แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย [วิสุทธิมรรค]

 
wittawat
วันที่  23 มิ.ย. 2565
หมายเลข  43267
อ่าน  331

โส ภควา อิติปิ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ หน้า ๒๔๖

ฉอนุสสตินิเทศ

...อนุสสติอันปรารภพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น ชื่อพุทธานุสติ คำว่าพุทธานุสตินั่น เป็นคำเรียกสติอันมีพระพุทธคุณเป็นอารมณ์

...ในอนุสติ ๑๐ มีประการดังกล่าวมานี้ พระโยคาวจรผู้กอปรด้วยความเลื่อมใสมั่น ใคร่จะเจริญพุทธานุสสติ... พึงเป็นผู้ไปในที่ลับ เร้นอยู่ในเสนาสนะอันสมควรแล้ว ระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้ว่า อิติปิโส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน สุคโต โลกวิทู อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ พุทฺโธ ภควา นี้เป็นนัยในการระลึกในพระพุทธคุณเหล่านี้ คือ ระลึกโดยประกอบ อิติปิ ไว้ทุกบท ได้แก่ โส ภควา อิติปิ อรหํ (แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระอรหันต์) ....โส ภควา อิติปิ ภควา (แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระภควา) ....มีอธิบายว่า ...”เพราะเหตุนี้ๆ ”

วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ หน้า ๒๗๓

[แก้อรรถบท สตฺถา เทวมนุสฺสานํ]

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า สตฺถา (ศาสดา) เพราะทรงพร่ำสอน (เวไนยสัตว์) ด้วยประโยชน์โลกนี้ ประโยชน์โลกหน้า และประโยชน์อย่างยิ่ง (คือ พระนิพพาน) ตามสมควร อีกนัยหนึ่ง พระนามว่า สตฺถา (นั้น) หมายความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นสัตถวาหะ (ผู้นำกองเกวียน) อรรถาธิบายในข้อนี้ บัณฑิตพึงทราบตามนัยแห่ง (บาลี) นิเทศก็ได้ว่า “สัตถวาหะ (นายกองเกวียน) ย่อมนำหมู่เกวียนให้ข้ามทุพภิกขกันดาร คือให้ข้ามโจรกันดาร ให้ข้ามวาฬกันดาร ให้ข้ามทุพภิกขกันดาร ให้ข้ามนิโรทกกันดาร จนออกนอกล่วงพ้น (แดนกันดาร) ไปถึงพื้นที่อันเป็นแดนเกษม (ปลอดภัย) ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นก็ฉันนั้นแล คือทรงเป็นสัตถา คือเป็นสัตถวาหะ ยังสัตว์ทั้งหลายให้ข้ามภพกันดาร ให้ข้ามชาติกันดาร...ดังนี้เป็นอาทิ

คำว่า เทวมนุสฺสานํ ความว่าของเทวดาทั้งหลายด้วย ของมนุษย์ทั้งหลายด้วย คำ (เทวมนุสฺสานํ) นี้ ตรัสโดยกำหนดเอาเวไนยสัตว์ชั้นอุกฤษฏ์ และโดยกำหนดเอาเวไนยสัตว์ที่เป็นภัพพบุคคล แต่ความจริง พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระศาสดาของสัตว์ดิรัจฉานทั้งหลายด้วยแท้ โดยโปรยปรายพระอนุสาสนีไปถึง ข้างสัตว์ดิรัจฉานเหล่านั้นเล่าได้อุปนิสัยสมบัติด้วยการฟังธรรมแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ด้วยอุปนิสัยสมบัตินั้นเอง จะมีผู้มีส่วนแห่งมรรคผลในอัตภาพที่ ๒ หรือที่ ๓ จริงอยู่ ผู้ได้อุปนิสัยสมบัติด้วยการฟังธรรมทั้งหลาย มีมัณฑูกเทพบุตร เป็นต้น เป็นทัศนะในข้อนี้...

...<<กล่าวถึงเรื่องมัณฑูกเทพบุตร ที่เคยเกิดเป็นกบที่เลื่อมใสในพระสุรเสียงเมื่อครั้งแสดงธรรมแก่ชาวเมืองจัมปาข้างสระโบกขรณีชื่อคัคครา จึงเข้ามาหมอบนิ่งฟังอยู่บนบก และถูกไม้พลองจากคนเลี้ยงโคที่เข้าไปยืนชิดกบ และมองไม่เห็นกบกระแทกหัวกบตายทันที ไปเกิดเป็นเทวดาชั้นดาวดึงส์ จึงระลึกถึงกรรมในอดีตที่ตนเลื่อมใสในพระสุรเสียง จึงเข้าไปถวายบังคมแทบพระยุคลบาทพระพุทธเจ้า และฟังธรรม และถึงความเป็นพระโสดาบัน>>…

[สรุปความ]

ในคัมภีร์ได้แสดงการอบรมเจริญความสงบ โดยมีการระลึกถึงคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นอารมณ์ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ การระลึกว่า “แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย” ซึ่งได้แสดงเหตุของความเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ตามนัย ดังนี้

ศาสดา หมายถึง ผู้นำ แสดงความหมายไว้ ๓ นัย (ตามนัยที่แสดงโดย ขุ จู ข้อ ๖๕๖)

