พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. สุมนสูตร ว่าด้วยเทวดามีความพิเศษต่างกันด้วยเหตุ ๕

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ต.ค. 2564
หมายเลข  39098
อ่าน  456

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 60

ปฐมปัณณาสก์

สุมนวรรคที่ ๔

๑. สุมนสูตร

ว่าด้วยเทวดามีความพิเศษต่างกัน ด้วยเหตุ ๕


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 60

สุมนวรรคที่ ๔

สุมนสูตร

ว่าด้วยเทวดามีความพิเศษต่างกัน ด้วยเหตุ ๕

[๓๑] ครั้งนั้นแล สุมนาราชกุมารี แวดล้อมด้วยรถ ๕๐๐ คัน และราชกุมารี ๕๐๐ คน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ๒ คน มีศรัทธา มีศีล มีปัญญาเท่าๆ กัน คนหนึ่งเป็นผู้ให้ คนหนึ่งไม่ให้ คนทั้งสองนั้น เมื่อตายไปแล้ว พึงเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ แต่คนทั้งสองนั้น ทั้งที่เป็นเทวดาเหมือนกัน พึงมีความพิเศษแตกต่างกันหรือ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนสุมนา คนทั้งสองนั้น พึงมีความพิเศษแตกต่างกัน คือ ผู้ให้เป็นเทวดา ย่อมข่มเทวดาผู้ไม่ให้ ด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุข ยศ และอธิปไตยที่เป็นทิพย์ ดูก่อนสุมนา ผู้ที่ให้เป็นเทวดา ย่อมข่มเทวดาผู้ไม่ให้ ด้วยเหตุ ๕ ประการนี้.

สุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ถ้าเทวดาทั้งสองนั้น จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว มาสู่ความเป็นมนุษย์ แต่คนทั้งสองนั้น ทั้งที่เป็นมนุษย์เหมือนกัน พึงมีความพิเศษแตกต่างกันหรือ.

พ. ดูก่อนสุมนา คนทั้งสอง มีความพิเศษแตกต่างกัน คือ ผู้ให้เป็นมนุษย์ ย่อมข่มคนไม่ให้ ได้ด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุข ยศ และอธิปไตย ที่เป็นของมนุษย์ ดูก่อนสุมนา ผู้ให้เป็นมนุษย์ ย่อมข่มคนผู้ไม่ให้ ด้วยเหตุ ๕ ประการนี้.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 61

สุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ถ้าคนทั้งสองนั้น ออกบวช แต่คนทั้งสองนั้น ทั้งที่เป็นบรรพชิตเหมือนกัน พึงมีความพิเศษแตกต่างกันหรือ.

พ. ดูก่อนสุมนา คนทั้งสองนั้น มีความพิเศษแตกต่างกัน คือ คนที่ให้เป็นบรรพชิต ย่อมข่มคนที่ไม่ให้ด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ เมื่อออกปากขอย่อมได้จีวรมาก เมื่อไม่ออกปากขอย่อมได้น้อย เมื่อออกปากขอย่อมได้บิณฑบาตมาก เมื่อไม่ออกปากขอย่อมได้น้อย เมื่อออกปากขอย่อมได้เสนาสนะมาก เมื่อไม่ออกปากขอย่อมได้น้อย เมื่อออกปากขอย่อมได้บริขาร คือยา ที่เป็นเครื่องบำบัดไข้มาก เมื่อไม่ออกปากขอย่อมได้น้อย และจะอยู่ร่วมกับเพื่อนพรหมจรรย์เหล่าใด เพื่อนพรหมจรรย์เหล่านั้น ก็ประพฤติต่อเธอด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เป็นที่พอใจเป็นส่วนมาก ไม่เป็นที่พอใจเป็นส่วนน้อย ย่อมนำสิ่งเป็นที่พอใจมาเป็นส่วนมาก ย่อมนำสิ่งไม่เป็นที่พอใจมาเป็นส่วนน้อย ดูก่อนสุมนา ผู้ให้เป็นบรรพชิต ย่อมข่มผู้ไม่ให้ ด้วยเหตุ ๕ ประการนี้.

สุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ถ้าคนทั้งสองนั้น บรรลุอรหัต แต่คนทั้งสองนั้น ทั้งที่ได้บรรลุอรหัตเหมือนกัน พึงมีความพิเศษแตกต่างกันหรือ.

พ. ดูก่อนสุมนา เราไม่กล่าวว่า มีเหตุแตกต่างกันใดๆ ในวิมุตติ กับวิมุตติ ข้อนี้.

สุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญไม่เคยมี ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อนี้กำหนดได้ว่า ควรให้ทาน ควรทำบุญ เพราะบุญเป็นอุปการะ แม้แก่เทวดา แม้แก่มนุษย์ แม้แก่บรรพชิต.

พ. อย่างนั้นสุมนา อย่างนั้นสุมนา ควรให้ทาน ควรทำบุญ เพราะบุญเป็นอุปการะ แม้แก่เทวดา แม้แก่มนุษย์ แม้แก่บรรพชิต.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้ จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 62

ดวงจันทร์ปราศจากมลทิน โคจรไปในอากาศ ย่อมสว่างกว่าหมู่ดาวทั้งปวง ในโลก ด้วยรัศมี ฉันใด บุคคลผู้สมบูรณ์ ด้วยศีล มีศรัทธา ก็ฉันนั้น ย่อมไพโรจน์กว่าผู้ตระหนี่ทั้งปวง ในโลก ด้วยจาคะ. เมฆที่ลอยไปตามอากาศ มีสายฟ้าปลาบแปลบ มีช่อตั้งร้อย ตกรดแผ่นดินเต็มที่ดอน และที่ลุ่ม ฉันใด สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้สมบูรณ์ด้วยทัศนะ เป็นบัณฑิต ก็ฉันนั้น ย่อมข่มผู้ตระหนี่ได้ ด้วยฐานะ ๕ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุข ยศ และเปี่ยมด้วยโภคะ ย่อมบันเทิงใจในสวรรค์ ในปรโลก ดังนี้.

จบสุมนสูตรที่ ๑

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 63

อรรถกถาสุมนสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในสุมนสูตรที่ ๑ วรรคที่ ๔ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า สุมนา ราชกุมาร ได้แก่ เจ้าหญิง ผู้ได้พระนามอย่างนั้น เพราะทรงกระทำมหาสักการะแล้ว ทรงตั้งความปรารถนาไว้. ความพิสดารมีว่า ครั้งพระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพวกชาวเมืองคิดกันว่า พวกเราทำการรบเสร็จแล้ว จักยึดพระศาสดาของพวกเราไว้ จึงริเริ่มที่จะได้พระสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข อาศัยเสนาบดีแล้ว ทำบุญตามลำดับ ในวันแรกๆ แห่งวันทั้งหมด เป็นวาระของเสนาบดี. ในวันนั้น เสนาบดีเตรียมมหาทาน วางคนรักษาการณ์ไว้โดยรอบ สั่งว่า วันนี้ พวกเจ้าจงคอยรักษาการณ์ไว้ โดยที่ใครๆ อื่น จะไม่ถวายแม้ภิกษาสักอย่างหนึ่ง. วันนั้นภรรยาเศรษฐีร้องไห้ พูดกะธิดา ซึ่งเล่นกับพวกหญิงสาว ๕๐๐ คน กลับมาแล้วว่า ลูกเอ๋ย หากว่าบิดา ของลูกยังมีชีวิตอยู่ วันนี้แม่ต้องนิมนต์พระทศพลฉัน เป็นรายแรก. ลูกสาว พูดกะมารดาว่า แม่จ๋า แม่อย่าคิดเลย ลูกจักทำโดยวิธีที่พระสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข จักฉันภิกษาของเราเป็นรายแรก ต่อจากนั้น ธิดาจึงบรรจุข้าวปายาส ที่ไม่มีน้ำ ลงในถาดทองคำ มีค่าแสนหนึ่งจนเต็ม แล้วปรุงด้วยเนยใส น้ำผึ้ง และน้ำตาลกรวด เป็นต้น เอาถาดอีกถาดหนึ่งครอบ เอาพวงมาลัย ดอกมะลิล้อมภาชนะนั้น ทำคล้ายพวงดอกไม้ ครั้นได้เวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จเข้าไปบ้าน นางยกเอง มีหมู่ทาสีแวดล้อม ออกจากเรือนไป. ครั้นถึงระหว่างทาง พวกคนรับใช้ของเสนาบดีพูดว่า แม่หนูอย่ามาทางนี้. ธรรมดาผู้มีบุญมาก ย่อมมีถ้อยคำต้องใจคน ถ้อยคำของคนรับใช้เสนาบดีเหล่านั้น ซึ่งพูดแล้วพูดเล่า ก็ไม่อาจห้ามไว้ได้. นางกล่าวว่า ท่านอา ท่านลุง ท่านน้า

