อาวาสปลิโพธ คือ ความกังวลในที่อยู่

 
chatchai.k
วันที่  7 ก.ย. 2565
หมายเลข  43721
อ่าน  302

ต่อไปเป็นเรื่องของอาวาสปลิโพธ คือ ความกังวลในที่อยู่ ซึ่งบางท่านก็มีมาก บางท่านก็มีน้อย ไม่จำกัดว่าเป็นบรรพชิตหรือฆราวาส สำหรับอาวาสปลิโพธนั้นเป็นเครื่องกังวลของการเจริญสมถะ ไม่ใช่เป็นเครื่องกังวลของการเจริญวิปัสสนา แต่เพื่อที่จะให้ท่านได้เข้าใจว่า เพราะเหตุใดอาวาสที่อยู่นั้นจึงเป็นเครื่องกังวลของการเจริญสมถะ และอาวาสใดในลักษณะใดประเภทใดบ้างที่ไม่สมควรแก่การเจริญสมถะ ก็ขอกล่าวถึงลักษณะของวิหารที่ไม่สมควรแก่การเจริญสมถะ ๑๘ อย่าง

วิสุทธิมรรค มีข้อความว่า

วิหารที่ไม่สมควรแก่การเจริญสมถะ ๑๘ อย่างนั้น ก็คือ

๑. วิหารใหญ่ ๒. วิหารใหม่ ๓. วิหารเก่า ๔. วิหารใกล้ทาง ๕. วิหารใกล้บ่อน้ำ ๖. วิหารมีใบไม้ ๗. วิหารมีดอกไม้ ๘. วิหารมีผลไม้ ๙. วิหารที่มีชื่อเสียง ๑๐. วิหารใกล้เมือง ๑๑. วิหารใกล้ป่า ๑๒. วิหารใกล้นา ๑๓. วิหารมีคนไม่ถูกกัน ๑๔. วิหารใกล้ท่าน้ำ ๑๕. วิหารสุดแดน ๑๖. วิหารอยู่ระหว่างพรมแดน ๑๗. วิหารไม่สบาย ไม่สะดวก ๑๘. วิหารที่ไม่มีกัลยาณมิตร

นี่เป็นลักษณะของวิหารที่ไม่สมควรแก่การเจริญสมถะ เพราะเหตุว่าสมาธินั้นเป็นการเจริญความสงบ ความสงบในที่นี้คือ สงบจากรูป จากเสียง จากกลิ่น จากรส จากโผฏฐัพพารมณ์ เพราะเหตุว่าถ้ามีรูป มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีโผฏฐัพพะเป็นอารมณ์ ก็ย่อมจะทำให้จิตใจเพลิดเพลินยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่น่าพอใจ และเกิดความไม่ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ไม่น่าพอใจ

เพราะฉะนั้น ไม่ทำให้จิตสงบ แต่จิตที่สงบถึงขั้นที่ไม่เกี่ยวข้อง ไม่พัวพันกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้น จะต้องอาศัยการเจริญความสงบ

เครื่องที่เป็นปัจจัยให้จิตสงบนั้นจึงต้องมีหลายประการ ซึ่งประการสำคัญที่ ๑ เป็นเรื่องวิหารที่อยู่ ถ้าเป็นวิหารที่ไม่เหมาะ ไม่สมควรแก่การเจริญสมถะ จิตใจก็ย่อมจะไม่สงบระงับจากโลภะ โทสะ โมหะ ไม่สามารถที่จะทำให้ฌานจิตเกิดได้

เพราะฉะนั้น ต้องทราบว่า เรื่องเจริญสมถะ ไม่ใช่เรื่องเจริญวิปัสสนา ต้องแยกกัน ผู้ที่ฉลาดในการเจริญสมถภาวนา ผู้ที่ฉลาดในการเจริญวิปัสสนา ก็จะต้องรู้ทั้งส่วนที่เป็นปัจจัยของการเจริญสมถะ และส่วนซึ่งไม่เป็นอุปสรรค ไม่ขัดขวางต่อการเจริญวิปัสสนาด้วย มิฉะนั้นถ้าท่านไม่เข้าใจ ท่านคิดว่า เมื่อขัดขวางการเจริญสมถะก็ขัดขวางการเจริญสติปัฏฐานด้วย นี่เป็นความเข้าใจผิด เพราะเหตุว่าการเจริญสติปัฏฐานนั้น คือ การรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าท่านจะอยู่ ณ สถานที่ใด ในวิหาร ในอาวาส หรือในที่อยู่ใดก็ตาม

