แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงพระนามว่า ภควา [วิสุทธิมรรค]

 
wittawat
วันที่  25 ก.ค. 2565
หมายเลข  43394
อ่าน  461

โส ภควา อิติปิ ภควา แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงพระนามว่า ภควา

วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ หน้า ๒๔๖

ฉอนุสสตินิเทศ

...อนุสสติอันปรารภพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น ชื่อพุทธานุสติ คำว่าพุทธานุสตินั่น เป็นคำเรียกสติอันมีพระพุทธคุณเป็นอารมณ์

...ในอนุสติ ๑๐ มีประการดังกล่าวมานี้ พระโยคาวจรผู้กอปรด้วยความเลื่อมใสมั่น ใคร่จะเจริญพุทธานุสสติ... พึงเป็นผู้ไปในที่ลับ เร้นอยู่ในเสนาสนะอันสมควรแล้ว ระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้ว่า อิติปิโส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน สุคโต โลกวิทู อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ พุทฺโธ ภควา นี้เป็นนัยในการระลึกในพระพุทธคุณเหล่านี้ คือ ระลึกโดยประกอบ อิติปิ ไว้ทุกบท ได้แก่ โส ภควา อิติปิ อรหํ (แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระอรหันต์) ....โส ภควา อิติปิ ภควา (แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระภควา) ....มีอธิบายว่า ...”เพราะเหตุนี้ๆ ”

วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ หน้า ๒๗๖

[แก้อรรถบท ภควา]

ส่วนคำว่า ภควา นี้ เป็นคำเรียกพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ผู้วิเศษ โดยพระคุณ (ทั้งหลาย) และผู้เป็นครูด้วยความเคารพ เพราะเหตุนั้น ท่านโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า

“คำว่า ภควา เป็นคำประเสริฐ คำว่า ภควา เป็นคำสูงสุด พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงเป็นครู ทรงประกอบด้วยคุณธรรมของครู เพราะเหตุนั้น ปราชญ์จึงถวายพระนามว่า ภควา”

[นาม ๔ อย่าง]

อีกอย่างหนึ่ง ชื่อมี ๔ อย่าง คือ อาวัตถิกนาม (ชื่อที่เรียกตามรุ่น) ลิงคิกนาม (ชื่อที่เรียกตามเพศ คือเครื่องหมายประจำตัว) เนมิตติกนาม (ชื่อที่มาตามคุณอันเป็นนิมิต) อธิจฺจสมุบันนาม (ชื่อที่ตั้งขึ้นลอยๆ) …

…ในชื่อ ๔ อย่างนั้น ชื่อเช่นว่า วจฺโฉ (ลูกโค-ลูกแหง่) ทมฺโม (โคฝึก-รุ่นกระทง) พลิพทฺโท (โคถึง-โคงาน) ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่า อาวัตถิกนาม ชื่อเช่นว่า ทณฺฑี (คนถือไม้เท้า-คนแก่) ฉตฺตี (ผู้มีฉัตร-พระราชา) สิขี (สัตว์มีหงอน-นกยูง) กรี (สัตว์มีงวง-ช้าง) ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่าลิงคิกนาม ชื่อเช่นว่า เตวิชฺโช (ผู้ได้วิชชา ๓) ฉฬภิญฺโญ (ผู้ได้อภิญญา ๖) ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่า เนมิตติกนาม ชื่อตั้งส่งไปไม่คำนึงถึงความของคำ เช่นว่า สิริวฑฺฒโก (ผู้เจริญด้วยสิริ) ธนวฑฺฒโก (ผู้เจริญด้วยทรัพย์) ดังนี้เป็นต้น ชื่ออธิจจสมุบันนาม

