พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. นาคิตสูตร ว่าด้วยการไม่ติดยศและไม่ให้ยศติดตน

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ต.ค. 2564
หมายเลข  39097
อ่าน  312

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 56

ปฐมปัณณาสก์

ปัญจังคิกวรรคที่ ๓

๑๐. นาคิตสูตร

ว่าด้วยการไม่ติดยศ และไม่ให้ยศติดตน


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 56

๑๐. นาคิตสูตร

ว่าด้วยการไม่ติดยศ และไม่ให้ยศติดตน

[๓๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกไป ในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ได้เสด็จถึง พราหมณคามของชาวโกศล ชื่ออิจฉานังคละ ได้ยินว่า สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ ไพรสณฑ์ชื่ออิจฉานังคละ ใกล้บ้านพราหมณคาม ชื่ออิจฉานังคละ พราหมณ์ และคฤหบดี ชาวบ้านอิจฉานังคละ ได้สดับข่าวว่า พระสมณโคดมศากยบุตร ทรงผนวชจากศากยสกุล เสด็จถึงบ้านอิจฉานังคละ ประทับอยู่ที่ ไพรสณฑ์ชื่ออิจฉานังคละ ใกล้พราหมณคามชื่ออิจฉานังคละ ก็เกียรติศัพท์อันงาม ของท่านพระสมณโคดม พระองค์นั้น ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชา และจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม พระองค์ทรงทำโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วย พระปัญญาอันยิ่ง ของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรม ไพเราะในเบื้องต้น ไพเราะในท่ามกลาง ไพเราะในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ สิ้นเชิง ก็การได้เห็นพระอรหันต์ทั้งหลาย เห็นปานนั้น เป็นการดีแล ดังนี้ ครั้งนั้นพราหมณ์ และคฤหบดีชาวบ้านอิจฉานังคละ เมื่อล่วงราตรีไป จึงพากันถือ ของเคี้ยว ของฉัน เป็นจำนวนมาก เข้าไปทางไพรสณฑ์ชื่ออิจฉานังคละ ครั้นแล้ว ได้ยืนชุมนุมกัน ที่ซุ้มประตูด้าน

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 57

นอก ส่งเสียงอื้ออึง สมัยนั้น ท่านพระนาคิตะเป็นอุปัฏฐาก ของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถาม ท่านพระนาคิตะว่า ดูก่อนนาคิตะ ก็พวกใคร ส่งเสียงอื้ออึงอยู่นั้น คล้ายพวกชาวประมง แย่งปลากัน ท่านพระนาคิตะกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พราหมณ์ และคฤหบดี ชาวบ้านอิจฉานังคละ เหล่านั้น พากันถือของเคี้ยว ของฉัน เป็นจำนวนมาก มายืนประชุมกัน ที่ซุ้มประตูด้านนอก เพื่อถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า และภิกษุสงฆ์.

พ. ดูก่อนนาคิตะ เราไม่ติดยศ และยศก็ไม่ติดเรา ผู้ใดแล ไม่พึงได้ตามความปรารถนา ไม่พึงได้โดยไม่ยาก ไม่พึงได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งสุขอันเกิดแต่เนกขัมมะ สุขอันเกิดแต่วิเวก สุขอันเกิดแต่ความสงบ สุขอันเกิดแต่ความตรัสรู้ ที่เราพึงได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบากนี้ ผู้นั้น พึงยินดีสุขที่ไม่สะอาด สุขในการนอน และสุข ที่อาศัยลาภ สักการะ และการสรรเสริญ.

นา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับ ขอพระสุคตทรงรับ บัดนี้ เป็นเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้า จะทรงรับ พระผู้มีพระภาคเจ้า จักเสด็จไปทางใดๆ พราหมณ์ และคฤหบดี ชาวนิคม และชาวชนบท ก็จักหลั่งไหลไปทางนั้นๆ เหมือนเมื่อฝนเม็ดใหญ่ ตกลงมา น้ำก็ย่อมไหลไปตามที่ลุ่ม ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าจักเสด็จไป ทางใดๆ พราหมณ์ และคฤหบดี ชาวนิคม และชาวชนบท ก็จักหลั่งไหลไปทางนั้นๆ ฉันนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะศีล และปัญญา ของผู้มีพระภาคเจ้า.

พ. ดูก่อนนาคิตะ เราไม่ติดยศ และยศ ก็ไม่ติดเรา ผู้ใดแล ไม่พึงได้ตามความปรารถนา ไม่พึงได้โดยไม่ยาก ไม่พึงได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งสุขอันเกิดแต่เนกขัมมะ สุขอันเกิดแต่วิเวก สุขอันเกิดแต่ความสงบ สุขอันเกิดแต่ความตรัสรู้ ที่เราพึงได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 58