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 64

ทำไมท่านไม่ให้เราเข้าไปเล่า. คนรับใช้กล่าวว่า แม่หนู ท่านเสนาบดีตั้งพวก เราให้คอยรักษาการณ์ โดยสั่งว่า พวกเจ้าจงอยู่ให้ใครๆ อื่น นำของเคี้ยว และของกิน เข้ามาเป็นอันขาด. นางกล่าวว่า ก็พวกท่านเห็นของเคี้ยว ของกิน ในมือของฉันหรือ. คนรับใช้พูดว่า เห็น แต่พวงดอกไม้จ้ะ. นางถามว่า ท่านเสนาบดีของพวกท่าน ไม่ให้ทำแม้การบูชา ด้วยดอกไม้ด้วยหรือ. คนรับใช้พูดว่า ให้จ้ะแม่หนู. นางกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น พวกท่านหลีกไปสิ แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ากราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระองค์ทรงให้รับ พวงดอกไม้เถิดพระเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแลดู คนรับใช้ของเสนาบดีคนหนึ่ง แล้วให้รับพวงดอกไม้ไว้ นางถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วตั้งความปรารถนาว่า เมื่อข้าพระบาทบังเกิด ในภพน้อย ภพใหญ่ ขออย่าให้มีชีวิตอยู่ ด้วยความหวาดสะดุ้งเลย ในภพที่ข้าพระบาทเกิด ขอให้เป็นที่รัก ดุจพวงดอกไม้นี้ และขอให้มีชื่อว่า สุมนาเถิด. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เจ้า จงมีความสุขเถิด ดังนี้ นางถวายบังคมแล้วกระทำประทักษิณ กราบทูลลา กลับไป. พระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จ ไปยังเรือนของเสนาบดี ประทับนั่งเหนืออาสนะ ที่เขาปูไว้ เสนาบดีถือข้าวยาคู น้อมเข้าไปถวาย. พระศาสดาทรงเอา พระหัตถ์ปิดบาตรไว้. เสนาบดีกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หมู่ภิกษุนั่งแล้ว พระเจ้าข้า. พระศาสดาตรัสว่า เราได้บิณฑบาตหนึ่ง ในระหว่างทาง. เสนาบดี นำมาลาออกได้เห็นบิณฑบาต. จูฬุปัฏรากคนรับใช้ใกล้ชิดกล่าวว่า นายขอรับ ผู้หญิงพูดลวงกระผมว่า ดอกไม้. ข้าวปายาส เพียงพอแก่ภิกษุทั้งหมด นับแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นต้นไป เสนาบดีได้ถวายไทยธรรมของตน. พระศาสดา เสวยเสร็จแล้ว ตรัสมงคลกถาเสด็จกลับ. เสนาบดีถามว่า หญิงที่ถวายบิณฑบาต ชื่อไร. ธิดาเศรษฐีขอรับ. เสนาบดีคิดว่า หญิงมีปัญญา เมื่อมาอยู่ในเรือน ชื่อว่า สวรรค์สมบัติของบุรุษ ไม่ใช่หาได้ยากเลย ดังนี้ จึงนำนางนั้นมาตั้งไว้

