พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๙. สุขุมาลสูตร ว่าด้วยสุขุมาลชาติ และความเมา ๓ ประการ

  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 169

๙. สุขุมาลสูตร

ว่าด้วยสุขุมาลชาติ และความเมา ๓ ประการ

[๔๗๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเป็นสุขุมาล สุขุมาลยิ่ง สุขุมาลโดยส่วนเดียว เราจะเล่าให้ฟัง ในพระราชนิเวศน์ พระบิดาของเราโปรดให้สร้างสระโบกขรณี สระหนึ่งปลูกอุบล สระหนึ่งปลูกปทุม สระหนึ่งปลูก

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 170

บุณฑริก (๑) เพื่อเราโดยเฉพาะ อนึ่ง เรามิใช่ใช้แต่จันทน์กาสี ผ้าโพกของเราก็เป็นผ้ากาสี เสื้อก็กาสี ผ้านุ่งก็กาสี ผ้าห่มก็กาสี (๒) อนึ่ง เศวตฉัตรเขากั้นให้เราทั้งกลางคืน ทั้งกลางวัน เพื่อว่ามิให้ต้องหนาว ร้อน ละออง หญ้า น้ำค้าง เรามีปราสาท ๓ หลัง หลังหนึ่งสำหรับอยู่ฤดูหนาว หลังหนึ่งสำหรับอยู่ฤดูร้อน หลังหนึ่งสำหรับอยู่ฤดูฝน (๓) เรานั้นอันนางนักดนตรีไม่มีบุรุษปนบำเรออยู่ในปราสาทฤดูฝนตลอด ๔ เดือนฤดูฝน มิได้ลงไปภายล่างปราสาทเลย ในพระราชนิเวศน์แห่งพระบิดาเรา ให้ข้าวสาลีกับเนื้อแก่ทาส กรรมกร และคนอาศัย เท่ากับในนิเวศน์ผู้อื่นๆ ที่ให้ข้าวปลายเป็นสองกับน้ำผักดองแก่ทาส กรรมกร และคนอาศัย

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรานั้นเพียบพร้อมไปด้วยฤทธิ์เห็นปานนี้ และความสุขุมาลเหลือเกินถึงเช่นนี้ ก็ยังได้คิดว่า ปุถุชนผู้มิได้สดับ ตัวเองก็มีอันจะต้องแก่ ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ แต่เห็นคนอื่นแก่แล้วอึดอัด ระอา ชิงชัง ลืมตัวเสียทีเดียว ถึงตัวเราเล่าก็มีอันจะต้องแก่ ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ ก็แต่ว่าข้อซึ่งเราเองก็เป็นคนมีอันจะต้องแก่ ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้อยู่เหมือนกัน เห็นคนอื่นแก่แล้วจะพึงอึดอัด ระอา ชิงชัง นั่นไม่สมควรแก่เราเลย ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเราพิจารณาเห็นอยู่เช่นนี้ ความเมาในความหนุ่มได้หายไปหมด

ปุถุชนผู้มิได้สดับ ตัวเองก็มีอันจะต้องเจ็บไข้ ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้ แต่เห็นคนอื่นเจ็บไข้แล้ว อึดอัด ระอา ชิงชัง ลืมตัวเสียทีเดียว


(๑) อุบล บัวสายหลากสี ปทุม บัวก้านสีแดง (บัวหลวง) บุณฑริก บัวก้านสีขาว

(๒) กาสี เป็นชื่อแคว้น ซึ่งมีเมืองพาราณสีเป็นเมืองหลวง สินค้าของแคว้นนี้มีหลายอย่างที่ขึ้นชื่อและราคาสูงในสมัยนั้น ซึ่งคนชั้นสุขุมาลนิยมใช้

(๓) ตามนี้แสดงว่า ครั้งนั้นนับฤดูหนาวเป็นต้นปี ฤดูฝนเป็นปลายปี เพราะฉะนั้น พรรษา (ฝนหรือฤดูฝน) จึงแปลว่า ปี

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 171

ถึงตัวเราเล่า ก็มีอันจะต้องเจ็บไข้ ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้ ก็แต่ว่าข้อซึ่งเราเองก็เป็นคนมีอันจะต้องเจ็บไข้ ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้อยู่เหมือนกัน เห็นคนอื่นเจ็บไข้แล้วจะพึงอึดอัด ระอา ชิงชัง นั่นไม่สมควรแก่เราเลย ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเราพิจารณาเห็นอยู่เช่นนี้ ความเมาในความไม่มีโรคได้หายไปหมด