ส่วนพระนามว่า ภควา นี้ เป็นเนมิตติกนาม พระนางเจ้ามหามายามิได้ทรงขนานให้ พระเจ้าสุทโธทนมหาราชก็มิได้ทรงขนานให้ พระญาติ ๘๔,๐๐๐ ก็มิได้ขนานถวาย เทวดาผู้วิเศษทั้งหลายมีท้าวสักกะและท้าวสันตุสิตเป็นอาทิก็มิได้ขนานถวาย จริงอยู่ข้อนี้พระธรรมเสนาบดีก็ได้กล่าวไว้ว่า “พระนามว่า ภควา นั่น พระมารดามิได้ทรงขนานให้ ฯลฯ พระนามนั่นเป็นวิโมกขันติกนาม (นามอันเกิดต่อท้ายวิโมกข์) (มีขึ้น) พร้อมกับความได้พระสัพพัญญุตญาณ ณ โคนโพธิพฤกษ์แห่งพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย พระนามนี้เป็นสัจฉิกาบัญญัติ (ตั้งโดยที่รู้แจ้งธรรมเป็นนิมิต) พระนามนี้คืออะไร พระนามนี้คือ ภควา” ดังนี้

ก็แลพระนามนี้มีคุณอันใดเป็นนิมิต เพื่อจะประกาศคุณเหล่านั้น พระสังคีติกาจารย์จึงกล่าว (เป็น) คาถานี้ไว้ว่า

“พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงพระนามว่า ภควา เพราะทรงเป็น (ภคี) ผู้มีภคะ (คือโชค) เพราะทรงเป็น (ภชี) ผู้เสพ (ที่สงัด) เพราะเป็น (ภาคี) ผู้มีภาค (คือมีส่วนควรได้รับจตุปัจจัย หรือมีส่วนแห่งธรรม) เพราะเป็น (วิภตฺตวา) ผู้จำแนก (ธรรม) เพราะได้ทรงทำภัคคะ (การหักกิเลสบาปธรรม) เพราะทรงเป็นครู เพราะทรงมีภาคยะ (คือบุญบารมี) เพราะทรงเป็น (สุภาวิตตฺตะ) ผู้อบรมพระองค์ดีแล้ว ด้วยญายธรรม (มหาฎีกาแสดงว่า ญายะหมายเอา ภาวนา หมายถึงการอบรมกาย ศีล จิต ปัญญา) เป็นอันมาก เพราะเป็น (ภวนฺตคะ) ผู้ถึงที่สุดแห่งภพ”

ก็แลอรรถาธิบายแห่งบทนั้นๆ ในคาถานั้น บัณฑิตพึงเห็นตามนัยแห่งบาลีที่กล่าวในนิเทสนั้นเถิด ส่วนนัย (ต่อไป) นี้ เป็นอีกนัยหนึ่งคือ

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็น (ภาคฺยวา) ผู้มีภาคยะ เป็น (ภคฺควา) ผู้หัก และเป็น (ภเคหิ ยุตฺโต) ผู้ประกอบด้วยภคธรรมทั้งหลาย เป็น (วิภตฺตวา) ผู้จำแนก เป็น (ภตฺตวา) ผู้คบ เป็น (ภเวสุ วนฺตคมนะ) ผู้คายความไปในภพทั้งหลายเสียแล้ว เพราะเหตุนั้นจึงทรงพระนามว่า ภควา

[แก้บท ภาคฺยวา]

ในบทเหล่านั้น บัณฑิตพึงทราบว่า …ตามนัยแห่งศัพทศาสตร์ เมื่อน่าจะเรียกว่า พระภาคฺยวา เพราะพระองค์ทรงมีพระภาคยะ คือ พระบารมี มีทานและศีลเป็นต้น อย่างเยี่ยมยอด อันสามารถยังความสุขทั้งที่เป็นโลกียะ ทั้งที่เป็นโลกุตตระให้บังเกิดได้ (แต่) เรียกเสียว่า พระภควา

[แก้บท ภคฺควา]