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 65

ในตำแหน่งหัวหน้า. นางก็จับจ่ายทรัพย์ในเรือนของมารดา และในเรือนของ เสนาบดี ถวายทานแด่พระตถาคต บำเพ็ญบุญตลอดอายุ ครั้นจุติจากนั้น ก็ไปบังเกิดในเทวโลก ฝ่ายกามาวจร. ในขณะที่นางเกิดนั้นเอง ฝนดอกมะลิตกเต็มทั่วเทวโลก ประมาณแค่เข่า. ทวยเทพคิดว่า เทพธิดานี้ ถือเอาชื่อของตน ด้วยตนเองมา จึงตั้งชื่อเทพธิดานั้นว่า สุมนา. เทพธิดานั้น ท่องเที่ยวไปในเทวโลก และมนุษยโลก ตลอด ๙๙ กัป ในที่ที่นางเกิดแล้วๆ ฝนดอกมะลิก็ตกไม่ขาด จึงมีชื่อว่า สุมนา อย่างเดิม ก็ครั้งนี้นางได้ถือปฏิสนธิ ในพระครรภ์ของพระอัครมเหสี ของพระเจ้าโกศล ในวันนั้นเอง กุมาริกา ๕๐๐ ก็ถือปฏิสนธิ ในตระกูลนั้นๆ แล้วคลอดจากครรภ์มารดา ในวันเดียวกันหมด. ในขณะนั้นเอง ฝนดอกมะลิตกประมาณแค่เข่า.

พระราชาทอดพระเนตร เห็นพระธิดานั้น ทรงปลื้มพระทัยว่า ราชธิดานี้ จักเป็นผู้สร้างบุญกุศลมาก่อน ทรงดำริว่า ธิดาของเราถือเอาชื่อของตน ด้วยตนเองมา จึงพระราชทานพระนาม ของพระธิดานั้นว่า สุมนา แล้วทรงให้ ค้นหาทั่วพระนคร ด้วยทรงดำริว่า ธิดาของเรา คงจะไม่เกิดเพียงผู้เดียวเท่านั้น ทรงสดับว่า มีทาริกา ๕๐๐ เกิด จึงโปรดเกล้าให้เลี้ยงไว้ทั้งหมด ด้วยพระองค์เอง รับสั่งว่า เมื่อถึงเดือนหนึ่งๆ พวกเจ้า จงนำมาแสดงแก่ธิดาของเรา ดังนี้. พึงทราบว่า พระธิดาทรงกระทำมหาสักการะแล้ว ตั้งความปรารถนาไว้ จึงได้พระนามอย่างนี้. เวลาพระธิดา มีพระชนม์ได้ ๗ พระชันษา เมื่ออนาถปิณฑิกเศรษฐี สร้างวิหารเสร็จ จึงส่งทูตไปกราบทูลพระตถาคต พระศาสดา มีหมู่ภิกษุเป็นบริวาร ได้เสด็จไปยังกรุงสาวัตถี.

อนาถบิณฑิกเศรษฐี ได้ไปกราบทูลพระราชาว่า ขอเดชะ ข้าแต่พระมหาราชเจ้า การเสด็จมา ณ ที่นี้ของพระศาสดา เป็นมงคลทั้งแก่ข้าพระองค์ ทั้งแด่พระองค์ พระองค์ทรงโปรดเกล้าให้ พระสุมนาราชกุมารี

