ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๕๖๔

 
khampan.a
วันที่  12 มิ.ย. 2565
หมายเลข  43226
อ่าน  936

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๕๖๔



~ เมื่อมีความเข้าใจในความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและในพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง ก็เป็นการเคารพอย่างยิ่ง บูชาพระองค์ยิ่งกว่าดอกไม้ธูปเทียนเครื่องสักการะใดๆ ด้วยการฟังธรรมที่ควรฟัง แล้วก็มีความเข้าใจ เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่ฟังพระธรรมแล้วเข้าใจ นั่นคือ การบูชาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกเวลา

~ การศึกษาโดยเคารพ ทั้งพระธรรมและพระวินัย ไม่สายสำหรับคนเริ่ม เพราะว่าเริ่มเมื่อไหร่ เข้าใจเมื่อนั้น ทีละเล็กทีละน้อย แต่ถ้าไม่เริ่มเลย แล้วจากโลกนี้ไป ก็ไม่ได้อะไรเลยจากโลกนี้ นอกจากกิเลสและความไม่รู้มากมายทุกวัน

~ สำหรับผู้ที่เป็นพุทธสาวกหรือพุทธบริษัท นอกจากจะเป็นผู้ที่ฟังพระธรรมแล้ว ก็ยังต้องเป็นผู้ว่าง่าย คือ เป็นผู้ที่อยู่ในโอวาทของพระบรมศาสดาด้วย โดยการประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันจริงๆ

~
ฟังคำที่ทำให้เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ จะรู้ไหมว่า คำนั้นเป็นคำของใคร? อย่างพูดว่า เห็น เห็นเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้าไม่มีจักขุปสาท ไม่มีสิ่งที่กระทบตา ไม่มีกรรมที่ทำไว้แล้ว จะเห็นได้ไหม ไม่ได้ เป็นคำของใคร? เพราะฉะนั้น คำใดที่กล่าวถึงสิ่งที่มีจริง แล้วทำให้เข้าใจความจริงนั้นถูกต้อง คำนั้นเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หนทางที่จะทำให้รู้ความจริงคืออะไร ถ้าไม่ได้ฟังว่า ขณะนี้แม้สภาพธรรมก็เกิดดับ แต่ยังไม่ได้เข้าใจสภาพธรรมสักอย่างที่เกิดแล้วดับ เพียงแต่รู้เรื่องของเห็นที่ขณะนี้เคยเข้าใจว่าเห็นไม่เกิดดับ แต่ความจริงเห็นต้องเกิด เกิดแล้วดับ แต่ขณะเกิดดับ ได้ยินก็เกิดแล้วดับ ทุกอย่างมีอายุที่สั้นมาก เพียงเกิดขึ้นแล้วปรากฏ แล้วก็หมดไป นี่เป็นคำของใคร?

~
ทุกคำในพระไตรปิฎก เป็นธรรมเตชะ สามารถเป็นกำลังที่สะสมจนกระทั่งสามารถดับกิเลสได้ ซึ่งถ้าไม่ใช่คำที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงจากการตรัสรู้ ไม่สามารถนำไปสู่ปัญญาที่เห็นถูก ที่ดับกิเลสได้เลย

~ ถ้าเป็นผู้ที่ไม่เห็นโทษของความไม่ดี จะละความไม่ดีได้ไหม? และความไม่ดีต่างหากที่เป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ต่างๆ เพราะฉะนั้น จะแก้ไขความทุกข์ยากและปัญหาทั้งหมด ก็ด้วยความเข้าใจความจริง


~ แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ก็ทรงแสดงธรรมให้คนอื่นได้เข้าใจ ให้มีพระธรรมเป็นที่พึ่ง ที่จะมีชีวิตต่อไปจนกระทั่งสามารถที่จะพ้นจากกิเลส หมดสิ้นกิเลสได้

~ ถ้ามีความเข้าใจธรรมแล้ว ก็รู้ว่าคำของใครผิด นี่เป็นประโยชน์เมื่อมีการสนทนาธรรม เพื่ออนุเคราะห์ผู้ที่เห็นประโยชน์ของความเป็นผู้ตรงต่อความจริง ได้มีความเห็นที่ถูกต้อง