ปุถุชนผู้มีได้สดับ ตัวเองก็มีอันจะต้องตาย ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ แต่เห็นคนอื่นตายแล้วอึดอัด ระอา ชิงชัง ลืมตัวเสียทีเดียว ถึงตัวเราเล่า ก็มีอันละต้องตาย ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ก็แต่ว่าข้อซึ่งเราเองก็เป็นคนมีอันจะต้องตาย ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้อยู่เหมือนกัน เห็นคนอื่นตายแล้วจะพึงอึดอัด ระอา ชิงชัง นั่นไม่สมควรแก่เราเลย ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเราพิจารณาเห็นอยู่เช่นนี้ ความเมาในชีวิต (ความเป็นอยู่) ได้หายไปหมด

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเมา ๓ นี้ ๓ คืออะไร คือ ความเมาในความหนุ่ม ๑ ความเมาในความไม่มีโรค ๑ ความเมาในชีวิต ๑.

ปุถุชนผู้มิได้สดับ ที่เมาในความหนุ่มก็ดี เมาในความไม่มีโรคก็ดี และเมาในชีวิตก็ดี ย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจ ปุถุชนนั้น ครั้นประพฤติทุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจแล้ว เพราะกายแตกตายไป ย่อมเข้าถึงอบายทุคติวินิบาตนรก

ภิกษุผู้เมาในความหนุ่มก็ดี เมาในความไม่มีโรคก็ดี และเมาในชีวิตก็ดี ย่อมลาสิกขากลับเป็นหีนเพศ (๑)


(๑) เพศทราม เพศต่ำ คือ เพศฆราวาส.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 172

ปุถุชนทั้งหลายก็เป็นตามธรรมดา คือ มีอันจะต้องเจ็บ มีอันจะต้องแก่ และมีอันจะต้องตาย แต่เกลียดชัง (คนอื่น) ที่เป็นตามธรรมดานั้น

ข้อซึ่งเราจะพึงเกลียดชังสภาพอันนั้นในสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอันจะต้องเป็นอย่างนั้น นั่นไม่สมควรแก่เราผู้ซึ่งมีอันเป็นอยู่อย่างนั้นเหมือนกัน

เมื่อเราเห็นอยู่อย่างนั้น ได้รู้ธรรมอันไม่มีอุปธิแล้ว ความเมาอันใดในความไม่มีโรค ในความหนุ่ม และในชีวิต เราครอบงำความเมาทั้งปวงนั้นเสีย ได้เห็นเนกขัมมะ (การออกจากกาม) ว่าเป็นความเกษม (ปลอดโปร่ง) ความอุตสาหะ (ในเนกขัมมะ) จึงได้มีแก่เราผู้เห็นพระนิพพานอยู่จำเพาะหน้า

เดี๋ยวนี้ เราเป็นคนไม่ควรจะเสพกามทั้งหลายแล้ว เราจักเป็นผู้ไม่ถอยกลับ มีพรหมจรรย์เป็นเบื้องหน้า.

จบสุขุมาลสูตรที่ ๙

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 173

อรรถกถาสุขุมาลสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในสุขุมาลสูตรที่ ๙ ดังต่อไปนี้ :-

สุขุมาลชาติ

บทว่า สุขุมาโล คือ (เราตถาคต) เป็นผู้ไม่มีทุกข์. บทว่า ปรมสุขุมาโล คือ เป็นผู้ไม่มีทุกข์อย่างยิ่ง. บทว่า อจฺจนฺตสุขุมาโล คือ เป็นผู้ไม่มีทุกข์ตลอดกาล. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคำนี้ เพราะทรงหมายถึงว่า พระองค์ไม่มีทุกข์ นับตั้งแต่เสด็จอุบัติในเมืองกบิลพัสดุ์. แต่ในเวลาที่ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา ทุกข์ที่พระองค์เสวยไม่มีที่สุด.

บทว่า เอกตฺถา คือ ในสระโบกขรณีแห่งหนึ่ง. บทว่า อุปฺปลํ วปฺปติ ความว่า เขาปลูกอุบลเขียวไว้. สระโบกขรณีนั้น ดาดาษด้วยป่าดอกอุบลเขียว. บทว่า ปทุมํ ได้แก่ บัวขาว. บทว่า ปุณฑริกํ (๑) ได้แก่ บัวแดง. สระโบกขรณีทั้งสองสระนอกนี้ ดาดาษไปด้วยบัวขาวและบัวแดงดังพรรณนามานี้.

วิสสุกรรมเทพบุตรสร้างสระโบกขรณี

ดังได้สดับมา ในเวลาที่พระโพธิสัตว์มีพระชนมายุได้ ๗ - ๘ พรรษา พระราชา (สุทโธทนะ) ตรัสถามอำมาตย์ทั้งหลายว่า พวกเด็กเล็กๆ ชอบเล่นกีฬาประเภทไหน. อำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า ชอบเล่นน้ำ พระเจ้าข้า. จากนั้น พระราชารับสั่งให้ประชุมกรรมกรขุดดิน แล้วให้เลือกเอาที่สำหรับสร้างสระโบกขรณี.