เพราะเหตุที่พระองค์ได้ทรงหักเสียแล้ว ซึ่งกิเลสอันทำความกระวนกระวายและเร่าร้อน (แก่สัตว์ทั้งหลาย) ทั้งสิ้น นับด้วยแสนประเภท คือประเภทโลภะ โทสะ โมหะ ประเภทวีปริตมนสิการ (ความคิดผิด) ประเภทอหิริกะและอโนตตัปปะ ประเภทโกธะและอุปนาหะ ประเภทมักขะและปลาสะ ประเภทอิสสาและมัจฉริยะ ประเภทมายาและสาเถยยะ ประเภทถัมภะและสารัมภะ ประเภทมทะและปมาทะ และประเภทตัณหาและอวิชชา ประเภทอกุศลมูล ๓ ประเภททุจริต ๓ ประเภทสังกิเลส ๓ ประเภทมละ (มลทิน) ๓ ประเภทวิสมะ (ความไม่สงบ) ๓ ประเภทสัญญา ๓ ประเภทวิตก ๓ และประเภทปปัญจะ (เครื่องเนิ่นช้า) ๓ ประเภทวิปริเยสะ (ความสำคัญผิด) ๔ ประเภทอาสวะ ๔ ประเภทคัณฐะ (เครื่องผูกรัด) ๔ ประเภทโอฆะ ๔ ประเภทโยคะ ๔ ประเภทอคติ ๔ ประเภทตัณหุปปาทะ (ที่เกิดตัณหา) ๔ ประเภทเจโตขีละ (ตาปูตรึงจิต) ๕ ประเภทวินิพันธะ (เครื่องผูกจิต) ๕ ประเภทนิวรณ์ ๕ ประเภทอภินันทนะ (เครื่องเพลิดเพลิน) ๕ ประเภทวิวาทมูล (มูลแห่งการวิวาท) ๖ ประเภทตัณหากายะ (หมู่ตัณหา) ๖ ประเภทอนุสัย ๗ ประเภทมิจฉัตตะ ๘ ประเภทตัณหามูลกะ (โทษที่มีตัณหาเป็นมูล) ๙ ประเภทอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประเภททิฏฐิคตะ (ความเห็นไป) ๖๒ ประเภทตัณหาวิจริต (ความนึกไปต่างๆ ด้วยอำนาจตัณหา) ๑๐๘ ...โดยสังเขป ซึ่งมาร ๕ คือ กิเลสมาร ขันธมาร อภิสังขารมาร เทวบุตรมาร และมัจจุมาร เพราะเหตุนั้นจะเรียกว่า พระภคฺควา เพราะทรงหัก (กิเลสอันทำ) อันตรายทั้งหลายเหล่านั้นเสียได้ (แต่) เรียกเสียว่า พระภควา อยู่

ในความข้อนี้ ท่านกล่าว (เป็นคาถา) ไว้ว่า

พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็น (ภคฺคราโค) ผู้ทรงหักราคะ (ภคฺคโทโส) ผู้ทรงหักโทสะ (ภคฺคโมโห) ผู้ทรงหักโมหะ เป็นผู้หาอาสวะมิได้ บาปธรรมทั้งหลายพระองค์ทรงหักเสีย (สิ้น) แล้ว เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงถวายพระนามว่า พระภควา

ก็แลความถึงพร้อมแห่งพระรูปกายของพระองค์ ผู้ทรงไว้ซึ่งพระบุญลักษณะ (ลักษณะอันเกิดเพราะบุญ) นับด้วย ๑๐๐ เป็นอันท่านแสดงแล้วด้วยความที่ทรงเป็นผู้มีพระภาคย์ (คือบุญบารมี) ความถึงพร้อมแห่งพระธรรมกาย เป็นอันแสดงด้วยความที่ทรงเป็น (ภคฺคโทสะ) ผู้หักโทสะ ความเป็นผู้ที่ชาวโลกและคนใกล้เคียงทั้งหลายรู้จักมากก็ดี ความเป็นผู้ที่คฤหัสถ์และบรรพชิตทั้งหลาย พึงไปมาหาสู่ก็ดี ความเป็นผู้สามารถในอันช่วยขจัดทุกข์กายทุกข์ใจให้แก่เขาทั้งหลายผู้ไปหาก็ดี ความเป็นผู้ทำอุปการะเขาด้วยอามิสทานและธรรมทานก็ดี ความเป็นผู้สามารถในอันยังขให้ประกอบพร้อมไปด้วยโลกิยสุข และโลกุตตรสุขก็ดี ก็เป็นอันท่านแสดงแล้วด้วยพระคุณสมบัติ ๒ อย่างนั้น

