สอบถามเรื่องการบรรลุขั้นสกิทาคามีผล

 
guitar_thanakrit
วันที่  18 ม.ค. 2566
หมายเลข  45488
อ่าน  688

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย และขออนุโมทนาบุญกับพี่ๆ ทุกท่านในที่นี้ด้วยนะครับ

ผมมีคำถามเรื่องการบรรลุสกิทาคามี เนื่องจากได้ทราบมาว่าท่านที่บรรลุถึงขั้นสกิทาคามี จะมีอาการบรรเทา ความโลภ ความโกรธ ความลง ลดน้อยลงไป แต่ท่านยังละสังโยชน์ได้ 3 ข้อเหมือนพระโสดาบัน แล้วเช่นนั้นจะรู้ได้อย่างไรว่าเข้าถึงความเป็นสกิทาคามีผลแล้ว วินาทีนั้น อาสวะที่ห่อหุ้มจิตไว้ จะแหวกออกเหมือนตอนเกิดมรรคจิต ที่บรรลุโสดาบันหรือไม่ครับ

ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 19 ม.ค. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นพระอริยบุคคล มีความแตกต่างกันถึง ๔ ระดับ ตามระดับขั้นของปัญญา พระอริยบุคคลจึงมี ๔ ขั้น คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามีและพระอรหันต์

สำหรับ พระสกทาคามี ท่านละกิเลสได้บางส่วน คือ ดับความเห็นผิดทุกอย่างได้ ดับความลังเลสงสัยในสภาพธรรมได้ ซึ่งดับได้ตั้งแต่เป็นพระโสดาบันแล้ว แต่พระสกทาคามี ยังมีโลภะ ที่เป็นความติดข้องยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย และยังมีโทสะเหลืออยู่ แต่ความต่างกันของพระสกทาคามีกับพระโสดาบัน คือ พระสกทาคามี กำลังปัญญาท่านมากกว่าพระโสดาบัน โดยที่พระสกทาคามีบุคคล ละกิเลส คือ โลภะ ที่เป็นความติดข้องยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย และ ละโทสะได้มากกว่าพระโสดาบัน แต่ยังไม่สามารถละได้อย่างเด็ดขาด แต่ก็เบาบางกว่าพระโสดาบัน เมื่อเป็นเช่นนี้ กิเลส คือ โลภะ และ โทสะ ที่หลือของพระสกทาคามี จึงเบาบางกว่าพระโสดาบัน การบรรลุเป็นพระสกทาคามี บรรลุด้วยการกระทำโลภะกับโทสะ ให้เบาบาง ในขณะนั้น สกทาคามิมรรคจิตเกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นปัจจัยให้สกทาคามิผลจิตเกิดสืบต่อ ทำให้ถึงความเป็นพระสกทาคามีบุคคล พระสกทาคามีบุคคล มีปัญญามากกว่าพระโสดาบัน เกิดอีกเพียง ๑ ชาติเท่านั้น ครับ

ข้อความใน [เล่มที่ 79] พระอภิธรรมปิฎก ธาตุกถา-บุคคลบัญญัติ เล่ม ๓

- หน้าที่ ๒๓๘ แสดงความเป็นจริงของพระสกทาคามีบุคคล ดังนี้

บุคคลชื่อว่า สกทาคามี เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะความสิ้นไปรอบแห่งสัญโญชน์ทั้ง ๓ เพราะทำราคะ โทสะ โมหะให้เบาบางลง เป็นพระสกทาคามี ซึ่งยังจะมาสู่โลกนี้คราวเดียวเท่านั้นแล้วทำที่สุดทุกข์ได้ บุคคลนี้เรียกว่า สกทาคามี.



[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ หน้าที่ ๔๕๘

ลักษณะพระสกทาคามี

บทว่า ตนุตฺตา แปลว่า เพราะ (กิเลสทั้งหลาย) เบาบาง อธิบายว่า กิเลสทั้งหลาย มีราคะเป็นต้น ของพระสกทาคามี เบาบาง ไม่แน่นหนา เปรียบเหมือนชั้นแผ่นเมฆ และเปรียบเหมือนปีกแมลงวัน


...ยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านครับ...

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