(๑) บาลีว่า ปทุมํ ได้แก่ บัวแดง ปุณฑริกํ ได้แก่ บัวขาว.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 174

เวลานั้น ท้าวสักกเทวราชทรงใคร่ครวญดู ทรงทราบความเป็นไปนั้นแล้วทรงดำริว่า เครื่องใช้ของมนุษย์ไม่สมควรแก่พระโพธิสัตว์เลย เครื่องใช้ทิพย์ (ต่างหาก) จึงสมควร ดังนี้แล้ว ตรัสเรียกวิสสุกรรมเทพบุตรมาตรัสว่า ไปเถิดพ่อ พ่อจงสร้างสระโบกขรณีในสนามเล่นของพระมหาสัตว์. วิสสุกรรมเทพบุตรทูลถามว่า จะให้มีลักษณะอย่างไร พระเจ้าข้า.

ท้าวสักกะรับสั่งว่า สระโบกขรณีต้องไม่มีโคลนเลน เกลื่อนกล่นด้วยแก้วมณี แก้วมุกดา และแก้วประพาฬ ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ๗ ประการ พร้อมมูลด้วยบันไดที่มีขั้นบันไดทำด้วยทอง เงิน และแก้วมณี มีราวบันไดทำด้วยแก้วมณี มีซุ้มบันไดทำด้วยแก้วประพาฬ และในสระนี้ต้องมีเรือทำด้วยทอง เงิน แก้วมณี และแก้วประพาฬ ในเรือทองต้องมีบัลลังก์เงิน ในเรือเงินต้องมีบัลลังก์ทอง ในเรือแก้วมณีต้องมีบัลลังก์แก้วประพาฬ ในเรือแก้วประพาฬต้องมีบัลลังก์แก้วมณี ต้องมีทะนานตักน้ำทำด้วยทอง เงิน แก้วมณี และแก้วประพาฬ และสระโบกขรณีต้องดาดาษด้วยปทุม ๕ ชนิด. วิสสุกรรมเทพบุตรรับพระบัญชาท้าวสักกเทวราชว่า ได้ พระเจ้าข้า ดังนี้แล้ว ลงมาตอนกลางคืน สร้างสระโบกขรณีโดยทำนองนั้นนั่นแล ในที่ที่พระราชารับสั่งให้เลือกเอา.

ถามว่า ก็สระโบกขรณีเหล่านี้ ไม่มีโคลนเลนมิใช่หรือ แล้วปทุมทั้งหลายบานในสระนี้ได้อย่างไร. ตอบว่า ได้ยินว่า วิสสุกรรมเทพบุตรนั้น สร้างเรือลำเล็กๆ ที่ทำด้วยทอง เงิน แก้วมณี และแก้วประพาฬไว้ตามที่ต่างๆ ในสระโบกขรณีเหล่านั้น แล้วอธิษฐานว่า เรือเหล่านี้จงเต็มด้วยโคลนเลนเถิด และขอบัว ๕ ชนิด จงบานในเรือนี้เถิด. บัว ๕ ชนิด ก็บานแล้ว

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 175

ด้วยประการดังพรรณนามาฉะนี้. ละอองเกษรก็ฟุ้ง. หมู่ภมร ๕ ชนิดก็พากันบินเคล้าคลึง. วิสสุกรรมเทพบุตรสร้างสระโบกขรณีเหล่านั้นเสร็จอย่างนี้แล้ว ก็กลับไปยังเทวบุรีตามเดิม.

ครั้นราตรีสว่าง มหาชนเห็นแล้วก็คิดกันว่า สระโบกขรณีคงจักมีใครนิรมิตถวายพระมหาบุรุษเป็นแน่ จึงพากันไปกราบทูลให้พระราชาทรงทราบ. พระราชามีมหาชนห้อมล้อม เสด็จไปทอดพระเนตรดูสระโบกขรณีก็ทรงโสมนัสว่า สระโบกขรณีเหล่านี้ เทวดาคงจักนิรมิตขึ้นด้วยบุญฤทธิ์แห่งโอรสของเรา. ตั้งแต่นั้นมา พระมหาบุรุษก็เสด็จไปทรงเล่นน้ำ.

