[คำที่ ๕๘๔] โทเสน อภิภูต

 
Sudhipong.U
วันที่  8 พ.ย. 2565
หมายเลข  45070
อ่าน  302

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ โทเสน อภิภูต

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

คำว่า โทเสน อภิภูต เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า โท – เส – นะ – อะ – พิ – พู – ตะ] โดยที่คำว่า โทเสน หมายถึง โทสะ ความโกรธ ความไม่พอใจ ความขุ่นเคืองใจ และคำว่า อภิภูต หมายถึง ถูกครอบงำ แปลรวมกันได้ว่า ผู้ถูกโทสะครอบงำแล้ว หรือ ผู้ถูกครอบงำด้วยโทสะ เป็นคำที่แสดงถึงความเป็นจริงของธรรมอย่างหนึ่ง คือ โทสะ เมื่อกล่าวโดยสภาพธรรมแล้ว ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน เมื่อโทสะ เกิดกับใคร ก็หมายรู้ได้ว่าบุคคลผู้นั้น เป็นผู้ถูกโทสะครอบงำ เป็นผู้เป็นไปตามกำลังของโทสะ เมื่อว่าโดยสภาพธรรม ก็คือ โทสะ นั่นเองที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เมื่อสะสมโทสะมากขึ้นๆ ก็สามารถทำทุจริตกรรม เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนได้ สิ่งที่ไม่ควรทำ ก็ทำได้ เพราะกำลังโทสะ ซึ่งมีแต่โทษเท่านั้น ไม่มีประโยชน์ใดๆ เลยแม้แต่น้อย

ข้อความในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต โกธนาสูตร แสดงถึงความเป็นจริงของบุคคลผู้ถูกโทสะ ความโกรธ ความไม่พอใจ ความขุ่นเคืองใจ ครอบงำแล้ว สามารถทำกรรมชั่วได้อย่างมากทีเดียว ดังนี้

คนผู้โกรธ ย่อมก่อกรรมที่ทำได้ยาก เหมือนทำได้ง่าย ภายหลังเมื่อหายโกรธแล้ว เขาย่อมเดือดร้อน เหมือนถูกไฟไหม้ ในกาลใด ความโกรธเกิดขึ้น คน ก็ย่อมโกรธ ในกาลนั้น คนนั้น ไม่มีหิริ (ความละอายต่อบาป) ไม่มีโอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่อบาป) และ ไม่มีความเคารพ คนโกรธ ฆ่าบิดาของตนก็ได้ ฆ่ามารดา ของตนก็ได้ ฆ่าพระขีณาสพ (พระอรหันต์) ก็ได้ ฆ่าปุถุชนก็ได้ ลูกที่มารดาเลี้ยงไว้จนได้ลืมตาดูโลกนี้ ลูกเช่นนั้น มีกิเลสหยาบช้า โกรธขึ้นมา ย่อมฆ่าแม้มารดานั้นผู้ให้ชีวิตความเป็นอยู่ ก็ได้


ธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะเป็นอย่างอื่น เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ไม่ว่าจะกล่าวถึงเรื่องใด ล้วนแล้วย่อมไม่พ้นไปจากธรรม ทุกขณะของชีวิตคือความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรมเท่านั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แม้แต่โทสะ ก็เป็นธรรม เพราะมีจริงๆ เกิดขึ้นจริงๆ ใครๆ ก็ปฏิเสธไม่ได้ เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ลักษณะของโทสะ คือ ขุ่นเคือง ดุร้าย กระสับกระส่าย เกิดขึ้นเมื่อใด ไม่สบายใจเมื่อนั้น ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงลักษณะของโทสะให้เป็นอย่างอื่น ไม่ได้ นี้คือ ธรรม ปกติในชีวิตประจำวัน แต่ละบุคคล ล้วนมีกุศลมากด้วยกันทั้งนั้น ทั้งความติดข้องยินดีพอใจ ทั้งความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ความไม่พอใจ เป็นต้น แต่ถ้าถึงกับที่จะต้องล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นนั้น ขณะนั้นแสดงให้เห็นถึงกำลังของกิเลสว่ามีมากอย่างยิ่ง

