แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นผู้ทรงรู้โลก [วิสุทธิมรรค]

 
wittawat
วันที่  1 มิ.ย. 2565
หมายเลข  43183
อ่าน  339

โส ภควา อิติปิ โลกวิทู แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นผู้ทรงรู้โลก

วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ หน้า ๒๔๖

ฉอนุสสตินิเทศ

...อนุสสติอันปรารภพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น ชื่อพุทธานุสติ คำว่าพุทธานุสตินั่น เป็นคำเรียกสติอันมีพระพุทธคุณเป็นอารมณ์

...ในอนุสติ ๑๐ มีประการดังกล่าวมานี้ พระโยคาวจรผู้กอปรด้วยความเลื่อมใสมั่น ใคร่จะเจริญพุทธานุสสติ... พึงเป็นผู้ไปในที่ลับ เร้นอยู่ในเสนาสนะอันสมควรแล้ว ระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้ว่า อิติปิโส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน สุคโต โลกวิทู อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ พุทฺโธ ภควา นี้เป็นนัยในการระลึกในพระพุทธคุณเหล่านี้ คือ ระลึกโดยประกอบ อิติปิ ไว้ทุกบท ได้แก่ โส ภควา อิติปิ อรหํ (แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระอรหันต์) ....โส ภควา อิติปิ ภควา (แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระภควา) ....มีอธิบายว่า ...”เพราะเหตุนี้ๆ ”

วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ หน้า ๒๖๔

[แก้อรรถบท โลกวิทู]

(โลกยาววา)

ส่วนที่ทรงพระนามว่า โลกวิทู ก็เพราะทรงรู้โลก แม้โดยประการทั้งปวง แท้จริงพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นได้ทรงรู้ คือ เข้าพระหฤทัยปรุโปร่ง ซึ่งโลก โดยประการทั้งปวง คือ โดยสภาวะ โดยสมุทัย โดยนิโรธ โดยนิโรธุบาย (วิธีเข้าถึงนิโรธ) ดังที่ตรัส (แก่โรหิตัสสเทพบุตร) ว่า “ดูกรอาวุโส ในที่สุดโลกใดแล สัตว์ไม่เกิดไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุปบัติ เราไม่กล่าวที่สุดโลกนั้นว่า เป็นที่จะพึงรู้พึงเห็น พึงถึงด้วยการ (เดินทาง) ไป แต่เราก็ไม่กล่าวว่า ยังไม่ถึงที่สุดโลกแล้วจะทำที่สุดทุกข์ได้ แต่เออ เราบัญญัติโลกและโลกสมุทัย โลกนิโรธ โลกนโรธคามินีปฏิปทา (ลงใน) กเลวระ อันยาประมาณหนึ่งวา มีสัญญา มีใจ (ครอง) นี้ดอก” (สูตรนี้มีนิคมคาถา ความว่า)

ที่สุดโลก บุคคลไม่พึง (ไป) ถึงได้ด้วยการ (เดินทาง) ไป แต่ไรมา แต่ว่ายังไม่ถึงที่สุดโลกแล้ว แลพ้นทุกข์ได้หามีไม่ เพราะเหตุนั้นแล ท่านผู้มีปัญญาดี ผู้ถึงที่สุดโลก อยู่จบพรหมจรรย์ สงบแล้ว รู้ที่สุดโลกแล้ว จึงไม่ปรารถนาทั้งโลกนี้ และโลกอื่น

[โลก ๓]

อีกนัยหนึ่ง โลก ๓ คือ สังขารโลก สัตวโลก โอกาสโลก ในโลก ๓ นั้น สังขารโลก พึงทราบในอาคตสถาน (บาลี) ว่า “โลก๑ คือสัตว์ทั้งปวงตั้งอยู่ได้ด้วยอาหาร” สัตวโลก พึงทราบในอาคตสถาน (บาลี) ว่า “ (เห็น) ว่าโลกเที่ยงบ้าง ว่าโลกไม่เที่ยงบ้าง” โอกาสโลก พึงเห็นในอาคตสถาน (บาลีพรหมนิมันตนิกสูตร) ว่า

ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ลอยไปรอบ (จักรวาฬ ทำให้) ทิศทั้งหลายสว่างไสว โดยที่มีประมาณเท่าใด โลกในที่มีประมาณเท่านั้น มีอยู่ ๑๐๐๐ ส่วน อำนาจของท่านปกแผ่ไปในโลกเหล่านั้น

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงรู้โลกทั้ง ๓ นั้น โดยประการทั้งปวง จริงอย่างนั้น แม้สังขารโลก คือ โลก ๑ คือ สัตว์ทั้งปวงตั้งอยู่ได้ด้วยอาหาร โลก ๒ คือ นาม ๑ รูป ๑ โลก ๓ คือ เวทนา ๓ โลก ๔ คือ อาหาร ๔ โลก ๕ คือ อุปาทานขันธ์ ๕ โลก ๖ คือ อายตนะภายใน ๖ โลก ๗ คือ วิญญาณฐิติ ๗ โลก ๘ คือ โลกธรรม ๘ โลก ๙ คือ สัตตาวาส ๙ โลก ๑๐ คือ อายตนะ ๑๐ โลก ๑๒ คือ อายตนะ ๑๒ โลก ๑๘ คือ ธาตุ ๑๘ นี้ พระองค์ก็ทรงรู้โดยประการทั้งปวง อนึ่ง เพราะเหตุที่พระองค์ทรงรู้อาสยะ (ที่มานอนแห่งจิต) ทรงรู้อนุสยะ (กิเลสที่นอน คือตกตะกอน อยู่ในสันดาน) ทรงรู้จริต (ปรกติของจิต) ทรงรู้อธิมุติ (ความโน้มเอียงแห่งจิต) ของสัตว์ทั้งปวงหมด ทรงรู้สัตว์ทั้งหลายที่มีกิเลสดุจธุลีในดวงตาน้อย มีกิเลสดุจธุลีในดวงตามาก ที่มีอินทรีย์กล้า ที่มีอินทรีย์อ่อน ที่มีอาการดี มีอาการทราม ที่จะพึง (สอน) ให้รู้ง่าย ที่จะพึง (สอน) ให้รู้ยาก ที่เป็นภัพพสัตว์ เป็นอภัพพสัตว์ เพราะเหตุนั้น แม้สัตวโลก พระองค์ก็ทรงรู้โดยประการทั้งปวง อนึ่ง สัตวโลกพระองค์ทรงรู้ฉันใด แม้โอกาสโลกก็ทรงรู้ฉันนั้น จริงอย่างนั้น...

...<<ต่อจากนั้น เป็นการกล่าวเรื่องขนาดของจักรวาฬ-ความหนาแผ่นดิน-ความหนาน้ำรองดิน-ความหนาลมรองน้ำ ฯลฯ ขนาดภพและทวีป>>...

พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ได้ทรงรู้ คือเข้าพระหฤทัยปรุโปร่ง ซึ่งอนันตจักรวาฬ อนันตโลกธาตุ มีประการดังกล่าวมาฉะนี้ ด้วยพระอนันตพุทธญาณ แม้โอกาสโลก พระองค์ก็ทรงรู้โดยประการทั้งปวง โดยนัยดังกล่าวมา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าโลกวิทู เพราะทรงรู้โลกโดยประการทั้งปวง ดังนี้เป็นประการ ๑

[สรุปความ]

ในคัมภีร์ได้แสดงการอบรมเจริญความสงบ โดยมีการระลึกถึงคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นอารมณ์ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ การระลึกว่า “แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นผู้ทรงรู้โลก” ซึ่งได้แสดงเหตุของความเป็นผู้ทรงรู้โลก ตามนัย ดังนี้

[นัยแรก]

พระองค์ เป็นผู้รู้แจ้งโลก หมายถึง รูปธรรมและนามธรรม ที่แตกดับได้ โดยประการทั้งปวง

