พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. อังคิกสูตร ว่าด้วยการเจริญสัมมาสมาธิมีองค์ ๕

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ต.ค. 2564
หมายเลข  39095
อ่าน  460

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 46

ปฐมปัณณาสก์

ปัญจังคิกวรรคที่ ๓

๘. อังคิกสูตร

ว่าด้วยการเจริญสัมมาสมาธิ มีองค์ ๕


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 46

๘. อังคิกสูตร

ว่าด้วยการเจริญสัมมาสมาธิ มีองค์ ๕

[๒๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดง การเจริญสัมมาสมาธิ ที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐ เธอทั้งหลายจงฟัง ฯลฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็การเจริญสัมมาสมาธิ ที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุปฐมฌาน เธอทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่าน ด้วยปีติ และสุขอันเกิดแต่วิเวก ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติ และสุข อันเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง เปรียบเหมือน พนักงานสรงสนาน หรือลูกมือพนักงานสรงสนาน ผู้ฉลาด จะพึงใส่จุรณสีตัวลง ในภาชนะสำริดแล้ว พรมด้วยน้ำหมักไว้ ตกเวลาเย็น ก้อนจุรณสีตัวซึ่งซึมไป จับติดทั่วทั้งหมด ย่อมไม่กระจายออกฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล ทำกายนี้แหละ ให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่าน ด้วยปีติ และสุข อันเกิดแต่วิเวก ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติ และสุข อันเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นการเจริญสัมมาสมาธิ ที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐ ข้อที่ ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติ และสุข ที่เกิดแต่สมาธิอยู่ เธอทำกายนี้แหละ ให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่าน ด้วยปีติ และสุข อันเกิดแต่วิเวก ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวก จะไม่ถูกต้อง เปรียบเหมือนห้วงน้ำลึก ที่มีน้ำปั่นป่วน ไม่มีทางไหลมาได้ ทั้งในด้านตะวันออก ด้านใต้

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 47

ด้านตะวันตก ด้านเหนือ และฝนก็ไม่ตกเพิ่มตามฤดูกาล แต่สายน้ำเย็นพุขึ้น จากห้วงน้ำนั้นแล้ว จะพึงทำห้วงน้ำนั้นแหละ ให้ชุ่มชื่น เอิบอาบ ซาบซึม ด้วยน้ำเย็น ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งห้วงน้ำนั้นทั้งหมด ที่น้ำเย็นจะไม่พึงถูกต้อง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น นั่นแล ย่อมทำกายนี้แหละ ให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่าน ด้วยปีติ และสุข อันเกิดแต่สมาธิ ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติ และสุข อันเกิดแต่สมาธิจะไม่ถูกต้อง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นการเจริญสัมมาสมาธิ ที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐ ข้อที่ ๒

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุข ด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย สรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่าน ด้วยสุขอันปราศจากปีติ ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่สุขอันปราศจากปีติ จะไม่ถูกต้อง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนในกออุบล กอบัวหลวง หรือกอบัวขาว ดอกอุบล ดอกบัวหลวง หรือดอกบัวขาวบางเหล่า ซึ่งเกิดในน้ำ ยังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ในน้ำ อันน้ำหล่อเลี้ยงดอกบัวเหล่านั้น ชุ่มชื่น เอิบอาบ ซาบซึมด้วยน้ำเย็น ตลอดยอด ตลอดเหง้า ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งดอกอุบล ดอกบัวหลวง หรือดอกบัวขาว ทั่วทุกส่วนที่น้ำเย็น จะไม่พึงถูกต้อง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล ย่อมทำกายนี้แหละ ให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่าน ด้วยสุขอันปราศจากปีติ ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่สุขปราศจากปีติ จะไม่ถูกต้อง นี้เป็นการเจริญสัมมาสมาธิ ที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐ ข้อที่ ๓

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน อันไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัส และโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุ ให้สติบริสุทธิ์อยู่ เธอนั่งแผ่ไปทั่วกาย นี้แหละ ด้วยใจอัน

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 48

บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ใจอันบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว จะไม่ถูกต้อง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษ จะพึงนั่งคลุมตัวตลอดศีรษะ ด้วยผ้าขาว ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายทุกๆ ส่วนของเขา ที่ผ้าขาวจะไม่ถูกต้อง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เธอนั่งแผ่ไปทั่วกาย นี้แหละ ด้วยใจอันบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ใจอันบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว จะไม่ถูกต้อง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นการเจริญสัมมาสมาธิ ที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐ ข้อที่ ๔