ขอให้ทราบด้วยว่า วิหารที่ไม่สมควรแก่การเจริญสมถะ ทั้ง ๑๘ ประการนี้ ไม่ใช่เครื่องขัดขวางการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ขัดขวางการเจริญวิปัสสนาเลย แต่จะขัดขวางการเจริญสมถะอย่างไร และไม่ขัดขวางการเจริญวิปัสสนาอย่างไร

วิหารประการที่ ๑ ที่ไม่สมควรแก่การเจริญสมถะนั้น ก็คือ วิหารใหญ่ เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าวิหารใหญ่นั้นก็ย่อมมีภิกษุมาก มีกิจการงานต่างๆ มาก และถ้าภิกษุผู้ใคร่ต่อการที่จะเจริญสมถะอยู่ในสถานที่นั้น ก็ย่อมจะต้องประพฤติตามพระวินัยบัญญัติ ถ้าท่านเห็นว่าสิ่งใดยังไม่ได้กระทำ ท่านก็ต้องกระทำ เพราะเหตุว่ามีบัญญัติไว้ มิฉะนั้นท่านก็จะต้องอาบัติทุกกฎ ถ้าท่านไม่ได้กระทำกิจที่ท่านยังไม่ได้กระทำ เพราะฉะนั้น ถ้าท่านกระทำกิจเหล่านั้น ท่านก็ย่อมจะไปบิณฑบาตสาย แล้วท่านก็ไม่ได้อะไร หรือว่าในสถานที่ซึ่งเป็นวิหารใหญ่นั้นอาจจะมีเสียงดัง เพราะเหตุว่ามีเรื่องของบุคคลซึ่งมีความเห็นความคิดต่างๆ กัน เป็นถ้อยคำที่แก่งแย่งกัน ไม่เป็นเหตุให้เกิดความสงบ

เพราะฉะนั้น เรื่องของวิหารใหญ่ ผู้ที่จะเจริญสมถะจึงไม่ควรจะอยู่ เพราะเหตุว่ามีเรื่องไม่สงบมาก มีภิกษุมาก มีกิจมาก แต่มีข้อแม้ว่า ถ้าวิหารใหญ่นั้น ภิกษุช่วยกันทำวัตร คือ ทำหน้าที่ ทำกิจของพระภิกษุเรียบร้อย ไม่มีถ้อยคำแก่งแย่ง เป็นที่ๆ สงบ ไม่วุ่นวาย เป็นที่ควรอยู่ได้สำหรับการเจริญสมถะ เพราะเหตุว่าเรื่องของการเจริญสมถะนั้นต้องการความสงบ ไม่ใช่การเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของนามรูปที่ปรากฏตามความเป็นจริง แต่ถึงจะเป็นวิหารใหญ่ก็เจริญสติได้ เพราะเหตุว่าเมื่อมีการระลึกได้ รู้สึกตัวเมื่อไร ก็รู้ลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏทันที

ข้อสำคัญของการเจริญสติปัฏฐานนั้น คือ ปัญญาพิจารณารู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ใด วิหารใหญ่หรือไม่ใหญ่ก็ตาม ระลึกได้เมื่อไรก็รู้ลักษณะของนามหรือรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

ประการที่ ๒ คือ วิหารใหม่ ไม่เป็นวิหารที่สมควรแก่การเจริญสมถะ เพราะเหตุว่าวิหารใหม่นั้นก็ย่อมมีการก่อสร้าง มีการงานมาก ซึ่งถ้าภิกษุรูปนั้นไม่ช่วยทำ ก็ย่อมจะถูกติ

นี่คือชีวิตของการที่ไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม เป็นภิกษุก็ต้องมีกิจการงาน ไม่ใช่ไม่มีกิจ ถ้ามีการงานซึ่งภิกษุทั้งหลายกำลังกระทำ แล้ว ภิกษุที่ต้องการเจริญสมถะ ต้องการเจริญความสงบ ไม่ช่วยทำก็ย่อมจะถูกติ ซึ่งถ้าท่านช่วยทำแล้ว ท่านก็ไม่สามารถจะทำจิตให้สงบเป็นสมาธิได้

