ความขี้เกียจ คืออะไรหนอ

 
teezaboo
วันที่  8 มิ.ย. 2565
หมายเลข  43211
อ่าน  926

ความขี้เกียจคืออะไรหนอ ความเกียจคร้านในการศึกษาเล่าเรียน ความเกียจคร้านในปฏิบัติธรรม ความเกียจคร้านในการทำงาน เป็นต้น เกิดจากอะไร อะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัย จากเบื้องลึก สู่เบื้องปลาย

เหตุจากข้าพเจ้าเป็นคนที่มีความขี้เกียจเกิดขึ้นกับตัวเองบ่อยมาก ไม่ว่าจะการเรียน การงาน และทางธรรม อยากเข้าใจเพื่อความจางคลายซึ่งความขี้เกียจนี้

เพื่อความเจริญยิ่งในทางโลก และทางธรรม ที่มากขึ้นเถิด

ขอความกรุณาท่านทั้งหลาย


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 9 มิ.ย. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ไม่ว่าจะกล่าวถึงอะไร ก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสิ่งที่มีจริงที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ถ้าสะสมสิ่งใดมา ก็ย่อมมีเหตุมีปัจจัยให้สิ่งนั้น เกิดขึ้น เป็นไปได้มาก แม้แต่ที่กล่าวถึง ความเกียจคร้าน ก็เป็นความย่อหย่อน ไม่ขวนขวายในการทำสิ่งต่างๆ นี้ก็เรียกว่า เกียจคร้าน ชัดเจนที่สุด คือ ไม่ขวนขวายในการเจริญกุศล ไม่ขวนขวายในการอบรมเจริญปัญญาจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม นั่น เป็นความเสื่อม เป็นอกุศล เป็นเหตุให้อกุศลเกิดพอกพูนมากยิ่งขึ้น สำหรับในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเกียจคร้านในอะไร ก็ยากที่จะพ้นไปจากอกุศล มีเพียงอย่างเดียวที่จะไม่เป็นอกุศล คือ เกียจคร้าน ไม่ขวนขวาย ในสิ่งที่ที่ไม่ดีประการต่างๆ เกียจคร้านที่จะไม่คล้อยตามในสิ่งที่ผิด ตามข้อความใน พระสุตตันตปิฎก เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - - หน้าที่ ๑๙๓

[๒๐๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้เกียจคร้านในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ดี ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรมท่านกล่าวไว้ดีแล้ว.

[๒๐๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่เกียจคร้านในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ชั่ว ย่อมอยู่เป็นสุข ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรม ท่านกล่าวไว้ชั่ว.


สิ่งที่น่าพิจารณา คือ แม้ปฏิบัติธรรม ก็ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ว่า ความจริงเป็นอย่างไรถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็ไม่ใช่การปฏิบัติธรรม แต่เป็นการปฏิบัติผิด ไม่เป็นไปเพื่อความเข้าใจขึ้นของปัญญา ในขณะที่ปฏิบัติผิดนั้น ก็เพิ่มพูนโลภะความติดข้องต้องการ และความเห็นผิด ให้เพิ่มขึ้น แท้ที่จริงแล้ว การปฏิบัติธรรม เป็นการอบรมเจริญปัญญา เพื่อรู้สภาพธรรมที่ปรากฏ คือ รู้นามธรรม และรูปธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งเริ่มต้นด้วยการศึกษาให้เข้าใจในสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมโดยประเภทต่างๆ ว่าเป็นธรรมแต่ละอย่างๆ ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เมื่อมีความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้สติและปัญญา เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่สติและปัญญาเกิดขึ้นระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นการถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ตามความเป็นจริง โดยที่ไม่เลือกสถานที่ กาลเวลา และไม่มีการเจาะจงที่จะรู้สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด ทังหมดล้วนเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

สิ่งที่ควรรู้ คือ สิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

สิ่งที่ขาดไม่ได้เลย คือ การฟังพระธรรม กาลสมัยนี้ ยังเป็นยุคที่พระธรรมยังดำรงอยู่ บุคคลผู้ที่เป็นกัลยาณมิตร เผยแพร่พระธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็ยังมีอยู่ จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ที่สะสมบุญมาแต่ปางก่อน เห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจความจริง จะได้สะสมปัญญาจากการได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมในแต่ละครั้ง สะสมเป็นอุปนิสัยที่ดีต่อไป จนกว่าจะถึงความสมบูรณ์พร้อมของปัญญาได้ในที่สุด เพราะการที่ปัญญาจะมีมากได้ จะเป็นเหตุให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้นั้น ก็จะต้องเริ่มจากการฟังพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ไปทีละเล็กทีละน้อย ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
teezaboo
วันที่ 9 มิ.ย. 2565

ขอขอบคุณ และอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 9 มิ.ย. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Junya
วันที่ 10 มิ.ย. 2565

กราบสาธุค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
talaykwang
วันที่ 6 ธ.ค. 2565

ยินดีในกุศลค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