- โลกโดยสภาวะ ได้แก่ ทุกขอริยสัจ หรือ อุปาทานขันธ์ ๕

- เหตุให้เกิดโลก ได้แก่ ตัณหา ตามนัยพระสูตร หรือ ได้แก่ กิเลสทั้งหลาย และกรรมที่ทำให้เกิด ตามนัยพระอภิธรรม

- การดับไปของโลก ได้แก่ พระนิพพาน

- อุบายที่ให้ถึงการดับไป ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘

[นัยต่อมา]

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้โลก ทั้ง ๓ โดยประการทั้งปวง

ความหมายของโลก

- โดยนัยของ ขุ. อิ. เล่ม ๑ ภาค ๔ อรรถกถา โลกสูตรที่ ๑๓

ชื่อว่า โลก เพราะอรรถว่า ย่อยยับไป สลายไป ได้แก่ อริยสัจ ๒ ข้อต้น ซึ่งหมายถึง ทุกขอริยสัจ และ ทุกขสมุทยสัจ ซึ่งก็ได้แก่ รูป ๒๘ จิต ๘๑ (เว้นโลกุตตรจิต) เจตสิก ๕๒ นั่นเอง ซึ่งก็สามารถจำแนกออกโดยสรุปว่า เป็น สัตวโลก สังขารโลก และโอกาสโลก

- โดยนัยของ ขุ. อิ. เล่ม ๑ ภาค ๔ อรรถกถา โลกสูตรที่ ๕

ชื่อว่า โลก เพราะอรรถว่า แตกไป สลายไป ได้แก่ โลกทั้ง ๓ โดยประการทั้งปวง ดังนี้

1. สัตวโลก หมายถึง หมู่สัตว์ทั้งหลายที่เนื่องด้วยอินทรีย์ ที่เป็นไปด้วยสามารถแห่งการสืบต่อแห่งรูปธรรม (อสัญญีสัตว์) แห่งอรูปธรรม (อรูปพรหม) และทั้งรูปธรรมและอรูปธรรม (สัตว์ที่เกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นรูปพรหม เป็นต้น) ทรงรู้สัตวโลก โดยประการทั้งปวง ได้แก่

- อาสยะ (ที่มานอนแห่งจิต)

- อนุสยะ (กิเลสที่นอนอยู่ ในสันดาน)

- จริต (ปกติของจิต)

- อธิมุติ (ความโน้มเอียงของจิต) เป็นต้น

2. โอกาสโลก คือ โลกที่แยกประเภทออกเป็น พื้นดิน และภูเขา เป็นต้น ทรงรู้โอกาสโลก โดยประการทั้งปวง ได้แก่

- ขนาดจักรวาฬ

- ความหนาแผ่นดิน

- ความหนาน้ำรองดิน

- ความหนาลมรองน้ำ

- ขนาดภูเขาทั้งหลาย มีเขาสิเนรุ เขายุคันธร เป็นต้น

- ขนาดไม้ประจำทวีปทั้งหลาย เป็นต้น

3. สังขารโลก คือ ขันธ์ทั้งหลายใน โลกทั้ง ๒ (ได้แก่ ขันธ์ ๕ ในสัตวโลก และรูปขันธ์ในโอกาสโลก เป็นต้น)

ทรงรู้สังขารโลก โดยประการทั้งปวง ซึ่งสังขารโลก นั้นก็คือ อุปาทานขันธ์ ๕ นั่นเอง ทรงรู้โดยสภาวะลักษณะตามความเป็นจริง ได้แก่

- โลก ๑ คือ สัตว์ทั้งปวงตั้งอยู่ได้ด้วยอาหาร

- โลก ๒ คือ นาม ๑ รูป ๑...

- โลก ๑๘ คือ ธาตุ ๑๘ เป็นต้น

ทรงรู้โลก โดยประการทั้งปวง ด้วยอนันตพุทธญาณ โดยนัยที่กล่าวมา จึงทรงพระนามว่า โลกวิทู เพราะทรงรู้โลกโดยประการทั้งปวง


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