~ ผู้ที่เคารพพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจริงๆ เป็นผู้ที่เคารพ ว่า พระธรรมคำสอนของพระองค์ลึกซึ้ง จึงต้องเป็นผู้ที่ละเอียดรอบคอบ เพื่อที่จะเข้าใจจริงๆ ไม่ทำให้คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหมดสิ้นไป เพราะคิดเองหรือเข้าใจผิด

~ เริ่มเป็นคนตรงที่จะรู้ว่า การเคารพนับถือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคืออย่างไร ไม่ใช่การกราบไหว้บูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียนแต่ไม่รู้ธรรม ไม่เข้าใจคำของพระองค์เลย พระองค์ไม่ได้ทรงแสดงธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้เพื่อดอกไม้ธูปเทียนหรือการบูชาสิ่งอื่นใด นอกจากให้คนนั้น ได้เกิดความเข้าใจ ซึ่งในสังสารวัฏฏ์ ถ้าไม่ได้ฟังคำของพระองค์ ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงได้

~ ถ้าจะพิจารณาในเรื่องของการขัดเกลากิเลสของตน พระธรรมทั้งหมดจะเกื้อกูลให้ท่านค่อยๆ น้อมนำมาประพฤติปฏิบัติ ทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ เป็นการทำให้กิเลสเบาบาง และสามารถที่จะอบรมเจริญกุศลให้ยิ่งขึ้น

~ น่ากลัวไหมอกุศล? เริ่มมาจากทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งดูไม่น่าเป็นโทษเป็นภัยเลย เพียงความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย) ซึ่งทุกคนก็มีเหมือนๆ กัน แต่ว่าใครมีมากจนกระทั่งสามารถที่จะมีวาจาที่ผิดหรือมีกายกรรมที่ผิด มีความประพฤติที่ผิด นั่นก็เป็นสิ่งซึ่งแสดงให้เห็นว่า วันหนึ่งวันใด ถ้ากิเลสเหล่านั้น ยังไม่ดับ แต่ละบุคคลก็อาจจะทำกายกรรมและวจีกรรมที่ผิดได้

~ จะเป็นประโยชน์มากที่จะรู้จักตัวเองซึ่งสามารถจะเริ่มเข้าใจ จากการฟังพระธรรมซึ่งเป็นการสะสมใหม่ เพราะเหตุว่า การสะสมเดิม คือ อวิชชา (ความไม่รู้) และโลภะ (ความติดข้อง) แต่ว่าเมื่อมีโอกาสได้ฟังพระธรรม จะเป็นการสะสมใหม่ คือ สะสมปัญญาซึ่งตรงกันข้ามกับอวิชชา แล้วก็สะสมอโลภะ (ความไม่ติดข้อง) อโทสะ (ความไม่โกรธ) ซึ่งตรงกันข้ามกับโลภะ และ โทสะ

~ ถึงใครจะมีอกุศลมากสักเท่าใด ก็ไม่ใช่เขา เป็นเพียงอกุศลธรรมเท่านั้นที่สะสมมามากจนกระทั่งออกมาทางกาย ทางวาจาอย่างนั้นๆ เพราะฉะนั้น เมื่อระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมมากเท่าใด ความเป็นเรา เขา ใคร ก็จะลดน้อยลง เพราะเหตุว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมเสมอกันหมด แล้วก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยต่างๆ กันด้วย เพราะฉะนั้น การที่จะคิดถึงบุคคลอื่น การที่จะแสดงกาย วาจาต่อบุคคลอื่น ก็ย่อมเป็นไปด้วยเมตตา ด้วยกุศล และขัดเกลาอกุศลให้เบาบางลงไป

