ปลิโพธ มีในชีวิตประจำวัน [ตอนที่_30]
ขอต่อไปถึงเรื่องของปลิโพธ ซึ่งคำว่า ปลิโพธ เป็นความห่วงใย เป็นความกังวล ผู้ที่ยังไม่หมดกิเลส ก็ย่อมมีความกังวล ย่อมมีความห่วงใย เป็นของที่แน่นอนที่สุด ไม่ว่าคฤหัสถ์หรือบรรพชิต เพราะเหตุว่าเรื่องของปลิโพธ มีกล่าวไว้โดยละเอียดใน วิสุทธิมรรค สมาธินิทเทส วิสุทธิมรรค มี ๓ ภาค คือ ศีลนิทเทส สมาธินิทเทส ปัญญานิทเทส ศีลนิทเทส ก็เป็นเรื่องของศีล รวบรวมไว้ทุกประการ สมาธินิทเทส ก็เป็นเรื่องของการทำจิตให้สงบ จนกระทั่งถึงขั้นอัปปนาสมาธิ ส่วนเรื่องปัญญานิทเทส ก็เป็นเรื่องของการเจริญปัญญา ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงสำหรับเรื่องปลิโพธมีในสมาธินิทเทส แต่ว่าก่อนอื่นขอให้ท่านเข้าใจให้ถูกต้องเสียก่อนว่า คำว่า ปลิโพธ นั้นเป็นความกังวล ไม่ใช่มีเฉพาะกับคฤหัสถ์ บรรพชิตก็มี ใครก็ตามที่ยังมีกิเลสอยู่ ย่อมมีความกังวล ย่อมมีความห่วงใยอยู่ ความห่วงใยก็เป็นลักษณะของกิเลส ลักษณะของโลภะ เมื่อยังมีโลภะอยู่ ความห่วงใยก็ต้องมี และปลิโพธนั้นจะมีละเอียดมากมายสักเท่าไร ก็เป็นเรื่องที่แต่ละคนก็ย่อมพิสูจน์ธรรมในชีวิตประจำวันได้ แต่ที่กล่าวไว้ใน วิสุทธิมรรค ในเรื่องของสมาธินิทเทส ก็ได้แสดงปลิโพธไว้ ๑๐ ประการ ก็คือ
๑. อาวาสปลิโพธ
๒. กุลปลิโพธ
๓. ลาภปลิโพธ
๔. คณปลิโพธ
๕. กัมมปลิโพธ
๖. อัทธานปลิโพธ
๗. ญาติปลิโพธ
๘. อาพาธปลิโพธ
๙. คันถปลิโพธ
๑๐. อิทธิปลิโพธ
เฉพาะประการที่ ๑๐ คือ อิทธิปลิโพธเป็นเครื่องขัดขวางการเจริญวิปัสสนาได้ ส่วนปลิโพธ ๑ ถึง ๙ นั้น เป็นเครื่องขัดขวางการเจริญความสงบ จนกระทั่งถึงอัปปนาสมาธิ แต่ไม่เป็นเครื่องขัดขวางการเจริญวิปัสสนาเลย ขอกล่าวถึงปลิโพธประการใหญ่ๆ ๑๐ ประการนี้
ประการที่ ๑ อาวาสปลิโพธ คือ ความกังวลในเรื่องที่อยู่ ฆราวาสมีหรือไม่มีคะ? มี ภิกษุมีหรือไม่มีคะ? มีเหมือนกัน มีทั้งฆราวาส มีทั้งภิกษุ แล้วจะเห็นได้ว่า ปลิโพธประการใหญ่ๆ ๑๐ ประการนี้ แสดงไว้โดยนัยที่เป็นปลิโพธของภิกษุ ฆราวาสก็มีมาก แต่ว่าลักษณะอาจจะต่างกัน
ประการที่ ๒ กุลปลิโพธ สำหรับพระภิกษุก็หมายความถึง ความกังวล ความห่วงใยในตระกูลอุปัฏฐาก ละอาคารบ้านเรือนแล้วก็ยังมี เพราะฉะนั้น อย่าเข้าใจว่า ท่านมีปลิโพธ จึงเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ ถ้าเข้าใจอย่างนั้นไม่ถูกเลย เพราะเป็นเพียงเครื่องกั้นในการเจริญความสงบหรือสมาธิเท่านั้น
ประการที่ ๓ ลาภปลิโพธ ได้แก่ ความห่วงใย ความกังวลในเรื่องของลาภ ถ้าสำหรับฝ่ายพระภิกษุ ก็ในเรื่องของพวกปัจจัยที่ได้รับ และก็มีความกังวลในการรับและในการอนุโมทนา เป็นต้น
ประการที่ ๔ คณปลิโพธ คือ ความเป็นห่วง ความกังวลหมู่คณะ ถึงแม้ว่าจะเป็นพระภิกษุก็มีกิจ คือ การอบรมภิกษุ หรือผู้ที่เป็นสัทธิวิหาริก อันนั้นก็เป็นกิจกังวลที่จะเป็นเครื่องขัดขวางการเจริญสมาธิ แต่ไม่ใช่เป็นเครื่องขัดขวางการเจริญวิปัสสนา