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 66

พร้อมด้วยทาริกา ๕๐๐ ถือหม้อน้ำ และของหอม และดอกไม้ เป็นต้น รับเสด็จพระทศพลเถิด พระเจ้าข้า. พระราชาตรัสว่า ดีแล้วเศรษฐี แล้วทรงกระทำตามนั้น. พระธิดาก็เสด็จไป ตามที่พระราชาทรงแนะนำ ถวายบังคมพระศาสดา แล้วทรงบูชา ด้วยของหอม และดอกไม้ เป็นต้น แล้วประทับอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง. พระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่พระธิดา. พระธิดาพร้อมด้วยกุมารี ๕๐๐ ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล. ทาริกา ๕๐๐ มาตุคาม ๕๐๐ และอุบาสก ๕๐๐ แม้เหล่าอื่น ก็ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล ในขณะนั้นเหมือนกัน. ในวันนั้น มีโสดาบัน ๒,๐๐๐ ในระหว่างทางนั้นเอง

บทว่า เยน ภควา เตนุปสงฺกมิ ถามว่า เพราะเหตุใด จึงเข้าไปเฝ้า. ตอบว่า เพราะทรงต้องการถามปัญหา. ได้ยินว่า ครั้งพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้มีภิกษุสองรูปเป็นสหายกัน. ในภิกษุสองรูปนั้น รูปหนึ่งบำเพ็ญสาราณียธรรม รูปหนึ่งบำเพ็ญภัตตัคควัตร. รูปที่บำเพ็ญสาราณียธรรม กล่าวกะรูปที่บำเพ็ญภัตตัคควัตรว่า ผู้มีอายุ ชื่อว่า ทานที่ไม่ให้ผล ย่อมไม่มี การให้ของที่ตนได้ แก่ผู้อื่น แล้วบริโภคจึงควรดังนี้. แต่รูปที่บำเพ็ญภัตตัคควัตร กล่าวว่า ผู้มีอายุ ท่านไม่รู้หรือ การให้ไทยธรรมตกไป ไม่ควร ผู้ที่ถือเอาเพียงอาหาร ยังชีวิตของตนให้เป็นไปได้ เท่านั้น บำเพ็ญวัตรในโรงครัวจึงควร. ในภิกษุสองรูปนั่น แม้รูปหนึ่ง ก็ไม่อาจจะให้อีกรูปหนึ่ง อยู่ในโอวาทของตนได้. แม้ทั้งสองรูปบำเพ็ญข้อปฏิบัติของตน ครั้นจุติจากภพนั้น ก็บังเกิดในเทวโลกฝ่ายกามาวจร บรรดาภิกษุสองรูปนั้น รูปที่บำเพ็ญสาราณียธรรม ล้ำภิกษุอีกรูปหนึ่ง ด้วยธรรม ๕ อย่าง ภิกษุเหล่านั้น เวียนว่ายอยู่ในเทวดา และมนุษย์สิ้นไป พุทธันดรหนึ่ง จึงเกิดในกรุงสาวัตถีในเวลานี้. รูปที่บำเพ็ญสาราณียธรรม ถือปฏิสนธิในพระครรภ์ ของอัครมเหสี ของพระเจ้าโกศล อีกรูปหนึ่งถือปฏิสนธิ ในท้องของหญิงรับใช้ ของพระอัครมเหสีนั้น เหมือนกัน. คนแม้ทั้งสองเหล่านั้น

