Thai-Hindi 06 Aug 2023

 
prinwut
วันที่  6 ส.ค. 2566
หมายเลข  46360
อ่าน  474

Thai-Hindi 06 Aug 2023


- ตอนนี้เราจะไม่พูดเรื่องจิตที่ประกอบด้วยเหตุ เพราะการเข้าใจธรรมที่ลึกซึ้งต้องเข้าใจจริงๆ ไม่รีบร้อน ถ้าเราพูดถึงอะไรหมายความว่า เราจะค่อยๆ หมดความสงสัยในสิ่งที่เรากำลังพูดถึงและไม่ต้องท่องแต่เป็นความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้น

- ไม่ว่าเราจะพูดเรื่องธรรมเมื่อไหร่ ที่ไหน สบายๆ ไม่ใช่ว่า ที่เราจะต้องจำ ที่จะต้องท่อง ที่จะต้องถึง แต่ให้เริ่มมีความเข้าใจที่ละเอียดและถูกต้องตั้งแต่ต้น

- เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้เราจะไม่พูดเรื่องอื่น แต่เราจะพูดถึงอะไร (ที่เราจะสนทนาคือสิ่งที่มีจริงที่สามารถรู้ได้ตอนนี้) เพราะฉะนั้น ถามอีกครั้งเดี๋ยวนี้เรากำลังจะพูดถึงอะไร (สิ่งที่มีจริงที่ไม่มีเหตุอย่างเช่น เห็น) ไม่ได้ถามตัวอย่างเลย แต่พูดมาก็ไม่เป็นไร

- เพราะฉะนั้น “เหตุ” คืออะไร เรากำลังจะพูดถึงขณะที่ไม่มีเหตุใช่ไหม (ใช่) เหตุคืออะไร (เหตุ คืออโลภะ อโทสะ อโมหะ โลภะ โทสะ โมหะ) เรากำลังจะพูดถึงอะไร (เรื่องอเหตุกะ) เห็นไหม เราถามไปถามมาเพื่อให้หัดคิดให้ละเอียดขึ้นตรงขึ้น (ถามใหม่) นี่คือที่เราต้องการให้หัดคิดให้ละเอียดขึ้น ให้ตรงขึ้น

- อะไรไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย (เห็น) เห็นคืออะไร (เป็นจิต) จิตคืออะไร (เป็นนามธรรมที่รู้) เดี๋ยวนี้มีไหม (มี) รู้จักจิตหรือยัง (ยัง) ถูกต้อง แต่ถ้าไม่พูดเรื่องจิตจะรู้จักจิตไหม (ถ้าไม่พูดก็ไม่รู้) เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้เรากำลังพูดเพื่อเข้าใจสิ่งที่มีจริงที่ยังไม่สามารถจะรู้ได้แต่มีจริงๆ

- ถ้าเราพูดเพียงคำว่า “จิต” จะสามารถรู้จักจิตเดี๋ยวนี้ไหม (ไม่รู้จัก) เราพูดเรื่องจิตบ่อยๆ เป็นปีแล้ว รู้จักจิตหรือยัง (ยังไม่รู้) อีกนานเท่าไหร่จะรู้จักจิต (ไม่สามารถกำหนดได้แต่รู้ว่านานมาก) เพราะฉะนั้น พูดถึงจิตอีกบ่อยๆ เพื่อจะทำให้สามารถค่อยๆ ประจักษ์แจ้งลักษณะของสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้

- เบื่อหรือยัง (ไม่เบื่อ) ถูกต้อง เพราะฉะนั้น พูดถึงจิตเดี๋ยวนี้ที่กำลังมี จิตอะไรเดี๋ยวนี้ที่กำลังมีที่จะต้องพูดถึงเพราะเรายังไม่รู้จักจิตจริงๆ แต่รู้ว่ามีจิตนั้น (เช่น เวลานี่ได้ยิน เรามาพูดเรื่องได้ยิน) เพราะฉะนั้น ทีละ ๑ ไม่ใช่ “อะไรๆ ก็เป็นจิต” ทั้งวันโดยไม่รู้อะไร เพราะฉะนั้น จะเข้าใจขึ้นก็ต่อเมื่อพูดถึง ๑

- ตอนนี้คุณอาช่าจะพูดถึงจิตอะไรที่กำลังมี ๑ จิต (พูดถึงเห็น) ดีมาก เพราะเห็นทุกวันแต่ไม่รู้สักทีว่า ไม่ใช่เราที่เห็นแต่เป็นจิตที่เห็น ถ้าไม่มีความพอใจจริงๆ ที่จะ เดี๋ยวนี้มีจิตและพูดเรื่องจิตเพื่อจะเข้าใจจิต สามารถจะรู้ความจริงของจิตได้ไหม ถ้าไม่มีความสนใจ ไม่มีความพอใจจริงๆ ที่จะได้ฟังเรื่องจิตอีกจะสามารถรู้จักจิตที่กำลังเห็นได้ไหม

- คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ละเอียดลึกซึ้ง ต้องฟังแล้วฟังอีก เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่คุณอาช่าสนใจคืออะไร (สิ่งที่มีจริงที่ยังไม่รู้) ทีละ ๑ (ได้ยิน) ถ้าไม่ถามอย่างนี้คุณอาช่าก็เหมือนสนใจที่จะรู้ความจริงโน่นนี่ทั้งหมด นั่นเป็นความสนใจที่จะเข้าใจ “ได้ยิน” ไหม เพราะฉะนั้น คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเรื่องนี้ด้วยแต่คนข้ามไปไม่รู้ว่า แม้แต่ความพอใจ ความสนใจที่จะรู้จักความจริงของได้ยินก็ต้องมี ไม่ใช่ฟังแล้วรู้ว่าเป็นจิตดับแล้ว แต่ไม่มีความพอใจความสนใจที่ลึกซึ้งที่จะถึงความจริงว่า ได้ยินเดี๋ยวนี้ไม่ใช่เรา เกิดขึ้นแล้วดับไป ถ้าไม่มีความสนใจพอใจจริงๆ จะไม่มีวันรู้จิตที่ได้ยิน คิดว่ารู้แล้ว ฟังแล้ว เข้าใจแล้ว

- คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าลึกซึ้งมากละเอียดมาก เพราะฉะนั้น พระองค์ตรัสคำที่เราได้ยินและคิดว่าเข้าใจแล้ว คุณอาช่ารู้จักคำว่า “ฉันทะ” ใช่ไหม (เคยได้ยิน) จำได้ใช่ไหม (จำได้)

- เห็นความลึกซึ้งไหม ถ้าไม่มี “ฉันทะ” ที่จะรู้ความลึกซึ้งของได้ยิน ไม่มีการที่จะรู้จักความจริงได้เลย เพราะฉะนั้นแม้ฉันทะที่จะรู้ความจริงก็เป็น “อิทธิปาท” ที่จะให้สำเร็จในการรู้จักเห็นขณะนี้จริงๆ

- ทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าละเอียดลึกซึ้ง ถ้าไม่เข้าใจทุกคำไม่สามารถที่จะถึงความประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามที่พระองค์ทรงแสดง เพื่อไม่ใช่แค่ฟังแต่ให้ค่อยๆ เข้าใจความจริง มีฉันทะที่รู้ประโยชน์ที่ว่า ทำไมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมีถึงที่สุดตามความเป็นจริง เห็นประโยชน์ของทุกคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไหมว่า ต้องเข้าใจละเอียดลึกซึ้งจริงๆ

- ถ้าประมาทในความลึกซึ้งของธรรมทุกคำจะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม (ถ้าประมาทก็ไม่รู้) พระสัมมาสัมพุทธเจ้ากล่าวถึงสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ใช่ไหม (ใช่) เพื่ออะไร (เพื่อให้เข้าใจความจริง) เข้าใจเท่านั้นหรือ (เพื่อที่จะรู้จริงๆ และละคลายความเป็นเราที่สะสมมา) เพื่อ “ประจักษ์แจ้ง” ทุกคำที่พระองค์ทรงแสดง

- ได้ยินเกิดหรือเปล่า (เกิด) ได้ยินที่เกิดแล้วดับไหม ประจักษ์แจ้งความจริงเดี๋ยวนี้ที่ได้ยินเกิดแล้วดับหรือยัง (ยัง) เพราะฉะนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงได้ยินเดี๋ยวนี้ที่เกิดดับเพื่ออะไร (เพื่อจะให้ค่อยๆ เข้าใจว่า ไม่มีตัวตนมีแต่ธรรมที่เกิดแล้วดับทันที) เพื่อประจักษ์แจ้งอย่างที่พระองค์ตรัส ถูกต้องไหม

- เพราะฉะนั้นมี “ฉันทะ” ที่จะประจักษ์แจ้งความจริงของได้ยินที่เกิดดับ หรือ “อยาก” ประจักษ์แจ้งความจริงของสิ่งที่กำลังเกิดดับ (สนใจที่จะเข้าใจ) นี่คือความต่างกันเพราะ ฉันทะ ความพอใจที่จะเข้าใจความจริง รู้ว่าสิ่งนี้ยากลึกซึ้ง ไม่สามารถที่จะประจักษ์ทันทีได้ ต้องอาศัยความเพียรเช่น เดี๋ยวนี้ฟังแล้วฟังอีก

