ในเมื่อ ธรรมะทั้งหมดเป็นอนัตตา การเวียนว่ายตายเกิด ก็ไม่ควรจะมี?

 
Adung
วันที่  13 ม.ค. 2565
หมายเลข  41916
อ่าน  454

ในเมื่อไม่มีเรา ไม่มีตัวตน แล้ว อะไรที่เวียนว่ายตายเกิด ในชาติต่างๆ ทั้งชาติก่อนๆ ชาตินี้ชาติหน้า

ถ้าบอกว่า จิต สืบทอดไปเรื่อยๆ ปฏิสนธิจิต จุติจิต แล้วก็ปฏิสนธิอีก ก็แสดงว่า จิต ไม่ใช่อนัตตา? แต่ดูเหมือนจะเป็น อัตตา มากกว่า

เวียนว่ายตายเกิด ปฏิจจสมุปบาท น่าจะ หมายถึง จิตในชาติปัจจุบันชาติเดียวมากกว่า ที่จะเป็นข้ามภพข้ามชาติ ซึ่งพิสูจน์ไม่ได้ นอกจากต้องเชื่อไว้ก่อน


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 14 ม.ค. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 77] พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ ๕๕๖

จริงอยู่ อวิชชาเป็นประธานแห่งวัฏฏะ ๓ (กิเลสวัฏฏ์ กรรมวัฏฏ์ และวิปากวัฏฏ์) เพราะว่า ด้วยการยึดถืออวิชชา กิเลสวัฏฏะที่เหลือ และกรรมวัฏฏะ เป็นต้น ย่อมผูกพันคนพาลไว้เหมือนการจับศีรษะงู สรีระงูที่เหลือก็จะพันแขนอยู่ แต่เมื่อตัดอวิชชาขาดแล้วย่อมหลุดพ้นจาววัฏฏะเหล่านั้น เหมือนบุคคลตัดศีรษะงูแล้วก็จะพ้นจากการถูกพันแขน ฉะนั้นเหมือนอย่างที่ตรัสว่า "เพราะสำรอกอวิชชาโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ"


[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้าที่ ๕๐๖

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างว่า บุรุษตัดทอนหญ้าไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ ในชมพูทวีปนี้ แล้วจึงรวมกันไว้ ครั้นแล้ว พึงกระทำให้เป็นมัดๆ ละ ๔ นิ้ว วางไว้ สมมติว่า นี้เป็นมารดาของเรา นี้เป็นมารดาของมารดาของเรา โดยลำดับ มารดาของมารดาแห่งบุรุษนั้นไม่พึงสิ้นสุด ส่วนว่า หญ้า ไม้กิ่งไม้ ใบไม้ ในชมพูทวีปนี้ พึงถึงการหมดสิ้นไป

ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่า สังสารวัฏฏ์ นี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ พวกเธอได้เสวยทุกข์ ความเผ็ดร้อน ความพินาศ ได้เพิ่มพูนปฐพีที่เป็นป่าช้า ตลอดกาลนาน เหมือนฉะนั้น ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็เหตุเพียงเท่านั้น พอทีเดียวที่จะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอเพื่อจะคลายกำหนัดพอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้



ธรรม เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง จึงต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ศึกษา ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย แม้แต่ที่กล่าวถึงเวียนว่ายตายเกิด ก็ไม่พ้นจากธรรม ไม่พ้นจากสิ่งที่มีจริง ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ขณะเกิด ก็คือ ธรรม ได้แก่ ปฏิสนจิต เกิดขึ้น แล้ว ขณะตาย ก็คือ จุตจิต เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่เคลื่อนพ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ จะมาเป็นบุคคลนี้ไม่ได้อีกเลยในสังสารวัฏฏ์ และตราบใดที่ยังไม่ได้ดับเหตุของการเกิด ก็ยังต้องมีการเกิดต่อไป ซึ่งแสดงถึงความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรม คือ สิ่งที่มีจริง ทั้งหมด ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

ปฏิจจสมุปบาท หมายถึง สภาพธรรมที่เกิดขึ้นด้วยดี คือเป็นไปตามลำดับโดยอาศัยปัจจัยเป็นธรรมที่อาศัยกันและกันเกิดขึ้น เป็นเหตุ เป็นผลที่ทำให้สังสารวัฏฏ์เป็นไปทรงแสดงถึงเหตุ และผลที่เกิดจากเหตุ ปฏิจจสมุปบาทไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป เป็นจิต เจตสิก และ รูป เมื่อกล่าวอย่างกว้างๆ แล้ว เพราะมีอวิชชา คือ ความไม่รู้ จึงเป็นเหตุให้มีการกระทำที่เป็นบุญบ้าง เป็นบาปบ้าง ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดในภพต่อไป มีจิต เจตสิก และ รูป เกิดขึ้นเป็นไป ทำให้สังสารวัฏฏ์ยืดยาวต่อไป

