ยินดีอย่างยิ่งที่ความเข้าใจคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประดิษฐานที่ประเทศอินเดีย_สนทนาธรรม ไทย-ฮินดี วันเสาร์ที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๕

 
เมตตา
วันที่  24 ธ.ค. 2565
หมายเลข  45371
อ่าน  462

- เราไม่สามารถรู้ความเป็นไปของเดี๋ยวนี้ ตั้งแต่เริ่มต้น ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย จนกระทั่งเกิดอีกเลย เพราะฉะนั้น เราต้องศึกษาความจริงซึ่งเราไม่สามารถจะรู้ได้ แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโดยละเอียดยิ่ง ว่า ทันทีที่เกิด จิตจะไปรู้แล้วก็เกิดโลภะ โทสะไม่ได้ ขณะเกิดเป็นผลของกรรมหนึ่ง ที่ทำให้เกิดจิตที่เป็นผลของกรรมพร้อมเจตสิก และรูป ทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะ กรรมเป็นปัจจัย โลกนี้ยังไม่ปรากฏ เพราะเพียงเกิดขึ้นเท่านั้น โดยกรรมเป็นปัจจัย ถ้าไม่มีกรรมเป็นปัจจัย ปฏิสนธิจิตเกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดแล้ว ทุกอย่างที่สะสมอยู่ในใจ จะเกิดได้เมื่อถึงเวลา เพราะฉะนั้น เวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิด ไม่ใช่เวลาที่จะไปมีการรู้อารมณ์ตรงที่ได้สะสมมาเลยใช่ไหม เกิดเท่านั้นเป็นผลของกรรมเท่านั้น ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้คิด ยังไม่ได้อะไรทั้งหมด นี่คือปฏิสนธิกิจ เพราะฉะนั้น กรรมไม่ได้ทำให้ปฏิสนธิเกิดเพียงขณะเดียว แต่กรรมจะทำให้ผลของกรรมเกิด ไม่ว่ากรรมที่ทำให้ปฏิสนธิหรือกรรมอื่นๆ ก็สามารถที่จะมีโอกาสที่จะเกิดให้ผลระหว่างที่ยังไม่ตายได้ ด้วยเหตุนี้ เราต้องศึกษาทีละหนึ่งขณะจิต ปฏิสนธิจิตเกิดดับแล้วเป็นผลของกรรม กรรมให้ผลมากกว่านั้น ทำให้จิตประเภทเดียวกันนั้นแหละทรงความเป็นบุคคลนั้นไว้ ยังตายไม่ได้ยังเปลี่ยนเป็นคนอื่นไม่ได้ เพราะกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิมีกำลังที่จะให้เป็นบุคคลนี้จนกว่าจะหมดกำลัง ด้วยเหตุนี้ เมื่อปฏิสนธิจิตดับ กรรมนั้นก็ทำให้จิตเกิดสืบต่อ กรรมเดียวกันนั้นแหละ แต่ทำกิจภวังค์ ดำรงภพชาติ ไม่เห็นไม่ได้ยิน โลกนี้ยังไม่ปรากฏเลย เพียงแต่ว่า เมื่อกรรมให้ผลก็ต้องเกิดต่อ ในขณะที่ยังไม่มีกรรมใดๆ ที่จะให้ผล เป็นเห็น เป็นได้ยินได้เลย ตราบจนกระทั่งถึงวิถีแรกในทุกชาติของทุกภพ จะต้องเป็นมโนทวาราวัชชนจิต เริ่มที่จะรู้สึกตัว ขณะนั้นก็มีความพอใจในความเป็น ภวราคะ ความเป็นอะไรก็ได้ เป็นนก เป็นหนู เป็นปู เป็นปลา เป็นมนุษย์ บนสวรรค์เป็นเทพ ขณะนั้น มโนทวาราวัชชนจิตต้องเป็นขณะแรกของทุกชาติ เกิดแล้วก็จะเป็นโลภะ ซึ่งเป็นเหตุให้มีภพชาติ ขณะนั้น เพราะฉะนั้น จึงเป็นโลภมูลจิต พอใจในความเป็น แล้วก็ดับ ก่อนที่จะมีการเห็น การได้ยิน หรืออะไรทั้งหมด วิถีนี้จึงเป็นวาระแรกของทุกภพทุกชาติ ที่จะสะสมมาที่จะเริ่มรู้สึกตัว โดยการที่พอรู้สึกแล้วก็ยินดีในภพ (คุณสุคิน: เพื่อความแน่ใจ ภวังค์ที่เกิดหลังจากปฏิสนธิ เกิดขณะเดียวหรือกี่ขณะไม่แน่นอนใช่ไหม) มากมายค่ะ มากมายหลายขณะไม่มีขณะเดียวแน่นอน เพราะฉะนั้น เรารู้ได้ไหม? (ไม่ได้) เหมือนเดี๋ยวนี้เลยใช่ไหม ทุกอย่างปรากฏไม่รู้เลยว่ามีจิตอะไรเกิดขึ้นบ้าง มีมโนทวาราวัชชนจิต มีโลภะ มีอะไรทั้งหมด รู้ไม่ได้เลย เพราะเร็ว เพราะฉะนั้น ขณะนั้นจะเร็วสักแค่ไหนที่จะมีภวังคจิตเกิด แล้วก็ถึงวาระแรกทุกภพต้องเป็นมโนทวารวัชชน แล้วก็เป็นสภาพที่ติดข้องในภาวะ ความเป็น เราอาจจะรู้ตอนที่เราเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่นั่นไม่ใช่วาระแรกของชาติหนึ่งๆ .