- ถ้า “อยาก” ประจักษ์แจ้งความจริง ถูกหรือผิด (ถ้าต้องการก็ผิด) เพราะอะไร (เพราะเมื่อไหร่ที่ต้องการก็มีตัวตนทำให้เดินไปทางผิด) เมื่อรู้ความจริงว่า ลึกซึ้งจึงรู้ว่าอยากเท่าไหร่ก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ จึงคิดถูกต้องว่า ความอยากไม่ได้ทำให้รู้ความจริง

- เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ความจริงได้ต้องอาศัยความเข้าใจเดี๋ยวนี้ที่มีทีละเล็กทีละน้อยๆ ค่อยๆ เพิ่มขึ้นจึงสามารถจะเห็นความถูกต้องว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด

- เพราะฉะนั้น จิตที่กำลังได้ยินเดี๋ยวนี้มีเหตุเกิดร่วมด้วยไหม (ถ้าหมายถึงเห็นก็ไม่มีเหตุแต่ถ้าพูดถึงจิตอื่นที่เกิดแทรกกันตอนนั้นต้องมีเหตุเกิดด้วย) เพราะฉะนั้น เรากำลังพูดถึงจิตอะไรทีละ ๑ จิต

- จิตเห็นไม่มีเหตุใดๆ เกิดร่วมด้วยเลยเพราะอะไร (อาช่าตอบว่า เป็นเพราะเขารู็ว่า เป็นวิบาก) เขารู้หรือ (เข้าใจว่าเป็นวิบาก)

- เพราะฉะนั้น ทำไมเราพูดถึงเรื่องเห็นและจิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย (เข้าใจว่ามีจริงและเกิดทั้งวัน) คุณอาช่าจะได้ไม่ไปคิดเรื่องอื่น (เป็นเช่นนั้น) เพราะวันหนึ่งๆ คิดแต่เรื่องอื่น ไม่ใช่เห็นแล้วเมื่อไหร่จะรู้ความจริง ถ้าเราไม่คิดถึงบ่อยๆ เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะพูดธรรมเรื่องอะไรก็ตามเพื่อให้เริ่มมีปัจจัยที่จะคิดแม้ “คิดถึง” ความจริงของสิ่งที่มีจริงบ่อยๆ ขึ้น

- เมื่อวานนี้คุณอาช่าคิดเรื่องเห็นหรือเปล่า (มีคิด) คิดเรื่องเห็นหรือเมื่อวานนี้ (มีคิดเรื่องเห็น) ไม่ได้คิดเรื่องอื่นคิดเรื่องเห็นหรือ (ไม่ได้คิดเรื่องเห็นทั้งวันแต่คิดเรื่องเห็นบ้าง) เก่งมาก สุคินคิดเรื่องเห็นหรือเปล่าเมื่อวานนี้ (ตอนที่ฟังธรรมก็ติด)

- เพราะฉะนั้น ถามว่า เมื่อวานนี้คิดถึงเรื่องเห็นบ้างหรือเปล่า จะได้รู้ว่า เพราะอะไรจึงไม่คิด (มีบางเวลาที่คิด) เพราะฉะนั้น ต้องเป็นคนตรง พรุ่งนี้จะคิดเรื่องเห็นไหม (พรุ่งนี้ไม่ทราบ) เย็นนี้จะคิดเรื่องเห็นไหม (ไม่ทราบ) ตอนกลางวันจะคิดเรื่องเห็นไหม (ที่ยังไม่มาถึงไม่สามารถรู้ได้แต่สามารถพูดถึงได้) พูดถึงได้แต่ต้องเป็นคนตรงต่อความจริงว่า เมื่อวานนี้คิดถึงเห็นเมื่อไหร่ (จำได้ตอนที่กำลังจะออกจากบ้านว่าคิดถึงเห็น) คิดว่าอย่างไร (มีคนเยอะๆ มีรถผ่านเยอะๆ เมื่อก่อนไม่เคยคิดแต่เมื่อวานก็คิดว่าเป็นแค่เห็น ที่คิดว่ามีรถจริง มีอะไรจริงนั้นไม่ใช่ เพียงแค่เห็นตอนนั้นเอง) แสดงว่า คุณอาช่ามีปัจจัยพอที่จะเริ่มคิดถึง

- เพราะฉะนั้น ขณะไหนที่มีความเข้าใจเกิดขึ้นต้องต่างกับขณะที่ไม่ได้คิดถึงเลย เพราะฉะนั้น จิตเห็นเกิดขึ้นทำกิจอะไรหรือเปล่า (ทำ) กิจอะไร (กิจเห็น) ธรรมอื่นทำกิจเห็นได้ไหม (ไม่ได้) เพราะฉะนั้นจิตเห็นเกิดขึ้นทำกิจเห็นกี่ขณะ (๑ ขณะ) เพราะฉะนั้นวันนี้มีจิตเห็นกี่ขณะ (เยอะมาก) จิตอื่นนอกจากจิตเห็นทำกิจเห็นได้ไหม (ไม่ได้) เก่งนะคะ คุณอาช่าถามอย่างไรก็ตอบได้

