วิจารณ์สนั่น ภาพพระ เณร เข้าฟิตเนส ออกกำลังกายเป็นหมู่คณะ

 
มศพ.
วันที่  4 ก.ย. 2565
หมายเลข  43593
อ่าน  1,657

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย


วิจารณ์สนั่น ภาพพระ เณร เข้าฟิตเนส ออกกำลังกายเป็นหมู่คณะ ตามพระธรรมวินัย จะให้ความกระจ่างในเรื่องนี้อย่างไร



พระภิกษุ สามเณร เป็นเพศบรรพชิตที่สละอาคารบ้านเรือนออกบวชด้วยศรัทธา เห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ขัดเกลากิเลสของตนเองยิ่งขึ้นในเพศที่สูงกว่าคฤหัสถ์ ความเป็นอยู่ของพระภิกษุ สามเณรก็ต้องอาศัยศรัทธาจากคฤหัสถ์ ซึ่งจะเห็นได้ว่า อาหารบิณฑบาต ตลอดจนถึงปัจจัยเครื่องอาศัยที่เหมาะควรแก่เพศบรรพชิต มีที่อยู่อาศัย จีวร ยารักษาโรค ก็เพื่อประคับประคองให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้ เพื่อประโยชน์ในการอบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสต่อไป การที่แต่ละท่านมีโรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้นนั้น ก็เพราะเหตุปัจจัยหลายอย่าง และ ตามพระธรรมวินัย ก็มีการอนุญาตยารักษาโรค อนุญาตการอุปัฏฐากดูแลเมื่อพระภิกษุ สามเณรด้วยกันเกิดอาพาธเจ็บป่วยขึ้น ซึ่งเราไม่สามารถจะรู้ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง เป็นธรรมที่ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ความเจ็บไข้ได้ป่วยก็เป็นธรรมดาของสัตว์โลกที่เกิดมาแล้ว และ ในที่สุดก็จะต้องละจากโลกนี้ไปด้วยกันทั้งนั้น สิ่งที่จะเป็นที่พึ่งจริงๆ ก็คือ ความดีและความเข้าใจพระธรรม การอบรมเจริญปัญญาตามหนทางที่พระสัมมสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ จะเป็นไปเพื่อความสิ้นไปแห่งโรคทางใจ คือ กิเลส ซึ่งเป็นสิ่งที่เสียดแทงจิตใจ เป็นโรคที่เห็นได้ยากกว่าโรคทางกาย และที่มีโรคทางกายก็สืบเนื่องมาจากการเกิด ซึ่งเหตุจริงๆ ก็คือ กิเลสนี้เอง

พระภิกษุ และสามเณร ซึ่งเป็นเพศบรรพชิต ย่อมจะมีความประพฤติที่เรียบร้อย ดีงาม มีการสำรวมตามพระธรรมวินัย การออกกำลังกาย การคึกคะนอง อย่างเพศคฤหัสถ์ เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะควรแก่เพศบรรพชิตโดยแท้ แสดงถึงความเป็นผู้ที่ไม่ได้ขัดเกลากิเลส ไม่เป็นเหตุนำมาซึ่งความเลื่อมใสของผู้ที่ได้พบเห็นเลยแม้แต่น้อย ในพระวินัย ก็มีข้อความแสดงว่า การละเล่นประการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหกคะเมนตีลังกา การปล้ำกัน การชกมวยกัน เป็นต้น เป็นการประพฤติอนาจาร คือ เป็นความประพฤติไม่เหมาะควร เป็นอาบัติในการกระทำอย่างนั้น ซึ่งการคะนองมือ คะนองเท้า ไม่สำรวม ก็เป็นอาบัติทุกกฏชัดเจน เมื่อว่าโดยศัพท์แล้ว ทุกกฏ หมายถึง การกระทำไม่ดี การกระทำไม่สมควร การกระทำผิด ตามข้อความใน
พระวินัยปิฎก ปริวาร เล่ม ๘ - หน้าที่ ๖๒๒ ดังนี้

"จริงอยู่ กรรมใด อันบุคคลทำไม่ดี หรือ ทำผิด กรรมนั้น ชื่อว่าทุกกฏ ก็ทุกกฏ นั้นแล ชื่อว่า ผิด เพราะเหตุที่ไม่ทำตามประการที่พระศาสดาตรัส ชื่อว่า แย้ง เพราะเป็นไปแย้งกุศล ชื่อว่า พลาด เพราะไม่ย่างขึ้นสู่ข้อปฏิบัติในอริยมรรค"

อาบัติทุกกฏ เป็นอาบัติที่เบา เมื่อต้องเข้าแล้ว ก็สามารถแก้ไขได้ตามพระวินัยด้วยแสดงอาบัติต่อหน้าพระภิกษุด้วยกัน ด้วยการมีความจริงใจที่จะสำรวมระวังต่อไป ไม่กระทำผิดอย่างนั้นอีก แต่ถ้าไม่แก้ไขด้วยการปลงอาบัติ ก็เป็นเครื่องกั้นการบรรลุมรรคผลนิพพาน กั้นสุคติภูมิ ด้วย หมายความว่า ถ้ามรณภาพ (ตาย) ในขณะที่ยังเป็นผู้มีอาบัติติดตัว ชาติหน้าต่อจากชาตินี้ ก็ไปเกิดในอบายภูมิเท่านั้น จะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่ได้เลย