บทว่า ยาวเทว ในบทว่า ยาวเทว มมตฺถาย นี้ เป็นคำกำหนดถึงเขตแดนแห่งการประกอบ อธิบายว่า เพียงเพื่อประโยชน์แก่เราเท่านั้น ไม่มีเหตุอย่างอื่นในเรื่องนี้. บทว่า น โข ปนสฺสาหํ ตัดบทเป็น น โข ปนสฺส อหํ. บทว่า กาสิกํ จนฺทนํ ได้แก่ ไม้จันทน์แคว้นกาสี เนื้อละเอียดอ่อน. บทว่า กาสิกํ สุ เม ตํ ภิกฺขเว เวนํ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ผ้าโพกศีรษะของเรา ก็เป็นผ้าแคว้นกาสี. ก็คำว่า สุ และ ตํ ในบทว่า กาสิกํ สุ เม ตํ เวนํ นี้ เป็นเพียงนิบาต. บทว่า เม เป็นฉัฎฐีวิภัติ. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ผ้าโพกศีรษะของเราตถาคตเนื้อละเอียดแท้. บทว่า กาสิกา กญฺจุกา ได้แก่ แม้ฉลองพระองค์ ก็เป็นฉลองพระองค์ชนิดละเอียดอ่อน (๑). บทว่า เสตจฺฉตฺตํ ธาริยติ ความว่า ทั้งเศวตฉัตรของมนุษย์ ทั้งเศวตฉัตรทิพย์ ก็กั้นอยู่เหนือศีรษะด้วยเหมือนกัน. บทว่า มา นํ สิตํ วา ความว่า ขอความหนาวหรือความร้อนเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่าได้สัมผัสพระโพธิสัตว์นั่นเลย.


(๑) ปาฐะว่า ปารุปนกญฺจุโก จ สีสกญฺจุโก จ ฉบับพม่าเป็น ปารุปนกญฺจุโกปิ สณฺนกจโก จ แปลตามฉบับพม่า.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 176

การสร้างปราสาท ๓ ฤดู

บทว่า ตโย ปาสาทา อเหสํุ ความว่า ได้ยินว่า เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติแล้วมีพระขนมายุได้ ๑๖ พรรษา พระเจ้าสุทโธทนะทรงดำริว่า จักให้สร้างปราสาทสำหรับพระราชโอรสประทับอยู่ จึงรับสั่งให้ช่างไม้มาประชุมพร้อมกัน แล้วรับสั่งให้ทำโครงร่างปราสาท ๙ ชั้น ตามฤกษ์ยามดีแล้ว ให้สร้างปราสาท ๓ หลัง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาปราสาททั้ง ๓ หลังนั้น จึงตรัสคำนี้ว่า ตโย ปาสาทา อเหสุํ.

ในบทว่า เหมนฺติโก เป็นต้น มีอธิบายว่า ปราสาทหลังที่ทรงประทับอยู่ได้อย่างสำราญในฤดูเหมันต์ ชื่อว่า เหมันติกปราสาท (ปราสาทหลังที่ประทับอยู่ในฤดูเหมันต์). แม้ในสองบทนอกนี้ก็มีนัยนี้แล. ก็ในบทเหล่านี้ มีความหมายของคำดังนี้ การอยู่ในฤดูเหมันต์ ชื่อว่า เหมันตะ ปราสาทชื่อว่า เหมันติกะ เพราะเหมาะสมกับฤดูเหมันต์. แม้ในสองบทนอกนี้ ก็มีนัยนี้แล.

ปราสาทฤดูหนาว

บรรดาปราสาททั้ง ๓ หลังนั้น ปราสาทในฤดูเหมันต์มี ๙ ชั้น ก็แลชั้น (แต่ละชั้น) ของปราสาทนั้น ได้ต่ำลงต่ำลง (ตามลำดับ) ก็เพื่อให้รับไออุ่น ประตูและหน้าต่างที่ปราสาทหลังนั้นก็มีบานติดสนิทดีไม่มีช่อง ช่างไม้ทั้งหลาย แม้เมื่อทำจิตรกรรมก็เขียนเป็นกองไฟลุกสว่างอยู่ในชั้นนั้นๆ ก็เครื่องลาดพื้นในปราสาทนี้ทำจากผ้ากัมพล. ผ้าม่าน เพดาน ผ้านุ่ง ผ้าห่ม และผ้าโพกศีรษะก็เหมือนกัน (คือ ทำจากผ้ากัมพล). หน้าต่างก็เปิดในตอนกลางวัน แล้วปิดในตอนกลางคืน เพื่อให้รับความร้อน.