- เพราะฉะนั้น ฟังธรรมต้องรู้ว่า กำลังฟังสิ่งที่ลึกซึ้งอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ได้ฟัง กำลังพูดถึงสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ สภาพธรรมมีจริง แต่ไม่ปรากฏอย่างที่เป็นจริง ถ้าปรากฏอย่างที่เป็นจริง จะลึกซึ้งไหม? (ไม่) เพราะฉะนั้น ฟังธรรม เพื่อเข้าใจความลึกซึ้งของสิ่งที่กําลังมีเดี๋ยวนี้ ซึ่งไม่เคยเข้าใจ.

- ฟังแล้ว ไตร่ตรองหรือเปล่า? เป็นความจริงอย่างนั้นไหม ถ้าไตร่ตรองรู้ว่า ความจริงเป็นอย่างนั้นจึงเริ่มเห็นความลึกซึ้งของสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้.

- เริ่มเห็นพระพุทธเจ้า เริ่มรู้จักพระพุทธเจ้า เริ่มเคารพจากการที่ได้เข้าใจเพิ่มขึ้นถึงที่สุด เพราะฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงสิ่งที่พระองค์ได้ตรัสรู้ให้คนอื่นได้รู้ความจริงของสิ่งที่กําลังมีเดี๋ยวนี้.

- ความจริงมีทุกขณะที่จะทำให้เริ่มเข้าใจสิ่งที่มีจริงถูกต้อง ทุกครั้งที่เห็น เห็นหลายอย่างแสดงให้เห็นว่า ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ.

- ภวังคจิตเห็นอะไรได้ไหม? (ไม่ได้) เพราะอะไร? (เพราะอารมณ์ของภวังคจิตไม่ได้เป็นอารมณ์ของชาตินี้) เขาพูดถึงอารมณ์ แต่เราถามว่า ขณะนี้มีภวังคจิต ภวังคจิตเห็นอะไรไหม? (ภวังคจิตเห็นไม่ได้) ได้ยินได้ไหม คิดได้ไหม? (ไม่ได้) ชอบได้ไหม ไม่ชอบได้ไหม? (ไม่ได้) เพราะอะไร? (เพราะกิจของภวังค์เพียงดำรงชีวิต) นี่แหละที่เรากำลังศึกษานัยหนึ่ง ของจิต คือเรื่องกิจหน้าที่ของจิตแต่ละหนึ่งจิตต้องมีหน้าที่ นี่เป็นเหตุที่เราสนทนากันเรื่องกิจของจิต ว่า ๑ ปฏิสนธิกิจ ครั้งเดียวในชาติหนึ่งชาติหนึ่ง หลังจากนั้นแล้ว ผลของกรรมต้องเกิดต่อดำรงภพชาติไว้เพื่อที่จะรับผลของกรรมอื่นๆ และผลของกรรมนั้นด้วยต่อไปอีกจนกว่าสิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้.

- เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้มีคุณอาช่าหรือไม่มีคุณอาช่า (ไม่มี) แล้วมีอะไร? (มีเห็น) แล้วก็มีผลของกรรมที่ต้องทำให้ดำรงภพชาติเป็นภวังค์ขณะที่ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ลิ้มรส ไม่ได้รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก ๖ ทาง ต้องเป็นภวังคจิต.

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง ค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
เมตตา
วันที่ 24 ธ.ค. 2565

