ประวัติ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จากเวปไซต์ www.dharma-gateway.com

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  12 ม.ค. 2565
หมายเลข  41910
อ่าน  7,382

ข้อความจากเวปไซต์ : www.dharma-gateway.com (ภาพประกอบจากเวปไซต์บ้านธัมมะ)

เรื่อง ประวัติ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

โพสท์ในลานธรรมเสวนา กระทู้ที่ 009716 โดยคุณ : อิสรชน [9 ก.ย. 2546]

น.ส. สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เกิดวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๙ ที่จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรีคนที่ ๓ ของหลวงบริหารวนเขตต์ (ฉัตร ชูเกียรติ) และนางเจริญ (ปุณสันถาร)

เริ่มศึกษาพระอภิธรรมที่พุทธสมาคม สมัยที่ท่านอาจารย์แนบ มหานีรานนท์ ท่านอาจารย์บุญมี เมธางกูร คุณพระชาญบรรณกิจ คุณหญิงระเบียบ สุนทรลิขิต เปิดการสอนพระอภิธรรมขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อประมาณปลาย พ.ศ. ๒๔๙๖ จากนั้นก็ได้ศึกษาพระธรรมจากพระไตรปิฎกและอรรถกถาตลอดมา โดยอาศัยความอนุเคราะห์ ของพระเถระผู้ทรงคุณวุฒิแห่งสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นผู้แปลภาษาบาลีและให้คำแนะนำ

เมื่อเริ่มศึกษาพระอภิธรรมได้พอสมควรแล้ว ท่านอาจารย์แนบ มหานีรานนท์ ก็ได้มอบหมายให้บรรยายพระอภิธรรม ณ สถานที่ต่างๆ เช่น พ.ศ. ๒๕๐๐ บรรยายพระอภิธรรมที่สภาวัฒนธรรมแห่งชาติเป็นเวลา ๑ ปี บรรยายพระอภิธรรมเรื่องจิต แก่ผู้ต้องขังหญิง ณ ทัณฑสถานหญิง เรือนจำลหุโทษ คลองเปรม ประมาณ ๑ ปี

ร่วมเผยแพร่พระอภิธรรมใน ๗ จังหวัดภาคใต้ กับคณะกรรมการพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย โดย ม.จ. หญิงพูนพิศมัย ดิศกุล นายกพุทธสมาคม ทรงเป็นผู้นำคณะกับท่านอาจารย์แนบ มหานีรานนท์

นอกจากนี้ก็ได้บรรยายพระอภิธรรมแก่ชมรมพุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร แห่งละ ๑ ภาคการศึกษา นอกจากบรรยายธรรมแล้ว ก็ได้ตอบปัญหาธรรมแก่ภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ผู้สนใจ ณ สถานที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด เช่น จิตตภาวันวิทยาลัย วัดชลประทานรังสฤษฏ์ วัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง วัดสวนดอก วัดพันอ้น วัดดงเทวี และที่พุทธสถานจังหวัดเชียงใหม่ วัดมหาโลก จังหวัดสระบุรี โรงพยาบาลศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล ชมรมสนทนาภาษาธรรมการไฟฟ้านครหลวง โรงเรียนสามเสนนอก โรงเรียนวิชูทิศ เป็นต้น

ในด้านการเผยแพร่พระพุทธศาสนาแก่ชาวต่างประเทศนั้น ได้สอนพระอภิธรรมมัตถสังคหะภาษาอังกฤษ ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ แก่ภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา ชาวต่างประเทศจบปริเฉทที่ ๑ ประกอบการเจริญสติปัฏฐานซึ่งเป็นการเจริญวิปัสสนา เป็นทางปฏิบัติในพระพุทธศาสนา คือการเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำให้ชาวต่างประเทศเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา สามารถศึกษาและดำเนินงานด้านเผยแพร่พระพุทธศาสนากว้างขวางขึ้น และได้จัดตั้งคณะศึกษาธรรม Dhamma Study Group ซึ่งนอกจากจัดพิมพ์หนังสือเผยแพร่พระพุทธศาสนาภาษาอังกฤษแล้ว ก็ได้สนทนาธรรมกับชาวต่างประเทศทุกวันพุธ ที่ตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย และตึก สว. ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร จนถึงพ.ศ. ๒๕๒๓

