[คำที่ ๕๙๒] กุสลรต

 
Sudhipong.U
วันที่  29 ธ.ค. 2565
หมายเลข  45444
อ่าน  387

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “กุสลรต”

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

กุสลรต อ่านตามภาษาบาลีว่า กุ - สะ - ละ - ระ - ตะ มาจากคำว่า กุสล (กุศล, ความดี, สภาพที่ไม่มีโทษ) กับคำว่า รต (ผู้ยินดีแล้ว ยินดีในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงความยินดีอย่างโลภะ แต่เป็นสภาพที่เห็นประโยชน์ของกุศล แล้วน้อมไปในการยังกุศลให้เกิดขึ้นให้เจริญขึ้น) รวมกันเป็น กุสลรต หมายถึง ผู้ยินดีแล้วในกุศล ยินดีในการเจริญกุศลสะสมความดีทุกประการ กุศลเป็นสภาพที่ไม่มีโทษ ไม่นำมาซึ่งความทุกข์ความเดือดร้อนในภายหลังเลยแม้แต่น้อย เป็นสภาพธรรมที่ควรอบรมเจริญให้มีขึ้น ซึ่งควรยินดีอย่างยิ่งในการเจริญกุศล ขวนขวายในความดี เพราะถ้าทำความดีช้าอยู่ ใจจะยินดีในบาป ตามข้อความในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ดังนี้

“บุคคลพึงรีบขวนขวายในความดี พึงห้ามจิต จากบาป เพราะว่า เมื่อบุคคลทำความดีช้าอยู่ ใจจะยินดีในบาป”


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา เป็นคำอนุเคราะห์เกื้อกูลแก่ผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาอย่างแท้จริง เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม เพื่อขัดเกลากิเลส เพราะเหตุว่าการขัดเกลากิเลสซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิตใจนั้น ไม่เหมือนกับการทำความสะอาดวัตถุสิ่งของ เพราะเหตุว่าการขัดเกลากิเลสที่แต่ละบุคคลได้สะสมมาอย่างมากและยาวนานในสังสารวัฏฏ์ ต้องอาศัยการเจริญกุศลทุกประการบ่อยๆ เนืองๆ ทั้งในเรื่องของการให้ทานเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น การรักษาศีล เว้นในสิ่งที่เป็นโทษ และกระทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ขวนขวายประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ตลอดจนถึงโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นความดีที่ประเสริฐยิ่ง เพราะเหตุว่า ในบรรดาธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยนั้น ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นสภาพธรรมที่ประเสริฐที่สุด

ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้มีเวลาจำกัดที่จะอยู่ในโลกนี้ และที่สำคัญมีเวลาไม่มากที่จะได้ฟังพระธรรม เพราะว่าส่วนใหญ่แล้ว ชีวิตก็เป็นไปในเรื่องอื่นเป็นไปกับอกุศลอย่างมาก ซึ่งเมื่อเทียบกับการได้ฟังพระธรรม ก็จะรู้ได้ว่าในสังสารวัฏฏ์ที่ยาวนานจนถึง ณ บัดนี้และต่อไป เวลาที่จะได้มีโอกาสฟังพระธรรม พิจารณาพระธรรมจริงๆ และเริ่มเข้าใจพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น ก็ไม่มากเลย ซึ่งถ้าเทียบกับความไม่รู้แล้ว ก็จะเห็นได้ว่า ความเข้าใจถูก น้อยมาก เช่น ขณะนี้ ฟังแค่นี้ แต่ว่าในช่วงเวลาที่ไม่ได้ฟังนั้น ความไม่รู้เท่าใด แล้วที่ยังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏอีกเท่าใด ความไม่รู้มีมากจริงๆ ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็จะเห็นได้ว่า พระธรรมทั้งหมด เพื่อละ ไม่ใช่เพื่อได้ แม้แต่การเริ่มต้น ก็เริ่มต้นอย่างถูกต้อง คือ เริ่มรู้ว่าตนเองมากไปด้วยความไม่รู้ จึงมีการฟังพระธรรม เมื่อเข้าใจก็เริ่มละความไม่รู้ เพราะมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าจะมีความเข้าใจเจริญขึ้นอย่างรวดเร็วในทันทีทันใด จึงต้องค่อยๆ สะสมความเข้าใจไปตามลำดับทีละเล็กทีละน้อย

ธรรมดาของปุถุชนผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลส ย่อมมีอกุศลเกิดขึ้นเป็นส่วนมาก เมื่อเทียบระหว่างกุศล กับ อกุศลแล้ว อกุศลย่อมเกิดมากกว่า ทั้งหมดที่เป็นอกุศลขณะใด ขณะนั้นไม่สามารถที่จะรู้ความจริงได้เลย กลับเพิ่มขึ้นทับถมขึ้น ยากต่อการที่จะรู้ความจริงได้ แต่เมื่อมีโอกาสได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีความเข้าใจไปตามลำดับ ขณะที่ปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกเกิดขึ้น ขณะนั้นกุศลจิตเกิดก็สะสมความเห็นถูก สะสมกุศลธรรม สะสมสภาพธรรมฝ่ายดีมากขึ้น หมายความว่า ค่อยๆ เปลี่ยนไปในทางที่ดียิ่งขึ้น ด้วยความเข้าใจพระธรรมสามารถเปลี่ยนจากบุคคลที่เป็นปุถุชนผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลส ค่อยๆ เป็นปุถุชนผู้ดีงามด้วยกุศลธรรม ด้วยความเข้าใจถูกเห็นถูก จนไปสู่ความเป็นพระอริยบุคคลตามลำดับขั้นได้ ซึ่งก็เป็นธรรมฝ่ายดีนั่นเองที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน

ความจริงที่ลืมไม่ได้เลยคือ เกิดมาแล้วต้องตายทุกคน ไม่มีใครรอดพ้นจากความตายไปได้เลยแม้แต่คนเดียว ความตายจะมาถึงเมื่อใด ไม่มีใครทราบได้เลยจริงๆ ไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไหร่ เด็กจะตายก่อนผู้ใหญ่หรือผู้ใหญ่จะตายก่อนเด็ก จะตายด้วยอุบัติเหตุ หรือด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น สิ่งใดๆ ก็ติดตามไปไม่ได้เลย ร่างกายที่เป็นที่ติดข้องอย่างมากรวมทั้งทรัพย์สินเงินทองทั้งหลายทั้งปวงก็ติดตามไปไม่ได้ เว้นแต่ความดีและความชั่วที่สะสมอยู่ในจิตจะติดตามไป

กุศล เป็นสภาพธรรมที่ดี มีประโยชน์ นำมาซึ่งผลที่ดี ส่วนอกุศลความชั่วทั้งหลาย เป็นสภาพธรรมที่มีโทษ ไม่มีประโยชน์แก่ใครๆ เลยทั้งสิ้น และให้ผลที่เป็นทุกข์เท่านั้น เพราะฉะนั้นแล้ว โอกาสของชีวิตที่ยังเหลืออยู่นี้ซึ่งไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าความตายจะเกิดขึ้นเมื่อใด ก็ควรที่จะเป็นไปเพื่อการเจริญกุศล อบรมเจริญปัญญา ด้วยความเป็นผู้ยินดีในกุศล เพราะเหตุว่ามนุษย์สามารถที่จะทำกุศลได้ทุกประการ และที่สำคัญ ต้องเข้าใจธรรมด้วย เพราะเหตุว่าหลายคนเกิดมาก็เป็นคนดี ตามการสะสม แต่เป็นคนที่ไม่สามารถที่จะรู้จักธรรมตามความเป็นจริงได้ ดังนั้นเมื่อมีสิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งเป็นธรรม ก็ควรอย่างยิ่งที่จะรู้ในความเป็นจริงว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด

ความเข้าใจถูกเห็นถูก ไม่เสียหายเลย การฟังพระธรรมแต่ละครั้งทำให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริง เมื่อฟังต่อไปความเข้าใจถูกก็ยิ่งเพิ่มขึ้น เป็นไปเพื่อการขัดเกลาละคลายกิเลสของตนเองที่เคยสะสมมาอย่างมากในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งจะต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา จนกว่าปัญญาจะถึงความสมบูรณ์พร้อมในที่สุด ที่สำคัญคือ ไม่ขาดการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 30 ธ.ค. 2565

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