รู้สึกผิดต่อลูกแมวที่หาบ้านให้

 
GG0000
วันที่  21 ธ.ค. 2564
หมายเลข  41761
อ่าน  1,251

เคยหาบ้านให้ลูกแมวที่เกิดกับแม่แมวจร และพาไปส่งที่คนรับเลี้ยงอีกจังหวัด จำภาพได้ว่าลูกแมวน่ารักมากนอนในตะกร้าไป ไม่ร้อง ไม่บ่น เจ้าของใหม่ส่งภาพกลับมาเมื่อลูกแมวถึงบ้านใหม่ ลูกแมวดูมีความสุขมาก วิ่งเล่นลูกบอล
ต่อมาได้ติดต่อกลับไปที่เจ้าของใหม่ว่าแมวเป็นอย่างไรบ้าง เจ้าของบอกว่าลูกแมวถูกหมากัดตาย เจ้าของคนใหม่กล่าวขอโทษมา

ตัวเองรู้สึกสงสารแมวน้อยมากค่ะ รู้สึกผิด เหมือนกับพาเค้าเดินทางข้ามจังหวัดหลายชั่วโมง เพื่อพาเค้าไปตาย จำแต่ภาพที่เค้านอนเรียบร้อยในตะกร้าระหว่างเดินทาง และภาพที่ไปถึงบ้านใหม่คืนแรก (เจ้าของส่งมาให้ดู) ที่กำลังเล่นสนุกกับลูกบอล แล้วสงสารที่สุดค่ะ คิดว่าเค้าได้ชีวิตใหม่ ได้บ้านที่ดีแล้ว แต่ก็มาเสียตอนอายุน้อย

ขอคำแนะนำด้วยค่ะ ว่าเราควรวางใจอย่างไร ขอบพระคุณมากค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 21 ธ.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆ ตน ซึ่งสำหรับเรื่องที่กล่าวมา ไม่ได้เป็นบาป เพราะไม่ได้มีเจตนาทำร้าย ไม่ได้มีเจตนาเบียดเบียนแต่อย่างใด ส่วนสัตว์จะตาย หรือไม่ตายนั้นก็ตามกรรมของสัตว์ตราบใดที่ยังมีกิเลส ก็ยังจะต้องมีทุกข์เป็นธรรมดา ไม่ว่าใคร หรือ บุคคลใด ผู้ที่ไม่ทุกข์อีกเลย คือ ผู้ที่ดับกิเลสจนหมดสิ้น เพราะฉะนั้น หนทางที่ถูก ที่จะแก้ทุกข์ คือ เข้าใจทุกข์ที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดา อยู่กับความทุกข์ด้วยความเข้าใจ เข้าใจว่าจะต้องทุกข์ วิธีแก้ทุกข์ จะต้องมีปัญญาความเข้าใจถูก ซึ่งปัญญาจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม จากพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง

ซึ่งควรพิจารณาความจริงว่า สัตว์แต่ละชีวิตก็มีกรรมเป็นของๆ ตน สัตว์ตายหรือใครจะตายก็เพราะ กรรมของตนเอง ไม่มีใครจะสามารถทำให้ใครตายได้ เมื่อสัตว์เกิด สุนัขเกิด ก็มาด้วยกรรมของสัตว์นั้นเอง และ เมื่อตายก็ตายด้วยกรรมของสัตว์ต่างคนต่างมา ต่างคนก็ต่างไป ที่สำคัญที่สุด เมื่อสัตว์ตายแล้วก็ต้องเกิดทันทีเพราะฉะนั้น สุนัขที่ตายไปแล้ว ก็เกิดแล้ว เขาก็อาจเกิดในสถานที่ดีๆ ควรจะเศร้าโศก ถึงสัตว์ สุนัข ที่ไปในสถานที่ หรือ เกิดในที่ดีแล้วหรือไม่

หากจะเศร้าโศกถึงสัตว์ที่จากไป ก็ควรคิดถึงตนเองที่จะต้องจากไป ดังเช่นสัตว์นั้น ควรที่จะไม่ประมาทในชีวิต ที่จะศึกษาธรรม อบรมปัญญา ในช่วงเวลาที่มีชีวิตที่เหลือน้อย ความตายก็ใกล้มาทุกขณะ ความตายของผู้อื่น ย่อมเป็นเครื่องเตือนให้น้อมเข้ามาในตนว่า ควรใช้ชีวิตที่ไม่ประมาท สิ่งที่ติดตัวไปได้ คือ ความดี และความไม่ดี แต่สิ่งที่เป็นที่พึ่ง คือ กุศล บุญที่กระทำ และสัตว์ หรือ ญาติที่เสียชีวิตไป สิ่งที่เป็นประโยชน์กับเขา คือ ไม่ใช่ความเศร้าโศกของเรา แต่ คือ การทำบุญ อุทิศส่วนกุศลไปให้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้รับ คือ ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 21 ธ.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อเราไม่ได้มีเจตนาที่จะฆ่าหรือไม่มีเจตนาที่จะเบียดเบียนเขา บาปสำหรับเรา ย่อมไม่มี

ที่น่าพิจารณา คือ สภาพธรรมเกิดเพราะเหตุปัจจัยจริงๆ ชีวิตประจำวันจึงไม่พ้นไปจากธรรม ขณะที่เศร้าโศกเสียใจมีจริงๆ เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น บุคคลผู้ที่ยังมีความเศร้าโศกอยู่นั้นก็เพราะยังมีกิเลส ยังมีความติดข้อง ยินดีพอใจ ยังมีอวิชชาอยู่ จึงต้องมีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา เมื่อมีความติดข้อง ผลที่ตามมาคือ ความเศร้าโศกเสียใจเมื่อสิ่งที่ติดข้องนั้นพลัดพรากจากไป แต่เมื่อได้อาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ย่อมจะทำให้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน และเป็นความจริงที่ว่าขึ้นชื่อว่าสัตว์โลกแล้ว ล้วนมีความตายเป็นเบื้องหน้า ด้วยกันทั้งนั้น เมื่อมีชาติ ชราย่อมติดตาม พยาธิก็ครอบงำและท้ายที่สุดก็ถูกมรณะคือความตายห้ำหั่น ไม่มีใครรอดพ้นได้เลย

จากกรณีการตายของสัตว์อื่น ของคนอื่น ก็สามารถพิจารณาได้ว่า ในที่สุดเราก็จะตายเหมือนกัน ไม่ใช่ตายแต่คนอื่น ก็จะเป็นเครื่องเตือนใจตนเองอยู่เสมอ เพื่อเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต ไม่ประมาทกำลังของอกุศล และไม่ประมาทในการเจริญกุศล ซึ่งรวมถึงการอบรมเจริญปัญญาเพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกยิ่งๆ ขึ้นไปด้วย เพราะเมื่อวาระสุดท้ายของชีวิตในภพนี้ชาตินี้มาถึง ต้องบ่ายหน้าไปสู่ความตาย ไม่มีใครสามารถที่จะขอร้อง หรือผัดเพี้ยนได้เลย ครับ.

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 21 ธ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Pornkamol
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

สาธุ สาธุ สาธุค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ทรงศักดิ์
วันที่ 22 ธ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
GG0000
วันที่ 26 ธ.ค. 2564

ขอบพระคุณมากค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