- จิตอื่นที่ไม่ใช่จิตเห็นทำกิจเห็นไม่ได้ ลองยกตัวอย่างจิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยที่เป็นจิตอื่น (จิตได้ยินเกิดทำกิจได้ยิน) แล้วอะไรอีก (จิตได้กลิ่น) พูดถึงจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุมาหมดเลยตอนนี้มีจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส

- ทีละ ๑ จิตเห็นทำได้กี่กิจ (๑ กิจ) จิตได้ยินทำได้กี่กิจ (๑ กิจ) จิตได้กลิ่นทำได้กี่กิจ (๑) จิตเห็นของพระสัมมาสัพมุทธเจ้าทำได้กี่กิจ (๑ กิจ) นอกจากจิต ๑๐ ดวงนี้แล้วมีจิตอะไรที่เป็นผลของอกุศลกรรมที่ไม่เกิดกับเหตุ (สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ) สัมปฏิจฉันนะทำได้กี่กิจ (๑) สันตีรณอกุศลวิบากทำได้กี่กิจ (๕ กิจ) กิจอะไรบ้าง (ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ สันตีรณะ กิจที่ ๕ จำไม่ได้) เคยพูดถึงแล้วแต่ไม่เป็นไร ไม่ต้องจำแต่ต้องเข้าใจ เพราะฉะนั้นเรายังไม่พูดถึงกิจอีก ๑ กิจของสันตีรณะ อาจจะเคยพูดบ้างนิดหน่อยแต่ไม่เป็นไร แต่ ๔ กิจนี้ก็ถูกต้อง อีก ๑ กิจพูดทีหลังก็ได้

- อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากทำได้กี่กิจ (๕) สันตีรณะที่เป็นกุศลวิบากมีกี่ดวง (๒) อะไร (สันตีรณจิตที่เกิดกับอุเบกขาเวทนากับอีกดวงที่เกิดกับโสมนัสเวทนา) อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากทำกิจได้กี่กิจ (๕ กิจ) โสมนัสสันตีรณกุศลวิบากทำกิจได้กี่กิจ (ไม่ค่อยแน่ใจว่าโสมนัสสันตีรณะจะทำกิจปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ ได้หรือไม่)

- นี่เป็นสิ่งที่เราจะต้องพูดเพื่อไม่ลืมที่จะเห็นความต่างกันของสันตีรณะที่เป็นอุเบกขากุศลวิบากกับสันตีรณะที่เป็นโสมนัสกุศลวิบาก เวทนาความรู้สึกต่างกัน กิจต่างกัน

- เพราะฉะนั้น อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากกับโสมนัสสันตีรณกุศลวิบากอย่างไหนมีกำลังกว่ากัน (ยังไม่ค่อยเข้าใจคำถาม) ๒ อย่าง อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากกับโสมนัสสันตีรณกุศลวิบากอะไรมีกำลังมากกว่ากัน (ตรงกำลังนี้หมายถึงอะไร) ชอบมากหรือชอบน้อย ถ้าสมมติว่าเป็นสิ่งที่มีจริงที่เป็นความชอบเราเห็นได้ เช่น เห็นแก้วแล้วโสมนัสไหมหรืออุเบกขา (โสมนัส)

- กรรมที่ทำด้วยความรู้สึกอุเบกขากับกรรมที่ทำด้วยความรู้สึกโสมนัส อะไรมีกำลังกว่ากัน กรรมต่างกันไหม (กรรมที่ทำให้เป็นโสมนัสสันตีรณกุศลวิบากมีกำลังกว่า) ตอนนี้เราพูดถึงเหตุคือกรรม เพื่อที่จะได้พูดถึงวิบากคือ เป็นผล

- กรรมดีที่ทำไม่ประกอบด้วยโสมนัสมีไหม กรรมดีคือกุศลกรรมที่ประกอบด้วยอุเบกขากับกรรมดีเป็นกุศลกรรมที่เกิดกับโสมนัส อะไรมีกำลังกว่ากัน (ที่เกิดกับโสมนัสจะมีกำลังมากกว่า) เพราะฉะนั้นให้ผลเป็นอเหตุกกุศลวิบากวันตีรณะที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา

- กรรมดีเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็เป็นกรรมดี ให้ผลไหม (ทำให้เกิดผล) กรรมดีเล็กๆ น้อยๆ ไม่ประกอบด้วยโสมนัสเพราะเล็กน้อยมากทำให้เกิดผล ทำให้ปฏิสนธิเกิดได้ไหม (ได้) กรรมดีเล็กๆ น้อยๆ ทำให้เกิดเป็นนกได้ไหม (ไม่ได้) แล้วอะไรทำให้เกิดเป็นนก (เป็นอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก) ดีมาก เก่งมากที่ไม่ลืมและเข้าใจจริงๆ

- เพราะฉะนั้น กรรมดีเล็กๆ น้อยๆ ทำให้เกิดเป็นนกได้ไหม (ไม่ได้) กรรมดีเล็กๆ น้อยๆ ทำให้เกิดเป็นปลาได้ไหม (ไม่ได้) กรรมดีเล็กๆ น้อยๆ ทำให้เกิดได้ไหม อะไรทำให้เกิดเป็นปลาได้ (อกุศลวิบาก) เพราะฉะนั้นกุศลกรรมเล็กๆ น้อยๆ ทำให้เกิดได้ไหม (คิดว่าอาจจะในกรณีเกิดเป็นมนุษย์แต่พิการ) ไม่ใช่คิดแต่เป็นความจริงที่ว่า กุศลกรรมจะทำให้อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากเกิดไม่ได้เพราะเป็นกุศลกรรมจะทำให้เกิดอกุศลวิบากไม่ได้เลย มากหรือน้อยก็ไม่ได้ แต่กุศลกรรมแม้เล็กๆ น้อยๆ ก็มีผลทำให้เกิดได้ไหม (ได้) แล้วจะเกิดเป็นอะไร (เป็นคนพิการ) นั่นคือคำตอบ ไม่ใช่ “ถ้าจะ” “อาจจะ” อะไรเลยทั้งสิ้น

- เพราะฉะนั้น เห็นคนพิการ บ้า ใบ้ บอด หนวก แขนขาไม่มี ฯลฯ ต่างจากคนอื่นธรรมดาปฏิสนธิจิตเป็นอะไร (สันตีรณกุศลวิบาก) เกิดเป็นอะไร เกิดเป็นนกได้ไหม (ไม่ได้) แน่ใจแล้ว เพราะฉะนั้น สันตีรณะที่เป็นวิบากทั้งกุศลและอกุศลทั้งหมดมีเท่าไหร่ (๓)

- จิตไหนทำให้เกิดปฏิสนธิ (มี ๒ ที่ทำให้เกิดปฏิสนธิ) อะไรทำให้เกิดอะไร (สันตีรณอกุศลวิบากทำให้เกิดในอบายภูมิและอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากที่ทำให้เกิดเป็นมนุษย์ที่พิการ) ชัดเจนเห็นไหมว่าถ้าเป็นผลของกุศลจะทำให้เกิดในอบายภูมิไม่ได้ แต่เมื่อเป็นกุศลอ่อนๆ ก็ทำให้เกิดในมนุษย์แต่ไม่เหมือนกับกุศลกรรมที่ไม่อ่อน

- กุศลที่มีกำลังทำให้ปฏิสนธิที่ไม่ประกอบด้วยเหตุเกิดได้ไหม (ถ้าเป็นกุศลกรรมที่มีกำลังก็ต้องทำให้เกิดผลที่มีเหตุ) นี่คือที่เขาต้องคิดเอง ต้องค่อยๆ เข้าใจและไม่เปลี่ยน ถ้าไม่คิดเองจะไม่เห็นความต่างของจิตแต่ละขณะ

- เพราะฉะนั้น โสมนัสสันตีรณอเหตุกะทำกิจปฏิสนธิได้ไหม (ไม่ได้) นี่ต้องมั่นคง ทำให้เกิดอะไรได้ที่เป็นอเหตุกะ ถามว่ากุศลที่มีกำลังที่เป็นโสมนัสทำให้เกิดอเหตุกวิบากอะไร กุศลกรรมที่้มีกำลังมากทำให้เกิดผลที่ไม่ประกอบด้วยเหตุคืออเหตุกะอะไรบ้าง กุศลกรรมที่มีกำลังเป็นโสมนัสด้วย ทำให้เกิดผลที่เป็นอเหตุกะไม่ประกอบด้วยเหตุอะไรบ้าง (เห็น ได้ยิน ลิ้มรส สัมผัสทางกาย ได้กลิ่น สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ) สันตีรณะกี่ดวง (๒) ​ ถูกต้อง

