พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. นันทุตตราเถรีคาถา

 
บ้านธัมมะ
วันที่  21 พ.ย. 2564
หมายเลข  40725
อ่าน  295

[เล่มที่ 54] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 146

เถรีคาถา ปัญจกนิบาต

๕. นันทุตตราเถรีคาถา


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 54]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 146

๕. นันทุตตราเถรีคาถา

[๔๔๓] ข้าพเจ้าไหว้ไฟ พระจันทร์ พระอาทิตย์และเทวดา ไปสู่ท่าน้ำแล้วลงดำน้ำ ข้าพเจ้าสมาทานวัตรเป็นอันมาก โกนศีรษะเสียครึ่งหนึ่ง นอนบนแผ่นดิน ไม่บริโภคภัตตาหารในราตรี แต่ยังยินดีการตกแต่งและการประดับ บำรุงกายนี้ด้วยการอาบน้ำและขัดสี ถูกกามราคะครอบงำแล้ว ต่อมา ข้าพเจ้าได้ศรัทธาในพระศาสนา บวชเป็นบรรพชิต เห็นกายตามความเป็นจริง จึงถอนกามราคะได้ ตัดภพความอยากและความปรารถนาได้ทั้งหมด ไม่เกาะเกี่ยวด้วยกิเลสเครื่องประกอบทุกอย่าง บรรลุความสงบใจแล้ว.

จบ นันทุตตราเถรีคาถา

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 147

๕. อรรถกถานันทุตตราเถรีคาถา

    คาถาว่า อคฺคึ จนฺทญฺจ เป็นต้น เป็นคาถาของพระเถรีชื่อนันทุตตรา.

    แม้พระเถรีชื่อนันทุตตราองค์นี้ ก็ได้สร้างสมบุญบารมีไว้ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในภพนั้นๆ ในพุทธุปปาทกาลนี้ เกิดในตระกูลพราหมณ์ ในกัมมาสธัมมนิคมแคว้นกุรุ เรียนวิชาพื้นฐานและศิลปศาสตร์บางอย่าง เข้าบวชเป็นนิครนถ์ ขวนขวายในการกล่าวโต้ตอบ ถือกิ่งหว้าเที่ยวไปในพื้นชมพูทวีป เหมือนพระภัททากุณฑลเกสาเถรี เข้าไปหาพระมหาโมคคัลลานเถระ ถามปัญหา ถึงความปราชัย ตั้งอยู่ในโอวาทของพระเถระ บวชในพระศาสนา บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย พิจารณาการปฏิบัติของตน ได้กล่าวคาถา ๕ คาถาเหล่านี้เป็นอุทานว่า

    ข้าพเจ้าไหว้ไฟ พระจันทร์ พระอาทิตย์และเทวดา ไปสู่ท่าน้ำแล้วลงดำน้ำ ข้าพเจ้าสมาทานวัตรเป็นอันมาก โกนศีรษะเสียครึ่งหนึ่ง นอนบนแผ่นดินไม่บริโภคภัตตาหารในราตรี แต่ยังยินดีการตกแต่งและการประดับ บำรุงกายนี้ด้วยการอาบน้ำและขัดสีถูกกามราคะครอบงำแล้ว ต่อมา ข้าพเจ้าได้ศรัทธาในพระศาสนา บวชเป็นบรรพชิต เห็นกายตามความเป็นจริง จึงถอนกามราคะได้ ตัดภพความอยากและ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 148

ความปรารถนาได้ทั้งหมด ไม่เกาะเกี่ยวด้วยกิเลสเครื่องประกอบทุกอย่าง บรรลุความสงบใจแล้ว.

    บรรดาบทเหล่านั้น. บทว่า อคฺคึ จนฺทญฺจ สูริยญฺจ เทวตาจ นมสฺสิหํ ความว่า ข้าพเจ้าเมื่อแสวงหาทางบริสุทธิ์ ได้ไหว้คือได้ทำการนอบน้อมไฟ โดยประคองเครื่องบูชา เพื่อให้เทวดาทั้งหลายมีพระอินทร์เป็นต้นโปรดปราน ด้วยคิดว่า เทวดาทั้งหลายมีไฟเป็นประมุข ไหว้พระจันทร์ในวันขึ้น ๒ ค่ำ ทุกๆ เดือน ไหว้พระอาทิตย์เช้าเย็นทุกๆ วัน ไหว้แม้พวกเทวดาภายนอกอื่นๆ มีพวกหิรัญญคัพภะเป็นต้น. บทว่า นทีติตฺถานิคนฺตฺวาน อุทกํ โอรุหามิหํ ความว่า ข้าพเจ้าเข้าไปยังท่าเป็นที่บูชาของแม่น้ำคงคาเป็นต้น ซึ่งประดิษฐานไว้อย่างดี ลงน้ำคือดำลงในน้ำ ชำระร่างกายเช้าเย็น.