ความเข้าใจถูกเห็นถูก จะค่อยๆ เกิดขึ้น ค่อยๆ เจริญขึ้น เมื่อไม่ขาดการฟังพระธรรม พิจารณาไตร่ตรองในเหตุในผลตรงตามความเป็นจริง ไม่ใช่เชื่อไว้ก่อน แต่ค่อยๆ ฟังค่อยๆ ศึกษา ปัญญา ทำกิจของปัญญา ไม่ใช่เรา ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Adung
วันที่ 15 ม.ค. 2565

ขอบคุณมากครับ

กุศล อกุศล จะสะสมในจิต ก็น่าจะสะสมเฉพาะในชาตินี้ชีวิตนี้ ไม่น่าจะสะสมข้ามชาติ เพราะจิต เป็นอนัตตา ถ้ามีชาติหน้าก็แสดงว่า มีตัวจิตตัวเดิมที่สืบทอดไปเรื่อยๆ ทุกๆ ชาติ?? ก็จะขัดกับหลักอนัตตา?? ข้อนี้ควรจะอธิบายอย่างไร?

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 15 ม.ค. 2565

เรียน ความคิดเห็นเห็นที่ ๒ ครับ

ก็ต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องตั้งแต่ต้นว่า จิต เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่เรา เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งซึ่งอารมณ์ ทุกขณะ ไม่เคยขาดจิตเลย มีจิตเกิดดับสืบต่ออยู่ตลอดเวลา จิตขณะหนึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไปเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันที ก่อนที่จะมาเกิดในชาตินี้ ก็ต้องมีจิตขณะก่อนๆ ในชาติก่อนๆ ซึ่งเกิดดับสืบต่อมา และตราบใดที่ยังไม่ถึงความเป็นพระอรหันต์ ก็ยังต้องเกิดอีก มีสภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไปอีก

ไม่มีจิต แม้แต่ขณะเดียว ที่จะเที่ยงแท้ยั่งยืนไปตลอด เพราะความจริงแล้ว จิต เกิดดับสืบต่อกันเป็นลำดับด้วยดี ซึ่งก็แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น จิตเกิดขึ้นแล้วดับไป แต่เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นสืบต่อกันไปไม่ขาดสาย ฉะนั้น การเกิดดับสืบต่อกันทำให้จิตสะสมอุปนิสสัยที่เคยทำไว้ในทุกขณะจิต ทั้งที่ดี และ ไม่ดี จึงทำให้แต่ละคน มีความประพฤติเป็นไปที่แตกต่างกัน มาจากไหน ถ้าไม่ใช่เพราะการสะสม ซึ่งสิ่งที่สะสมนั้นก็สะสมสืบต่ออยู่ในจิตแต่ละขณะๆ นั่นเอง ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Witt
วันที่ 19 ม.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 3 พ.ค. 2566

อบรมปัญญาให้เข้าใจความจริง จะเป็นประโยชน์ทั้งชาตินี้ และชาติต่อๆ ไป กุศลที่ทำได้เสมอๆ คือ การฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีคุณค่ามหาศาลสำหรับชีวิตที่ต้องเดินทางต่อไป อีกแสนไกล และกันดาร

ขอเชิญศึกษาพระธรรม ...

รวมลิงก์เมนูต่างๆ ในเว็บไซต์

พระไตรปิฎก

ฟังธรรม

วีดีโอ

ซีดี

หนังสือ

กระดานสนทนา

การที่ได้มีโอกาสศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม ทำให้มีความเข้าใจตามความเป็นจริงว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏแล้วก็หมดไป ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหูทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จิตทุกขณะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป หมดไป ไม่มีอะไรเหลือเลยจริงๆ จากภพหนึ่งไปอีกภพหนึ่ง ดังนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่ควรสั่งสมไปทุกภพทุกชาติ นั่นก็คือ กุศล (รวมถึงการอบรมเจริญปัญญา ในชีวิตประจำวันด้วย)

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