~ มิตรหรือไมตรี คือ ความเป็นเพื่อน ไม่ใช่ศัตรู เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเราจะเห็นใครแล้วก็มีความรู้สึกว่าเขาเป็นเพื่อนของเรา ไม่ว่าจะเป็นชาวต่างประเทศ ต่างวัย ต่างความรู้ ต่างฐานะ แต่ก็มีความเสมอกัน เข้ากันได้เหมือนเพื่อนสนิท เพราะเหตุว่า ใครก็ตามที่จะเป็นเพื่อนกันแล้ว หมายความว่า คนนั้นต้องไม่มีความรู้สึกว่าเป็นเขาหรือเป็นเราหรือว่ามีความต่างกัน เพราะฉะนั้น จิตใจในขณะที่กำลังมีเพื่อน พร้อมที่จะเกื้อกูลช่วยเหลือผู้หนึ่งผู้ใด ขณะนั้น คือ เมตตา

~ เมตตา คือ การคิดถึงบุคคลอื่นด้วยความเป็นมิตร แล้วพร้อมที่จะทำประโยชน์ให้คนนั้น เพราะฉะนั้น ทานก็มีเมตตาเป็นพื้นฐาน บารมีทั้ง ๑๐ นี้ เกื้อกูลกันทั้งหมด ไม่ได้แยกจากกัน เพราะแม้แต่ทาน ต้องอาศัยขันติ ความอดทนด้วย ต้องอาศัยวิริยะ ความเพียรด้วย ถ้าขาดวิริยะ ทานก็สำเร็จไปไม่ได้ หรือบางครั้ง ขาดความอดทน ทานก็เกิดขึ้นไม่ได้เหมือนกัน

~ อบรมเจริญเมตตา คือ เป็นผู้ที่มีเมตตาในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น จากคนที่เคยชัง ความชังนั้นจะต้องลดน้อยลง มีความเมตตาเพิ่มขึ้น ถ้ามีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ทำให้ขุ่นเคืองใจ ก็จะต้องระลึกได้ ว่า ขณะใดที่ความโกรธเกิด ขณะนั้นก็ไม่มีเมตตา ปราศจากเมตตา ถ้าสติเกิดระลึกได้บ่อยๆ เนืองๆ เป็นผู้มีปกติมีเมตตา ในขณะนั้นเมตตาต่อคนรอบข้างยิ่งมากขึ้น ขยายกว้างไกลออกไป


~ ไม่ว่ายุคไหน สมัยไหน กาลไหนก็ตาม โลกจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เปลี่ยน สิ่งใดที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้ว ซึ่งเป็นพระวินัย ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุในสมัยใด ต้องประพฤติปฏิบัติตาม เพราะว่า จุดประสงค์ของความเป็นพระภิกษุทุกสมัย เพื่อสงบจากอกุศลด้วยการขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต ซึ่งจะต้องศึกษาพระธรรมวินัยและประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยด้วย

~ คฤหัสถ์ก็มีกิจหน้าที่ที่จะเข้าใจพระธรรมวินัย เพื่อเกื้อกูลต่อพุทธบริษัท เพราะฉะนั้น สมควรอย่างยิ่ง ขั้นต้น คือ รู้ความต่างกันของพระภิกษุกับคฤหัสถ์ พระภิกษุไม่มีกิจการใดๆ ทั้งสิ้นที่เกี่ยวกับเงินทองทุกประเภท จึงสมควรแก่เพศบรรพชิต ควรกล่าวอย่างนี้หรือไม่? ควรพูดตามพระธรรมวินัยหรือไม่? พูดแล้วเป็นประโยชน์หรือไม่? ไม่ได้ทำลายประโยชน์ของใครเลย มีแต่เกื้อกูลให้เข้าใจถูกต้อง สิ่งที่ผิด ก็แก้ไข

~ ไม่ละโอกาสที่จะทำกุศลทันที เพราะรู้ว่า ถ้าพลาดโอกาสนั้น อกุศลก็เกิดอีก เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่สามารถจะทำกุศลได้เร็วเท่าใด ก็ยิ่งดีเท่านั้น เพราะว่า ชีวิตแต่ละภพแต่ละชาติก็สั้นมาก ไม่ทราบว่าชาติหน้าจะมาถึงเร็วหรือช้าเมื่อไหร่ เกิดที่ไหน เป็นบุคคลใด มีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรม มีโอกาสที่จะได้เจริญกุศลอีกหรือไม่