- เพราะฉะนั้น ความต่างกันของผลของกรรมที่เป็นกุศลที่มีกำลังต่างกันตรงไหน เมื่อไหร่ ขณะไหน (อาจารย์ทวนใหม่) เพราะฉะนั้นกุศลที่มีกำลังทำให้เกิดผลของกรรมคือวิบากที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ใช่คำว่า “อเหตุกะ” ไม่ประกอบด้วยเหตุ กุศลวิบาก เพราะฉะนั้นกุศลของกรรมที่มีกำลังมากทำให้เกิดอเหตุกกุศลวิบากกี่ดวง (๘) ก็ได้แต่ว่าก็ต้องตามเหตุ

- ทำไมเป็นกุศลวิบากทั้งๆ ที่มีกำลังก็แค่เห็น แต่การเห็นที่เป็นผลของกุศลกรรมคือ เห็นสิ่งที่น่าพอใจ ถ้าเป็นสิ่งที่น่าพอใจมากสันตีรณะก็เป็นโสมนัส เพราะฉะนั้นกรรมที่เป็นโสมนัสที่มีกำลังทำให้เกิดเป็นโสมนัสสันตีรณะได้แต่ทำให้เกิดปฏิสนธิไม่ได้


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prinwut
วันที่ 6 ส.ค. 2566

- เพราะฉะนั้น ผลของกรรมที่มีกำลังทำให้เห็นสิ่งที่น่าพอใจมาก น่ายินดีมาก ทำให้สันตีรณะเป็นโสมนัสแต่อเหตุกโสมนัสสันตีรณะทำกิจปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ ไม่ได้

- เพราะฉะนั้น กุศลมี ๒ อย่างประกอบด้วยปัญญากับไม่ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น คนที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาปฏิสนธิก็เป็นผลของกรรมที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา แต่เกิดพร้อมโสมนัสได้เมื่อเป็นกุศลวิบาก

- กุศลกรรมที่มีกำลังทำให้เกิดผลของกรรม จะพูดแต่อเหตุกะก่อนก็ได้ยังไม่พูดถึงปฏิสนธิเพราะฉะนั้นกุศลกรรมที่มีกำลังทำให้เกิดโสมนัสได้

- เพราะฉะนั้น กุศลที่มีกำลังทำให้เกิดผลของกรรมที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ เพราะฉะนั้นก็เป็นแต่โสมนัสสันตีรณะหลังจากที่ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่โสมนัสสันตีรณกุศลวิบากทำกิจปฏิสนธิไม่ได้ ทำได้แค่กิจที่เป็นโสมนัสสันตีรณะ

- โสมนัสสันตีรณกุศลวิบากทำปฏิสนธิไม่ได้แต่อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากทำได้ เพราะฉะนั้น ความต่างของโสมนัสสันตีรณกุศลวิบากกับอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากต่างกันที่กิจ

- ความต่างของอุเบกขาสันตีรณะกับโสมนัสสันตีรณะต่างกันตรงไหน (ต่างกันที่ถ้าเป็นอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากทำได้ ๕ กิจ ถ้าเป็นโสมนัสสันตีรณกุศลวิบากทำได้กิจเดียว) ต่อไปจะมีอีก ๑ กิจแต่ยังไม่ได้พูดถึงเพราะตอนนี้เราพูดว่า ๕ กิจแต่เราพูดถึง ๔​ กิจ ความจริงเราพูดบ้างนิดหน่อยแต่ไม่มากพอ

- ตอนนี้ จะทดสอบความเข้าใจเพราะฉะนั้นฟังดีๆ โสมนัสสันตีรณกุศลวิบากทำให้เกิดที่ไหน (โสมนัสสันตีรณะทำกิจปฏิสนธิไม่ได้) เพราะฉะนั้น ต้องมั่นใจโสมนัสสันตีรณกุศลวิบากทำกิจปฏิสนธิไม่ได้ไม่ว่าที่ไหนทั้งหมด

- เกิดเป็นมนุษย์เป็นผลของสันตีรณะอะไร (อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก) ไม่ได้ เห็นไหม ต้องฟังดีๆ ถามอย่างไรก็เปลี่ยนไม่ได้เมื่อเข้าใจ ใครจะถามอย่างไรก็ถามไปแต่ต้องตรง อุเบกสันตีรณะทำให้เกิดที่ไหน (อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากใช่ไหม) อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก (เกิดเป็นมนุษย์ไม่ได้)

- เพราะฉะนั้น อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากทำให้เกิดที่ไหน (ถ้าเป็นกุศลต้องเป็นมนุษย์) เพราะฉะนั้นต้องไม่ลืมความต่างกันของอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก โสมนัสสันตีรณกุศลวิบาก

- เกิดเป็นคนตาบอดตั้งแต่กำเนิดจะเป็นตาดีไม่ได้เลยปฏิสนธิจิตเป็นอะไร (อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก) ไม่สงสัยแล้วใช่ไหม ต้องเป็นอุเบกขา เป็นโสมนัสไม่ได้ใช่ไหม เพราะฉะนั้นโสมนัสสันตีรณกุศลวิบากทำปฏิสนธิกิจไม่ได้เลย