แต่มีข้อแม้ว่า ถ้าภิกษุทั้งหลายในวิหารใหม่นั้นอนุญาตให้ทำสมณธรรม คือ เจริญสมถะได้ตามสะดวกสบาย ไม่ต้องช่วยกระทำกิจ ท่านก็ควรอยู่ในที่นั้นได้ เพราะเหตุว่าได้รับอนุญาตไม่ต้องกระทำกิจการงาน ท่านปรารถนาที่จะเจริญความสงบเมื่อไรท่านก็เจริญได้ตามสะดวกสบาย

ประการที่ ๓ คือ วิหารเก่า ที่วิหารเก่าไม่สมควรแก่การเจริญสมถะนั้น ก็เพราะเหตุว่าเมื่อเป็นที่อยู่ที่เก่าก็จะต้องมีการซ่อมแซม ถึงแม้ว่าจะไม่ซ่อมแซมที่อื่น ท่านก็จำเป็นที่จะต้องซ่อมแซมเสนาสนะที่อยู่ของท่าน ซึ่งถ้าท่านไม่ซ่อมแซม ก็ย่อมจะถูกติเตียน เพราะฉะนั้น ถ้าท่านใช้เวลาไปในการซ่อมแซมเสนาสนะที่อยู่ของท่าน การเจริญสมถกัมมัฏฐานก็ย่อมไม่สะดวก เพราะเหตุว่ากัมมัฏฐานนั้นก็ย่อมเสื่อมในขณะที่ท่านซ่อมแซม หรือกระทำกิจการงาน

ประการที่ ๔ คือ วิหารใกล้ทาง ที่วิหารใกล้ทางไม่สมควรแก่การเจริญสมถะนั้น ก็เพราะเหตุว่ามีภิกษุอาคันตุกะมาที่วิหารใกล้ทางนั้น ทั้งกลางวันกลางคืน ภิกษุที่อยู่ในที่นั้นก็จำเป็นที่จะต้องให้เสนาสนะภิกษุอาคันตุกะ แล้วตัวท่านเองก็ต้องอยู่ที่โคนไม้ หรือว่าบนก้อนหินบ้าง ซึ่งความจริงน่าจะเหมาะสำหรับการเจริญสมถะ แต่ต้องย้ายสถานที่ จัดสถานที่ต้อนรับอาคันตุกะทั้งกลางวันกลางคืนนั้น ทำให้ไม่มีเวลาว่างสำหรับการเจริญสมถกัมมัฏฐาน

แต่มีข้อแม้ว่า ถ้าเป็นวิหารใกล้ทางที่ไม่ยุ่งยากเกี่ยวกับอาคันตุกะ เมื่อเป็นวิหารเช่นนั้นก็สามารถเจริญสมถะได้

ประการที่ ๕ วิหารใกล้บ่อน้ำ ไม่เป็นที่สมควรแก่การเจริญสมถภาวนา เพราะเหตุว่ามีผู้ต้องการน้ำพากันมาตักน้ำอยู่เสมอ บางทีพวกอันเตวาสิกของ พระเถระ ผู้เข้าสู่สกุลของพระราชานั้นก็ย่อมจะทำการย้อมผ้า ย้อมสบงจีวร ซึ่งภิกษุซึ่งอยู่ในที่นั้นจำเป็นต้องตอบ เมื่อถูกถามถึงภาชนะ ฟืน หรือกิจการงานเหล่านั้น ซึ่งไม่สงบ ทำให้วุ่นวาย ไม่สามารถที่จะเจริญสมถะได้ แต่ให้ทราบว่าไม่ขัดขวางต่อการเจริญวิปัสสนา

ประการที่ ๖ วิหารมีใบไม้ ไม่สมควรแก่การเจริญสมถภาวนา เพราะเหตุว่า ในสถานที่ที่มีผักที่เป็นอาหารใช้บริโภคได้นั้น เวลาที่ท่านนั่งพักกลางวันเจริญกัมมัฏฐานอยู่ ก็อาจจะมีพวกผู้หญิงมาเก็บผักและขับร้องพลางเก็บผักพลาง ซึ่งก็ย่อมเป็นอันตรายแก่กัมมัฏฐาน เพราะเสียงย่อมเป็นอันตรายของสมาธิ

อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต กัณฏกสูตร มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้พระนครเวสาลี พร้อมด้วยพระเถระผู้เป็นสาวกซึ่งมีชื่อเสียงหลายรูป คือ ท่านพระปาละ ท่านพระอุปปาละ ท่านพระกักกฏะ ท่านพระกฬิมภะ และท่านพระนิกฏะ ท่านพระกฏิสสหะ และพร้อมทั้งด้วยพระเถระผู้เป็นสาวกซึ่งมีชื่อเสียงเหล่าอื่น

สมัยนั้น พวกเจ้าลิจฉวีที่มีชื่อเสียงเป็นอันมากก็ได้ขึ้นยานชั้นดี มีเสียงอื้ออึงต่อกันเข้ามายังป่ามหาวันเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค ท่านพระภิกษุเถระเหล่านั้นก็ได้มีความปริวิตกว่า

ก็พระผู้มีพระภาคตรัสฌานว่า มีเสียงเป็นปฏิปักษ์ ไฉนหนอ เราทั้งหลายพึงเข้าไปยังโคสิงคสาลทายวัน คือ เข้าไปที่ป่าโคสิงคสาลทายวัน ณ ที่นั้นเราทั้งหลายพึงเป็นผู้มีเสียงน้อย ไม่เกลื่อนกล่น อยู่ได้ผาสุก และท่านผู้มีอายุเหล่านั้นได้พากันเข้าไปยังโคสิงคสาลทายวัน หลบหลีกพวกเจ้าลิจฉวีซึ่งมีเสียงอึกทึกอื้ออึง พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปาลภิกษุไปไหน อุปปาลภิกษุไปไหน กักกฏภิกษุไปไหน กฬิมภภิกษุไปไหน นิกฏภิกษุไปไหน กฏิสสหภิกษุไปไหน ซึ่งภิกษุทั้งหลายก็ได้กราบทูลว่า เจ้าลิจฉวีผู้อันมีชื่อเสียงเป็นอันมากขึ้นยานชั้นดีเข้ามายังป่ามหาวันเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค ภิกษุเหล่านั้นก็คิดว่าพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ฌานมีเสียงเป็นปฏิปักษ์ เพราะฉะนั้น ท่านก็พากันไปยังโคสิงคสาลทายวัน

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ดีละ ดีละ จริงดังที่มหาสาวกเหล่านั้นเมื่อพยากรณ์โดยชอบ พึงพยากรณ์ดังนั้น ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวฌานว่ามีเสียงเป็นปฏิปักษ์ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปฏิปักษ์ ๑๐ ประการนี้ ๑๐ ประการเป็นไฉน คือ

ความเป็นผู้ยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ เป็นปฏิปักษ์ต่อความเป็นผู้ยินดีในที่สงัด ๑

การประกอบสุภนิมิต เป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ประกอบอสุภนิมิต ๑

การดูมหรสพที่เป็นข้าศึก เป็นปฏิปักษ์ต่อผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ ทั้งหลาย ๑

การติดต่อกับมาตุคาม เป็นปฏิปักษ์ต่อพรหมจรรย์ ๑

เสียง เป็นปฏิปักษ์ต่อปฐมฌาน ๑

วิตก วิจาร เป็นปฏิปักษ์ต่อทุติยฌาน ๑

ปีติ เป็นปฏิปักษ์ต่อตติยฌาน ๑

ลมอัสสาสะ ปัสสาสะ เป็นปฏิปักษ์ต่อจตุตถฌาน ๑

สัญญาและเวทนา เป็นปฏิปักษ์ต่อสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ๑

ราคะ เป็นปฏิปักษ์

โทสะ เป็นปฏิปักษ์

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่มีปฏิปักษ์อยู่เถิด

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่มีปฏิปักษ์ จงเป็นผู้หมดปฏิปักษ์อยู่เถิด

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พระอรหันต์ทั้งหลายเป็นผู้ไม่มีปฏิปักษ์ พระอรหันต์ทั้งหลายไม่มีปฏิปักษ์ เป็นผู้หมดปฏิปักษ์