- ถ้าไม่มีภวังคจิต ไม่มีจิตเห็น ไม่มีจิตได้ยิน ไม่มีจิตได้กลิ่น ไม่มีจิตลิ้มรส ไม่มีจิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่มีจิตคิดนึก มีจิตหรือเปล่า? มีจิตอะไร? (ถ้าไม่เป็นจุติ ก็เป็นไปไม่ได้ ต้องไม่มีอะไรเลย ถ้าไม่มีภวังค์ ไม่มีเห็น ....และคิด ก็ไม่มีอะไรเลย) ไม่มีจิตเหล่านี้ แล้วมีจิตอะไรไหม? (ถ้าไม่มีจิตเหล่านี้ ไม่มีอะไร ต้องเป็นจุติแล้ว) แล้วเป็นอะไรกันแน่? มีอะไรกันแน่? (เป็นอาวัชชนจิต) ไม่ใช่ค่ะ ฟังดีๆ ถามว่า เมื่อไม่มีภวังคจิต ไม่มีจิตที่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ มีอะไร? (คำตอบก็เหลือแต่จุติ) ธรรมคิดเองไม่ได้ ต้องเข้าใจจริงๆ ถ้าจิตเกิดขึ้น ต้องทำกิจ (ครับ ต้องทำกิจ ก็คือ เขาถึงตอบว่า ไม่เป็นจุติ ก็ต้องเป็นอาวัชชนกิจ) เดี๋ยวก่อน ถามคำเดียวว่า ถ้าไม่ใช่ภวังคจิต ไม่มีภวังคจิตขณะนั้น ไม่มีเห็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และไม่มีการคิดนึกเลยทั้งสิ้น และไม่มีภวังคจิต มีอะไรค่ะ? ตอบคำเดียว ไม่ใช่ให้คิดเรื่องยาวใหญ่โต แต่นี่เป็นความมั่นคง เป็นความที่จะเข้าใจกิจของจิต (ไม่มีใครเข้าใจครับ) ใครไม่ให้จิตเกิดได้ไหม? (ไม่ได้) อนัตตา เพราะฉะนั้น จิตต้องเกิดใช่ไหม เมื่อมีเหตุที่จะให้เกิด ต้องเกิด ใช่ไหม? (ใช่) ถ้าดับเหตุที่จะให้จิตเกิดได้ทั้งหมด จิตจะเกิดได้ไหม? (ถ้าดับเหตุแล้ว ก็ไม่เกิด) เพราะฉะนั้น จิตเกิดเป็นภวังค์ แล้วก็มีเห็น มีได้ยิน มีคิดนึก มีทาง ๕ ทวาร และ ๖ ทวาร แต่ขณะใดที่ไม่ใช่ภวังคจิต ไม่ใช่จิตที่รู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และไม่คิดนึกทางใจ จิตต่อไปมีไหม? มีอะไร? (เป็นกิริยา เป็นมโนทวาราวัชชนจิต) ถ้ามีมโนทวาราวัชชนจิตก็ต้องมีจิตที่คิด แต่นี่ไม่มีอะไรเลย แม้แต่จิตที่คิดก็ไม่มี ขณะนั้นมีอะไร? ฟังดีๆ อีกครั้ง ไม่มีภวังคจิต ไม่มีจิตที่รู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มีอะไร? (ก็ต้องเป็นวิถีจิตหนึ่งวิถีจิตใด) เดี๋ยวก่อนค่ะ ฟังดีๆ ไม่ใช่ภวังคจิต ไม่ใช่วิถีจิตทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วขณะนั้นเป็นอะไร? (เหลือแต่ว่า โอกาสเป็นของจุติจิต) ค่ะ เพราะฉะนั้น ถามว่า ถามว่า นี่เป็นการให้คิด ให้ละเอียด ให้รอบคอบ ให้ตรงต่อคำถามแล้วตอบทุกอย่าง ขณะนั้นไม่ใช่ภวังคจิต ไม่ใช่วิถีจิตทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขณะนั้นเป็นอะไร? ตอบมาซิ ไม่ใช่เรื่องยาวๆ นี่เรากำลังพูดถึงจิตแต่ละขณะๆ ว่าทำกิจอะไร (ต้องเป็นจิตอยู่แล้ว แต่ว่า) ไม่ได้ถามว่าต้องมีหรือไม่ต้องมี ฟังคำถามอีกทีนะ ขณะนั้นไม่ใช่ภวังคจิต ไม่ใช่วิถีจิตทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขณะนั้นเป็นอะไร คำตอบคือเป็นอะไร? (ถ้าจะให้ตอบคือเดา) เดาไม่ได้ ฟังดีๆ เขารู้ แต่เขาไม่ได้พิจารณาไม่ได้ไตร่ตรองคำถาม แล้วไม่มั่นคงในการที่ว่า ไม่มีเราแล้วมีอะไร? เรากำลังพูดถึงเดี๋ยวนี้ ถ้าเดี๋ยวนี้ไม่ใช่ภวังค์ ไม่ใช่วิถีจิตทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขณะนั้นเป็นอะไร ที่ไม่ใช่ภวังค์ ไม่ใช่วิถีจิตทางตา หู จมูก ลิัน กาย ใจ ขณะนั้นเป็นอะไร? (คุณสุคิน: มีคำตอบหนึ่งซึ่งผมยังไม่ได้สื่อให้เขาตอบว่า เป็นปัญจทวาราวัชชนจิต) ก็บอกแล้วไงว่า ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และไม่ใช่คิดนึกด้วย ไม่ใช่พวกนี้แล้วเป็นอะไร? ต้องตรง (มีรูปครับ) เราไม่ได้พูดถึงเรื่องรูปเลยใช่ไหม เรากำลังพูดเรื่องอะไร? (พูดถึงกิจของจิต) ถามเขาซิ แล้วเขาเอารูปมาพูดได้อย่างไร พูดถึงอะไรก็ต้องเป็นเรื่องนั้น (ถ้าไม่ใช่เป็นภวังค์ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ... ไม่ได้คิด ที่หลือต้องเป็นปฏิสนธิจิต) ขอโทษนะ คุณสุคิน เรากำลังพูดถึงเรื่องอะไรคะ (พูดถึงกิจของจิต) เพราะฉะนั้น ฟัง ฟัง เรากำลังพูดถึงจิตที่เกิดขึ้นทำกิจใช่ไหม? (ใช่) เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ใช่ภวังคจิต จิตไม่ได้เกิดทำภวังคกิจ ไม่ใช่การที่จะเห็น ได้ยิน ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และก็คิดนึก