ต้องการกินมื้อเดียว แต่ไม่ได้บวช ควรทำอย่างไร?

 
teezaboo
วันที่  4 ม.ค. 2565
หมายเลข  41872
อ่าน  547

ต้องการกินมื้อเดียว แต่ไม่ได้บวช ครอบครัวไม่เห็นด้วย เพราะกลัวเราผอม ควรทำอย่างไร จุดประสงค์การกินมื้อเดียว คือต้องการปฏิบัติอานาปานสติ คือผู้มีท้องพร่อง

ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุผู้มุ่งประพฤติ กระทำ อานาปานสติ ซึ่งประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมแทงตลอด อกุปปธรรม ได้ต่อกาลไม่นานเทียว.

๕ ประการอย่างไรเล่า?

ภิกษุทั้งหลาย!  ๕ประการคือในกรณีนี้ภิกษุ

๑. เป็นผู้มีความต้องการน้อย มีกิจน้อย เลี้ยงง่ายสันโดษในบริกขารแห่งชีวิต

๒. เป็นผู้มีอาหารน้อย ประกอบตนอยู่ในความ เป็นผู้มีท้องอันพร่อง

๓. เป็นผู้ไม่มีความมึนชา ประกอบตนอยู่ในความตื่น

๔. เป็นผู้มีสุตะมาก ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ คือธรรมเหล่าใดอันงดงามในเบื้องต้น งดงามในท่ามกลางงดงามในที่สุด แสดงอยู่ซึ่งพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง พร้อมทั้งอรรถะและพยัญชนะ ธรรมมีลักษณะเห็นปานนั้น เป็นธรรมที่เธอสดับแล้วมาก ทรงจำ ไว้ คล่องปากขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ

๕. พิจารณาเห็นเฉพาะอยู่ซึ่งจิตอันหลุดพ้นแล้ว (ตามลำดับ) อย่างไร.

ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุผู้มุ่งประพฤติกระทำ อานาปานสติ ซึ่งประกอบด้วยธรรม ๕ ประการเหล่านี้แล ย่อมแทงตลอดอกุปปธรรม ได้ต่อกาลไม่นานเทียว


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 5 ม.ค. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ผิดตั้งแต่ต้น ครับ คือ ลืมอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ คิดจะเลือกอารมณ์ก็ผิดครับ คือ เลือกที่จะเจริญอานาปานสติ ไม่รู้เลยว่าถูกโลภะ ความต้องการหลอกลวง เพราะอยากได้ผล อานิสงส์ของการเจริญอานาปานสติ จึงจะเลือกทำอานาปานสติ และเมื่อเจอพระสูตรที่จะเกื้อกูลอานาปานสติ ก็จะทำ เลือกจะทานมื้อเดียว แต่ไม่มีความเข้าใจเบื้องต้น ในความเป็นอนัตตาเลย และแม้แต่คำว่า ธรรมคืออะไร ตั้งแต่ต้น ก็ไม่มี ก็ผิดตั้งแต่ต้นนั่นเอง ครับ

อานาปานสติคืออะไร อานาปานสติ คือ สติที่ระลึกรู้เป็นไปในลมหายใจ ซึ่งก็ต้องเป็นผู้ละเอียดว่า ไม่ใช่มีแต่สติเท่านั้น แต่ต้องมีปัญญาด้วย ซึ่งอานาปานสติมีทั้งที่เป็นในสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา

อานาปานสติ มีประโยชน์อย่างไร ถ้าอบรมถูก ด้วยความเข้าใจถูก หากอบรมโดยนัยสมถภาวนาก็ถึงฌานขั้นสูงสุด แต่ไม่สามารถดับกิเลสได้ แต่ถ้าอบรมโดยนัยวิปัสสนา ย่อมถึงการดับกิเลส เป็นพระอรหันต์ได้ครับ

ทำอย่างไร ก็ต้องเข้าใจเบื้องต้น ว่าใครทำ เราหรือธรรม หากไม่มีความเข้าใจเบื้องต้น แม้แต่คำว่า ธรรมคืออะไรให้ถูกต้อง ไม่ต้องกล่าวถึงอานาปานสติ แม้แต่การเจริญสติปัฏฐานที่เป็นปกติในชีวิตประจำวันก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่จะทำ แต่เป็นเรื่องที่จะค่อยๆ เข้าใจ ซึ่งในพระไตรปิฎกแสดงถึงเรื่องอานาปานสติ ว่าเป็นอารมณ์ของมหาบุรุษ คือผู้ที่ปัญญามาก สะสมบารมีมามาก จึงจะอบรมอานาปานสติได้ เพราะอานาปานสติเป็นอารมณ์ที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง หากอยากจะทำ ก็ไม่มีทางถึงเพราะด้วยความต้องการ ไม่ใช่ด้วยความเข้าใจครับ

