พระพูดเรี่ยไรเงินให้บริจาคเข้าบัญชีธนาคารเพื่อบำรุงศาสนสถานผิดไหม

 
lokiya
วันที่  9 ก.พ. 2565
หมายเลข  42028
อ่าน  608

.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 10 ก.พ. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 3] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค-ทุติยภาค เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 940

พระบัญญัติ

๓๗. อนึ่ง ภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทอง เงิน หรือยินดีทอง เงิน อันเขาเก็บไว้ให้ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.

[เล่มที่ 29] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้าที่ 212

มณิจูฬกสูตร

“ทองและเงินไม่ควรแก่สมณศากยบุตร สมณศากยบุตรย่อมไม่ยินดีทองและเงิน สมณศากยบุตรห้ามแก้วและทอง ปราศจากทองและเงิน ... เรามิได้กล่าวว่า สมณศากยบุตรพึงยินดี พึงแสวงหาทองและเงินโดยปริยายอะไรเลย.”

[เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ 327

อปายสูตร

“คนเป็นอันมากอันผ้ากาสาวะพันคอ มีธรรมอันลามก ไม่สำรวม คนลามกเหล่านั้นย่อมเข้าถึงนรก เพราะกรรมอันลามกทั้งหลาย ก้อนเหล็กร้อนเปรียบด้วยเปลวไฟ อันผู้ทุศีลบริโภคแล้วยังประเสริฐกว่า ผู้ทุศีล ไม่สำรวม พึงบริโภคก้อนข้าวของชาวแว่นแคว้น จะประเสริฐอะไร.”


พระต้องสร้างวัด ซ่อมแซมสิ่งต่างๆ ในวัด พระจึงจำเป็นต้องรับเงินทอง ทำกฐิน ผ้าป่า

เข้าใจถูก

๖. การสร้างวัดพระไม่ใช่ผู้เรี่ยไรเงิน พระไม่ใช่ผู้รับเงิน แต่ คฤหัสถ์เป็นคนจัดการเรื่องเงิน

คฤหัสถ์ผู้ฉลาดและเคารพระธรรม เคารพพระพุทธเจ้าและเคารพพระสงฆ์ย่อมปฏิบัติตามพระวินัย คือ ไม่ถวายเงินทองกับพระภิกษุและเคารพพระสงฆ์ ไม่ถวายของที่เป็นอกัปปิยะ ของที่ไม่สมควร มีเงิน เป็นต้นกับพระภิกษุเพราะทำให้ท่านต้องอาบัติ คฤหัสถ์ผู้ฉลาดเคารพในพระรัตนตรัย จึงทำวิธีการที่ถูกต้อง ดั่งเช่น สมัยพุทธกาล นางวิสาขา ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี พระเจ้าพิมพิสาร ไม่ได้เอาเงินไปถวายพระพุทธเจ้า ไม่ได้เอาเงินไปถวายท่านพระสารีบุตร เพราะท่านเหล่านั้นเคารพพระพุทธเจ้า เคารพพระธรรม เคารพระสงฆ์ แต่ สร้างวัดถวายเองโดย ไม่ให้พระยุ่งเกี่ยวกับเงินและทอง เวลาที่จะสร้างอย่างอื่น เช่น โรงครัว อุบาสก อุบาสิกา ผู้เข้าใจพระธรรม ก็กล่าวบอกกับพระภิกษุ และสร้างถวาย โดยไม่ใช่เอาเงินไปให้ท่าน นี่คือ วิธีการที่ถูกต้อง เป็นการรักษาพระวินัย และ ดำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา

ข้อความในพระไตรปิฎก แสดงความจริงว่า การสร้างวัด เป็นต้น ไม่ใช่การให้เงินพระโดยตรง ไม่มีการที่พระทำกฐิน ผ้าป่า เงินทอง แต่ คฤหัสถ์เป็นคนจัดการเรื่อเงินสร้างวัดให้