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 177

ปราสาทฤดูร้อน

ปราสาทฤดูร้อนมี ๕ ชั้น. ก็ชั้น (แต่ละชั้น) ในปราสาทนี้ (ยก) สูง ไม่คับแคบ เพื่อให้รับไอความเย็น. ประตูและหน้าต่างปิดไม่สนิทนัก มีช่อง และติดตาข่าย. ในงานจิตรกรรม เขาได้เขียนเป็นดอกอุบล ดอกปทุม และดอกบุณฑริกไว้. ก็เครื่องลาดพื้นในปราสาทนี้ ทำจากผ้าเปลือกไม้ ผ้าม่าน เพดาน ผ้านุ่ง ผ้าห่ม และผ้าโพกศีรษะ (ก็ทำจากเปลือกไม้) เหมือนกัน. และตรงที่ใกล้หน้าต่างในปราสาทนี้ พวกช่างไม้ก็ตั้งตุ่มไว้ ๙ ตุ่ม ใส่น้ำจนเต็ม แล้วเอาดอกบัวเขียวเป็นต้นคลุมไว้. เขาทำน้ำตกไว้ตามที่เหล่านั้น เป็นเหตุให้สายน้ำไหลออกมาเหมือนเมื่อฝนตก ภายในปราสาทเขาวางรางไม้ที่มีโคลนใส่อยู่เต็มไว้ในที่นั้นๆ แล้วปลูกบัวเบญจวรรณไว้. บนยอดปราสาทก็ผูกเชือกหนังกระบือแห้งไว้ ใช้เครื่องยนต์ยกก้อนหินขึ้นสูงจนกระทั่งถึงหลังคาแล้ว เป็นเหตุให้สายน้ำไหลออกเหมือนเมื่อคราวฝนตก เสียงน้ำไหลจะเป็นเหมือนเสียงฟ้าร้อง ก็ประตูและหน้าต่างในปราสาทหลังนี้ปิดไว้ในเวลากลางวัน แล้วเปิดในเวลากลางคืน.

ปราสาทฤดูฝน

ปราสาทฤดูฝนมี ๗ ชั้น. ก็ชั้น (แต่ละชั้น) ในปราสาทหลังนี้ไม่สูงเกินไปและไม่ต่ำเกินไป เพื่อต้องการให้ได้รับอากาศทั้ง ๒ ฤดู (เย็นและร้อน) ประตูกับหน้าต่างลางบานก็ปิดสนิทดี ลางบานก็ห่าง. แม้จิตรกรรมในปราสาทนั้น ในที่ลางแห่งก็ทำเป็นกองไฟลุกโชน ในที่ลางแห่งก็ทำเป็นสระธรรมชาติ. ก็ผ้ามีผ้าลาดพื้นเป็นต้นในปราสาทหลังนี้ ก็ปนกันทั้งสองชนิด คือ ทั้งผ้ากัมพลและผ้าเปลือกไม้. ประตูกับหน้าต่างลางบานก็เปิดตอนกลางคืน แล้วปิดตอนกลางวัน ลางบานก็เปิดตอนกลางวัน แล้วปิดตอนกลางคืน. ปราสาททั้ง ๓ หลัง ส่วนสูงมีขนาดเท่ากัน. แต่มีความแตกต่างกันในเรื่องชั้น.

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 178

พระโพธิสัตว์แสดงศิลปะ

เมื่อสร้างปราสาทสำเร็จลงอย่างนี้แล้ว พระราชาทรงดำริว่า โอรสของเราเจริญวัยแล้ว เราจักให้ยกเศวตฉัตรขึ้นเพื่อเขา แล้วคอยดูสิริราชสมบัติ. พระองค์จึงทรงส่งพระราชสาส์นไปถึงเจ้าศากยะทั้งหลายว่า โอรสของหม่อมฉันเจริญวัยแล้ว หม่อมฉันจักสถาปนาเขาไว้ในราชสมบัติ ขอเจ้าศากยะทั้งปวงจงส่งเจ้าหญิงผู้เจริญวัยในวังของตนๆ ไปยังราชมณเฑียรนี้เถิด.

เจ้าศากยะเหล่านั้นได้สดับพระราชสาส์นแล้ว ต่างทรงดำริว่า พระกุมารสมบูรณ์ด้วยพระรูปน่าทัศนาเท่านั้น (แต่ว่า) ไม่ทรงรู้ศิลปะอะไรๆ เลย จักไม่สามารถเลี้ยงดูพระวรชายาได้หรอก พวกเราจักไม่ยอมยกลูกสาวให้.