[แก้บท ภเคหิ ยุตฺโต]

อนึ่ง เพราะเหตุที่ศัพท์ ภคะ ในโลกย่อมเป็นไปในธรรม ๖ อย่าง คือ ความเป็นใหญ่ (อิสสริยะ) ธรรม ยศ สิริ ความได้อย่างปรารถนา (กามะ) และความพยายาม (ปยัตตะ) ก็ความเป็นใหญ่ในพระจิตของพระองค์เองอย่างยอดเยี่ยมมีอยู่ หรือความเป็นใหญ่ที่โลกสมมติกัน (๘ อย่าง) มีทำร่างกายให้เล็ก (อณิมา) และทำร่างกายให้เบา (เดินอากาศได้ ลังฆิมา) เป็นต้น อันบริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวงของพระองค์ก็มีอยู่ พระ (เกียรติ-) ยศของพระองค์ปรากฏทั่วโลก ๓ เป็นพระยศที่ทรงได้โดยพระคุณตามที่เป็นจริง เป็นพระยศที่บริสุทธิ์ยิ่งนักบริบูรณ์ด้วยอาการทุกสิ่งทุกอย่าง สามารถให้เกิดขวัญตาและขวัญใจถึงความสำเร็จแห่งประโยชน์ที่ทรงพระประสงค์ ก็มีอยู่ เพราะประโยชน์ใดๆ ที่พระองคืมีพระประสงค์แล้ว ทรงปรารถนาแล้ว จะเป็นประโยชน์ตนก็ตาม ประโยชน์ผู้อื่นก็ตาม ประโยชน์นั้นๆ ก็สำเร็จสมพระประสงค์ทั้งนั้น แลพระปรยัตตะ กล่าวคือสัมมาวายามะ อันเป็นเหตุเกิดขึ้นแห่งความเป็นครูของโลกทั้งปวง ก็มีอยู่ เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงถวายพระนามว่า ภควา โดยอรรถ (วิเคราะห์) นี้ว่า ภคาอสฺส สนฺติ-ทรงมีภคธรรม เพราะความที่ทรงประกอบด้วยภคธรรมทั้งหลาย (ที่กล่าวมา) นี้ ประการ ๑

[แก้บท วิภตฺตวา]

อนึ่ง เพราะเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็น วิภตฺตวา มีคำอธิบายว่า ทรงจำแนก ทรงเปิดเผย ทรงแสดง ซึ่งธรรมทั้งปวง โดยประเภททั้งหลายมีประเภทกุศลเป็นต้น หรือว่า ซึ่งธรรมมีกุศลธรรม เป็นอาทิ โดยประเภทมีขันธ์ อายตนะ ธาตุ สัจจะ อินทรีย์ และ ปฏิจจสมุบาท เป็นต้น หรือว่า ซึ่งอริยสัจคือทุกข์ โดยอรรถ (๔) คือ ปีฬนะ (บีบคั้น) สังขตะ (อันปัจจัยปรุงแต่ง) สันตาปะ (แผดเผา) วิปริณาม (แปรปรวน) ซึ่งอริยสัจคือสมุทัย โดยอรรถ (๔) คือ อายูหะ (ประมวลมา ซึ่งทุกข์) นิทานะ (เป็นเหตุแห่งทุกข์) สังโยคะ (ผูกไว้กับทุกข์) ปลิโพธะ (หน่วงไว้มิให้ถึงมรรค) ซึ่งอริยสัจคือ นิโรธ โดยอรรถ (๔) คือ นิสสรณะ (ออกจากทุกข์) วิเวก (สงัดจากทุกข์) อสังขตะ (อันปัจจัยมิได้ปรุงแต่ง) อมตะ (เป็นสภาพไม่ตาย) ซึ่งอริยสัจคือมรรค โดยอรรถ (๔) คือ นิยยานิกะ (นำออกจากทุกข์) เหตุ (เป็นเหตุแห่งนิโรธ) ทัสสนะ (เป็นเครื่องเห็นพระนิพพาน) อธิปไตย (เป็นใหญ่ในการเห็นอริยสัจ) เพราะเหตุนั้น เมื่อน่าจะเรียกว่า พระวิภตฺตวา (แต่) เรียกเสียว่า พระภควา