พ.ศ. ๒๕๐๖ เป็นกรรมการและผู้บรรยายพระอภิธรรมของสมาคมศูนย์ค้นคว้าพระพุทธศาสนา จนถึง พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งสมาคมฯ ได้นำคำบรรยายพระอภิธรรมออกอากาศทางสถานีวิทยุด้วย

ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๐ จนถึง พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้บรรยายธรรมเรื่อง แนวทางเจริญวิปัสสนา ที่ตำหนักสมเด็จ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ทุกวันอาทิตย์ เว้นอาทิตย์ต้นเดือน และมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย ได้นำเทปออกอากาศทางสถานีวิทยุยานเกราะ

ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๙ จนถึง พ.ศ. ๒๕๓๕ บรรยายพระธรรมทุกวันอาทิตย์ (เว้นวันอาทิตย์ต้นเดือน) ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย วัดบวรนิเวศวิหาร และนำเทปคำบรรยายออกอากาศทางสถานีวิทยุ สทร. ๒ บางนา ด้วยกำลังศรัทธาของผู้ฟัง ทำให้คณะศึกษาธรรมสามารถจัดตั้งเป็นมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ โดยมีคณะกรรมการบริหารงานดังนี้

น.ส. สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการ

พ.อ. ธงชัย แสงรัตน์ รองประธานกรรมการ

พ.อ. ดร. ชินวุธ สุนทรสีมะ กรรมการ

นางสงวน สุจริตกุล กรรมการ

คุณหญิงณพรัตน์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา กรรมการ

นางเกศินี ฉายะพงศ์ กรรมการ

น.ส. ดวงเดือน บารมีธรรม กรรมการและเหรัญญิก

น.ส. จารุพรรณ เพ็งศรีทอง กรรมการและเลขานุการ

เมื่อได้จัดตั้งเป็นมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนาแล้ว พ.อ. ธงชัย แสงรัตน์ ได้ดำเนินการติดต่อขอนำเทปคำบรรยายธรรมซึ่งได้ออกอากาศติดต่อตลอดมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ถึงปัจจุบัน ไปออกอากาศสถานีวิทยุต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งทางมูลนิธิก็พยายามติดต่อขอนำเทปคำบรรยายธรรมออกอากาศตามจังหวัดต่างๆ เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้รับฟังทุกจังหวัด

ในด้านการเผยแพร่พระพุทธศาสนาต่างประเทศนั้น ใน พ.ศ. ๒๕๒๐ ได้รับเชิญจาก Buddhist Information Center ประเทศศรีลังกา โดยพระมหาสังฆนายก Madihe Pannasiha ไปร่วมสัมมนาหลักธรรมกับพระเถระและอุบาสก อุบาสิกา ผู้ทรงคุณวุฒิทางพระพุทธศาสนา และได้รับเชิญไปเผยแพร่พระธรรมที่ Colombo Kandy Anuradhapura ตามสถานที่และสมาคมของชาวพุทธต่างๆ ทุกวัน ตั้งแต่ ๓๐ มีนาคม ถึง ๔ พฤษภาคม ๒๕๒๐

พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้รับพระราช ทานโล่ห์จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในฐานะที่เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา

ข้อความต่อไปนี้คัดลอกจากหนังสือ ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา งานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในวันวิสาขบูชา พุทธศักราช ๒๕๒๘