๑. ผู้นำพวก (ดุจนายกองเกวียน)

ผู้นำพวกย่อมพาพวกให้ข้ามพ้น กันดาร (หมายถึง อัตคัต ฝืดเคือง มีความน่าระแวง มีภัยเฉพาะหน้า เป็นต้น) ได้แก่ โจร สัตว์ร้าย ที่ขาดอาหาร ที่ขาดน้ำ เป็นต้น ไปสู่ที่ปลอดภัย ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้นำสัตว์ทั้งหลายให้ข้าม

- กันดาร คือ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสะ (ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความทุกข์ ทรมานต่างๆ เป็นภัยเฉพาะหน้าแน่นอน ซึ่งมีได้เพราะความเกิด)

- กันดารและที่รกชัฏ (สภาพที่เกี่ยวกันพันกัน เหมือนข่ายของกิ่งของพุ่มไผ่ เป็นต้น) คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส ทุจริต

ไปสู่พระนิพพาน ซึ่งเป็นสถานที่ปลอดภัย (สภาพธรรมดับกิเลส รวมไปถึงดับขันธ์ทั้งหมด)

ความเห็นผิดนั้นเป็นกันดาร เพราะว่า น่าระแวง เป็นภัยเฉพาะหน้า คือไม่สามารถทำให้เกิดปัญญาที่รู้เห็นตามความเป็นจริงได้ ความเห็นผิดเป็นอกุศลจิต ซึ่งจะทำให้เกิดอกุศลกรรมได้ตามประเภทของความเห็นผิดนั้นๆ ซึ่งจะทำให้เกิดอกุศลวิบากที่เป็นทุกข์ต่างๆ ไม่ได้รับผลที่เป็นสุข และความเห็นผิดไม่ใช่หนทางที่ทำให้รู้สภาพธรรม และดับกิเลสได้ กันดารอื่นๆ เช่น ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส ทุจริต ก็เช่นเดียวกัน

ส่วนราคะ เป็นต้นที่ว่ารกชัฏนั้น โดยอรรถว่าเกี่ยวพันกัน เพราะราคะเกิดขึ้นในอารมณ์มีรูป เป็นต้น บ่อยๆ (ขุ ป ๒๘๕) โลก ได้แก่ สภาพธรรมยึดถือไว้ว่าเป็นเราก็ดี ก็คือ ขันธ์ทั้ง ๕ ถูกทำให้รก คือ ผูกพัน ร้อยรัดไว้ ด้วยความติดข้องต้องการ เหมือนไม่ไผ่เป็นต้น ถูกรกชัฏของไม้ไผ่เป็นต้น ทำให้รกฉะนั้น "โลกสันนิวาสรกชัฏด้วยราคะ โทสะ โมหะ ใครอื่นผู้จะช่วยสางรกชัฏให้แก่โลกสันนิวาสนั้นนอกจากเรา (พระผู้มีพระภาคเจ้า) เป็นไม่มี"

ไม่มีใครที่จะสางความรกชัฏของโลภะ โทสะ โมหะได้นอกจากพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ตรัสรู้ธรรมตามความเป็นจริง และทรงแสดงธรรมให้ผู้ฟังเข้าใจความจริงนั้น การเข้าใจธรรมที่ทรงแสดงตามความเป็นจริงเท่านั้นที่จะสามารถสางความรกชัฏของกิเลสได้

๒. ผู้นำ โดยการแนะนำ พร่ำสอน

ทรงแนะนำเนืองๆ ให้รู้ชอบ คอยสอดส่อง เพ่งดู ให้เลื่อมใส พระองค์แสดงธรรม เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจเพื่อเกิดปัญญา เกิดศรัทธา ความเลื่อมใสในการอบรมเจริญกุศลธรรมต่างๆ เป็นต้น เพื่อประโยชน์ในโลกนี้ (กุศลจิตที่เกิดขึ้นในชาตินี้) ประโยชน์ในโลกหน้า (สุคติภูมิที่เป็นผลของกุศลกรรม) และประโยชน์สูงสุด คือ การรู้แจ้งอริยสัจธรรม รู้แจ้งพระนิพพาน และการดับกิเลส

๓. ผู้นำ โดยรู้แจ้งมรรคก่อน

ทรงยังมรรคที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ทรงยังมรรคที่ยังไม่เกิดดีให้เกิดขึ้น ตรัสบอกมรรคที่ยังไม่มีใครบอก ทรงรู้จักมรรค ทรงทราบมรรค ทรงฉลาดในมรรค ก็ในบัดนี้ พระสาวกทั้งหลายเป็นผู้ดำเนินตามมรรค เป็นผู้ประกอบในภายหลัง (พระสาวกเป็นผู้รู้ตามธรรมที่เป็นไปเพื่อการดับกิเลสตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้ และทรงแสดง)

ทรงเป็นศาสดาของใคร?

กล่าวอย่างสูงสุดคือเป็นศาสดาของผู้ที่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ มีมนุษย์ และเทวดา เป็นต้น จนกระทั่งแม้แต่สัตว์เดรัจฉานที่สะสมอุปนิสัยมาเพื่อรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ในชาติต่อๆ ไป ก็เช่นเดียวกัน


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