ขณะนั้นเป็นอะไร ขณะนั้น ไม่ใช่ต่อจากนั้น ขณะนั้นเป็นอะไรที่ไม่ใช่ภวังค์ แล้วก็การไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้งหมด ขณะนั้นเป็นอะไร ขณะนั้น ขณะนั้น ไม่ใช่ขณะอื่น ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด ฟังแล้วก็ไตร่ตรอง เริ่มเป็นคนไตร่ตรองจนกระทั่งเป็นความเข้าใจของเราเอง นี่เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด ไม่ใช่ตามเขา (จุติ หรือปฏิสนธิ) ถามว่า ขณะนั้น ขณะนั้นขณะเดียวใช่ไหม เป็นอะไร? ไม่ใช่ หรือ หรืออย่างนั้น หรืออย่างนี้ ต้องฟังคำถาม ไตร่ตรอง คิด แล้วก็ตอบให้ตรง (คำตอบคือ ปฏิสนธิ) เดี๋ยวก่อน ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้อะไรเลย เป็นปฏิสนธิหรือ? (เหตุผลคือว่า ถ้ายังมีเหตุอยู่ และถ้าไม่ใช่เป็นภวังค์ แล้วก็ไม่ได้เป็นวิถีจิต) ฟังนะคะ ขณะนั้นไม่ได้เป็นทั้งหมดนั่น แล้วขณะนั้นต้อง หนึ่งขณะ ใช่ไหม? ขณะนั้นกี่ขณะ? (หนึ่งขณะ) หนึ่งขณะ ได้ยินหนึ่งขณะ มโนทวาราวัชชนจิตหนึ่งขณะ ถ้าไม่ใช่ขณะเหล่านั้นเลย ขณะนั้นเป็นอะไร ถ้าไม่ใช่ขณะต่างๆ ที่เรากล่าวแล้ว จะเป็นกี่ขณะขณะนั้น? (ถ้าไม่เป็นจิตพวกนั้นก็ต้องเป็นปัญจทวาราวัชชนจิต) เดี๋ยวก่อน บอกแล้วไงคะ ว่า ไม่ใช่ภวังค์ ไม่ใช่ปัญจทวาราวัชช ไม่ใช่สัมปฏิฉันนะ ไม่ใช่สันตีรณะ ไม่ใช่ชวนะ ไม่ใช่มโนทวารด้วย แล้วมีจิตเกิดไหม? (คุณสุคิน: ไม่ใช่จิตพวกนั้น แล้วจิตที่ท่านอาจารย์หมายถึงนี่ เวลานี้ก็มีอยู่ ตัวผมเองก็ไม่รู้) ไม่ใช่ค่ะ นี่คือการที่เราจะเข้าใจธรรมมั่นคง มีความละเอียด ไตร่ตรอง ลึกซึ้ง เปลี่ยนไม่ได้เพราะเป็นความจริง เพราะฉะนั้น ตอนนี้เราเข้าใจแล้วว่า จิตเกิดแล้วดับ จิตที่ดับเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด ตราบใดที่ยังมีปัจจัยให้เกิดใช่ไหม? (ตรงนั้นเข้าใจ) เพราะฉะนั้น จิตเกิดแล้วไม่ดับมีไหม? (ไม่มี) เมื่อจิตนั้นดับไปเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดใช่ไหม? (ใช่ ตรงนั้นเข้าใจ) และจิตเกิดแล้วทุกขณะต้องทำกิจใช่ไหม ไม่ใช่เกิดมาเปล่าๆ ไม่ทำอะไรเลยไม่มี แต่จิตเกิดขึ้นทำกิจเป็นลักษณะของจิตเป็นภาวะของจิตที่ต้องเกิดขึ้นทำกิจ ไม่อย่างนั้นไม่มีอะไรในโลกนี้ ไม่มีอะไรเลย ไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่มีอะไรทำเลยใช่ไหม? (ใช่) เพราะฉะนั้น ฟังคำถามอีกครั้งหนึ่ง และการที่เข้าใจที่ดิฉันกล่าวแล้วจะเป็นคำตอบ ถ้าขณะนั้นไม่ใช่ภวังคจิต ไม่ใช่วิถีจิตทั้งหมด ขณะนั้นเป็นอะไร? ขณะนั้นต้องไม่ลืม (รู้ว่า ต้องเป็นจิต แต่ก็ไม่ทราบว่าเป็นจิตไหน) แต่ต้องมีใช่ไหม? (ต้องมีแน่นอน) ทุกคนรับรองใช่ไหม? (รับรอง) ค่ะ ไม่ใช่เดี๋ยวนี้ใช่ไหม? (หมายความว่าอะไร) ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน ไม่ใช่คิดนึก ไม่ใช่ภวังค์ เพราะฉะนั้น จิตนั้นไม่ใช่เดี๋ยวนี้ใช่ไหม? (ไม่ใช่เดี๋ยวนี้) เพราะฉะนั้น จิตที่ไม่ใช่ภวังค์ ไม่ใช่วิถีจิตทั้งหมด ต้องมีจิตใช่ไหมที่ไม่ใช่จิตเหล่านี้ (ใช่) ถ้าบอกว่ามีจิต ต้องมีหน้าที่ มีกิจ ใช่ไหม? (ใช่) รู้แล้วยังว่าจิตอะไร? (คุณสุคิน: ก่อนที่จะไปข้างหน้าผมบอกอาช่าว่า แทนที่จะคิดเป็นศัพท์ภาษาบาลี เราใช้คิดเป็นภาษาทั่วไปว่าคำถามของท่านอาจารย์ ไม่ใช่จิตที่อย่างที่เกิดอยู่ตอนนี้ แล้วเป็นจิตอะไรถ้าไม่ใช่จิตที่เป็นอยู่ตอนนี้จะเป็นอะไร? ให้เขาเข้าใจว่าเมื่อมีชีวิตก็ต้องมีจิตอยู่ ถ้าไม่ใช่เป็นจิตเหมือนตอนที่เรายังมีชีวิตอยู่ตอนนี้ มันคืออะไรได้ ผมถามคำถามอย่างนั้นจะถูกไหม?) ถูกค่ะ ทุกคนอยากจะทราบใช่ไหม? ถามดูซิ (ทุกคนอยากทราบ) คิดไม่ออกแล้วใช่ไหม? เพราะฉะนั้น กิจนั้นต้องทำจุติเป็นจิตขณะสุดท้ายของชาตินี้ ทำกิจพ้นจากความเป็นบุคคลนี้จึงเป็นจุติกิจ หมายความว่า พ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ เป็นบุคคลนี้ต่อไปอีกไม่ได้ ถ้าจิตนี้ไม่เกิด ก็ไม่ตายใช่ไหม? (ใช่) ไม่ว่าจะเจ็บหนัก ไม่ว่าจะถูกยิง ไม่ว่าจะกำลังสนุกหัวเราะ หรืออะไรก็ตาม ถ้าจิตเกิดขึ้นพ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ทันที เป็นบุคคลนี้ต่อไปอีกไม่ได้.