อาจารย์สุจินต์ได้บรรยายพระอภิธรรมและวิปัสสนากรรมฐาน ให้เป็นที่เข้าใจได้ง่ายสำหรับคนสมัยปัจจุบัน และสามารถนำมาปฏิบัติเป็นปกติในชีวิตประจำวันตามความเป็นจริงของแต่ละคน ทั้งชีวิตแบบบรรพชิตและคฤหัสถ์ โดยไม่ต้องกระทำสิ่งใดให้ผิดปกติขึ้นมา และไม่ต้องปลีกตัวหลีกหนีจากหน้าที่การงานและสังคม อีกทั้งท่วงทำนองและน้ำเสียงการบรรยายที่ชัดเจน กังวาน และมีเหตุผลสืบเนื่องต่อกันตามลำดับ ชวนแก่การสนใจและติดตาม อนึ่ง ประการที่สำคัญที่สุดคือ การบรรยายธรรมของอาจารย์สุจินต์ เป็นการบรรยายโดยยึดถือตามหลักธรรมของพระไตรปิฎก และอรรถกถาอย่างเคร่งครัด อันส่งผลให้พระและคฤหัสถ์จำนวนมากมีความเข้าใจในพระอภิธรรมและวิปัสสนากรรมฐานอย่างถูกต้องตามพระไตรปิฎกและอรรถกถา


ประวัติ อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ [จากเวปไซต์ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา]

เกิด วันพฤหัสบดีที่ ๑๓ มกราคม ๒๔๖๙ เป็นบุตรีของ หลวงบริหารวนเขตต์ (ฉัตร ชูเกียรติ) และนางบริหารวนเขตต์ (เจริญ ปุณณสันถาร) สถานที่ จังหวัดอุบลราชธานี

การศึกษา

- ระดับประถมและมัธยม โรงเรียนเซนต์แมรี่ ถนนสาธรใต้

- ระดับมัธยมตอนปลาย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

- ระดับอุดมศึกษา คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจนถึงปีที่ ๒

การทำงาน

- สอนที่โรงเรียนดาราวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่

- สอนภาษาไทยให้แก่ชาวต่างประเทศ ที่โรงเรียนสอนภาษาไทยของมิชชันนารี

- สอนภาษาไทยที่โรงเรียนของตนเอง ชื่อ Thai Language School (โรงเรียนไทยศึกษาสัมพันธ์)

การศึกษาธรรม

- พ.ศ. ๒๔๙๖ ศึกษาพระอภิธรรมที่พุทธสมาคม กับ อาจารย์แนบ มหานีรานนท์ อาจารย์บุญมี เมธางกูร คุณพระชาญบรรณกิจ คุณหญิงระเบียบ สุนทรลิขิต

การเผยแพร่ธรรม

พ.ศ. ๒๔๙๙
บรรยายธรรมที่สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ และทัณฑสถานหญิง คลองเปรม

พ.ศ. ๒๕๐๖
บรรยายพระอภิธรรมที่ศูนย์ค้นคว้าทางพระพุทธศาสนา และ สมาคมสังเคราะห์ทางจิต ที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

พ.ศ. ๒๕๑๐ – พ.ศ. ๒๕๑๙
บรรยาย “แนวทางเจริญวิปัสสนา” ที่ตำหนักสมเด็จ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์

พ.ศ. ๒๕๑๙ – พ.ศ. ๒๕๔๓
บรรยาย “แนวทางเจริญวิปัสสนา” มหามกุฎราชวิทยาลัย วัดบวรนิเวศวิหาร

บรรยายพระอภิธรรมแก่ชมรมพุทธศาสตร์ของสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โรงเรียนนายเรืออากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นต้น รวมทั้งหน่วยงานราชการหลายแห่ง เช่น กองบิน ๒ จังหวัดลพบุรี โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ฯลฯ นอกจากนี้ยังได้ร่วมสนทนาธรรมและตอบปัญหาธรรมแก่ภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

พ.ศ. ๒๕๒๐ ได้รับเชิญไปร่วมสัมมนาธรรม ที่ประเทศศรีลังกา

พ.ศ. ๒๕๓๕ และ พ.ศ. ๒๕๔๓
ได้รับเชิญไปเผยแพร่พระธรรม ที่ประเทศกัมพูชา

พ.ศ. ๒๕๔๑, ๒๕๔๓, ๒๕๔๕
ได้รับเชิญไปเผยแพร่พระธรรม ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