- กุศลที่ประกอบด้วยปัญญาก็มี ไม่ประกอบด้วยปัญญาก็มี กุศลที่ประกอบด้วยปัญญาและกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดได้ไหม (ได้) ต่างกันอย่างไร (ต่างกันตรงผลเกิดกับปัญญากับผลไม่เกิดกับปัญญา) ก็ชัดเจน เพราะฉะนั้น จบเรื่องของอุเบกขาที่เป็นอเหตุกวิบาก เพราะฉะนั้น จบเรื่องของวิบากจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุกี่ดวง (๑๕ ดวง) ถูกต้อง

- เพราะฉะนั้น เราจะต่อไปเรื่องของ “อเหตุกกิริยาจิต” ทีละ ๑ อเหตุกกิริยาจิต กิริยาจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุดวงที่ ๑ คืออะไร (ปัญจทวาราวัชชนจิต) ดวงที่ ๒ (มโนทวาราวัชชนะ) ดวงที่ ๓ (หสิตุปปาทจิต) ใครมีอเหตุกกิริยาจิตครบ ๓ ดวง (พระอรหันต์) พระโสดาบันมีอเหตุกกิริยาจิตกี่ดวง (๒) พระอนาคามีบุคคลมีอเหตุกกิริยาจิตกี่ดวง (๒) ​ คุณอาช่ามีกิริยาจิตกี่ดวงที่เป็นอเหตุกะ (๒) แล้วมีกิริยาจิตที่ไม่ใช่อเหกตุกะไหม (ไม่แน่ใจอาจจะมี) ฟังเปลี่ยนไม่ได้ อเหตุกกิริยาจิตมี ๓ ดวงหมายความว่ากิริยาจิตดวงอื่นๆ ต้องมีเหตุเกิดร่วมด้วย

- เพราะฉะนั้น คนธรรมดาที่ไม่ใช่พระอรหันต์มีกิริยาจิตเท่าไหร่ (ถ้าเป็นอเหตุกะรู้ว่ามี ๒) หมายความว่า คนที่ไม่ใช่พระอรหันต์มีอเหตุกกิริยาจิต ๒ ดวงใช่ไหม (ใช่) เท่านั้นใช่ไหม (ใช่)

- เพราะฉะนั้น คำถามว่า คุณอาช่าหรือคนอื่นนอกจากพระอรหันต์จะมีกิริยาที่ไม่ใช่อเหตุกะไม่ได้ใช่ไหม (ใช่) เพราะฉะนั้นพระอรหันต์มีจิตกี่ชาติ (๒ วิบากกับกิริยา) ถูกต้อง ไม่เปลี่ยนนะคะ เปลี่ยนได้ไหม (ไม่ได้)

- พระอรหันต์เห็นไหม (เห็น) เห็นของพระอรหันต์เป็นอะไร (เป็นวิบากจิต) เป็นอเหตุกจักขุวิญญาณอกุศลวิบากได้ไหม (ได้) เพราะฉะนั้นก็ชัดเจน

- ทำไมความต่างของอเหตุกกิริยาจิตของคนธรรมดาคนอื่นๆ กับพระอรหันต์ต่างกันตรงไหน (ต่างกันตรงที่เราไม่มีหสิตุปปาทจิต แต่พระอรหันต์มีหสิตุปปาทจิต) นั่นสิเพราะฉะนั้นอเหตุกกิริยาจิตของเราทุกคนที่ไม่ใช่พระอรหันต์กับอเหตุกกิริยาจิตของพระอรหันต์ต่างกันตรงไหน (ไม่ต่างกัน) ต่างกันที่อเหตุกกิริยาจิตของทั้งหมดต้องไม่ประกอบด้วยเหตุเลย แต่พระอรหันต์ไม่มีกิเลสใดๆ เลยทั้งสิ้น แต่คนที่เห็นที่ไม่ใช่พระอรหันต์เห็นไม่ต่างกันเลยแต่จิตที่เห็นยังมีกิเลสอยู่

- เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ยังมีกิเลส เห็นกิเลสก็ยังมี ได้ยินกิเลสก็ยังมี ทำกุศลกิเลสก็ยังมี เพราะฉะนั้น จึงต้องรู้ความต่างกันของจิตที่เกิดว่า ในขณะนั้นทำกิจอะไร มีกิเลสเกิดร่วมด้วยหรือเปล่า หรือว่าไม่มีกิเลสเกิดร่วมด้วยหรือเปล่า จึงเป็นกุศล อกุศล ผลของกุศล ผลของอกุศลและกิริยา