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมถือด้วยดี ทำไว้ในใจด้วยดี ใคร่ครวญด้วยดี แทงตลอดด้วยดี ซึ่งปัจจเวกขณนิมิตด้วยปัญญา เปรียบเหมือนคนอื่นพึงเห็นคนอื่น คนยืนพึงเห็นคนนั่ง หรือคนนั่งพึงเห็นคนนอน ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เธอย่อมถือด้วยดี ทำไว้ในใจด้วยดี ใคร่ครวญด้วยดี แทงตลอดด้วยดี ซึ่งปัจจเวกขณนิมิต ด้วยปัญญา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นการเจริญสัมมาสมาธิ ที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐ ข้อที่ ๕

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อสัมมาสมาธิ ที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐ อันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ภิกษุจะโน้มน้อมจิตไป เพื่อทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ซึ่งธรรมที่จะพึงทำให้แจ้ง ด้วยปัญญาอันยิ่งใดๆ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยาน ในธรรมนั้นๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่ โดยแน่นอน เปรียบเหมือนหม้อน้ำ ตั้งอยู่บนที่รอง เต็มด้วยน้ำเสมอขอบปาก พอที่กาจะดื่มได้ บุรุษผู้มีกำลัง พึงเอียงหม้อน้ำนั้นไปรอบๆ น้ำก็พึงกระฉอก ออกมาได้หรือ.

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า อย่างนั้นพระเจ้าข้า.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 49

พ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อสัมมาสมาธิ อันประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐ ที่ภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ เธอโน้มน้อมจิตไป เพื่อทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ซึ่งธรรมที่จะพึงทำให้แจ้ง ด้วยปัญญาอันยิ่งใดๆ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควร เป็นพยานในธรรมนั้นๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่ เปรียบเหมือนสระน้ำ ที่ภูมิภาคอันราบเรียบ กว้างสี่เหลี่ยม กั้นด้วยทำนบ เต็มด้วยน้ำเสมอขอบปาก พอที่กาจะดื่มได้ บุรุษผู้มีกำลัง พึงเปิดทำนบสระนั้นทุกๆ ด้าน น้ำก็พึงไหลออกมาได้หรือ.

ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อสัมมาสมาธิ อันประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐ ที่ภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ เธอโน้มน้อมจิตไป เพื่อทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ซึ่งธรรมที่จะพึงทำให้แจ้ง ด้วยปัญญาอันยิ่งใดๆ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควร เป็นพยานในธรรมนั้นๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่ เปรียบเหมือนรถม้าที่เทียมแล้ว จอดอยู่ทางใหญ่ ๔ แยก มีพื้นราบเรียบ มีประตักวางไว้ข้างบน คนฝึกม้าผู้ขยันชำนาญในการฝึก ขึ้นขี่รถนั้นแล้ว ถือเชือกด้วยมือซ้าย ถือประตักด้วยมือขวา พึงขับรถให้เดินหน้าบ้าง ให้ถอยหลังบ้าง ได้ตามต้องการ ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อสัมมาสมาธิ อันประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐ ที่ภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ เธอโน้มน้อมจิตไป เพื่อทำให้แจ้ง ด้วยปัญญาอันยิ่ง ซึ่งธรรมที่จะพึงทำให้แจ้ง ด้วยปัญญาอันยิ่งใดๆ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควร เป็นพยานในธรรมนั้นๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่ ถ้าเธอมุ่งหวังอยู่ว่า เราพึงแสดงฤทธิ์ได้หลายประการ คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ ฯลฯ พึงใช้อำนาจทางกาย ไปตลอดพรหมโลกก็ได้ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควร เป็น พยานในธรรมนั้นๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่ ถ้าเธอมุ่งหวังว่า เราพึงได้ยินเสียง ๒