พ.ศ. ๒๕๔๕
ได้รับเชิญจากคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ให้บรรยายเชิงอภิปราย เรื่อง “การสนทนาธรรม เพื่อการรู้จักตัวเอง”

พ.ศ. ๒๕๔๓
สนทนาธรรม “แนวทางเจริญวิปัสสนา” ที่อาคารสำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา จนถึงปัจจุบัน

พ.ศ. ๒๕๕๕ - พ.ศ. ๒๕๖๑
ได้รับเชิญไปเผยแพร่พระธรรม ที่ประเทศเวียดนาม ที่ผ่านมา ๑๒ ครั้ง

พ.ศ. ๒๕๖๑
ได้รับเชิญไปเผยแพร่พระธรรม ที่ประเทศไต้หวัน

หนังสือ

๑. ปรมัตถธรรมสังเขป (เป็นหนังสือเพียงเล่มเดียวที่ท่านอาจารย์เขียนขึ้น ไม่ใช่การคัดจากการสนทนาธรรม)

๒. สนทนาธรรม (กับวันทนา ทิพยวัลย์ และประชุมพร ชาญสุวิทยานันท์)

๓. ตอบปัญหาธรรม

๔. พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน โดย นีน่า วัน กอร์คอม (แปลอังกฤษ -ไทย)

๕. บุญญกิริยาวัตถุ (คัดจากสนทนาธรรม)

๖. เมตตา

๗. พระพุทธเจ้าเสวยเนื้อหรือไม่

๘. สนทนาธรรมกับชาวกัมพูชา

๙. แด่ผู้มีทุกข์

๑๐. ธรรมเตือนใจแด่คุณประมาท

๑๑. เกิด แก่ เจ็บ ตาย

๑๒. สนทนาธรรมร่วมกับคณะสนทนาธรรมที่วิหารรังสี

๑๓. สนทนาธรรมเรื่องพระพุทธศาสนา

๑๔. ปัจจัยสังเขป

๑๕. แนวทางเจริญวิปัสสนา

๑๖. บารมีในชีวิตประจำวัน

๑๗. ตอบปัญหาธรรม (ในโครงการอบรมพระวิปัสสนาจารย์ ที่วัดวังตะกู)

๑๘. ธรรมสัญจรที่กัมพูชา

๑๙. ธรรมบรรณาการในวันวิสาขบูชา ๒๙ พ.ค. ๒๕๔๒

เทป แผ่นซีดี แผ่นเอ็มพี ๓ บันทึกเสียง

๑. ชุด "มองมุมมุ่งธรรม"

๒. ชุด "พระพุทธเจ้าเสวยเนื้อหรือไม่"

๓. ชุด "ปฏิจจสมุปบาท"

๔. ชุด "ธรรมในชีวิตประจำวัน"

๕. ชุด "บ้านเมืองทองฯ"

๖. ชุด "บารมีในชีวิตประจำวัน"

๗. ชุด "จิตปรมัตถ์"

๘. ชุด "กรรม"

๙. ชุด "สมถภาวนา"

๑๐. ชุด "สนทนาธรรมที่อเมริกา"

๑๑. ชุด "เมตตา"

๑๒. ชุด "วินัยคฤหัสถ์"

๑๓. ชุด "โสภณธรรม"

๑๔. ชุด "บทสนทนาธรรม"

๑๕. ชุด "ปัฏฐาน" (ปัจจัย ๒๔)

๑๖. ชุด "แนวทางเจริญวิปัสสนา"

๑๗ ชุด "การปฏิบัติธรรม"

๑๘. ชุด "สนทนาธรรมที่อินเดีย"

๑๙. ชุด "ปกิณณกธรรม"

๒๐. ชุด "พื้นฐานพระอภิธรรม"

การเผยแพร่พระธรรมทางสถานีวิทยุ

- กรุงเทพมหานคร อสมท., รัฐสภา เอฟ.เอ็ม., สวพ., สทร. ๒, พล.๑, ทอ. ๐๑

- กำแพงเพชร ทภ. ๓, ทภ. ๓ เอฟ.เอ็ม.