นี่เป็นข้อความในกัณฏกสูตร ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอะไรเป็นปฏิปักษ์ต่ออะไร ซึ่งท่านจะต้องให้ชัดเจนเข้าใจให้ถูกต้อง อย่าสับสนอย่างที่ว่า เสียงเป็นปฏิปักษ์ต่อปฐมฌาน ก็อย่าเอาเสียงมาเป็นปฏิปักษ์ต่อการเจริญวิปัสสนา เพราะเหตุว่าปฐมฌานเป็นสมถภาวนา ไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน

เพราะฉะนั้น บางท่านคิดว่าในขณะที่ท่านเจริญสติปัฏฐานนั้น ไม่ควรจะได้ยินอะไรเลย ไม่ควรจะได้ฟังอะไรเลย แต่ขอให้พิจารณาดูว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นเป็นการรู้ลักษณะของนามและรูปที่เกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัยตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใดก็ตาม เป็นการรู้แจ้ง เป็นการรู้ชัด เพราะฉะนั้น ท่านจะต้องทราบเรื่องปฏิปักษ์ทั้ง ๑๐ ประการนี้ให้ถูกต้อง อย่างที่ว่า ความเป็นผู้ยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ เป็นปฏิปักษ์ต่อความเป็นผู้ยินดีในที่สงัด

บางคนสถานที่เงียบๆ อยู่ไม่ได้ ต้องอยู่ในสถานที่มีคนมากๆ แวดล้อมด้วยหมู่คณะ แต่อีกบุคคลหนึ่งไม่ชอบที่จะอยู่ในสถานที่เหล่านั้น แต่มีความยินดีที่จะอยู่เงียบๆ ตามลำพัง เพราะฉะนั้น ความเป็นผู้ยินดีในการคลุกคลีในหมู่คณะนั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อความเป็นผู้ยินดีในที่สงัด

การประกอบสุภนิมิต เป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ประกอบอสุภนิมิต

การดูมหรสพที่เป็นข้าศึก เป็นปฏิปักษ์ต่อผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย คุ้มครองไม่ดูสิ่งที่จะทำให้จิตเป็นโลภะหรือว่าเป็นโทสะตามพระวินัย-บัญญัตินั้นก็ประการหนึ่ง แต่ว่าไม่ว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้นปรากฏเพราะเหตุปัจจัยนั้น จะเป็นสิ่งที่น่าเพลิดเพลินยินดีพอใจ หรือไม่น่าเพลิดเพลิน ไม่น่ายินดีพอใจก็ตาม มีสติระลึกได้ รู้ลักษณะของสภาพนั้นได้ตามความเป็นจริง

นั่นก็เป็นการคุ้มครองอินทรีย์ด้วยสติอีกขั้นหนึ่ง ถ้ามีสติสามารถรู้สึกตัวรู้ลักษณะของนามและรูปในขณะนั้นได้ก็ดี แต่ถ้าไม่มี ก็ควรเว้นตามควรแก่โอกาสหรือในขณะที่เว้น หลีกมหรสพที่เป็นข้าศึกนั้น ก็เป็นแต่เพียงนามเป็นแต่เพียงรูปเท่านั้นเอง นี่เป็นการเจริญสติที่จะต้องรู้ลักษณะของนามและรูปละเอียดขึ้น ไม่ว่าจะเว้นหรือว่าไม่ว่าจะพิจารณานามและรูปชนิดใด ก็รู้ลักษณะของนามและรูปนั้นตามความเป็นจริง

การติดต่อกับมาตุคามเป็นปฏิปักษ์ต่อพรหมจรรย์ โดยเฉพาะในการเจริญสมถะ เพราะเหตุว่าถ้าวิหารนั้นอยู่ใกล้บ่อน้ำหรือว่าอยู่ใกล้กับสถานที่ๆ มีผู้คนพลุกพล่าน เป็นวิหารที่มีใบไม้ มีผักที่ใช้บริโภค เวลาที่พวกหญิงเก็บผักขับร้องเพลงพลางเก็บผักพลาง อย่างนั้นก็เป็นอันตรายแก่กัมมัฏฐาน เพราะเสียงเป็นปฏิปักษ์ต่อปฐมฌาน

