ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๕๖๖

 
khampan.a
วันที่  26 มิ.ย. 2565
หมายเลข  43284
อ่าน  1,129

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๕๖๖



~ ตลอดพระชนม์ชีพ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงให้ประโยชน์กับคนอื่น จากแต่ละคำ แม้ว่าเขาจะอยู่แสนไกล หรือใกล้ที่จะปรินิพพาน ก็ไม่ทรงละเว้นโอกาสที่จะให้คนอื่นได้รับสิ่งที่จะเป็นประโยชน์แก่เขาต่อไปในสังสารวัฏฏ์

~ ธรรมไม่ใช่ไปคอยเมื่อไหร่ แต่ฟังเดี๋ยวนี้ เข้าใจเดี๋ยวนี้ ความเข้าใจนั้น กำลังเริ่มที่จะขัดเกลาความไม่รู้และความเป็นตัวตน แต่น้อยมาก เมื่อเทียบกับความไม่รู้ในสังสารวัฏฏ์

~ ๔๕ พรรษาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรม เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลให้ได้เข้าใจสิ่งที่มีจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่รู้ยากเป็นอย่างยิ่ง


~ อกุศลทั้งหลายจะละหมดได้ ก็ต่อเมื่อปัญญารู้อกุศลนั้นตามความเป็นจริง ถ้าเห็นว่าอกุศลเป็นอกุศล ขณะนั้นเป็นปัญญา ซึ่งย่อมจะเห็นว่า น่ารังเกียจ เป็นโทษ และปัญญาขั้นต่อไป ก็คิดที่จะละคลายอกุศลที่น่ารังเกียจนั้นให้เบาบาง

~ มีวัตถุสิ่งของที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น เพียงโกรธคนนั้น การให้ก็เกิดขึ้นไม่ได้ แสดงให้เห็นว่า โทสะ กั้นกุศลแล้วในขณะนั้น ทั้งๆ ที่มีความประสงค์จะฟังพระธรรม แต่ก็ง่วง ทำให้ฟังต่อไปไม่ได้ ความง่วง ก็กั้นกุศลแล้วในขณะนั้น

~ การสะสมแต่ละขณะนั้น มีผล ถ้าเริ่มขณะที่จะเจริญทางฝ่ายกุศล แม้เล็กน้อย แม้นิดหน่อย ในภายหลังจะไม่เป็นผู้ที่เกียจคร้านเลย ในการที่จะเป็นผู้ที่เจริญกุศล

~ ไม่ควรที่จะประมาทอกุศลธรรมเลย ใครที่เป็นคนดี จะดีไปได้นานเท่าไร ก็เฉพาะตราบที่อกุศลยังไม่มีปัจจัยเกิดขึ้น แต่อกุศลทั้งหลายที่จะดับไปได้ด้วยการเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงตามปกติด้วย ที่ว่าปัญญาคมกล้านี้ ไม่ใช่รู้อื่น แต่เป็นปัญญาคมกล้าที่น้อมมารู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามปกติตามความเป็นจริง

~ ถ้ามีเมตตา ก็น่าสงสารคนที่ทำอกุศลกรรม เพราะว่าเขาย่อมได้รับผลของอกุศลกรรมนั้น ซึ่งท่านก็จะไม่เดือดร้อนใจ ไม่ใช้วาจาที่ไม่สมควร หรือวาจาที่รุนแรงกับบุคคลนั้น เพราะว่า ขณะนั้นมีเมตตา รู้ว่าบุคคลนั้นย่อมได้รับผลของอกุศลกรรม เพราะฉะนั้น ก็อาจจะเกิดกุศลจิตที่เป็นเมตตาต่อบุคคลนั้นก็ได้ หรือว่าอุเบกขาต่อบุคคลนั้นก็ได้

~ เมตตาคือสภาพที่ไม่โกรธ สภาพที่เป็นมิตร สภาพที่หวังดี ไม่มีศัตรู ใครจะเป็นศัตรูกับเราก็ตาม แต่จิตของเราไม่เป็นศัตรูกับบุคคลนั้น นั่นคือ สภาพของจิตที่มีเมตตา

~ คิดด้วยความเมตตาว่าบุคคลใดก็ตามที่ได้ทำอกุศลกรรมไว้แล้ว เมื่อถึงกาลที่อกุศลกรรมให้ผล ใครก็ช่วยไม่ได้ มารดาบิดาก็ช่วยไม่ได้ ญาติพี่น้องมิตรสหายก็ช่วยไม่ได้ ก็จะทำให้เรามีแต่การที่จะคิดเป็นมิตรและก็ช่วยเหลือคนอื่น

~ ในชีวิตประจำวัน ถ้าเป็นผู้มีเมตตาแล้ว ก็จะทำให้กุศลจิตอีกหลายประการเกิดได้ แต่ข้อสำคัญต้องเป็นผู้ตรงจริงๆ เมตตาจึงเป็นธรรมเครื่องอยู่ของผู้ประเสริฐ ถึงแม้ว่าจะมีใครกล่าวร้าย ว่าร้าย หรือว่ามีกิริยาอาการที่ไม่เหมาะสมประการใดก็ตาม บุคคลผู้นั้นก็ไม่หวั่นไหว