พระราชาทรงสดับข่าวนั้น แล้วได้เสด็จไปยังสำนักพระราชโอรส แล้วตรัสบอก. พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า ข้าแต่พระบิดา หม่อมฉันควรจะแสดงศิลปะอะไร

พระราชาตรัสว่า ลูกควรยกสหัสสถามธนู (ธนูที่หนักต้องใช้แรงคน ๑,๐๐๐) ขึ้นนะลูก. ถ้าอย่างนั้น ขอพระองค์จงทรงให้นำมา. พระราชารับสั่งให้นำธนูมาให้พระราชโอรส. ธนูนั้นใช้คน ๑,๐๐๐ คนยกขึ้น ใช้คน ๑,๐๐๐ คนยกลง. พระมหาบุรุษให้นำธนูมา แล้วประทับนั่งบนบัลลังก์ ทรงเกี่ยวสายไว้ที่พระปาทังคุฏฐะ (นิ้วโป้งพระบาท) แล้วดึงมา ทรงเอาพระปาทังคุฎฐะ (นิ้วโป้งพระบาท) นั่นเองนำธนูมา แล้วจับคันธนูด้วยพระหัตถ์ซ้าย ทรงเหนี่ยวสายมาด้วยพระหัตถ์ขวา ทั่วทั้งพระนครถึงอาการตกตะลึง. และเมื่อมีใครถามว่า เสียงอะไร? เจ้าศากยะทั้งหลายก็ตอบกันว่า ฟ้าฝนคำราม. ทีนั้นคนอีกพวกหนึ่งก็ตอบว่า พวกท่านไม่รู้หรือ ไม่ใช่ฟ้าฝนคำรามหรอก นั่นเป็น

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 179

เสียงปล่อยสายธนูของพระราชกุมาร เผ่าอังคีรสผู้ทรงยกธนูที่ต้องใช้แรงคนถึง ๑,๐๐๐ คน แล้วทรงขึ้นสาย. เจ้าศากยะทั้งหลาย ต่างก็มีพระทัยชื่นชมด้วยการแสดงศิลปะเพียงเท่านั้น.

พระมหาบุรุษกราบทูลพระราชบิดาว่า หม่อมฉันควรจะทำอะไรอย่างอื่นอีกไหม?

พระราชาตรัสตอบว่า ลูกควรเอาลูกศรยิงแผ่นเหล็กหนาประมาณ ๘ นิ้วให้ทะลุ.

พระมหาบุรุษยิงทะลุแผ่นเหล็กนั้น แล้วกราบทูลว่า หม่อมฉันควรจะทำอะไรอย่างอื่นอีกไหม?

พระราชาตรัสตอบว่า ลูกควรยิงแผ่นกระดานไม้ประดู่หนา ๔ นิ้วให้ทะลุ.

พระมหาบุรุษยิงทะลุแผ่นกระดานนั้น แล้วกราบทูลว่า หม่อมฉันควรจะทำอะไรอย่างอื่นอีกไหม?

พระราชาตรัสตอบว่า ลูกควรยิงแผ่นกระดานไม้มะเดื่อหนา ๑ คืบให้ทะลุ.

พระมหาบุรุษยิงแผ่นกระดานไม้มะเดื่อนั้น แล้วกราบทูลว่า หม่อมฉันควรจะทำอะไรอย่างอื่นอีกไหม?

พระราชาตรัสตอบว่า ลูกควรยิงแผ่นกระดานที่ผูกติดไว้ที่เครื่องยนต์ ๑๐๐ แผ่นให้ทะลุ.

พระมหาบุรุษยิงทะลุแผ่นกระดาน ๑๐๐ แผ่นนั้น แล้วกราบทูลว่า หม่อมฉันควรจะทำอะไรอย่างอื่นอีกไหม?

พระราชาตรัสตอบว่า ลูกควรยิงหนังกระบือแห้งหนา ๖๐ ชั้นให้ทะลุ.

พระมหาบุรุษยิงทะลุหนังกระบือแห้งแม้นั้น แล้วกราบทูลว่า หม่อมฉันควรทำอะไรอย่างอื่นอีกไหม?

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 180

ลำดับนั้น เจ้าศากยะทั้งหลายก็บอก (ให้ยิง) เกวียนบรรทุกทรายเป็นต้น.

พระมหาสัตว์ยิงทะลุทั้งเกวียนบรรทุกทราย ทั้งเกวียนบรรทุกฟาง แล้วยิงลูกศรลงไปในน้ำลึกประมาณ ๑ อุสภะ (และ) ยิงขึ้นไปบนบกไกลประมาณ ๘ อุสภะ.

ทีนั้น เจ้าศากยะทั้งหลายก็กราบทูลพระมหาสัตว์นั้นว่า บัดนี้พระองค์ควรยิงขนทรายให้ทะลุ โดยมีมะเขือเป็นเครื่องหมาย.

พระมหาสัตว์ตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านทั้งหลายจงให้ผูก (ขนทราย).