[แก้บท ภตฺตวา]

อนึ่ง เพราะเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงคบ คือทรงเสพ ทรงทำให้มาก ซึ่งธรรมอันเป็นทิพวิหาร พรหมวิหาร และอริยวิหาร ซึ่งกายวิเวก จิตวิเวก และอุปธิวิเวก ซึ่งสุญญตวิโมกข์ อัปณิหิตวิโมกข์ และอนิมิตวิโมกข์ และซึ่งอุตตริมนุสสธรรมทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระอื่นๆ เพราะเหตุนั้น เมื่อน่าจะเรียกว่าพระภตฺตวา (แต่) เรียกเสียว่า พระภควา

[แก้บท ภเวสุ วนฺตคมนะ]

อนึ่งเล่า เพราะความไป กล่าวคือตัณหาในภพ ๓ พระองค์ทรงคายเสียแล้ว เพราะเหตุนั้น เมื่อน่าจะเรียกว่า ภเวสุ วนฺตคมนะ...ท่านถือเอา ภ อักษรแต่ ภว ศัพท์ (ภว หมายถึง ภพ) ค อักษร แต่ คมน ศัพท์ (คมน แปลว่า การไป การถึง) และ ว อักษรแต่ วนฺต ศัพท์ (วนฺต แปลว่า อัน...คายแล้ว) ทำ (ว อักษร) ให้เป็นทีฆะ (ทำสระเสียงสั้นให้เป็นเสียงยาว เช่า วะ เป็น วา) เรียกเสียว่า พระภควา...

(ภเวสุ วนฺตคมนะ แปลว่า ผู้ที่ถึงการคายออกจากการอยู่ในภพ ซึ่งก็หมายถึงการคายออกของตัณหาที่เป็นไปกับภพ ๓ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ)

[สรุปความ]

ในคัมภีร์ได้แสดงการอบรมเจริญความสงบ โดยมีการระลึกถึงคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นอารมณ์ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ การระลึกว่า “แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงพระนามว่า พระภควา” ซึ่งได้แสดงเหตุของความเป็นพระภควา หรือ พระผู้มีพระภาคเจ้า ตามนัย ดังนี้

- คำว่า ภควา นี้เป็น เนมิตติกนาม (ชื่อที่มาตามคุณอันเป็นนิมิต)

- ความหมายของ ภควา (กล่าวไว้ในขุ. ขุ. เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้าที่ 146)

1. เป็นคำที่ประเสริฐสุด

2. เป็นคำสูงสุด ของผู้วิเศษโดยพระคุณที่เป็นยอดของสัตว์

3. เป็นครู

4. เป็นผู้ควรแก่การเคารพ

- ความหมายของ ภควา ตามนัยที่ พระสังคีติกาจารย์ กล่าวไว้ อีกนัยหนึ่ง

1. ภคี หมายถึง ผู้มีโชค

2. ภชี หมายถึง ผู้เสพที่สงัด

3. ภาคี หมายถึง ผู้มีส่วนควรได้รับจตุปัจจัย หรือผู้มีส่วนแห่งธรรม

4. วิภตฺตวา หมายถึง ผู้จำแนกธรรม

5. อิติ อกาสิ ภคฺคนฺติ หมายถึง ผู้หักกิเลสบาปธรรมแล้ว

6. ครูติ หมายถึง ผู้เป็นครู

7. ภาคยวา หมายถึง ผู้มีบุญบารมี

8. พหูหิ ญาเยหิ สุภาวิตตฺตโน หมายถึง ผู้อบรมดีแล้วเป็นอันมาก ด้วยกาย ศีล จิต ปัญญา

9. ภวนฺตคะ หมายถึง ผู้ถึงที่สุดแห่งภพ หรือผู้คายออกจากการอยู่ในภพ

- ความหมายของ ภควา อีกนัยหนึ่ง

1. ภาคฺยวา หมายถึง ผู้มีบุญบารมี

2. ภคฺควา หมายถึง ผู้หัก (บาปกิเลส)