โทสะ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เพราะตราบใดที่ยังไม่ได้เป็นพระอนาคามีบุคคล ย่อมมีโทสะ ความโกรธ เป็นธรรมดา มากบ้าง น้อยบ้าง ตามการสะสมของแต่ละบุคคล วันหนึ่งๆ หาเรื่องที่จะให้โกรธได้ไม่ยาก ได้ยินอะไรนิดๆ หน่อยๆ ความโกรธก็เกิดขึ้นได้ เป็นเรื่องยากมากที่จะไม่โกรธไม่ขุ่นเคืองใจ เพราะเป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคลจริงๆ แม้จะตั้งใจเอาไว้ว่าจะไม่โกรธ จะไม่ขุ่นเคืองใจ แต่ใครจะรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นแม้ในขณะต่อไป เพราะเหตุว่า ธรรมทั้งหลาย เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เมื่อได้เหตุได้ปัจจัย โทสะ ก็เกิดขึ้น โทสะ เป็นสภาพธรรมที่หยาบกระด้าง ดุร้าย และมีหลายระดับด้วย โทสะที่มีกำลังไม่มากในชีวิตประจำวัน เช่น หงุดหงิด ขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจเล็กๆ น้อยๆ แต่ถ้าหากโทสะ มีกำลังรุนแรงมาก ก็อาจถึงขั้นประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น หรือฆ่าผู้อื่นก็ได้ นี้คือ โทษของอกุศลธรรม ซึ่งไม่เป็นประโยชน์แก่ใครๆ ทั้งสิ้น

ขณะที่โทสะเกิดขึ้นนั้น กาย วาจา จะหยาบกระด้าง และย่อมแสดงกิริยาอาการที่ไม่เหมาะสมต่างๆ มากมาย ที่คนปกติไม่สามารถจะเป็นอย่างนั้นได้ เช่น กระแทกกระทั้น มีสีหน้าบึ้งตึง กล่าวคำที่หยาบคาย มือ เท้า ก็เป็นไปในทางเบียดเบียนผู้อื่น เป็นต้น ตรงกันข้ามกันกับขณะที่เป็นกุศล ตรงกันข้ามกันกับขณะที่มีเมตตา มีความเป็นมิตรเป็นเพื่อน อย่างสิ้นเชิง

สาเหตุที่แท้จริงของโทสะ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ไม่ใช่เหตุการณ์ ไม่ใช่บุคคลอื่น เพราะเหตุการณ์หรือบุคคล หรือ สิ่งต่างๆ เป็นแต่เพียงอารมณ์ให้รู้เท่านั้น แต่สาเหตุที่แท้จริงก็เป็นเพราะการสะสมโทสะของตนเอง ซึ่งสะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ เมื่อกระทบสิ่งที่ไม่น่าพอใจแล้วหงุดหงิด ไม่พอใจ โกรธ ขุ่นเคืองใจ ขณะนั้นทราบได้ว่าจะต้องเป็นเพราะตนเองได้สะสมโทสะมาแล้ว จึงทำให้มีความขุ่นเคืองใจ มีความไม่พอใจ มีความโกรธอยู่บ่อยๆ เนืองๆ มากกว่าผู้ที่มีความอดทน และในเมื่อเป็นอกุศลของตนเอง ตนเองเท่านั้นที่จะเป็นผู้ได้รับโทษจากอกุศลของตนเอง คนอื่นจะทำร้ายเราหรือให้โทษแก่เราไม่ได้เลย นอกจากอกุศลของเราเองเท่านั้น พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จึงเป็นเครื่องเตือนที่ดีเป็นอย่างยิ่งในชีวิตประจำวัน

การที่จะค่อยๆ ขัดเกลาละคลายโทสะได้ ไม่ใช่ด้วยความอยากความต้องการหรือด้วยการไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ แต่ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจเป็นปัญญาของตนเองจริงๆ แล้วกุศลธรรมทั้งหลายก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะค่อยๆ ขัดเกลาละคลายอกุศล และเมื่ออบรมเจริญปัญญาความรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏถูกต้องตรงตามความเป็นจริงยิ่งขึ้น โทสะ ก็จะค่อยๆ ลดน้อยลง แต่ว่ายังไม่ได้ดับอย่างเด็ดขาด จนกว่าจะถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล ซึ่งจะเห็นตามความเป็นจริงว่า กิเลสที่มีมาก นั้น ต้องอาศัยปัญญาเท่านั้น จึงจะดับได้

ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้ศึกษาพระธรรม ไม่ได้อบรมเจริญปัญญา ก็จะเป็นเหตุให้สะสมกิเลสประการต่างๆ หนาแน่นขึ้น ทับถมหมักหมมเพิ่มมากขึ้น จนยากที่จะขัดเกลาละคลายได้ ดังนั้น การที่จะมีพระธรรมเป็นที่พึ่ง ได้นั้น จึงต้องฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ด้วยความเคารพ ละเอียดรอบคอบ ค่อยๆ สะสมปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกทีละเล็กทีละน้อย ไม่ข้ามในแต่ละคำ และจะต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา จนกว่าปัญญาจะถึงความสมบูรณ์พร้อมได้ในที่สุด


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
เมตตา
วันที่ 8 พ.ย. 2565

ขอบพระคุณ และยินดีในความดีค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 21 พ.ย. 2565

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