    บทว่า พหูวตฺตสมาทานา ได้แก่ สมาทานวัตรมีอย่างต่างๆ ๕ประการ มีเผาผลาญกิเลสด้วยตบะเป็นต้น ที่ทีฆะเป็น พหู ก็เพื่อสะดวกในการแต่งฉันท์. บทว่า อฑฺฒํ สีสสฺส โอลิขึ ความว่า ข้าพเจ้าโกนศรีษะ.ของข้าพเจ้าเสียครึ่งหนึ่ง. อาจารย์บางท่านกล่าวเนื้อความของบทว่า อฑฺฒํสีสสฺส โอลิขึ ว่า เอาปอยผมครึ่งหนึ่งผูกเป็นชฎา อีกครึ่งหนึ่งปล่อยสยาย.บทว่า ฉมาย เสยฺยํ กปฺเปมิ ความว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้นอนบนแผ่นดินย่อมนอนบนพื้นดินซึ่งมีประโยชน์ไม่มีระหว่าง. บทว่า รตฺตึ ภตฺตํ นภุญฺชิหํ ความว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้งดอาหารในเวลากลางคืน ย่อมไม่บริโภคโภชนาหารในราตรี.

    บทว่า วิภูสาบณฺฑนรตา ความว่า ข้าพเจ้าลำบากกายเพราะอัตตกิลมถามุโยคมาเป็นเวลานาน คิดว่า เพราะร่างกายลำบากอย่างนี้

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 149

ความบริสุทธิ์แห่งปัญญาย่อมมีไม่ได้ แต่ถ้าร่างกายเอิบอิ่มเป็นที่ยินดีแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย ความบริสุทธิ์พึงมีได้ เมื่อจะอนุเคราะห์กายนี้จึงยินดีในการตกแต่งและการประดับ คือยินดียิ่งในการตกแต่งด้วยเครื่องตกแต่งคือผ้า และในการประดับด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น. บทว่า นฺหาปนุจฺฉาทเนหิ จได้แก่ ด้วยให้คนอื่นๆ นวดฟั้นเป็นต้นแล้วให้อาบน้ำและขัดสี. บทว่าอุปกาสึ อิมํ กายํ ความว่า อนุเคราะห์กายของเรานี้ คือให้อิ่มหนำ.บทว่า กามราเคน อฏฺฏิตา ความว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้มีร่างกายแข็งแรงเจริญถูกกามราคะที่กลุ้มรุมเพราะเหตุไม่มีโยนิโสมนสิการครอบงำแล้ว คือเบียดเบียนเนืองๆ .

    บทว่า ตโต สทฺธํ ลภิตฺวาน ความว่า ทำลายพรตที่สมาทานอย่างนี้แล้ว มีร่างกายแข็งแรงเจริญ เป็นผู้ขวนขวายในการกล่าวโต้ตอบเที่ยวไปในที่นั้นๆ หลังจากนั้น คือเวลาต่อมา ได้รับโอวาทและอนุสาสน์ในสำนักของพระมหาโมคคัลลานเถระ ได้ศรัทธา. บทว่า ทิสฺวา กายํ ยถาภูตํความว่า ข้าพเจ้าเห็นกายของข้าพเจ้านี้ตามความเป็นจริง ด้วยมรรคปัญญาพร้อมด้วยวิปัสสนา ถอนกามราคะได้ทั้งหมดด้วยอนาคามิมรรค. บทว่า สพฺเพภวา สมุจฺฉินฺนา อิจฺฉา จ ปตฺถนาปิ จ ประกอบความว่า ต่อจากนั้นภพทั้งหลาย ทั้งที่เป็นความอยาก กล่าวคือตัณหาในภพปัจจุบัน ทั้งที่เป็นความปรารถนา กล่าวคือตัณหาในภพต่อไป ข้าพเจ้าตัดได้หมดแล้วด้วยมรรคอันเลิศ. บทว่า สนฺตึ ปาปุณึ เจตโส ความว่า ถึง คือบรรลุความสงบคือพระอรหัตผล อย่างแน่นอน.

    จบ อรรถกถานันทุตตราเถรีคาถา