เจ้าศากยะทั้งหลายก็สั่งว่า พ่อทั้งหลาย พวกพ่อจงมาช่วยกันให้ผูก (๑) (ขนทราย) คือพวกหนึ่งจงผูกไว้ (๒) ในระยะทางระหว่างเสียงกึกก้อง คือพวกหนึ่งจงเดินทางล่วงหน้าไป ผูกไว้ (๓) ในระยะทางคาวุตหนึ่ง พวกหนึ่งจงเดินทางล่วงหน้าไป ผูกไว้ในระยะทางกึ่งโยชน์ พวกหนึ่งจงเดินทางล่วงหน้าไป ผูกไว้ (๔) ในระยะทาง ๑ โยชน์.

พระมหาสัตว์ให้ผูกขนทรายในระยะทางไกลประมาณ ๑ โยชน์ โดยมีมะเขือเป็นเครื่องหมาย แล้วยิงลูกศรไปในทิศทั้งหลาย ซึ่งหนาแน่นด้วยแผ่นเมฆในยามราตรีที่มืดสนิท. ลูกศรวิ่งไปผ่าขนทรายในระยะทางไกลประมาณ ๑ โยชน์ แล้ว (ตกลง) แทงทะลุแผ่นดินไป และไม่ใช่ว่ามีแต่ยิงลูกศรเพียงเท่านี้อย่างเดียวเท่านั้น.

ก็วันนั้น พระมหาสัตว์ทรงแสดงศิลปะที่มีอยู่ในโลกครบทุกชนิด (๕). เจ้าศากยะทั้งหลาย ตกแต่งพระธิดาของตนๆ แล้วส่งไปถวาย. นางระบำได้มีจำนวนถึง ๔๐,๐๐๐ นาง. พระมหาบุรุษประทับอยู่ในปราสาททั้ง ๓ หลัง ดุจดังเทพบุตร.


(๑) ปาฐะว่า วิชฺฌตุ ฉบันพม่าเป็น พชฺฌตุ แปลตามฉบับพม่า.

(๒) (๓) (๔) ปาฐะว่า วิชฺฌตุ ฉบับพม่าเป็น พนฺธนฺตุ แปลตามฉบับพม่า.

(๕). ปาฐะว่า โลเก วตฺตมานิ สิปฺปํ ฉบับพม่าเป็น โลเก วตฺตมานสิปฺปํ.

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 181

ในปราสาทไม่มีผู้ชายเลย

บทว่า นิปฺปุริเสหิ ตุริเยหิ ความว่า ดนตรีที่ปราศจากบุรุษ. และในปราสาทนี้ ไม่ใช่ว่าการดนตรีเท่านั้นที่ไม่มีบุรุษ (เล่น) ก็หามิได้. แม้ว่าสถานที่ทุกแห่ง ก็ไม่มีบุรุษประจำด้วยเหมือนกัน. แม้คนเฝ้าประตูก็เป็นสตรีอีกเช่นกัน. พวกที่ทำงานในคราวถวายการสรงสนานเป็นต้น ก็เป็นสตรีด้วยเหมือนกัน

เล่ากันว่า พระราชาทรงดำริว่า ความรังเกียจจะเกิดขึ้นแก่ลูกชายของเราผู้เสวยสุขสมบัติจากอิสริยยศเห็นปานนั้นอยู่ เพราะได้เห็นบุรุษ ขอความรังเกียจนั้นอย่าได้มีแก่ลูกของเราเลย ดังนี้แล้ว จึงทรงแต่งตั้งสตรีไว้ในทุกหน้าที่. บทว่า ปริจารยมาโน ความว่า บันเทิงใจอยู่.

พระโพธิสัตว์มิได้เสด็จลงชั้นล่างเลย

บทว่า น เหฏฺาปาสาทํ โอโรหามิ ความว่า เราตถาคตมิได้ลงจากปราสาทไปข้างล่างเลย เพราะเหตุนั้น บุรุษสักคนหนึ่ง (แม้กระทั่งเด็ก) ไว้ผมจุก ก็ไม่ได้เห็นเราตถาคตเลยตลอด ๔ เดือน. บทว่า ยถา คือ โดยนิยามใด. บทว่า ทาสกมฺมกรโปริสสฺส ได้แก่ ทาส กรรมกรที่ได้รับการเลี้ยงด้วยค่าอาหารประจำวัน และคนที่อาศัยอยู่กิน (ตลอดไป). บทว่า กณาชกํ ได้แก่ ข้าวปนปลายข้าว. บทว่า วิลงฺคทุติยํ ได้แก่ มีน้ำผักดองเป็นที่ ๒. บทว่า เอวรูปาย อิทฺธิยา ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยบุญฤทธิ์ มีกำเนิดอย่างนี้. บทว่า เอวรูเปน จ สุขุมาเลน ได้แก่ และผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้ไม่มีทุกข์มีกำเนิดอย่างนี้. ปาฐะเป็น สุขุมาเลน ดังนี้ก็มี.