3. ภเคหิ ยุตฺโต หมายถึง ผู้ประกอบด้วยภคธรรม ๖ ประเภท ได้แก่ อิสสริยะ ธรรม ยศ สิริ กามะ ปยัตตะ

- อิสสริยะ หมายถึง ความเป็นใหญ่ในจิตทั้งในทางโลกียะและโลกุตตระ ในทางโลกียะ หมายถึง ฌานจิตขั้นต่างๆ รวมถึงความสามารถในการแสดงอิทธิฤทธิต่างๆ ได้ ในทางโลกุตตระ หมายถึง มรรคจิต ผลจิต

- ธรรมะ ในที่นี้เข้าใจว่าหมายถึง การได้โลกุตตรธรรม

- ยสะ หมายถึง ยศอันบริสุทธิ์ หมายถึงคุณความดีทั้งหลายที่เป็นไปตามความเป็นจริง ที่ปรากฏไปทั้ง สามโลก

- สิริ หมายถึง พระรูปโฉมที่สง่างามทางกาย ที่ทรงสามารถให้เกิดเป็นขวัญตาขวัญใจแก่ผู้เข้าชม

- กามะ หมายถึง ความสำเร็จประโยชน์ตามที่ประสงค์ (ประโยชน์ใดๆ ที่พระองค์ประสงค์แล้ว ทั้งของตน และของผู้อื่น ก็สำเร็จตามพระประสงค์ทั้งนั้น)

- ปยัตตะ หมายถึง ความเพียรโดยชอบ เพื่อถึงความเป็นครูของโลกทั้งปวง

4. วิภตฺตวา หมายถึง ผู้จำแนก ผู้เปิดเผย ผู้แสดง ซึ่งธรรมทั้งปวง โดยประเภท ต่างๆ เช่น

- กุศลธรรม อกุศลธรรม อัพพยากตธรรม

- ธรรมโดยนัยต่างๆ ได้แก่ ขันธ์ ธาตุ อายตนะ สัจจะ อินทรีย์ ปฏิจจสมุปบาท

- ทุกขสัจจะ ในอรรถ ๔ มี ความบีบคั้น อันปัจจัยปรุงแต่ง แผดเผา แปรปรวน

- สมุทยสัจจะ ในอรรถ ๔ มี ประมวลทุกข์มา เหตุที่มาแห่งทุกข์ ผูกไว้กับทุกข์ หน่วงไว้ไม่ให้ถึงมรรค

- นิโรธสัจจะ ในอรรถ ๔ มี ออกจากทุกข์ สงัดจากทุกข์ อันปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ สภาพไม่ตาย

- มรรคสัจจะ ในอรรถ ๔ มี นำออกจากทุกข์ เหตุให้รู้นิโรธ เห็นแจ้งพระนิพพาน เป็นใหญ่ในการเห็นพระนิพพาน

5. ภตฺตวา หมายถึง ผู้คบ หรือผู้เสพ หรือผู้ทำให้มากใน ธรรมดังนี้

หรติ หมายถึง นำเข้าไป น้อมเข้าไป ให้เกิด ให้เกิดขึ้น

- ทิพยวิหาร เครื่องอยู่อย่างวิเศษ ได้แก่ รูปฌาน ๔ อรูปฌาณ ๕

- พรหมวิหาร เครื่องอยู่ของผู้ประเสริฐ ๔ คือ เมตตา (การเป็นมิตรกับสัตว์ซึ่งเป็นที่รัก) กรุณา (ความอาทร หวังเกื้อกูลในสัตว์ที่ได้รับทุกข์) มุทิตา (ความปลาบปลื้มในสัตว์ที่ได้ความสุข) อุเบกขา (ความเป็นกลางวางเฉย ในสัตว์ที่มีกรรมเป็นของๆ ตน)

- อริยวิหาร ได้แก่ ผลสมาบัติ ๔ ตามแต่ระดับของพระอริยบุคคล ลำดับนั้นๆ

- กายวิเวก (สงัดกาย) คือ ความสงัดของกาย หมายถึง การไม่คลุกคลีกับหมู่คณะด้วยอกุศล บางนัย ได้แก่ อัธยาศัยในการออกจากกาม