จะเห็นได้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงพระมหากรุณาแยกให้เห็นถึงปฏิปักษ์ของแต่ละสิ่ง เพราะเหตุว่าเสียงนั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อปฐมฌาน วิตก วิจาร เป็นปฏิปักษ์ต่อทุติยฌาน ปีติ เป็นปฏิปักษ์ต่อตติยฌาน ลมอัสสาสะ ปัสสาสะ เป็นปฏิปักษ์ต่อจตุตถฌาน คือ ถ้าเป็นทุติยฌานจะมีวิตก วิจารไม่ได้ หรือว่าผู้ที่กำลังเจริญทุติยฌานมีความชำนาญแคล่วคล่องในปฐมฌาน ก็จะต้องทราบว่าอะไรเป็น ปฏิปักษ์ของทุติยฌาน ถ้าไม่ทราบก็คงได้แต่เพียงปฐมฌาน เพราะเหตุว่าไม่ได้ละวิตก วิจาร แต่ถ้าทราบว่า การที่จิตสงบเพียงขั้นปฐมฌานนั้น ถ้าจะให้สงบระงับมากกว่านั้นก็ต้องละวิตก หรือโดยจตุตถนัยก็ต้องละวิตก วิจารทั้งสอง จิตจึงจะสงบยิ่งขึ้นถึงขั้นทุติยฌานได้ เพราะฉะนั้น เมื่อทราบว่าอะไรเป็นปฏิปักษ์ก็ละปฏิปักษ์ได้

สำหรับปีตินั้นก็เป็นปฏิปักษ์ของตติยฌาน ลมหายใจเข้าออก คือ ลมอัสสาสะ ปัสสาสะนั้นเป็นปฏิปักษ์ของจตุตถฌาน ส่วนสัญญาและเวทนานั้นเป็นปฏิปักษ์ของสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ราคะเป็นปฏิปักษ์ไม่ได้กล่าวจำกัดว่าของอะไร โทสะเป็นปฏิปักษ์แน่นอน ไม่ได้กล่าวจำกัดลงไปว่าของอะไรด้วย พระผู้มี-พระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่มีปฏิปักษ์อยู่เถิด เธอทั้งหลายจงเป็นผู้หมดปฏิปักษ์อยู่เถิด

นี่ก็เป็นพระมหากรุณาที่แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่ไม่ดีที่เป็นศัตรูนั้นควรละ และควรให้หมดสิ้นจริงๆ ราคะก็ดี โทสะก็ดี โมหะก็ดี กิเลสทั้งหลายควรหมดสิ้นไปเป็นสมุจเฉท ไม่ใช่เพียงแต่ระงับไว้ชั่วคราวเท่านั้น

ข้อต่อไป กล่าวถึงวิหารที่ไม่สมควรแก่การเจริญสมาธิ

ประการที่ ๗ คือ วิหารที่มีดอกไม้ วิหารที่มีกอดอกไม้หลายอย่างบานสะพรั่งอยู่ ก็ย่อมเป็นวิหารที่ไม่ควรแก่การเจริญสมถภาวนา โดยนัยเดียวกับวิหารที่มีผักที่ใช้บริโภค เพราะเหตุว่าผู้คนที่ต้องการดอกไม้นั้น ก็จะทำความวุ่นวาย เก็บดอกไม้ ร้องเพลง ซึ่งทำให้ไม่สงบ เป็นปฏิปักษ์ต่อการเจริญสมาธิ

ประการที่ ๘ วิหารมีผลไม้ เช่น มะม่วง ชมพู่ ขนุน เวลาที่ออกผล ผู้คนก็ย่อมมาขอ ซึ่งถ้าไม่ให้ คนเหล่านั้นก็โกรธ หรือว่านอกจากโกรธแล้ว ก็ยังถือเอาไปโดยพลการ ถ้ามีพระภิกษุถามหรือทักท้วง คนเหล่านั้นก็ย่อมจะโกรธ ตัดพ้อต่อว่า หรือว่าพยายามหาทางที่จะไม่ให้ภิกษุอยู่ในวิหารนั้นต่อไป เพราะเหตุว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน

ประการที่ ๙ วิหารที่มีชื่อเสียง ในวิสุทธิมรรคยกตัวอย่าง ทักขิณาคีรี-วิหาร หัตถิกุจฉิวิหาร เจตียคิรีวิหาร และจิตตบรรพตวิหารว่า เป็นวิหารที่มีชื่อเสียง เพราะเหตุว่าย่อมมีผู้คนมานมัสการยกย่องว่า ท่านผู้นั้นผู้นี้เป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น ถ้ามีคนมามากตลอดเวลา ก็ย่อมเป็นสถานที่ที่วุ่นวายไม่สงบ