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 50

ชนิด คือ เสียงทิพย์ และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกล และใกล้ ด้วยทิพยโสตอันบริสุทธิ์ ล่วงโสตของมนุษย์ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควร เป็นพยานในธรรมนั้นๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่ ถ้าเธอมุ่งหวังว่า เราพึงกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจ คือ จิตมีราคะ ก็พึงรู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ก็พึงรู้ว่าจิตปราศจากราคะ ฯลฯ หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็พึงรู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควร เป็นพยานในธรรมนั้นๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่ ถ้าเธอมุ่งหวังว่า เราพึงระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง ฯลฯ เราพึงระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้นๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่ ถ้าเธอมุ่งหวังว่า เราพึงเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติกำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดีตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ฯลฯ พึงรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควร เป็นพยาน ในธรรมนั้นๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่ ถ้าเธอมุ่งหวังว่า เราพึงทำให้แจ้ง ซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควร เป็นพยานในธรรมนั้นๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่.

จบอังคิกสูตรที่ ๘

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 51

อรรถกถาอังคิกสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในอังคิกสูตรที่ ๘ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า อริยสฺส ได้แก่ อยู่ไกลจากกิเลสที่ละได้แล้ว ด้วยวิกขัมภนปหาน (การข่มไว้). บทว่า ภาวนํ เทเสสฺสามิ ความว่า เราจักประกาศความเพิ่มพูนการพัฒนา. บทว่า อิมเมว กายํ ได้แก่ กรชกายนี้. บทว่า อภิสนฺเทติ ได้แก่ ชุ่ม คือ ซึมซาบ คือทำปีติ และสุข ให้เป็นไปทั่วกรชกาย. บทว่า ปริสนฺเทติ ได้แก่ ไหลไปโดยรอบ. บทว่า ปริปูเรติ ได้แก่ เต็มดุจถุงหนัง เต็มด้วยลม. บทว่า ปริปฺผรติ ได้แก่ ซ่านไปโดยรอบ. บทว่า สพฺพาวโต กายสฺส ได้แก่ ร่างกายทุกส่วนของภิกษุนั้น. ที่ไรๆ แม้แต่น้อยแล่นไปตามผิวเนื้อ และเลือด ในที่เป็นไปแห่งสันตติของอุปปาทินนกะ (สิ่งมีใจครอง) ชื่อว่า สุขอันเกิดแต่ปฐมฌาน ไม่สัมผัส ไม่มี. บทว่า ทกฺโข ได้แก่ ฉลาด คือ มีความสามารถทำประกอบ และปรุงผงสำหรับอาบน้ำ. บทว่า กํสถาเล ได้แก่ ภาชนะที่ทำด้วยโลหะอย่างใดอย่างหนึ่ง. แต่ภาชนะทำด้วยดินไม่ถาวร เมื่อใส่ผงอาบน้ำ ย่อมแตกได้ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงไม่ทรงแสดงภาชนะดินนั้น. บทว่า ปริปฺโผสกํ ปริปฺโผสกํ ได้แก่ รดแล้วรดเล่า. บทว่า สนฺเนยฺย ได้แก่ ถือถาดสำริดด้วยมือซ้าย รดราดน้ำพอประมาณด้วยมือขวา แล้วขยำผง ทำให้เป็นก้อน. บทว่า สิเนหานุคตา ได้แก่ ถูกยางน้ำซึมซาบ. บทว่า สิเนหปเรตา ได้แก่ ถูกยาง น้ำซึมไปรอบๆ. บทว่า สนฺตรพาหิรา ความว่า ถูกยางน้ำ ซึมซาบไปทั่วสรรพางค์กาย ทั้งที่ ภายใน และที่ภายนอก. บทว่า น จ ปคฺฆรติ ความว่า หยาดน้ำแต่ละหยาด จะไม่ไหลออก อาจจะจับทั้งมือก็ได้ ๒ นิ้วก็ได้ ทำให้เป็นเกลียวก็ได้.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 52