- จิตตวิเวก (สงัดจิต) คือ ความสงัดของจิต หมายถึง ไม่คลุกคลีติดพันด้วยอกุศลจิต ได้แก่ สมาบัติ ๘ ฌานจิตขั้นต่างๆ หรือแม้ขณะที่รู้ความจริงของสภาพธรรมนั้น ก็เป็นจิตวิเวก

- อุปธิวิเวก (สงัดจากอุปธิ ได้แก่ กิเลส ขันธ์ กาม เจตนา ซึ่งเป็นไปในสังขารธรรม) เป็นความสงัดจากสังขารธรรม สงัดจากกิเลส หมายถึง พระนิพพาน ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่สงัดจากสิ่งที่เป็นไปในทุกข์ สงัดจากสิ่งที่เป็นไปในกิเลส

- สุญญตวิโมกข์ หมายถึง พระนิพพานในขณะที่เป็นอารมณ์ของมรรคจิตผลจิต เพราะว่างเปล่าจากกิเลสทั้งปวงโดยผู้ที่อบรมปัญญาเจริญสติปัฏฐาน มีการน้อมมนสิการนามรูปโดยสภาพที่เป็นอนัตตา เมื่อปัญญาสมบรูณ์พร้อมจนประจักษ์แจ้งสภาพธรรมไปตามลำดับ ขณะที่จะหลุดพ้น อนุโลมญานซึ่งมีไตรลักษณ์เป็นอารมณ์ จะมีอนัตตลักษณะปรากฏโดยความเป็นใหญ่ เมื่อมรรคจิตผลจิตเกิดขึ้นความหลุดพ้นนี้จึงได้ชื่อว่าสุญญตวิโมกข์

- อัปณิหิตวิโมกข์ หมายถึง พระนิพพานในขณะที่เป็นอารมณ์ของมรรคจิตผลจิต เพราะไม่มีที่ตั้งคือกิเลสทั้งปวงโดยผู้ที่อบรมปัญญาเจริญสติปัฏฐาน มีการน้อมมนสิการนามรูปโดยสภาพที่เป็นทุกข์ เมื่อปัญญาสมบูรณ์พร้อมจนประจักษ์แจ้งสภาพธรรมไปตามลำดับ ขณะที่จะหลุดพ้น อนุโลมญานซึ่งมีไตรลักษณ์เป็นอารมณ์ จะมีทุกขลักษณะปรากฏโดยความเป็นใหญ่ เมื่อมรรคจิต ผลจิตเกิดขึ้น ความหลุดพ้นนี้จึงได้ชื่อว่าอัปปณิหิตวิโมกข์

- อนิมิตตวิโมกข์ หมายถึง พระนิพพานในขณะที่เป็นอารมณ์ของมรรคจิต ผลจิต เพราะไม่มีนิมิตเครื่องหมาย คือกิเลส โดยผู้ที่อบรมปัญญา เจริญสติปัฏฐานมีการน้อมมนสิการนามรูป โดยสภาพที่เป็นอนิจจัง เมื่อปัญญาสมบรูณ์พร้อมจนประจักษ์แจ้งสภาพธรรมไปตามลำดับ ขณะที่จะหลุดพ้น อนุโลมญานซึ่งมีไตรลักษณ์เป็นอารมณ์ จะมีอนิจจลักษณะปรากฏโดยความเป็นใหญ่ เมื่อมรรคจิตผลจิตเกิดขึ้น ความหลุดพ้นนี้จึงได้ชื่อว่าอนิมิตวิโมกข์

6. วิภตฺตวา หมายถึง ผู้คายความไปในภพทั้งหลาย คือ คายตัณหาที่เป็นไปในภพทั้ง ๓ แล้ว

- ความหมายของ ภควา (กล่าวไว้ในขุ. จู. เล่ม ๖ หน้าที่ 12)