ประการที่ ๕ กัมมปลิโพธ ความกังวลในเรื่องการงาน สำหรับพระภิกษุ ไม่มีการงานอื่น แต่ก็ยังคงมีการงานในเพศของบรรพชิต คือ ในเรื่องของการก่อสร้าง เป็นต้น ท่านก็มีความกังวล มีความห่วงใยว่า สิ่งที่ทำนั้นเสร็จแล้วหรือยัง หรือว่ายังไม่ได้ทำ หรือว่าเสร็จแล้วดีหรือไม่ ต้องแก้ไขอย่างไร นั่นก็เป็นเรื่องความกังวลซึ่งเป็นเครื่องขัดขวางการเจริญสมาธิ ไม่เป็นเครื่องขัดขวางการเจริญวิปัสสนา
ประการที่ ๖ อัทธานปลิโพธ ความห่วงหรือความกังวลในเรื่องเดินทางไกล นี่ก็เป็นเครื่องขัดขวางการเจริญสมาธิ ไม่เป็นเครื่องขัดขวางการเจริญวิปัสสนา
ประการที่ ๗ ญาติปลิโพธ มีความเป็นห่วงกังวลในเรื่องของญาติ บิดามารดา พี่น้องชายหญิง เป็นต้น สำหรับพระภิกษุนั้น ท่านก็มีอุปัชฌาย์อาจารย์ ซึ่งท่านก็มีความห่วงกังวล เพราะเหตุว่าท่านเหล่านั้นอาจจะป่วยไข้
ประการที่ ๘ อาพาธปลิโพธ คือ ความไม่สบาย ความมีโรคต่างๆ อันนี้ก็เป็นเครื่องขัดขวางการเจริญความสงบ สมาธิ ให้ถึงขั้นอัปปนา แต่ไม่เป็นเครื่องขัดขวางการเจริญวิปัสสนา เวลาที่ไม่สบายก็มีความกังวล ถ้าเป็นโรคภัยไข้เจ็บธรรมดา เล็กๆ น้อยๆ ความกังวลก็น้อย แต่ถ้าเป็นเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บที่ร้ายแรง ก็อาจทำให้มีความกังวลมาก แต่ความกังวลนั้นก็เป็นนามธรรม ไม่ขัดขวางการเจริญสติปัฏฐาน แต่ขัดขวางการเจริญสมาธิ
ประการที่ ๙ คันถปลิโพธ ความห่วงความกังวลในเรื่องการศึกษา การท่องจำ ซึ่งข้อนี้ก็เป็นเป็นเครื่องขัดขวางสมถภาวนา แต่ว่าไม่เป็นเครื่องขัดขวางการเจริญวิปัสสนาเลย
ประการที่ ๑๐ อิทธิปลิโพธ ความห่วงความกังวลในการเจริญฤทธิ์
ประการที่ ๑๐ นี้ เป็นเครื่องขัดขวางการเจริญวิปัสสนาได้ แต่ไม่เป็นเครื่องขัดขวางการเจริญสมาธิ เพราะเหตุว่าในขณะที่ผู้หนึ่งผู้ใดกำลังมีความฝักใฝ่ต้องการที่จะเจริญฤทธิ์ต่างๆ เจริญอิทธิฤทธิ์ต้องอาศัยความสงบอย่างมาก ไม่ใช่เพียงประเดี๋ยวเดียว ต้องอาศัยการฝึกหัด ต้องอาศัยความชำนาญมากทีเดียว เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดมีการใฝ่ใจที่จะเจริญฤทธิ์ ในขณะนั้นย่อมไม่มีสติที่จะระลึกลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้น เพราะเหตุว่าความต้องการ ความปรารถนาปิดบัง ไม่ทำให้สติเกิดขึ้นรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ถ้ามีความต้องการฤทธิ์ มีความใฝ่ใจ ความกังวลในเรื่องการเจริญฤทธิ์ ก็เป็นเครื่องขัดขวางไม่ให้สติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้นได้ อันนี้ก็คงจะไม่มีความสงสัยเรื่องปลิโพธ เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องความกังวลธรรมดาๆ ที่ทุกคนมี [ตอนที่ 30]
รับฟัง ... เรื่องของปลิโพธ