พึงทราบวินิจฉัย ในอุปมาความสุขในทุติยฌาน. บทว่า อุพฺภิโตทโก ได้แก่ น้ำพุ คือ น้ำที่ไม่ไหลลงข้างล่าง แต่ไหลขึ้น อธิบายว่า น้ำเกิดภายในนั่นเอง. บทว่า อายมุขํ ได้แก่ ทางน้ำไหลมา. บทว่า เทโว ได้แก่ เมฆ. บทว่า กาเลน กาลํ ได้แก่ ทุกกึ่งเดือนหรือทุก ๑๐ วัน. บทว่า ธารํ ได้แก่ น้ำฝน. บทว่า นานุปฺปเวจฺเฉยฺย ความว่า ไม่พึงหลั่ง คือ ไม่พึงตก. บทว่า สีตา วาริธารา อุพฺภิชฺชิตฺวา ความว่า สายน้ำฝน ทำห้องน้ำเย็นให้เต็ม ก็น้ำที่เกิดขึ้นแล้ว ไหลลงเบื้องล่าง ย่อมทำน้ำที่พุ่งแตกให้กระเพื่อม น้ำที่ไหลมาจาก ๔ ทิศ ย่อมทำน้ำให้กระเพื่อม ด้วยใบไม้ หญ้า ฟืน ท่อนไม้เก่าๆ เป็นต้น น้ำฝนย่อมทำให้น้ำกระเพื่อม ด้วยฟองน้ำ ที่ไหลตกจากสายน้ำฝน แต่น้ำสงบดุจเนรมิตด้วยฤทธิ์ ไหลไปยังถิ่นนี้ ไม่ไหลไปยังถิ่นนี้ ดังนี้ไม่มี คือชื่อว่า โอกาสที่น้ำ มันจะไม่ถูกต้องไม่มี. ในอุปมานั้น กรชกายดุจห้วงน้ำ ความสุขในทุติยฌานดุจน้ำ. บทที่เหลือ พึงทราบโดยนัยก่อน นั่นแล.

พึงทราบวินิจฉัย ในข้ออุปมา ความสุขในตติยฌาน. ชื่อว่า อุปฺปลินี เพราะว่ามีดอกอุบล. แม้ในสองบทที่เหลือ ก็นัยนี้ เหมือนกัน. ในอุปมานี้ บรรดาบัวขาว บัวแดง บัวขาบ อย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่ออุบลทั้งนั้น บัวมีใบเกิดขึ้น ๑๐๐ ใบชื่อปุณฑริก บัวมีใบ ๑๐๐ ใบชื่อปทุม บัวที่กำหนดใบ หรือแม้ไม่มีใบ บัวสีขาวชื่อปทุม สีแดงชื่อปุณฑริก นี้เป็นวินิจฉัย ในอุปมานี้. บทว่า อุทกานุคฺคตานิ ได้แก่ บัวยังไม่พ้นจากน้ำ. บทว่า อนฺโตนิมุคฺคโปสินี ได้แก่ บัวที่จมอยู่ภายในพื้นน้ำ น้ำหล่อเลี้ยงไว้ คือยังเจริญอยู่. บทที่เหลือ พึงทราบโดยนัยก่อน นั่นแล.

พึงทราบวินิจฉัย ในอุปมาความสุขในจตุตถฌาน. ในบทว่า ปริสุทฺเธน เจตสา ปริโยทาเตน นี้ พึงทราบว่า ชื่อว่า บริสุทธิ์ เพราะอรรถว่า ไม่มีอุปกิเลส ชื่อว่า ผ่องแผ้ว เพราะอรรถว่า ผ่องใส. บทว่า โอทาเตน

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 53

วตฺเถน นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึง ความแผ่ซ่านไปแห่งอุณหภูมิ เพราะผ้าสกปรก จะไม่มีการแผ่ซ่านไปแห่งอุณหภูมิ ผ้าสะอาดที่ซักในขณะนั้น การแผ่ซ่านไปแห่งอุณหภูมิ ย่อมมีกำลัง. ก็ด้วยอุปมานี้ กรชกายดุจผ้า สุขในจตุตถฌาน ดุจการแผ่ซ่านไปแห่งอุณหภูมิ เพราะฉะนั้น เมื่อบุรุษอาบน้ำชำระกายดีแล้ว นั่งคลุมผ้าสะอาดตลอดศีรษะ อุณหภูมิย่อมแผ่ซ่านไป ทั่วผ้าจากสรีระ ไม่มีช่องว่างไรๆ ที่ผ้าจะไม่ถูกต้องฉันใด ไม่มีช่องว่างไรๆ ที่กรชกายของภิกษุ จะไม่ถูกต้อง ด้วยสุขในจตุตถฌาน ฉันนั้น พึงเห็นความในอุปมานี้ ด้วยประการฉะนี้. อีกอย่างหนึ่ง จิตในจตุตถฌานเท่านั้น ดุจผ้า รูปอันมีจิต ในจตุตถฌานนั้น เป็นสมุฏฐาน ดุจการแผ่ซ่านไปแห่งอุณหภูมิ พึงเห็นความในอุปมานี้ อย่างนี้ว่า เหมือนอย่างว่า เมื่อผ้าขาวแม้ไม่ถูกต้องกาย ในส่วนไหนๆ อุณหภูมิอันมีกายนั้น เป็นสมุฏฐาน เป็นอันถูกต้องกายทุกแห่งแล ฉันใด สุขุมรูป อันมีจตุตถฌานเป็นสมุฏฐาน เป็นอันถูกต้องกายของภิกษุทุกแห่ง ฉันนั้นแล.