ขณะนี้ กำลังหายใจ แต่ไม่รู้เลยว่ากำลังหายใจอยู่ และหากบอกว่ารู้ไหมที่กำลังหายใจขณะนี้ ก็ตอบได้ว่ากำลังหายใจ แต่การรู้ว่ากำลังหายใจอยู่ ไม่ใช่เป็นการเจริญวิปัสสนาที่เป็นอานาปานสติเลยครับ ซึ่งการเจริญวิปัสสนา ต้องมีสภาพธรรมที่มีจริงเป็นอารมณ์ให้สติและปัญญารู้ นั่นคือ ขณะที่หายใจ มีอะไรปรากฏที่กำลังหายใจ ขณะที่มีลมกระทบ ก็มี เย็น ร้อน เป็นต้น สภาพธรรมเหล่านี้มีจริง ก็รู้ความเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ขณะที่หายใจ เช่น เย็นก็เป็นธรรมไม่ใช่เราขณะที่สติและปัญญาเกิดในขณะนั้นครับ ทีละขณะ แต่ละสภาพธรรมครับ

อานาปานสติ เป็นอารมณ์ที่ละเอียด แต่ก็ต้องไม่ลืมคำนี้เสมอ คำว่า "อนัตตา" บังคับบัญชาไม่ได้ การอบรมโดยนัยสมถและวิปัสสนา ไม่มีตัวตนที่จะเลือกอารมณ์ เช่น จะเลือกเป็นไปในอานาปานสติ เป็นต้น แล้วแต่สติและปํญญาว่าจะเกิดระลึกรู้สภาพธัมมะอะไร ซึ่งอาจรู้สภาพธัมมะที่มีจริงในขณะนี้ เช่น เห็น ได้ยิน เสียง เป็นต้น ก็ได้ครับ ขอให้เข้าใจความจริงก่อนนะครับว่า การศึกษาพระไตรปิฎกไม่ว่าในส่วนใดหรืออภิธรรมก็เพื่อเข้าใจความจริงของสภาพธัมมะที่มีในขณะนี้ว่าไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงธรรม และอภิธรรมก็มีอยู่ในขณะนี้เองครับ เพียงแต่ว่า เราจะรู้ชื่อหรือจะเข้าใจความจริงของอภิธรรมที่มีอยู่ในขณะนี้ รู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา นี่คือจุดประสงค์ของการอบรมปัญญาดับกิเลสครับ แม้ขณะที่หายใจก็มีสภาพธัมมะที่มีจริง คือ เย็น ร้อน ที่อาศัยเนื่องอยู่กับลมหายใจ แต่ก็แล้วแต่สติว่าจะเกิดระลึกสภาพธัมมะอะไรครับ แต่เบื้องต้นในการอบรมปัญญาและการศึกษาธัมมะที่ถูก คือเพื่อเข้าใจความจริงของสภาพธัมมะที่มีในขณะนี้ว่าเป็นธรรม เพราะอภิธรรมอยู่ในชีวิตประจำวัน

เรื่องที่สำคัญที่สุดคือ ความเข้าใจถูก นั่นคือ ปัญญา ซึ่งปัญญาจะเจริญได้ก็ต้องเริ่มจากปัญญาขั้นการฟัง ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจเป็นเบื้องต้น เพราะเมื่อมีความเข้าใจเบื้องต้น ก็สามารถทำให้เข้าใจในคำแต่ละคำและหนทางปฏิบัติที่ถูกต้อง แม้แต่เรื่องของ อานาปานสติ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 5 ม.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 5 ม.ค. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ไม่บวช นั้น ตรงแล้ว ที่เห็นว่าตนเองยังไม่ได้มีอัธยาศัยใหญ่จริงๆ ที่พร้อมที่จะสละทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของคฤหัสถ์เพื่อมุ่งสู่เพศที่สูงยิ่ง ดังนั้น แม้ไม่ได้บวช ก็ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมคุณความดีทุกประการ ได้ ประการที่สำคัญ คือ ไม่ไปในทางที่ผิด เพราะเหตุว่า พระธรรมละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง ถ้าเข้าใจผิด นั่น เป็นอันตรายอย่างยิ่ง จึงต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ศึกษา ไตร่ตรองในเหตุในผลตรงตามความเป็นจริง ไม่ขาดการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เมื่อเข้าใจถูกต้อง ก็ละทิ้งสิ่งที่ผิดได้ เพราะการที่จะเข้าใจธรรม ก็เข้าใจในขณะนี้ ไม่ใช่การไปทำอะไรที่ผิดปกติ ด้วยความหวังความต้องการ หรือ ด้วยความเป็นตัวตน ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ....

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
teezaboo
วันที่ 6 ม.ค. 2565

กราบขอบคุณ และอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 6 ม.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Pornkamol
วันที่ 7 ม.ค. 2565

กราบอนุโมทนาค่ะ

สาธุ สาธุ สาธุ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