~ ในชีวิตประจำวัน อย่าเห็นอกุศลเป็นกุศล อย่าเข้าใจว่า อกุศลธรรมนั้นดีที่จะต้องใช้คำที่รุนแรงกับผู้ที่ประกอบอกุศลกรรม ไม่มีความจำเป็นเลยที่จิตจะหวั่นไหวไปอย่างนั้น เพราะว่า จิตที่หวั่นไหวไปนั้น เป็นอกุศลแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าอบรมเจริญปัญญา สามารถที่จะรู้ลักษณะของความคงที่ของจิตที่ไม่หวั่นไหวไปด้วยความรักและความชัง ก็ย่อมจะเจริญกุศลที่เป็นอุเบกขาบารมีได้มากขึ้น

~ จะไปสนใจความไม่ดีของคนอื่นทำไม ประโยชน์อยู่ตรงไหน เสียเวลาหรือเปล่า?

~ ไม่ประมาทที่จะสะสมกุศลแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ เพราะใครจะรู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น กุศลแม้เพียงเล็กน้อยก็ไม่ควรประมาทเลย ตราบใดที่เกิดเป็นผู้ที่สามารถที่จะกระทำกุศลได้

~ ธรรมที่จะเป็นที่พึ่งได้จริงๆ นั้นต้องเป็นกุศล แต่ว่ายากที่จะเกิด เพราะเหตุว่าเมื่อสะสมอกุศลมามาก ก็ย่อมมีปัจจัยให้อกุศลธรรมเกิดมากกว่ากุศลธรรม เพราะฉะนั้น ผู้ที่เห็นว่าธรรมใดเป็นที่พึ่งอย่างแท้จริง ก็จะเข้าใจในคุณของธรรมนั้น กล่าวคือ คุณของกุศลธรรม ก็ย่อมจะเป็นปัจจัยให้ได้เจริญกุศลในชีวิตประจำวัน

~ อกุศลทั้งหลาย เกิดเพราะความไม่รู้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอกุศลประเภทใด ไม่มีอกุศลแม้ประเภทเดียวซึ่งไม่ได้เกิดเพราะความไม่รู้ แต่เพราะไม่รู้จึงเป็นเหตุให้อกุศลทั้งหลายเกิด เพราะฉะนั้น อกุศลทั้งหลาย ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงได้

~ ธรรมที่เป็นฝ่ายกุศลที่สะสมมายังไม่มากพอที่จะเท่ากับทางฝ่ายอกุศล ถ้าเห็นอย่างนี้จริงๆ ก็ยิ่งต้องเพิ่มความเพียรทางฝ่ายกุศลขึ้น ความเพียรขั้นต้นของการเจริญกุศล ก็คือ ต้องเพียรฟังพระธรรมให้เข้าใจเพิ่มขึ้น ไม่ใช่วันนี้วันเดียว แต่ว่าวันอื่นๆ ต่อไปด้วย

~ ถ้าเราทำความดี กลัวอะไร คนอื่นจะติเตียน ก็เรื่องของเขา คนอื่นไม่ชอบ ก็เรื่องของเขา คนอื่นจะคิดอย่างไร ก็เรื่องของเขา แต่สิ่งที่เราทำเป็นประโยชน์หรือเปล่า ถ้าเป็นประโยชน์ ควรทำไหม? ถ้าเป็นสิ่งที่ดี เป็นประโยชน์ ก็ควรทำ

~ คำพูดที่ว่า "ภิกษุใดไม่ประพฤติตามพระธรรมวินัย ภิกษุนั้นตกนรก" หวังดีหรือไม่? เป็นกัลยาณมิตร คือ มิตรที่ดีไหม ที่หวังให้ทุกคนพ้นโทษจากการที่จะตกนรก? ผู้ที่กล่าวตามพระธรรมวินัย หวังดีต่อคนอื่นที่จะให้ได้เข้าใจอย่างถูกต้องหรือเปล่า?



ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๕๖๕



...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
swanjariya
วันที่ 26 มิ.ย. 2565

กราบเท้าท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Sea
วันที่ 26 มิ.ย. 2565

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง กราบอนุโมทนาในกุศลจิตทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 26 มิ.ย. 2565

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
petsin.90
วันที่ 26 มิ.ย. 2565

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เจียมจิต สุขอินทร์
วันที่ 27 มิ.ย. 2565

อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
jaturong
วันที่ 27 มิ.ย. 2565

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เมตตา
วันที่ 27 มิ.ย. 2565

กราบเท้าท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างสูง และกราบยินดีในความดีของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
เมตตา
วันที่ 27 มิ.ย. 2565

ขอบพระคุณ และยินดีในความดีของ อ.คำปั่น ด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Lai
วันที่ 28 มิ.ย. 2565

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