แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นผู้ไม่มีผู้ใดยิ่งกว่า [วิสุทธิมรรค]

 
wittawat
วันที่  2 มิ.ย. 2565
หมายเลข  43189
อ่าน  302

โส ภควา อิติปิ อนุตฺตโร แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นผู้ไม่มีผู้ใดยิ่งกว่า

วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ หน้า ๒๔๖

ฉอนุสสตินิเทศ

...อนุสสติอันปรารภพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น ชื่อพุทธานุสติ คำว่าพุทธานุสตินั่น เป็นคำเรียกสติอันมีพระพุทธคุณเป็นอารมณ์

...ในอนุสติ ๑๐ มีประการดังกล่าวมานี้ พระโยคาวจรผู้กอปรด้วยความเลื่อมใสมั่น ใคร่จะเจริญพุทธานุสสติ... พึงเป็นผู้ไปในที่ลับ เร้นอยู่ในเสนาสนะอันสมควรแล้ว ระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้ว่า อิติปิโส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน สุคโต โลกวิทู อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ พุทฺโธ ภควา นี้เป็นนัยในการระลึกในพระพุทธคุณเหล่านี้ คือ ระลึกโดยประกอบ อิติปิ ไว้ทุกบท ได้แก่ โส ภควา อิติปิ อรหํ (แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระอรหันต์) ....โส ภควา อิติปิ ภควา (แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระภควา) ....มีอธิบายว่า ...”เพราะเหตุนี้ๆ ”

วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ หน้า ๒๗๐

[แก้อรรถบท อนุตฺตโร]

ก็แลบุคคลผู้ยิ่งกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นหามีไม่ เพราะไม่มีใครสักคนที่วิเศษกว่าพระองค์โดยคุณทั้งหลาย เหตุนั้นจึงทรงพระนามว่า อนุตฺตโร จริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงครอบงำเสียซึ่งโลกทั้งปวงด้วยสีลคุณก็ดี ด้วยสมาธิคุณ ปัญญาคุณ วุมุติคุณ วิมุติญาณทัสสนคุณก็ดี พระองค์เป็นผู้ไม่มีผู้เสมอ ทรงเสมอกับท่านที่ไม่มีผู้เสมอ ไม่มีผู้เปรียบ ไม่มีผู้คล้าย ไม่มีผู้ทัดเทียม ด้วยสีลคุณก็ดี ฯลฯ ด้วยวิมุติญาณทัสสนคุณก็ดี ดังที่ตรัสไว้ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แต่ว่าเราไม่เห็น (สมณะ หรือพราหมณ์อื่น) ผู้ถึงพร้อมด้วยศีลยิ่งกว่าตนเลย ในโลก (นี้) กับทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ฯลฯ ในประชาชนทั้งที่เป็นเทวดา และมนุษย์” ดังนี้ เป็นต้น ความพิสดาร บัณฑิตพึงกล่าว (ตามนัยพระสูตรนี้) สูตรทั้งหลายมีอัคคัปปสาทสูตร เป็นต้น และคาถาทั้งหลาย เช่น คาถาที่มีคำขึ้นต้นว่า “น เม อาจริโย อตฺถิ - อาจารย์ของเราไม่มี” บัณฑิตพึง (นำมากล่าว) ให้พิสดาร เทอญ

[สรุปความ]

ในคัมภีร์ได้แสดงการอบรมเจริญความสงบ โดยมีการระลึกถึงคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นอารมณ์ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ การระลึกว่า “แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นผู้ไม่มีผู้ใดยิ่งกว่า” ซึ่งได้แสดงเหตุของความเป็นผู้ไม่มีผู้ใดยิ่งกว่า ตามนัย ดังนี้

พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นผู้เลิศที่สุด ไม่มีผู้เปรียบเทียบได้ ด้วยคุณ (เลิศด้วยสมบัติ เลิศด้วยความดี) ดังนี้

1. สีลคุณ หมายถึง เลิศด้วยความดีคือศีล ได้แก่ สภาพธรรมที่เว้นจากทุจริตทางกาย ทางวาจา ทั้งทางกายทางวาจา

2. สมาธิคุณ หมายถึง เลิศด้วยความดีคือสมาธิ หมายถึง ความมีอารมณ์เดียวแห่งจิตที่เป็นกุศล ได้แก่ การอบรมความสงบ หรือสมถภาวนา จนกระทั่งแนบแน่น เป็นฌานจิตขั้นต่างๆ

3. ปัญญาคุณ หมายถึง เลิศด้วยความดีคือการเข้าใจความจริง ได้แก่ ความเข้าใจจากการฟัง การพิจารณา การอบรมเจริญสติปัฏฐาน การถึงวิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ เป็นต้น

4. วิมุตติคุณ หมายถึง ความดีคือการหลุดพ้นจากกิเลส ได้แก่ ความหลุดพ้นด้วยการข่มนิวรณ์ด้วยกำลังฌานก็ดี หลุดพ้นจากความสำคัญว่าเที่ยงด้วยวิปัสสนาญาณก็ดี หลุดพ้นจากกิเลสที่ตัดขาดแล้วด้วยมรรคจิต หลุดพ้นจากกิเลสที่สงบแล้วด้วยผลจิต หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงด้วยอรหัตผลจิต ซึ่งสูงสุดคือผลจิตของพระอรหันต์ที่เป็นโลกุตตระ

5. วิมุตติญาณทัสสนคุณ หมายถึง ความดีคือปัญญาที่รู้แจ้งว่าหลุดพ้นแล้ว ได้แก่ ปัจจเวกขณญาณ ของพระอริยบุคคล ซึ่งสูงสุด ก็คือ ปัจจเวกขณญาณของพระอรหันต์ที่เป็นโลกียะ (ใน ขุ. ป. เล่ม ๑ อรรถกถาปัจจเวกขณญาณนิเทศ แสดงว่า เป็นปัญญาที่พิจารณาธรรมต่างๆ ที่เข้ามาประชุมกันในขณะแห่งมรรค และในขณะแห่งผล ที่เกิดขึ้นหลังจากผลจิต ได้แก่ สติปัฏฐาน สัมมัปปธาน โพชฌงค์ เป็นต้น)


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