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 67

ก็เกิดในวันเดียวกัน นั่นเอง. ในวันตั้งชื่อ มารดาให้คนเหล่านั้น อาบน้ำแล้ว ให้นอนในห้องประกอบด้วยสิริ จัดเตรียมของขวัญ ในภายนอกไว้ ให้แก่คน แม้ทั้งสอง. บรรดาคนเหล่านั้น คนที่บำเพ็ญสาราณียธรรม พอลืมตาก็เห็นเศวตฉัตรใหญ่ ที่นอนประกอบด้วยสิริ ที่เขาจัดไว้เป็นอย่างดี และนิเวศน์ ประดับด้วยเครื่องอลังการ จึงได้รู้ว่า เราเกิดในราชตระกูลแห่งหนึ่ง ดังนี้. เขานึกอยู่ว่า เราทำกรรมอะไรหนอ จึงได้เกิดในที่นี้ ดังนี้ ก็รู้ว่า ด้วยผลของการบำเพ็ญสาราณียธรรม ดังนี้ จึงนึกว่า สหายของเราเกิดที่ไหนหนอ ก็ได้เห็นเขานอน บนที่นอนต่ำ คิดว่า ผู้นี้บำเพ็ญวัตร ในโรงครัว ไม่เชื่อคำของเรา คราวนี้ เราจะข่มเขาในฐานะนี้ ก็ควร จึงได้พูดว่า เพื่อน เจ้าไม่เชื่อคำของเรา. เขาตอบว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น จะเกิดอะไร. เขาได้บอกว่า เจ้าดูสมบัติของเราสิ เรานอนบนที่นอน มีสิริอยู่ภายใต้เศวตฉัตร เจ้านอนบนเตียงต่ำข้างบนลาด ด้วยของแข็ง สหายกล่าวว่า ก็ท่านอาศัยสิ่งนั้นแล้ว ยังทำมานะหรือ? สิ่งของนั้นทั้งหมด เขาเอาซี่ไม้ไผ่ นำเอาผ้าขี้ริ้วห่อพันไว้ เป็นเพียงปฐวีธาตุเท่านั้น มิใช่หรือ ดังนี้.

พระราชธิดาสุมนา ทรงสดับถ้อยคำ ของคนทั้งสองนั้นแล้ว คิดว่า ที่ใกล้ๆ น้องชายทั้งสองของเรา ก็ไม่มีใครดังนี้ เดินเข้าไปใกล้คนเหล่านั้น ยืนพิงประตู ได้ยินคำว่า ธาตุ แล้วก็คิดว่า คำว่า ธาตุนี้ ในภายนอกก็ไม่มี น้องชายของเรา จักเป็นสมณเทพบุตร คิดว่า ถ้าเราจักบอกแก่มารดาบิดาว่า คนเหล่านี้ พูดกันอย่างนี้ ท่านก็จักให้นำออกไป ด้วยเข้าใจว่า คนเหล่านั้นเป็นอมนุษย์ ดังนี้. เราไม่บอกเหตุนี้แก่คนอื่น จักทูลถามเฉพาะพระทศพล ผู้เป็นมหาโคตมพุทธบิดาของเรา ซึ่งเป็นเหรัญญิกบุรุษ ผู้ตัดความสงสัยได้ ดังนี้. เสวยพระกระยาหารเช้าเสร็จ ก็เข้าไปเฝ้าพระราชา ทูลขออนุญาตไปเฝ้าพระทศพล. พระราชาตรัสสั่ง ให้จัดรถ ๕๐๐ คัน. ความจริง ในภาคพื้น

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 68

ชมพูทวีป กุมารีสามคนเท่านั้น ได้รถ ๕๐๐ คัน ในสำนักของบิดาทั้งหลาย คือ เจ้าหญิงจุนที ราชธิดาของพระเจ้าพิมพิสาร นางวิสาขา ธิดาของธนัญชยเศรษฐี และเจ้าหญิงสุมนานี้. นางถือเอาของหอม และดอกไม้แล้ว ยืนอยู่ในรถซึ่งมีรถ ๕๐๐ เป็นบริวาร จึงได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยคิดว่า เราจักทูลถามปัญหานี้ ดังนี้.

บทว่า อิธสฺสุ แปลว่า พึงมีในที่นี้. บทว่า เอโก ทายโก ความว่า คนหนึ่ง เป็นผู้แบ่งลาภที่ตนได้แล้ว ให้แก่คนอื่นบริโภค เป็นการบำเพ็ญสาราณียธรรม. บทว่า เอโก อทายโก ความว่า คนหนึ่ง เป็นผู้ไม่แบ่งสิ่งที่ตนได้แล้ว ให้แก่คนอื่นบริโภค เป็นผู้บำเพ็ญวัตรในโรงครัว. บทว่า เทวภูตานํ ปน เนสํ ได้แก่ คนทั้งสองเหล่านั้น ก็เป็นเทวดา. บทว่า อธิคณฺหาติ ได้แก่ ถือเอาล้ำหน้า. บทว่า อธิปเตยฺเยน ได้แก่ เหตุของผู้เป็นหัวหน้า. บทว่า อิเมหิ ปญฺจหิ าเนหิ ความว่า ล้ำหน้า ผู้ไม่เป็นทายก ด้วยเหตุ ๕ เหล่านี้ เหมือนท้าวสักกเทวราช ล้ำหน้าพวกเทพที่เหลือ ฉะนั้น.