- ยังสงสัยไหม? (ไม่) ถามต่อไปนะ ถ้าขณะนั้นไม่ใช่ภวังคจิต ไม่ใช่วิถีจิตทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ใช่จุติจิต ขณะนั้นอะไร? (ปฏิสนธิจิต) ถูกต้อง เข้าใจแล้วว่า ไม่ใช่เราทั้งหมด แต่ถ้าไม่มีจิตก็ไม่มีอะไรเลย แต่เมื่อมีจิต ต้องมีหน้าที่ทุกขณะ จิตเกิดขึ้นต้องทำหน้าที่ ไม่มีจิตที่ไม่ทำหน้าที่เลย จิตมีมากแต่หน้าที่ของจิตทั้งหมดมี ๑๔ กิจ.

- เริ่มเข้าใจมั่นคงไม่มีเรา แต่มีจิตซึ่งเป็นธาตุรู้เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย บังคับบัญชาไม่ได้ เมื่อไหร่จะเห็น เมื่อไหร่จะตาย เมื่อไหร่จะเกิดใช่ไหม? (ครับ) .

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เมตตา
วันที่ 24 ธ.ค. 2565

- ขณะที่จุติจิตเกิดแล้ว ปฏิสนธิจิตเกิด รู้ไหมว่าอะไรเกิด? (ภวังค์) ค่ะ เพราะฉะนั้น เป็นผลของกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด เลือกไม่ได้ว่า ทันทีที่จุติจิตชาตินี้ดับ ปฏิสนธิจะเป็นผลของกรรมอะไร แต่ต้องเป็นผลของกรรม คือ วิบากจิต.