- ขอนแก่น รด., มจร. เอฟ.เอ็ม.

- เชียงใหม่ วปถ. ๒, ทภ. ๓ เอฟ.เอ็ม.

- เชียงราย ทอ. ๐๑๕, ทภ.๓

- นครสวรรค์ ทภ.๓

- น่าน ทภ.๓ เอฟ.เอ็ม.

- นครพนม ทภ. ๒

- นครศรีธรรมราช ทภ. ๔

- เพชรบูรณ์ ทภ.๓ เอฟ.เอ็ม.

- พิษณุโลก ทภ.๓

- แพร่ ทภ.๓, ทภ. ๓ เอฟ.เอ็ม.

- พะเยา ทภ.๓, ทภ. ๓ เอฟ.เอ็ม.

- พิจิตร ทภ. ๓

- ภูเก็ต ๑ ปณ. เอฟ.เอ็ม.

- ลำปาง ทภ.๓ เอฟ.เอ็ม.

- ลำพูน ทภ. ๓ เอฟ.เอ็ม.

- สุพรรณบุรี ทภ. ๑

- สุราษฎร์ธานี สวท.เอฟ.เอ็ม.

- สิงห์บุรี ชุมชน เอฟ.เอ็ม.

- สุโขทัย ทภ. ๓, ทภ. ๓ เอฟ.เอ็ม.

- อุดรธานี ยานเกราะ, ทภ. ๓ เอฟ.เอ็ม.

- อุบลราชธานี ทอ. ๐๘

การเผยแพร่พระธรรมทางสถานีโทรทัศน์

- รายการบ้านธัมมะ ช่อง ๑๑ กรมประชาสัมพันธ์

- รายการบ้านธัมมะ ช่อง TNN2

- สถานีโทรทัศน์รัฐสภา ช่อง 20

-สถานีโทรทัศน์ Dr.TV ช่อง 272

(ภาพหลวงบริหารวนเขตต์)

(ภาพหลวงบริหารวนเขตต์ คุณซาร่าห์ และ ท่านอาจารย์ ณ ประเทศอังกฤษ)

เกียรติประวัติ

พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้รับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในฐานะที่เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา

พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้รับปริญญาศาสนศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (พุทธศาสตร์) จากมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย

พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้รับรางวัลสตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนา ในวันสตรีสากลขององค์การสหประชาชาติ

พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้รับปริญญาศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (พุทธศาสตร์) จากมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย

พ.ศ. ๒๕๕๒ ได้รับโล่และประกาศเกียรติคุณรางวัลพุทธคุณูปการ ระดับกาญจนเกียรติคุณ ลงนามโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ประธานคณะกรรมการผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช) และนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาและประธานผู้แทนราษฎร ดำเนินการโดยคณะกรรมมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมสภาผู้แทนราษฎร

ปัจจุบัน

ประธานกรรมการ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

ท่านอาจารย์เล่าประวัติบางส่วนของท่านไว้ในรายการสนทนาปัญหาสารพัน ตามลิงก์ด้านล่าง :

Biographical Sketch of Ms. Sujin Boriharnwannaket, President of the Dhamma Study and Support Foundation

Birth Date: January 13, 1927.

Place of Birth: Ubon Ratchathani, Thailand.

Education:

- Saint Mary’s School, South Sathorn Rd. (primary and secondary education)

- Triam Udom Suksa School (Chulalongkorn University Preparatory School)

- Faculty of Commerce and Accountancy, Chulalongkorn University (sophomore level)

Previous Work Experience:

- Teaching at Dara Academy, Chiangmai

- Teaching Thai to foreigners at the Union Language School

- Teaching Thai at the Thai Language School

Dhamma Study:

- 1953 studied Abhidhamma at the Buddhist Association with Mrs.Naeb Mahaneranon, Mr.Boonmee Methangkul

Previous Dhamma Lectures:

- 1956 Dhamma lectures at the National Culture Congress and at the Women’s Correctional Facilty, Department of Corrections, Klongprem, Bangkok