แต่ก็มีข้อแม้ว่า แต่ถ้าวิหารนั้น เป็นที่สะดวกสบายแก่ท่าน ก็พึงอยู่เฉพาะในเวลากลางคืน ส่วนกลางวันนั้นให้ไปที่อื่น

ประการที่ ๑๐ วิหารใกล้เมือง สำหรับวิหารใกล้เมืองนั้น ก็ย่อมจะเป็นอุปสรรคไม่สมควรแก่การเจริญสมถะ เพราะเหตุว่าภิกษุย่อมประสบกับเพศตรงข้ามเนืองๆ หรือถึงแม้ว่าท่านจะเดินบิณฑบาต เมื่อมีคนมากเพราะว่าเป็นวิหารใกล้เมือง นางกุมภทาสีอาจจะชน อาจจะเดินเฉียด หรือว่าไม่หลีกทางให้ การได้พบกิริยามารยาทต่างๆ ที่ไม่น่าพอใจ ย่อมจะทำให้จิตไม่สงบได้

ประการที่ ๑๑ วิหารใกล้ป่า ไม่สมควรแก่การเจริญสมถะ เพราะเหตุว่าย่อมมีผู้คนพากันมาเก็บฟืน หรือว่าตัดต้นไม้ไปทำบ้านเรือนซึ่งทำความวุ่นวายให้

ประการที่ ๑๒ วิหารใกล้นา ไม่สมควรแก่การเจริญสมถภาวนา เพราะเหตุว่าพวกมนุษย์ก็ย่อมจะทำลานนวดข้าว ตากข้าวในบริเวณวิหาร ส่วนฝูงโคเดินกันวุ่นวาย และอาจจะต้องมีคดีไปถึงพระราชาหรือมหาอำมาตย์ของพระราชา ซึ่งไม่ความสงบทำให้กัมมัฏฐานเสื่อมไป

ประการที่ ๑๓ วิหารมีคนไม่ถูกกัน แม้แต่ภิกษุก็มีอัธยาศัยต่างกัน เพราะฉะนั้น ในวิหารใดก็ตามซึ่งมีคนไม่ถูกกัน มีคนผูกเวรกัน หรือว่าพูดแก่งแย่งกันนั้น ไม่สามารถเจริญสมถภาวนาให้จิตใจสงบระงับได้

ประการที่ ๑๔ วิหารใกล้ท่าน้ำ ไม่สมควรแก่การเจริญสมถภาวนา เพราะว่าเป็นที่ๆ ใกล้ท่าน้ำ คนที่มาก็อาจจะมาขอน้ำดื่มหรือขอเกลือ ก็แล้วแต่ อัธยาศัยของชาวบ้านซึ่งวุ่นวายอยู่เสมอ หรือมีเรื่องต้องติดต่อ มีเรื่องต้องขอความช่วยเหลืออุปการะ ซึ่งก็ทำให้วิหารที่ใกล้ท่าน้ำนั้นไม่เป็นวิหารที่สงบ

ประการที่ ๑๕ วิหารสุดแดน ย่อมมีภัย เพราะเหตุว่าผู้คนไม่เลื่อมใสในพระรัตนตรัย อาจจะทำร้าย ไม่เป็นที่สมควรแก่การเจริญสมถภาวนา

ประการที่ ๑๖ วิหารอยู่ระหว่างพรมแดน ไม่เหมาะอีกเหมือนกัน เพราะเหตุว่าถ้ามีสงคราม พระราชาประเทศนี้รบกับประเทศโน้น พระภิกษุท่านเที่ยวไปในแคว้นของพระราชาองค์นี้บ้าง องค์โน้นบ้าง ก็ย่อมจะถูกกล่าวหาว่าเป็นจารบุรุษ ซึ่งขัดขวางแก่การเจริญสมถะ

ประการที่ ๑๗ คือ วิหารไม่สบาย ไม่สะดวก ข้อนี้ท่านกล่าวว่ามีหญิงหรือว่ามีอมนุษย์ เป็นวิหารซึ่งทำให้จิตใจไม่ระงับจากโลภะ โทสะ โมหะ