~ ประโยชน์สูงสุด คือ ได้เกิดมาเป็นบุคคลนี้แล้วได้เข้าใจธรรมและได้ทำดี เพราะเหตุว่า ประมาทไม่ได้เลย ขณะไหน ไม่ดี ขณะนั้นเป็นอกุศล

~ สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่คุ้นเคย ก็ทำให้คิดถึงสิ่งนั้น เพราะฉะนั้น การที่จะเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้นหนทางเดียว คือ ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บ่อยๆ

~ วาจาที่เป็นโทษทำให้คนอื่นเดือดร้อนหรือเสียใจ ขณะนั้นก็เป็นเพราะโทสะ เคยคิดไหมที่จะสงบจากอกุศลประเภทนั้น

~ ไม่ควรประมาทแม้กุศลเพียงเล็กน้อยในชีวิตประจำวัน เพียงขณะหนึ่งที่ทำความดีขณะนั้นก็สะสมที่จะเป็นคนดีในลักษณะนั้นๆ ต่อไป

~ พระพุทธพจน์ทั้งหมดทุกคำ เป็นเรื่องของปัญญาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้สะสมมาทรงแสดงให้ผู้อื่นฟัง เพื่อผู้ฟังจะได้เกิดปัญญาด้วย อนุเคราะห์ให้เกิดปัญญาให้มีความเห็นที่ถูก เพราะว่า จะอนุเคราะห์ด้วยทรัพย์สินเงินทองเครื่องอุปโภคบริโภคสักเท่าไหร่ ไม่มีวันจบ เพราะเห็นว่า ยังมีเหตุที่จะให้เกิดทุกข์นานาประการ แต่ถ้าให้เข้าใจธรรม ก็ยังสามารถที่จะถึงความสิ้นทุกข์ได้

~ ถ้าไม่สามารถอภัยคนที่ไม่ชอบ กุศลอื่นๆ ที่จะเจริญขึ้นได้จากคนที่ไม่ชอบนั้น ย่อมเกิดไม่ได้ แม้วัตถุทานที่จะให้บุคคลนั้น ก็ให้ไม่ได้ เพราะไม่ให้อภัย หรือแม้แต่ธรรมทานซึ่งจะสนทนาธรรมเกื้อกูลแนะนำให้เข้าใจสิ่งที่เป็นประโยชน์และสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ก็ทำไม่ได้เช่นกัน



ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๕๖๓



...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
tim7755tim
วันที่ 12 มิ.ย. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น

กราบอนุโมทนากุศลค่ะท่านอาจารย์และกัลยาณมิตรทุกท่าน

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Sea
วันที่ 12 มิ.ย. 2565

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง กราบอนุโมทนาในความดีทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
petsin.90
วันที่ 12 มิ.ย. 2565

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
สิริพรรณ
วันที่ 12 มิ.ย. 2565

ทุกคำที่ท่านอาจารย์กล่าวเป็นประโยชน์เตือนใจอย่างยิ่ง อีกทั้งเป็นคำที่ทำให้ได้ระลึกถึงพระคุณที่ยิ่งใหญ่ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

กราบแทบเท้าขอบพระคุณ ยินดีในกุศลกับท่านอาจารย์ด้วยความเคารพเสมอๆ ค่ะ

และขออนุโมทนาในคุณความดีกับอาจารย์คำปั่นด้วยนะคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 12 มิ.ย. 2565

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เมตตา
วันที่ 12 มิ.ย. 2565

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่ง และกราบยินดีในความดีทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เข้าใจ
วันที่ 13 มิ.ย. 2565

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
jaturong
วันที่ 13 มิ.ย. 2565

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
มังกรทอง
วันที่ 13 มิ.ย. 2565

ขอน้อมกราบอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ ขอรับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ปาริชาตะ
วันที่ 14 มิ.ย. 2565

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
Lai
วันที่ 14 มิ.ย. 2565

กราบอนุโมทนาค่ะและยินดีในกุศลของทุกๆ ท่าน

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