1. เป็นคำที่กล่าวเพื่อแสดงความเคารพ

2. ทรงทำลายราคะ

3. ทรงทำลายโทสะ

4. ทรงทำลายโมหะ

5. ทรงทำลายมานะ

6. ทรงทำลายทิฏฐิ

7. ทรงทำลายเสี้ยนหนาม

8. ทรงจำแนก ทรงแจกวิเศษ ทรงจำแนกเฉพาะซึ่งธรรมรัตนะ

9. ทรงทำที่สุดแห่งภพทั้งหลาย

10. ทรงมีกายอันอบรมแล้ว

11. ทรงมีศีลอันอบรมแล้ว

12. ทรงมีจิตอันอบรมแล้ว

13. ทรงมีปัญญาอันเจริญแล้ว

14. ทรงเสพเสนาสนะอันสงัด คือป่าและป่าเปลี่ยว เงียบเสียง ไม่มีเสียงกึกก้อง ปราศจากลมแต่หมู่ชน ควรทำกรรมลับของมนุษย์ สมควรแก่การหลีกออกเร้น

15. ทรงมีส่วนแห่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร

16. ทรงมีส่วนแห่งอรรถรส ธรรมรส วิมุตติรส แห่งอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา (รส คือ การทำกิจให้สำเร็จ อรรถรส หมายถึง ผล ๔ ธรรมรส หมายถึง มรรค ๔ วิมุตติรส หมายถึง พระนิพพาน อธิศีล ได้แก่ ปาฏิโมกขสังวร อธิจิต ได้แก่ ฌานจิตที่เป็นบาทแก่วิปัสสนา อธิปัญญา ได้แก่ วิปัสสนา จาก สํ. ส. เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้า 65)

16. ทรงมีส่วนแห่งฌาน อัปปมัญญา ๔ อรูปสมาบัติ ๔

17. ทรงมีส่วนแห่งวิโมกข์ ๘ อภิภายตนะ ๘ อนุปพพวิหารสมาบัติ ๙

18. ทรงมีส่วนแห่งสัญญาภาวนา ๒๐ กสิณสมาบัติ ๑๐ สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานัสสติ อสุภฌานสมาบัติ

19. ทรงมีส่วนแห่งสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘

20. ทรงมีส่วนแห่งกำลังของพระตถาคต ๑๐ เวสารัชชญาณ ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ พุทธธรรม ๖

เป็นพระนามที่พระมารดา พระญาติทั้งหลายมิได้ตั้งให้ แต่เป็นพระนามที่เกิดขึ้นในที่สุดแห่งความหลุดพ้น พร้อมด้วยการบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ณ ควงไม้มหาโพธิ์

โดยสรุปทั้งหมด

ภควา หรือ พระผู้มีพระภาคเจ้า หมายถึงอะไร

เป็นคำเรียกเพื่อแสดงความเคารพแด่บุคคลผู้สูงสุด ผู้เป็นยอดแห่งสัตว์ ผู้มีบุญบารมี ๔ อสงไขยแสนกัปป์เป็นอย่างน้อย ผู้เป็นครู ผู้จำแนกธรรม ผู้หักทำลายกิเลสทั้งปวงสิ้นแล้ว เป็นผู้ที่มีกาย ศีล จิต และปัญญาอันอบรมดีแล้ว เป็นผู้คายออกจากการเกิดในภพแล้วไม่มีการเกิดอีก ผู้คุ้นเคยในธรรมที่เป็นเครื่องอยู่อย่างสงบ ได้แก่ ทิพยวิหาร พรหมวิหาร อริยวิหาร วิเวก ๔ วิโมกข์ ๓ เป็นผู้ที่มีส่วนแห่งธรรมฝ่ายดีทั้งหลาย ได้แก่ ปาฏิโมกขสังวร รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ทศพลญาณ ๑๐ เวสารัชชญาณ ๔ ปฏิสัมภทา ๔ อภิญญา ๖ พุทธธรรม ๖ เป็นต้น

คำว่า ภควา เกิดขึ้นเมื่อใด

ไม่ได้เกิดขึ้นโดย พระมารดา พระญาติทั้งหลายตั้งให้ แต่เป็นพระนามที่เกิดขึ้นในที่สุดแห่งความหลุดพ้น พร้อมด้วยการบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ณ ควงไม้มหาโพธิ์


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