ประการที่ ๑๘ วิหารที่ไม่ได้กัลยาณมิตร ไม่มีเพื่อนที่ดี ท่านกล่าวว่าเป็นโทษอย่างใหญ่ เพราะเหตุว่าไม่ทำให้สมณธรรมเจริญ ทั้งความสงบและปัญญา

ส่วนวิหารที่ควรแก่การที่จะอยู่เจริญสมณธรรมนั้น ก็ได้แก่ อนุรูปวิหาร ๕ ซึ่งในข้อนี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ภิกษุทั้งหลาย ก็เสนาสนะเป็นเสนาสนะประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นไฉน

๑. ไม่ใกล้นัก ไม่ไกลนัก มีทางไปมาสะดวก

๒. กลางวันไม่พลุกพล่าน กลางคืนก็เงียบเสียง ไม่อึกทึก

๓. มีสัมผัสเกิดแต่เหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานเบาบาง

๔. เมื่อภิกษุอยู่ในเสนาสนะเช่นนั้น จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เครื่องค้ำจุน คือ ยาแก้ไข้ ย่อมไม่ฝืดเคือง

๕. และในเสนาสนะนั้น มีภิกษุผู้เป็นเถระ เป็นพหุสูต เป็นผู้แตกฉานในปริยัติ เป็นผู้ทรงธรรม ทรงวินัย เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งมาติกา คือ หัวข้อแห่งพระธรรมวินัยพำนักอยู่ด้วย ท่านย่อมเข้าไปหาตามกาลอันควร ไถ่ถามสอบสวนอรรถ ท่านเหล่านั้นก็จะเปิดเผยข้อที่ไม่กระจ่างให้กระจ่าง บรรเทาความสงสัยในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัย

ภิกษุทั้งหลาย เสนาสนะอย่างนี้แล เป็นเสนาสนะที่ประกอบด้วยองค์ ๕

แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะต้องการผลอย่างไร ก็ต้องทราบเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดผลอย่างนั้น

ถ้าต้องการเจริญความสงบ คือ สมถภาวนา ก็จะต้องทราบว่า อยู่ในสถานที่ใดความสงบจึงเกิดขึ้นได้ หรือว่าอยู่ ณ สถานที่ใดความสงบไม่เกิด ซึ่งนอกจากวิหารที่เป็นที่อยู่จะเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าท่านได้อยู่ในวิหารที่เหมาะควรแล้ว ผู้ที่จะเจริญสมถภาวนานั้นก็ยังต้องตัดปลิโพธเล็กน้อย เช่น ตัดเล็บ หรือตัดผม ถ้าจีวรเก่าจีวรขาด ก็ต้องชุนก็ต้องย้อมให้เรียบร้อย หรือว่าถ้าบาตรแตกก็ต้องระบมบาตร หรือว่าทำความสะอาด ชำระเตียงตั่ง

นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ท่านต้องพร้อมที่จะตัดปลิโพธ เครื่องกังวลต่างๆ เพื่อให้จิตดำเนินไปในความสงบ ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วก็เจริญสมถกัมมัฏฐานไม่ได้

ที่ยกตัวอย่างเหล่านี้แทรกเข้ามาในเรื่องของการเจริญวิปัสสนานั้น ก็เพื่อที่จะให้ทราบความต่างกันระหว่างการเจริญสมถภาวนากับการเจริญวิปัสสนา ถ้าท่านพบเรื่องวิหารที่ไม่สมควรแก่การเจริญสมถะ ๑๘ ประการนี้ ท่านก็จะได้ทราบว่า ใน ๑๘ ประการซึ่งเป็นวิหารที่ไม่สมควรนั้น เป็นปลิโพธของการเจริญสมถะ แต่ว่าไม่ใช่เป็นเครื่องขัดขวางการเจริญวิปัสสนา มิฉะนั้นแล้วบางท่านอาจจะคิดว่าถ้าไม่กล่าวไว้ในที่นี้เลย แล้วไปพบที่อื่น ก็อาจจะเข้าใจเองว่า คงจะเป็นเครื่องขัดขวางการเจริญวิปัสสนาด้วย แต่ความจริงไม่ใช่


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 32

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 33

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง ...

เรื่องของปลิโพธ ความกังวล ความห่วงใย


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