- ชาตินี้ทำกรรมไว้มากไหม? (ทำมาก) ทำกุศลกรรมมากไหม ทำอกุศลกรรมมากไหม? (ทำอกุศลกรรมมากกว่า) แล้วชาติก่อนๆ ชาตินี้แสนโกฏิกัปป์เป็นอย่างนี้หรือเปล่า? (เป็น) เพราะฉะนั้น เลือกให้กรรมใดให้ผลได้ไหม? (ไม่ได้) เพราะฉะนั้น เกิดเป็นคนนี้เพราะกรรมหนึ่งในชาติก่อนหรือในชาติโน๊นๆ ในสังสารวัฏฏ์ก็ได้ ยังมีกำลังที่จะให้ผลทำให้เกิดได้ เลือกไม่ได้ว่าจะเป็นผลของกรรมชาติไหน.

- ชาตินี้ที่เกิดเป็นคุณอาช่า เป็นคุณสุคิน เป็นสุจินต์ เป็นใครๆ เป็นผลของกรรมอะไร? (ผลของกุศลกรรม) ค่ะ แต่ต่างกันใช่ไหม? (ใช่) เมื่อจากโลกนี้ไปแล้ว จุติจิตดับแล้ว ปฏิสนธิจิตต้องเกิดแน่นอนใช่ไหม? (ใช่) เลือกไม่ได้ว่า อกุศลกรรมจะให้ผลหรือกุศลกรรมจะให้ผล แต่ถ้าเกิดเพราะเป็นผลของอกุศลกรรมเกิดในนรก เกิดเป็นเปรต เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เกิดเป็นอสุรกาย ไม่มีโอกาสที่จะเข้าใจธรรมอย่างขณะนี้.

- ไปนรกเดี๋ยวนี้ได้ไหม? (ได้) ไปสวรรค์ เทวโลกเดี๋ยวนี้ได้ไหม? (ได้) กรรมอะไรทำให้ไปเกิดที่ดี? (กุศลกรรม) กรรมอะไรทำให้ไปเกิดที่ไม่ดี? (อกุศลกรรม) พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระมหากรุณาแสดงความจริงให้ทุกคนรู้เพื่อที่จะได้ไม่ประมาทในการที่จะทำกุศล และเว้นที่จะทำอกุศล.

- พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมี ตรัสรู้ความจริงที่ประเทศนี้ ทรงแสดงธรรมที่ประเทศนี้ เพราะฉะนั้น จะต้องดำรงรักษาคำสอนของพระองค์ไว้เมื่อมีความเข้าใจ ให้ทุกคนในโลกได้เข้าใจด้วย.

- ๒๕๐๐ - ๒๖๐๐ กว่าปีมาแล้วพระองค์ประทับที่นี่ แสดงธรรมอย่างนี้ ให้ทุกคนมีความเห็นที่ถูกต้องเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่จะดำรงคำสอนเพื่อให้ทุกคนได้รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และได้ประโยชน์จากการที่ได้รู้จักพระองค์.

- เราคิดว่า ทุกอย่างที่มีจริงขณะนี้ไม่ดับไปเลย แล้วก็ไม่เห็นเกิดด้วย เพียงแต่ว่ามีตลอดเวลา แต่ถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็ไม่มีอะไรเลยแน่นอน และสิ่งที่มีมาก ทุกอย่างเกิดดับทั้งหมด ไม่มีอะไรเหลือเลย สิ่งที่ดับไปแล้วไม่กลับมาอีกเลย แต่ก็มีสิ่งที่เกิดสืบต่อเรื่อยๆ จนกระทั่งเหมือนไม่มีอะไรที่ดับไปเลย แต่พระองค์ทรงตรัสรู้ความจริงของแต่ละหนึ่ง ซึ่งเกิดแล้วดับแล้วเกิดแล้วดับ ไม่สิ้นสุดจนกว่าจะมีความเห็นที่ถูกต้อง.

- เป็นโอกาสที่ประเสริฐมากที่ได้สะสมมาแล้ว ที่ทำให้ได้ยินได้ฟังคำของพระองค์ และเห็นพระคุณที่ทำให้เราเกิดความเข้าใจ ซึ่งไม่พอ ต้องเข้าใจอีก ต้องเข้าใจอีก จนกว่าจะรู้แจ้งสภาพธรรมที่เป็นอริยสัจจะ.

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เมตตา
วันที่ 24 ธ.ค. 2565

- ฟังธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ และทรงแสดงเพื่อรู้ความจริงว่า ไม่มีเราอย่างที่เคยคิด เป็นแต่เพียงสภาพธรรมทั้งหมด เพราะฉะนั้น เริ่มเข้าใจความจริงของสิ่งที่มีว่า เป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูปที่เกิดดับ ถ้าไม่ดับ ก็ต้องมีอยู่ตลอดไป แต่นี่เปลี่ยนตลอด แสดงให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่มีดับจึงเปลี่ยน ถ้าไม่ดับก็เปลี่ยนไม่ได้.