- นี่เป็นความละเอียดที่ต้องเข้าใจความต่างแม้เพียงเล็กน้อย คุณอาช่ามีอะไรสงสัยไหม (ไม่มี) เพราะฉะนั้นคราวต่อไปเราจะพูดเรื่องจิตที่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเพราะว่า เดี๋ยวนี้มีทั้งจิตที่เกิดกับเหตุและมีทั้งจิตที่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเดี๋ยวนี้เอง

- เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รู้เลยก็ไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เพราะพระองค์ตรัสรู้และทรงแสดงเราจึงสามารถรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ได้

- ในครั้งโน้นนานมาแล้วตรงที่คุณอาช่านั่งอยู่ก็มีคนที่สามารถเข้าใจความจริงเพราะได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นตราบใดที่ยังมีคำของพระองค์ที่จารึกไว้ให้เข้าใจถูกต้อง ต้องฟังไตร่ตรองละเอียดขึ้นจึงสามารถที่จะเข้าถึงความจริงว่า เป็นธรรมทั้งหมด

- คุณอาช่าเริ่มรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือยัง (เริ่ม) รู้จักมากแค่ไหน (นิดๆ หน่อยๆ เพิ่งเริ่ม) เท่าที่เข้าใจเพราะฉะนั้นส่วนที่ไม่เข้าใจทั้งหมดสามารถที่จะเข้าใจได้ทีละเล็กทีละน้อยเมื่อฟังคำของพระองค์และเคารพอย่างยิ่งที่จะไตร่ตรองจนเป็นความเข้าใจที่ไม่ต้องไปท่องแต่เป็นความเข้าใจที่ค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ได้

- เพราะฉะนั้น ขณะนี้เป็นเพียงขณะที่เริ่มรู้ว่า ควรจะเข้าใจหรือควรจะรู้อะไร เกิดมามีทุกสิ่งทุกอย่างเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส คิดนึก แต่ไม่เคยรู้ว่าเป็นอะไร เพราะฉะนั้นเพียงได้ยินคำว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ไม่เข้าใจคำของพระองค์เลยจะชื่อว่า รู้จักพระองค์ไหม (ไม่)

- เพราะฉะนั้น คุณอาช่าเคารพนับถือบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากน้อยเท่าไหร่ต้องตามความเข้าใจความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

- เกิดมาทุกวันมีทุกอย่าง แต่ไม่รู้ความจริงเลย แต่สามารถจะรู้สิ่งที่มีจริงซึ่งไม่เคยรู้มาเลยได้เมื่อได้ฟังคำที่พระองค์ทรงแสดง เพราะฉะนั้น มี “ฉันทะ” มีความพอใจเพื่อจะฟังสิ่งที่มีต่อไปหรือเปล่า

- อะไรเป็นประโยชน์สูงสุดในขณะนี้ (เข้าใจความจริง) มีค่ายิ่งกว่าสิ่งใดทั้งหมดเพราะในสังสารวัฏฏ์ยังไม่ได้เข้าใจพอ เพราะฉะนั้น นี่เป็นบารมี เป็นความเข้าใจถูกที่มั่นคง ที่จะมีความเพียร ที่จะอดทนที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ทีละเล็กทีละน้อย แม้น้อยมากแต่ก็เป็นหนทางที่จะประจักษ์แจ้งความจริง

- มั่นคงไหม (มั่นคง) มั่นคงขึ้นอีกๆ จนรู้ว่า ประโยชน์สูงสุดในสังสารวัฏฏ์คือสามารถรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังมีซึ่งเพียงปรากฏแล้วหมดไปทุกขณะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
prinwut
วันที่ 6 ส.ค. 2566

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลคุณสุคิน คุณอาช่าและสหายธรรมชาวอินเดียทุกท่าน

ขอบพระคุณและยินดีในกุศลคุณอัญชิสา (คุณสา) ในความช่วยเหลือจรวจทาน

- กราบขอบพระคุณ กราบอนุโมทนาในกุศลของอาจารย์คำปั่น และอาจารย์ มศพ ทุกท่านทุกประการครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 6 ส.ค. 2566

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
กราบยินดีในกุศลของคุณสุคิน ผู้ถ่ายทอดคำท่านอาจารย์เป็นภาษาฮินดี
ขอบพระคุณและยินดีในกุศลวิริยะของพี่ตู่ ปริญญ์วุฒิ เป็นอย่างยิ่ง ที่ถอดคำสนทนาของท่านอาจารย์ ทุกคำ เป็นประโยชน์เกื้อกูลอย่างยิ่ง
และยินดีในกุศลของผู้ช่วยตรวจทาน และยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nattawan
วันที่ 6 ส.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 6 ส.ค. 2566

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
siraya
วันที่ 10 ส.ค. 2566

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