ท่านพระอุเทน “พราหมณ์ พระเจ้าอังคะโปรดพระราชทานอะไรเป็นเบี้ยเลี้ยงประจำแก่ท่านทุกวัน”

โฆฏมุขพราหมณ์ “ท่านอุเทน พระเจ้าอังคะโปรดพระราชทานทรัพย์ ๕๐๐ กหาปณะเป็นเบี้ยเลี้ยงประจำแก่ข้าพเจ้าทุกวัน”

ท่านพระอุเทน “พราหมณ์ การรับทองและเงินไม่สมควรแก่อาตมภาพทั้งหลาย”

โฆฏมุขพราหมณ์ “ท่านอุเทน ถ้าทองและเงินนั้นไม่สมควร ข้าพเจ้าจะให้สร้างวิหารถวายท่านอุเทน”

ท่านพระอุเทน กล่าวว่า “พราหมณ์ ถ้าท่านปรารถนาจะให้สร้างวิหารถวายอาตมภาพ ก็ขอให้สร้างโรงฉันถวายแก่สงฆ์ในเมืองปาตลีบุตรเถิด”

ข้อความบางตอนใน โฆฏมุขสูตร มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓


 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
lokiya
วันที่ 10 ก.พ. 2565

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 10 ก.พ. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 11 ก.พ. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระภิกษุ จะยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเงินทอง ไม่ได้โดยประการทั้งปวง ภิกษุรับเงินทองเพื่อตนเอง หรือ ยินดีในเงินทอง ที่ผู้อื่นเก็บไว้ให้เพื่อตน เป็นอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ แต่ถ้ารับเพื่อผู้อื่น หรือ รับเพื่อสิ่งอื่น ก็เป็นอาบัติ ไม่พ้นจากอาบัติเลย คือ เป็นอาบัติทุกกฏ เป็นการกระทำที่ผิด ที่ไม่ตรงตามพระธรรมวินัย

พิจารณาข้อความในพระวินัยปิฎก เทียบเคียงว่า ที่ถูกแล้ว พระภิกษุ และ คฤหัสถ์ ควรทำอย่างไร จึงจะถูกต้อง ตรงตามพระธรรมวินัย ดังนี้

[เล่มที่ 3] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค-ทุติยภาค เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๘๖๔

ถ้าใครๆ นำเอาทองและเงินมากล่าวว่า ข้าพเจ้าถวายทองและเงินนี้แก่สงฆ์ ท่านทั้งหลาย จงสร้างอาราม วิหาร เจดีย์ หรือหอฉันเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ภิกษุจะรับทองและเงินแม้นี้ไม่ควร ในมหาปัจจรี ท่านกล่าวไว้ว่า ด้วยว่า เป็นทุกกฎ แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งผู้รับเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ก็ถ้าเมื่อภิกษุปฏิเสธ ว่า ภิกษุทั้งหลายจะรับทองและเงินนี้ ไม่สมควร เขากล่าวว่า ทองและเงินจักอยู่ในมือของพวกช่างไม้หรือพวกกรรมกร ท่านทั้งหลายจงรับทราบการงานที่เขาทำดีและไม่ดีอย่างเดียว ดังนี้แล้ว มอบไว้ในมือพวกช่างไม้หรือพวกกรรมกรเหล่านั้น จึงหลีกไป อย่างนี้ ก็ควร ถ้าแม้เขากล่าวว่า ทองและเงินจักอยู่ในมือของพวกคนของผมเอง หรือว่า จักอยู่ในมือของผมเอง ท่านพึงส่งข่าวไปเพื่อประโยชน์แก่บุคคลผู้ที่เราจะต้องให้ทองและเงินแก่เขาอย่างเดียว แม้อย่างนี้ ก็ควร

จะเห็นได้เลยว่า พระธรรมวินัย บริสุทธิ์ สะอาด เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Witt
วันที่ 15 ก.พ. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