- ค่อยๆ เข้าใจความจริง ค่อยๆ ละความไม่รู้ และความติดข้องที่ทำให้ต้องเกิดไม่หยุด เพราะฉะนั้น เริ่มคิด เริ่มพิจารณา เริ่มไตร่ตรองว่า เกิดแล้วก็ตาย แล้วก็หมดสิ้นทุกอย่างไม่จบสิ้น มีประโยชน์อะไรหรือเปล่า? มีสุข มีทุกข์ มีเกิดเป็นคน เกิดเป็นสัตว์ ทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วก็ไม่จบ กับการที่สามารถที่จะรู้ว่าไม่ใช่เราเลย ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัย ถ้าไม่มีปัญญาก็ไม่เบื่อที่จะต้องเกิดอีก เกิดอีกตายอีก เกิดอีกตายอีก เพราะฉะนั้น กว่าจะรู้ความจริงจนประจักษ์แจ้งที่สามารถที่จะค่อยๆ เห็นความไม่มีสาระของธรรมที่เกิดดับ.

- เมื่อมีปัญญาก็รู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงสั้นมาก ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เพราะฉะนั้น มีประโยชน์อะไรที่จะเป็นอย่างนี้ไม่จบ แต่ถ้าไม่มีปัญญาที่เข้าใจความจริงจนประจักษ์แจ้ง ก็ไม่สามารถที่จะถึงการดับไม่มีอะไรเกิดเลย ซึ่งหมายความถึงนิพพาน.

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เมตตา
วันที่ 24 ธ.ค. 2565

- เพราะฉะนั้น จะถึงปัญญาระดับที่สามารถที่จะดับทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิด ไม่เกิดอีกได้เลย ก็ต้องเริ่มเข้าใจความจริงทีละเล็ก ทีละน้อย ตรงตามความเป็นจริง เริ่มเข้าใจว่า ไม่ใช่เรา ไม่มีเรา เดี๋ยวนี้เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า เดี๋ยวนี้เป็นจริงอย่างที่ได้ฟังหรือเปล่า? (ความเข้าใจตอนนี้แค่ขั้นฟัง) ดีมาก ที่เข้าใจจริงๆ ตามความเป็นจริงว่า เพียงฟังความจริงของสิ่งที่มีจริง แต่ยังไม่ได้ประจักษ์ความจริงที่กำลังเกิดดับ นี่เป็นการเริ่มเข้าใจมั่นคงในอริยสัจจ์ ๔ เมื่อมีความเข้าใจขั้นต้น ก็จะนำไปสู่ปฏิปัตติ ซึ่งเป็นขั้นที่ ๒ ปริยัติ ปฏิปัตติ ถ้าไม่มีความเข้าใจเลย แล้วก็ไปนั่งดูโน่นดูนี่ คิดว่าจะรู้ความจริงที่เกิดดับ เป็นไปได้ไหม? (เป็นไปไม่ได้ เพราะคนที่คิดอย่างนั้นเขาไม่เข้าใจ แค่ทำตามคำสอนของบุลคลใดบุคคลหนึ่งว่า ถ้าทำอย่างนี้จะได้อย่างนี้ แต่ไม่เข้าใจความจริงเลย) ยินดีอย่างยิ่งที่ความเข้าใจคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประดิษฐานที่ประเทศอินเดีย.

- ถ้าไม่มีความเข้าใจถูกต้องมั่นคงในปริยัติ ปฏิปัตติเกิดไม่ได้ ปฏิเวธะเกิดไม่ได้ บังคับให้สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด พยายามไปทำให้เกิดขึ้นเป็นไปไม่ได้ ต้องเข้าใจมั่นคงว่า ขณะนี้เป็นสิ่งที่มีจริง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ ทรงแสดงให้เราเริ่มเข้าใจสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่ง สิ่งที่มีจริงเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เห็นเป็นเห็นเท่านั้น เกิดขึ้นเห็นแล้วก็ดับ.