แต่ถ้าเป็นสามเณร แม้ว่าจะไม่มีอาบัติเหมือนกับพระภิกษุ แต่ก็ได้ทำสิ่งที่ไม่สมควร ควรได้รับการตักเตือนและถูกลงโทษ ตามพระธรรมวินัย เช่น ให้ทำประโยชน์ภายในบริเวณวัด ด้วยการให้ทำความสะอาด ให้ตักน้ำ เป็นต้น ก็สามารถพ้นจากโทษนั้นได้ และจะต้องตั้งใจที่จะไม่ทำผิดอย่างนั้นอีก

ประการที่สำคัญ การได้กระทำกิจที่ควรทำตามสมควรแก่เพศบรรพชิต เช่น เดินบิณฑบาต การกวาดวิหารลานเจดีย์ หรือ ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ มีการเดิน เพื่อผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ ขจัดความเมื่อยล้า เป็นต้น ก็เป็นการบริหารร่างกายไปในตัวอยู่แล้ว และไม่ผิดพระวินัยด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้ การออกกำลังกายอย่างที่คฤหัสถ์เขาทำกัน สำหรับภิกษุ-สามเณรแล้ว ไม่ควรโดยประการทั้งปวง ไม่เหมาะควรแก่เพศบรรพชิต เพราะไม่ใช่กิจที่ท่านจะต้องทำ เพราะกิจที่จะต้องทำที่สำคัญที่สุด คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสของตนเอง ประพฤติตามพระธรรมวินัย เท่านั้น

ความเข้าใจพระธรรมวินัยจากการศึกษาด้วยความเคารพละเอียดรอบคอบ ก็จะเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลกับทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ที่จะได้ทำเฉพาะในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม และ ไม่ทำสิ่งที่ผิด พร้อมทั้งไม่สนับสนุนส่งเสริมในสิ่งที่ผิด โดยประการทั้งปวง เป็นผู้ตรงต่อพระธรรมวินัย ดำรงรักษาพระธรรมวินัย ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องของแต่ละคน



ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมจากคำสนทนาของอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ได้ที่ยูทูปด้านล่างนี้



...ขอความเจริญมั่นคงในกุศลธรรมจงมีแด่ทุกๆ ท่าน...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
kullawat
วันที่ 4 ก.ย. 2565

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เมตตา
วันที่ 4 ก.ย. 2565

ขอบพระคุณ และยินดีในความดีของ อ.คำปั่น ด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Jans
วันที่ 4 ก.ย. 2565

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เมตตา
วันที่ 4 ก.ย. 2565

ขอบพระคุณ และยินดีในความดีของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
namarupa
วันที่ 4 ก.ย. 2565

เป็นหัวข้อที่ควรศึกษาอย่างละเอียด และอย่างที่อาจารย์คำปั่นกล่าวว่า การออกกำลังกายอย่างที่คฤหัสถ์เขาทำกัน สำหรับภิกษุ-สามเณรแล้ว ไม่ควรโดยประการทั้งปวง ไม่เหมาะควรแก่เพศบรรพชิต เพราะไม่ใช่กิจที่ท่านจะต้องทำ เพราะกิจที่จะต้องทำที่สำคัญที่สุด คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสของตนเอง ประพฤติตามพระธรรมวินัย เท่านั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
ไพรศรี
วันที่ 4 ก.ย. 2565

อนุโมทนา สาธุครับ.

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
ธีรพันธ์
วันที่ 4 ก.ย. 2565

ขอถวายความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ข้อแรกใน ๑๐ ข้อที่บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ มีข้อความเกี่ยวกับบรรพชิตว่าควรพิจารณาเนืองๆ ว่า บัดนี้เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว อาการกิริยาใดๆ ของสมณะ เราต้องทำกิริยาอาการนั้นๆ

(อ้างอิงจาก พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ทสกนิบาต)

สมณะ หมายถึงผู้สงบจากกิเลส

กิริยาอาการของบรรพชิตจึงต่างจากคฤหัสถ์ (บรรพชิต หมายถึง ผู้เว้นทั่วจากบาปอกุศล)

แม้สามเณรก็เป็นเหล่ากอของสมณะ ก็ต้องมีความประพฤติคล้อยตามควรแก่เพศบรรพชิตด้วย

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
chatchai.k
วันที่ 4 ก.ย. 2565

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
Junya
วันที่ 4 ก.ย. 2565

กราบอนุโมทนา และขอบพระคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
ปาริชาตะ
วันที่ 4 ก.ย. 2565

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 23  
 
siraya
วันที่ 4 ก.ย. 2565

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