- 1963 Lectured on Abhidhamma at the Buddhist Research Center at Wat Saket Ratcha Wora Maha Wihan

- 1967-1976 Lectured on "The Foundation for Developing Right Understanding" at the Somdej’s Residence, Mahatat-Yuwarachrangsarit Temple

1976-2000 Gave lectures on "The Foundation for Developing Right Understanding" at the Mahamakut Buddhist University, Wat Bowonniwet Viharalectured on Abhidhamma at Buddhist societies in various universities such as: Chulalongkorn University, Thammasat University, Srinakharinwirot University, Kasetsart University, The Royal Thai Airforce Academy, and others lectured on Dhamma to many government departments, including the 2nd Wing Division of the Royal Thai Airforce, Lopburi, Siriraj Hospital, Bhumibol Adulyadej Hospital, Phra Mongkut Klao Hospital and others

- 1976 to the present, lectures on Abhidhamma to members of Buddhist Assemblies at various universities, and has presided over Q&A sessions with Buddhist monks, novices, and lay devotees at a number of places in Bangkok and other provinces

- 1977 Invited to participate in a Conference on Buddhist Dhamma in Sri Lanka

- 1992 and 2000 Invited to present Dhamma instruction in the Kingdom of Cambodia

- 1998, 2000, 2002 Invited to Dhamma talks in the U.S.A.

- 2000 to present Dhamma talks on "The Foundation for Developing Right Understanding" at the Dhamma Study and Support Foundation

- 2002 the Committee of Religion, Art and Culture, The House of Representatives, invited Ms.Sujin and scholars from the Dhamma Study and Support Foundation to hold Dhamma Discussions at Parliament House.

- 2012 to present Invited to Dhamma talks in Vietnam.

- 2018 Invited to Dhamma talks in Taiwan.

Ms. Sujin Boriharnwanaket has written more than fifteen books on Buddhism including “A Survey of Paramattha Dhamma” and “The Conditionality of Life”. Her lectures are broadcast from more than twenty broadcasting stations throughout Thailand.

Honors Received:

- 1985 Granted an emblem of honor by Her Royal Highness Princess Sirindhorn in recognition of the great benefits derived from her total dedication to Buddhism

- May 30, 2002 Honorary Masters Degreee in Religious Studies (Buddhism) from Mahamakut Buddhist University

- March 7, 2007 Outstanding Award for Women in Buddhism, on the Occasion of International Women’s Day by the United Nations

- May 25, 2008 Honorary Doctorate Degree in Religious Studies (Buddhism) from Mahamakut Buddhist University

- April 22, 2009 Emblem of Honor presented by the Committee for Religion, Art and Culture of the House of Representatives

Present Position: Chairman of the Board of Directors of the Dhamma Study and Support Foundation, registration no. 2522, August 1, 1984

address: 174/1 Charoen Nakorn 78, Dao Khanong, Thonburi, Bangkok 10600, Thailand; Tel: +662-468-0239;

website: www.dhammahome.com

ท่านอาจารย์เล่าประวัติบางส่วนของท่านไว้ในรายการสนทนาปัญหาสารพันตามลิงก์ด้านล่าง :


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
natthayapinthong339
วันที่ 12 ม.ค. 2565

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
bigcat001
วันที่ 12 ม.ค. 2565

กราบเคารพ บูชา ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยจิตนอบน้อมสูงสุดและขออธิษฐานจิตให้เกิดมาได้ฟังพระธรรม ตลอดไป

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
petsin.90
วันที่ 12 ม.ค. 2565

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Kalaya
วันที่ 12 ม.ค. 2565

กราบแทบเท้าท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ขอตอบแทนพระคุณความรู้ที่ท่านอาจารย์ได้เมตตาอบรมสั่งสอน พระธรรมตลอดมา 2ปีที่มีโอกาสได้พบพระธรรมคำจริง ด้วยบทกลอน มอบแด่ท่านอาจารย์ค่ะ