- เห็นเกิดขึ้นทำกิจอะไรหรือเปล่า? (ทำกิจ) ทำกิจอะไร? (ทำกิจเห็น) เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้เรารู้ จักกี่กิจแล้ว? ทีละหนึ่ง จะได้นับ (ปฏิสนธิ ๑ ภวังค์ ๒ อาวัชชนะ ๓ จุติ ๔ เห็น ๕ เป็น ๕ กิจ) และมีกิจต่อไปที่เขารู้ด้วยใช่ไหม? (เมื่อกี๊ กล่าวถึงได้ยิน) นับมาเลย นับกิจมาเลย (เริ่มจาก ปฏิสนธิ ๑ ภวังค์ ๒ อาวัชชนะ ๓ จุติ ๔ เห็น ๕ ได้ยิน ๖ ลิ้มรส ๗ ได้กลิ่น ๘ รู้ทางกาย ๙ และคิด) เดี๋ยวก่อนนะ คิด เป็นกิจอะไรค่ะ (เขาจำไม่ได้) นี่เป็นเหตุที่เราต้องศึกษาให้มั่นคงทีละคำ ไม่ใช่เรื่องจำ แต่เป็นเรื่องเข้าใจจริงๆ ส่วนใหญ่เราฟัง เราคิด เราเข้าใจ เราคิดว่าเข้าใจจำได้ แต่ความลึกซึ้งยังไม่พอ เราพูดถึงสิ่งต่างๆ เหล่านี้เพื่ออะไร? เพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ ตามที่เราพูดแต่ละคำ พูดถึงเห็น กำลังเห็น พูดถึงได้ยิน พูดถึงคิด พูดถึงชอบ ทุกอย่างมีเดี๋ยวนี้แต่ไม่เคยรู้ เพราะฉะนั้น เราพูดให้เข้าใจสิ่งที่มีทุกวัน และเดี๋ยวนี้กำลังมี เพื่อเข้าใจถูกต้องว่า ไม่มีเรา เป็นอริยสัจจะรอบที่ ๑ ก่อน เพราะฉะนั้น เราจะเข้าใจสิ่งที่มีเดี๋ยวนี้ได้ตามลำดับ เราเริ่มรู้จักธาตุรู้ซึ่งเป็นจิต แล้วเราก็รู้เพิ่มขึ้นว่า จิตเกิดขึ้นต้องทำกิจหนึ่งกิจใดใน ๑๔ กิจ เพราะฉะนั้น เราจะพูดถึงจิตตามลำดับตามที่เข้าใจได้ กิจที่ ๑ ปฏิสนธิจิต มีจิตหลายประเภทที่เป็นผลของกรรม กรรมดีกรรมชั่วต่างๆ ทำกิจเกิดขึ้นในภพภูมิต่างๆ ๑ และกรรมนั้นแหละไม่ได้ให้ผลเพียงทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด ยังทำให้จิตต่อไปเกิดขึ้นดำรงความเป็นบุคคลนั้นไว้จนกว่าจะสิ้นสุดของกรรม เพราะฉะนั้น กิจที่ดำรงความเป็นบุคคลนั้นไม่ได้ทำกิจเห็นอะไรเลยทั้งสิ้น ไม่ได้ยิน ไม่ได้คิดนึก แต่ดำรงภพชาติเป็นภวังคกิจ และกิจที่ ๓ กิจสุดท้ายซึ่งเหมือนกัน ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต เป็นจิตประเภทเดียวกัน เกิดเพราะกรรมเดียวกัน และยังมีจิตที่เป็นจุติจิตซึ่งเป็นผลของกรรมประเภทเดียวกันเกิดขึ้น แต่ปฏิสนธิจิตทำกิจแรก จุติจิตทำกิจสุดท้ายสิ้นสุด และภวังคกิจระหว่างที่ยังไม่สิ้นสุด ก็ดำรงภพชาติ ๓ กิจนี้แน่นอน เป็นจิตประเภทเดียวกัน ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เรามั่นคงในเรื่องนี้ก่อน แล้วต่อไปเราจะพูดถึงกิจที่ไม่ใช่ ๓ กิจนี้.

- เพราะฉะนั้น ระหว่างปฏิสนธิ เกิด กับจุติ ตาย จิตที่เกิดในระหว่างยังไม่ตายทำ ๑๒ กิจ ไม่ว่าจะเป็นจิตมากมายอย่างไร เท่าไหร่ ประเภทใดก็ตาม จะต้องทำกิจหนึ่งเท่านั้นใน ๑๔ กิจ ไม่ทำกิจเลยไม่ได้ เพราะฉะนั้น ต่อไปเขาจะได้ทราบว่า จิตอะไรบ้างที่ทำกิจหนึ่งๆ เพราะจิตมีเยอะ แต่ต้องทำหนึ่งกิจใน ๑๔ กิจเท่านั้น การที่จะรู้ความจริงของจิตเดี๋ยวนี้ว่า ไม่ใช่เรา ไม่ง่าย ต้องอาศัยความเข้าใจทีละน้อยๆ จนค่อยๆ สามารถเป็นปัจจัยให้ถึงปัญญาอีกระดับหนึ่งซึ่งเป็นปฏิปัตติ กำลังรู้สิ่งที่มีเดี๋ยวนี้ตามที่ได้เข้าใจ.

- สำหรับวันนี้ก็ถึงเวลาแล้ว เพราะฉะนั้น เขาก็ไปอ่านทบทวนโน่นๆ นี่ๆ และไม่ลืมว่า จิตที่เขากำลังเริ่มรู้ทำกิจอะไร หวังว่าทุกคนจะเข้าใจความลึกซึ้ง ไม่ประมาท เพื่อที่จะดำรงรักษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้.

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 24 ธ.ค. 2565

กราบอนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