พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. สามาเถรีคาถา

 
บ้านธัมมะ
วันที่  21 พ.ย. 2564
หมายเลข  40707
อ่าน  354

[เล่มที่ 54] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 73

เถรีคาถา ทุกนิบาต

๑๐. สามาเถรีคาถา


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 54]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 73

๑๐. สามาเถรีคาถา

    [๔๒๙] เราทำใจให้อยู่ในอำนาจไม่ได้ จึงไม่ได้ความสงบใจ ต้องเข้าออกจากวิหาร ๔ ครั้ง ๕ ครั้ง เรานั้นถอนตัณหาขึ้นแล้วในวันที่ ๘ จากวันที่ได้รับโอวาทของพระอานนทเถระ เราอันความทุกข์เป็นอันมากถูกต้องแล้ว ยินดีแล้วในความไม่ประมาทบรรลุความสิ้นตัณหาแล้ว ได้ปฏิบัติคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว.

    จบ สามาเถรีคาถา

    จบทุกนิบาต

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 74

๑๐. อรรถกถาสามาเถรีคาถา

    คาถาว่า จตุกฺขตฺตุํ ปญฺจกฺขตฺตุํ เป็นต้น เป็นคาถาของพระเถรีชื่อสามา.

    แม้พระเถรีชื่อสามานี้ ก็ได้สร้างสมบุญบารมีไว้ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานในภพนั้นๆ ท่องเที่ยวอยู่ในในสุคติทั้งหลายนั่นแล ในพุทธุปปาทกาลนี้ เกิดในตระกูลคฤหบดีมหาศาลในกรุงโกสัมพี มีชื่อว่า สามา. นางสามานั้นรู้ความแล้ว เป็นสหายรักของอุบาสิกาสามาวดี เมื่ออุบาสิกาสามาวดีตาย เกิดความสังเวช บวชครั้นบวชแล้วไม่อาจบรรเทาความโศกที่เกิดขึ้นเพราะนึกถึงอุบาสิกาสามาวดี จึงไม่อาจยึดเอาอริยมรรคไว้ได้. กาลต่อมา นางได้ฟังโอวาทของพระอานนทเถระผู้นั่งอยู่บนอาสนศาลา เริ่มตั้งวิปัสสนา ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย ในวันที่ ๗ แต่วันนั้น. ครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว พิจารณาการปฏิบัติของตน เมื่อประกาศการปฏิบัตินั้น ได้กล่าวคาถาสองคาถาเป็นอุทานว่า

    เราทำใจให้อยู่ในอำนาจไม่ได้ จึงไม่ได้ความสงบใจต้องเข้าออกจากวิหาร ๔ ครั้ง ๕ ครั้ง เรานั้นถอนตัณหาขึ้นแล้วในวันที่ ๘ จากวันที่ได้รับโอวาทของพระอานนทเถระ เราอันความทุกข์เป็นอันมากถูกต้องแล้ว ยินดีแล้วในความไม่ประมาท บรรลุความสิ้นตัณหาแล้ว ได้ปฏิบัติคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 75

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จตุกฺขตฺตุํ ปญฺจกฺขตฺตุํ วิหาราอุปนิกฺขมึ ความว่า เรานั่งมนสิการวิปัสสนาอยู่ในวิหารอันเป็นที่อยู่ของเราไม่อาจทำสมณกิจให้ถึงที่สุดได้ จึงคิดว่า วิปัสสนาของเราสืบต่อกับมรรคไม่ได้เพราะไม่มีฤดูเป็นที่สบายหรือหนอ ได้ออกนอกวิหารซึ่งเป็นที่พักพิง ๔ครั้ง ๕ ครั้ง รวมเป็น ๙ ครั้ง เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อลทฺธาเจตโส สนฺตึ จิตฺเต อวสวตฺตินี ดังนี้. บทว่า เจตโส สนฺตึ ในคาถานั้น ท่านกล่าวหมายอริยมรรคสมาธิ. บทว่า จิตฺเต อวสวตฺตินี ความว่า ทำภาวนาจิตของเราให้เป็นไปในอำนาจไม่ได้ เพราะไม่มีความเพียรสม่ำเสมอ. ได้ยินว่า พระเถรีนั้น ประคับประคองความเพียรมากเกินไป. บทว่าตสฺสา เม อฏฺมี รตฺติ ความว่า พระเถรีไม่เกียจคร้านทั้งกลางคืนทั้งกลางวัน เจริญวิปัสสนาตั้งแต่ได้รับโอวาทในสำนักของพระอานนทเถระ ออกจากวิหารคืนหนึ่ง ๔ - ๕ ครั้ง ยังมนสิการให้เป็นไป ไม่บรรลุคุณวิเศษ ในราตรีที่ ๘ ได้ความเพียรสม่ำเสมอ ทำกิเลสทั้งหลายให้สิ้นไปตามลำดับมรรคเพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า ตสฺสา เม อฏฺมี รตฺติ ยโต ตณฺหาสมูหตา ดังนี้. คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.

    จบอรรถกถาสามาเถรีคาถา

    จบอรรถกถาทุกนิบาต