำวัน จนกว่าจะเข้าใจเพิ่มขึ้นละเอียดขึ้นลึกซึ้งขึ้นจึงจะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ฟังแล้วเข้าใจแล้วจึงรู้จักพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มิฉะนั้น จะไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย

- เพราะฉะนั้นจะรู้จักพระพุทธเจ้าเมื่อเริ่มเข้าใจคำที่พระองค์ตรัสเท่านั้น สำหรับวันนี้ก็หมดเวลาแล้ว สวัสดีค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
prinwut
วันที่ 2 ก.ย. 2566

กราบเท้าท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ด้วยความเคารพยิ่ง

กราบขอบพระคุณและกราบอนุโมทนาคุณสุคินและคุณอาช่าและสหายธรรมชาวอินเดียทุกท่าน

ขอบพระคุณและอนุโมทนาพี่สา อัญชิสา ในความช่วยเหลือตรวจทานข้อความ

กราบของพระคุณอาจารย์คำปั่นและคณาจารย์ มศพ และ จนท ทุกท่านด้วยความเคารพ กราบอนุโมทนาในกุศลทุกประการครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.ย. 2566

กราบเท้าท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ด้วยความเคารพยิ่ง

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 2 ก.ย. 2566

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
กราบยินดีในกุศลของคุณสุคิน ผู้ถ่ายทอดคำท่านอาจารย์เป็นภาษาฮินดี
ขอบพระคุณและยินดีในกุศลวิริยะของพี่ตู่ ปริญญ์วุฒิ เป็นอย่างยิ่ง ที่ถอดคำสนทนาของท่านอาจารย์ ทุกคำ เป็นประโยชน์เกื้อกูลอย่างยิ่ง
และยินดีในกุศลของผู้ช่วยตรวจทาน และยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
siraya
วันที่ 4 ก.ย. 2566

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