ในบทเป็นต้นว่า มานุสเกน พึงทราบวินิจฉัย ดังนี้ เป็นหัวหน้าล้ำหน้า ด้วยเหตุ ๕ เหล่านี้ คือ ด้วยอายุ เหมือนพระมหากัสสปเถระ พระพักกุลเถระ และพระอานนทเถระ. ด้วยวรรณะ เหมือนพระมหาคติมพอภัยเถระ และอำมาตย์ ผู้เป็นภัณฑาคาริก ผู้รักษาเรือนคลัง ด้วยสุข เหมือนรัฏฐปาลกุลบุตร โสภณเศรษฐีบุตร และยศกุลบุตร. ด้วยยศ ทั้งความเป็นใหญ่ เหมือนพระเจ้าธรรมาโศกราช. บทว่า ยาจิโตว พหุลํ ความว่า เป็นหัวหน้าล้ำหน้า ด้วยเหตุนี้ว่า เป็นผู้อันเขาวิงวอน จึงบริโภคจีวร เป็นต้น เป็นส่วนมาก เหมือนพระพากุลเถระ พระสีวลีเถระ และพระอานนทเถระเป็นต้น. บทว่า ยทิทํ วิมุตฺติยา วิมุตฺตํ ความว่า เหตุต่างกันอันใด ที่จะพึงกล่าว ปรารภวิมุตติของอีกคนหนึ่ง กับวิมุตติของคนหนึ่ง เราไม่กล่าวเหตุที่ต่างๆ กัน

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 69

อันนั้น. จริงอยู่ เด็กอายุ ๗ ขวบก็ดี พระเถระอายุ ๑๐๐ ปีก็ดี ไม่ว่าจะเป็นภิกษุหรือภิกษุณี อุบาสกหรืออุบาสิกา เทวดาหรือมาร พรหม ก็แทงตลอดวิมุตติ ในโลกุตตรมรรคที่แทงตลอดแล้ว ชื่อว่า ความต่างๆ กันไม่มีเลย. บทว่า อลเมว แปลว่า ควรแท้. บทว่า ยตฺร หิ นาม เท่ากับ ยานิ นาม แปลว่า ชื่อเหล่าใด.

บทว่า คจฺฉํ อากาสธาตุยา คือ โคจรไปทางอากาศ. บทว่า สทฺโธ ได้แก่ ผู้เชื่อคุณพระรัตนตรัย. บทว่า ถนยํ แปลว่า ลอยไป. บทว่า วิชฺชุมาลี ได้แก่ ประกอบด้วยสายฟ้าแลบ อยู่หน้าเมฆ เช่นกับมาลา. บทว่า สตกฺกกุ คือ มียอดตั้งร้อย อธิบายว่า ประกอบด้วยเมฆตั้งร้อยยอด ที่ตั้งขึ้นทางนี้ ทางโน้น. บทว่า ทสฺสนมฺปนฺโน คือ พระโสดาบัน. บทว่า โภคปริพฺยุฬฺโห ได้แก่ เป็นผู้พรั่งพรู ด้วยโภคะที่มีอยู่ นำไปให้ด้วยอำนาจทาน คล้ายห้วงน้ำ. อธิบายว่า ให้ถึงเทวโลก. บทว่า เปจฺจ คือ ในปรโลก. บทว่า สคฺเค ปโมทติ ความว่า ย่อมปลาบปลื้มปราโมทย์ ในสวรรค์ ที่เขาเกิดนั้น นั่นแล.

จบอรรถกถา สุมนสูตรที่ ๑