บทว่า ปจฺจเวกฺขณนิมิตฺตํ ได้แก่ ปัจจเวกขณญาณ นั่นเอง. บทว่า สุคฺคหิตํ โหติ ความว่า ฌานวิปัสสนา และมรรคเป็นธรรม อันภิกษุนั้นถือเอาแล้วด้วยดี ฉันใด ปัจจเวกขณนิมิต ก็เป็นข้ออันภิกษุนั้น ถือเอาแล้วด้วยดี ด้วยปัจจเวกขณนิมิตต่อๆ นั่นเอง ฉันนั้น. บทว่า อญฺโวา อญฺํ ได้แก่ คนอื่นคนหนึ่ง พิจารณาดูคนอื่นคนหนึ่ง. เพราะตนย่อมไม่ปรากฏแก่ตนเอง. บทว่า ิโต วา นิสินฺนํ ได้แก่ คนนั่งย่อมปรากฏแม้แก่คนยืน. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสไว้อย่างนี้. แม้ในบทที่เหลือ ก็นัยนี้เหมือนกัน.

บทว่า อุทกมณิโก ได้แก่ อ่างน้ำมีสายรัด. บทว่า สมติตฺติโก แปลว่า เต็มเปี่ยม. บทว่า กากเปยฺยา ได้แก่ กาจับที่ขอบปาก ไม่ต้องก้มคอก็ดื่มได้ บทว่า สุภูมิยํ ได้แก่ พื้นเรียบ. ก็พื้นที่สะอาด ชื่อว่า พื้นเรียบ

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 54

มาในบาลีนี้ว่า บุคคลพึงปลูกพืชทั้งหลาย ที่พื้นที่ดี ที่นาดี ที่ปราศจากตอ. บทว่า จาตุมฺมหาปเถ ได้แก่ ในที่ทางใหญ่สองสาย ผ่านแยกกันไป. บทว่า อาชญฺรโถ ได้แก่ รถเทียมด้วยม้าที่ฝึกแล้ว. บทว่า โอสตปโฏโท ความว่า ปฏักที่ห้อย ตั้งขวางไว้ โดยอาการที่สารถีขึ้นรถ ยืนอยู่ สามารถถือเอาได้. บทว่า โยคฺคาจริโย แปลว่า อาจารย์ฝึกม้า. ชื่อว่า อสฺสทมฺมสารถิ (สารถีผู้ฝึกม้า) เพราะอาจารย์ฝึกม้า นั้นแหละ ยังม้าที่ฝึกให้วิ่งไป. บทว่า เยนิจฺฉกํ ได้แก่ ปรารถนาจะไปโดยทางใดๆ. บทว่า ยทิจฺฉกํ ได้แก่ ประสงค์การไปใดๆ. บทว่า สาเรยฺย ได้แก่ ขับตรงไปข้างหน้า. บทว่า ปจฺจาสาเรยย ได้แก่ พึงขับกลับ. พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสสมาปัตติบริกรรม ด้วยองค์ ๕ ในภายหลัง อย่างนี้แล้ว ทรงแสดงอานิสงส์แห่งสมาบัติ อันคล่องแคล่ว ด้วยอุปมา ๓ เหล่านี้ บัดนี้ เพื่อทรงแสดงลำดับแห่งอภิญญา ของพระขีณาสพ จึงตรัสคำ มีอาทิว่า โส สเจ อากงฺขติ ดังนี้. คำนั้น มีเนื้อความง่าย ทั้งนั้นแล.

จบอรรถกถา อังคิกสูตรที่ ๘