นี้ ผู้นั้นพึงยินดีสุขที่ไม่สะอาด สุขในการนอน และสุข ที่อาศัยลาภ สักการะ และการสรรเสริญ ดูก่อนนาคิตะ อาหารที่กิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้มแล้ว ย่อมมีอุจจาระ และปัสสาวะเป็นผล นี้เป็นผลแห่งอาหารนั้น ความรักมีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสที่เกิดขึ้น เพราะสิ่งที่รักแปรปรวนเป็นอื่น เป็นผล นี้เป็นผลแห่งความรักนั้น ความเป็นของปฏิกูลในอสุภนิมิต ย่อมตั้งอยู่แก่ภิกษุ ผู้ขวนขวาย การประกอบตามอสุภนิมิต นี้เป็นผลแห่งการประกอบ ตามอสุภนิมิตนั้น ความเป็นของปฏิกูลในผัสสะ ย่อมตั้งอยู่แก่ภิกษุผู้พิจารณา เห็นว่าไม่เที่ยงในผัสสายตนะ ๖ อยู่ นี้เป็นผลแห่งการพิจารณา เห็นว่าไม่เที่ยง ในผัสสายตนะนั้น ความเป็นของปฏิกูล ในอุปาทาน ย่อมตั้งอยู่แก่ภิกษุผู้พิจารณา เห็นความเกิด และความดับ ในอุปาทานขันธ์ ๕ นี้เป็นผล แห่งการพิจารณา เห็นความเกิด และความดับในอุปาทานขันธ์.

จบนาคิตสูตรที่ ๑๐

จบปัญจังคิกวรรคที่ ๓

อรรถกถานาคิตสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในนาคิตสูตรที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้ :-

ชื่อว่า อุจฺจาสทฺทมหาสทฺทา เพราะชื่อว่า มีเสียงสูง เพราะเสียงขึ้นไปเบื้องบน และชื่อว่า มีเสียงดัง เพราะเสียงเป็นกลุ่มก้อน จริงอยู่ เมื่อชนทั้งหลาย มีกษัตริย์มหาศาล และพราหมณ์มหาศาล เป็นต้น ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ถือสักการะเป็นอันมาก พากันเดินมา เมื่อพวกเขาพูดว่า ท่านจงให้โอกาสแก่คนโน้น จงให้โอกาสแก่คนโน้น ดังนี้ เมื่อต่างคนต่างพูดกัน อย่างนี้ว่า เราไม่มีโอกาสก่อน ดังนี้ เสียงก็สูง และดัง. บทว่า เกวฏฺฎา มญฺเ มจฺเฉ วิโลเปนฺติ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 59

แปลว่า ชะรอยชาวประมง. จริงอยู่ เมื่อชาวประมงเหล่านั้น ถือกระจาดใส่ปลา เดินมาในตลาดขายปลา ย่อมจะมีเสียงเช่นนี้ ของหมู่ชน ผู้ซึ่งต่างพูดกันว่า ขายให้ข้านะ ขายให้ข้านะ ดังนี้.

บทว่า มิฬฺหสุขํ ได้แก่ สุขไม่สะอาด. บทว่า มิทฺธสุขํ ได้แก่ สุขในการหลับ. บทว่า ลาภสกฺการสิโลกสุขํ ได้แก่ สุขเกิดขึ้น เพราะอาศัยลาภสักการะ และการสรรเสริญ. บทว่า ตํนินฺนาว ภวิสฺสนฺติ ท่านอธิบายว่า ชนทั้งหลายจักไป คือจักติดตามไป ยังที่ที่พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จไปแล้ว นั่นแหละ. บทว่า ตถา หิ ภนฺเต ภควโต สีลปญฺาณํ ความว่า เพราะเหตุที่ศีล และความมีชื่อเสียงของพระองค์มีอยู่ อย่างนั้น.

บทว่า มา จ มยา ยโส ความว่า แม้ยศ ก็อย่าร่วมไปกับเราเลย. บทว่า เอโส ตสฺส นิสฺสนฺโท ได้แก่ นี้เป็นผลสำเร็จ แห่งความเป็นของไม่สะอาด. บทว่า ปิยานํ ได้แก่ ที่ให้เกิดน่ารัก. บทว่า เอโส ตสฺส นิสฺสนฺโท ได้แก่ นี้เป็นผลสำเร็จ แห่งความเป็นของน่ารัก. บทว่า อสุภนิมิตฺตานุโยคํ ได้แก่ ประกอบเนืองๆ ซึ่งอสุภกัมมัฏฐาน. บทว่า สุภนิมิตฺเต ได้แก่ อิฏฐารมณ์ อันเป็นที่ตั้งแห่งราคะ. บทว่า เอโส ตสฺส นิสฺสนฺโท ได้แก่ นี้เป็นผลสำเร็จ แห่งการประกอบเนืองๆ ซึ่งอสุภนิมิตนั้น. ในสูตรนี้ ตรัสวิปัสสนาในฐานะ ๕ เหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้.

จบอรรถกถา นาคิตสูตรที่ ๑๐

จบปัญจังคิกวรรควรรณนาที่ ๓

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปฐมคารวสูตร ๒. ทุติยคารวสูตร ๓. อุปกิเลสสูตร ๔. ทุสสีลสูตร ๕. อนุคคหสูตร ๖. วิมุตติสูตร ๗. สมาธิสูตร ๘. อังคิกสูตร ๙. จังกมสูตร ๑๐. นาคิตสูตร และอรรถกถา