13 มกรา มาบรรจบ อีกหนึ่งวัน ที่ได้พบ พุทธศาสนา

ท่านอาจารย์ กล่าวพระธรรม ตลอดมา ท่านกล่าวคำ คุณค่า ตามความจริง

2563 กุมภา ที่บ้านธัมมะ วันเริ่มเรียน ปรมัตถ์ ธรรมคำสอน

ร่วมพากเพียร สนทนา ถามวิทยากร ในกลุ่มLINE ZOOMสอน ยุคONLINE

ศึกษาธรรม ทำดี ท่านอาจารย์กล่าว ไม่มีเรา เพียงรูปนาม เกิดสะสม

หลงมีเรา ยึดถือ หลงทางตน เมื่อเกิดขึ้น รู้ระลึก จึงพ้นภัย

2565 95ปี ขอให้ท่านแข็งแรง ดุจดังแสง เทียนส่อง ทองสดใส

เหนือจรดใต้ สอนธรรม ตลอดไป เพื่อสืบสาน พระธรรม ธรรมวินัย

น้อมเคารพ ท่านอาจารย์ ณ วันนี้ ท่านได้ชี้ จิตเจตสิก อกุศล

รูปธรรม กิจการงาน ใช่บุคคล รู้ความจริง ให้ซาบซึ้ง อนัตตา

กัลยา จันทรา (ครูโรงเรียนจักรคำคณาทร จังหวัดลำพูน)

บ้านธัมมะภาคเหนือ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 12 ม.ค. 2565

กราบอนุโมทนาท่านอาจารย์ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Sea
วันที่ 12 ม.ค. 2565

กราบบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paderm
วันที่ 12 ม.ค. 2565

กราบเท้าบูชาคุณท่าน อ.สุจินต์ บริหารวนเขตต์ อย่างสูงครับ ที่ทำให้กระผมมีความเข้าใจถูก แม้เพียงเล็กน้อยแต่ถูกทาง ตามคำขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันเป็นหนทางที่ถูกที่เข้าใจธรรมในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา กราบเท้าท่านอาจารย์ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
mammam929
วันที่ 12 ม.ค. 2565

กราบบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ท่านเมตตาแสดงพระธรรมให้เข้าใจถูกและเห็นถูกตามเป็นจริงค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
khampan.a
วันที่ 12 ม.ค. 2565

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ปาริชาตะ
วันที่ 13 ม.ค. 2565

ขอกราบเท้าท่าน อาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
นายสมพง์
วันที่ 13 ม.ค. 2565

ก้มกราบท่านอาจารย์ด้วยหัวใจครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
นายสมพงค์
วันที่ 15 พ.ย. 2565

อาจารย์สุจินต์ได้บรรยายพระอภิธรรมและวิปัสสนากรรมฐาน ให้เป็นที่เข้าใจได้ง่ายสำหรับคนสมัยปัจจุบัน และสามารถนำมาปฏิบัติเป็นปกติในชีวิตประจำวันตามความเป็นจริงของแต่ละคน ทั้งชีวิตแบบบรรพชิตและคฤหัสถ์ โดยไม่ต้องกระทำสิ่งใดให้ผิดปกติขึ้นมา และไม่ต้องปลีกตัวหลีกหนีจากหน้าที่การงานและสังคม อีกทั้งท่วงทำนองและน้ำเสียงการบรรยายที่ชัดเจน กังวาน และมีเหตุผลสืบเนื่องต่อกันตามลำดับ ชวนแก่การสนใจและติดตาม อนึ่ง ประการที่สำคัญที่สุดคือ การบรรยายธรรมของอาจารย์สุจินต์ เป็นการบรรยายโดยยึดถือตามหลักธรรมของพระไตรปิฎก และอรรถกถาอย่างเคร่งครัด อันส่งผลให้พระและคฤหัสถ์จำนวนมากมีความเข้าใจในพระอภิธรรมและวิปัสสนากรรมฐานอย่างถูกต้องตามพระไตรปิฎกและอรรถกถา

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
lokiya
วันที่ 26 ส.ค. 2566

กราบอนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