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 182

เหตุผลที่ตรัสสุขสมบัติของพระองค์

พระตถาคตตรัสเล่าถึงสิริสมบัติของพระองค์ด้วยฐานะเพียงเท่านี้ ดังพรรณนามานี้ และเมื่อตรัสเล่า ก็หาได้ตรัสเล่าเพื่อความลำพองพระทัยไม่. แต่ตรัสเล่าเพื่อทรงแสดงถึงลักษณะของความไม่ประมาทนั่นเองว่า เราตถาคตสถิตอยู่ในสมบัติแม้เห็นปานนี้ ก็ยังไม่ประมาทเลย. ด้วยเหตุนั้นแล พระองค์จึงตรัสคำว่า อสฺสุตวา โข ปุถุชฺชโน เป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปรํ ได้แก่ บุคคลอื่น. บทว่า ชิณฺณํ ได้แก่ ทรุดโทรมเพราะชรา. บทว่า อฎฺฎิยติ ได้แก่ เป็นผู้เอือมระอา. บทว่า หรายติ ได้แก่ ทำความละอาย คือ ละอายใจ. บทว่า ชิคุจฺฉติ ได้แก่ เกิดความรังเกียจขึ้นเหมือนได้เห็นของไม่สะอาด. บทว่า อตฺตานํเยว อติสิตฺวา ความว่า อึดอัด ระอา ลืมตนว่ามีชราเป็นธรรมดา. บทว่า ชราธมฺโม ได้แก่ มีชราเป็นสภาพ. บทว่า ชรํ อนตีโต ความว่า เราตถาคตไม่พ้นชราไปได้ ยังคงเป็นไปอยู่ภายในชรา. บทว่า อิติ ปฏิสญฺจิกฺขโต ได้แก่ ผู้พิจารณาเห็นอยู่อย่างนี้.

ความเมา ๓ อย่าง

ความเมาเพราะมานะที่อาศัยความเป็นหนุ่มเกิดขึ้น ชื่อว่า โยพพนมทะ. บทว่า สพฺพโส ปหียิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงความเมาที่ละได้แล้วโดยอาการทั้งปวงให้เป็นเหมือนว่า ละได้แล้วด้วยมรรค. แต่นักศึกษาพึงทราบว่า ความเมานี้ไม่ใช่ละได้ด้วยมรรค พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ละได้ด้วยการพิจารณา (วิปัสสนา). เพราะว่าเทวดาทั้งหลายแสดงบุคคลผู้ประสบกับชราแก่พระโพธิสัตว์. ตั้งแต่นั้นมาจนกระทั่งได้เป็นพระอรหันต์ ชื่อว่า

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 183

ความเมาในความเป็นหนุ่ม ไม่เกิดขึ้นแก่พระมหาสัตว์เลยในระหว่าง. แม้ในสองบทที่เหลือก็มีนัยนี้แล. อนึ่ง ในสองบทที่เหลือนี้ มีอธิบายดังต่อไปนี้ ความเมาด้วยอำนาจมานะที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยความไม่มีโรคว่า เราเป็นคนไม่มีโรค ชื่อว่า อโรคยมทะ. ความเมาด้วยอำนาจมานะที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยชีวิตว่า เราเป็นอยู่มาได้นาน ชื่อว่า ชีวิตมทะ. บทว่า สิกฺขํ ปจฺจกฺขาย ได้แก่ บอกคืนสิกขา. บทว่า หีนายาวตฺตติ ได้แก่ เวียนมาเพื่อภาวะที่เลว คือ เพื่อเป็นคฤหัสถ์อันเป็นภาวะที่ต่ำ.

บทว่า ยถาธมฺมา ได้แก่ มีสภาวะเป็นอย่างใดด้วยสภาวะทั้งหลาย มีความเจ็บป่วยเป็นต้น. บทว่า ตถาสนฺตา มีอธิบายว่า เป็นผู้มีความเจ็บป่วยเป็นต้น เป็นสภาวะที่ไม่แปรผันเหมือนที่มีอยู่นั่นแหละ. บทว่า ชิคุจฺฉนฺติ ได้แก่ รังเกียจบุคคลอื่น. บทว่า มม เอวํวิหาริโน ความว่า เมื่อเราตถาคตอยู่ด้วยอาการอย่างนี้ คือ ด้วยการอยู่อย่างน่ารังเกียจ ความรังเกียจอย่างนี้ พึงเป็นของไม่เหมาะสม คือ ไม่สมควร.

บทว่า โสหํ เอวํ วิหรนฺโต ความว่า เราตถาคตนั้นอยู่อย่างนี้ คือ (อยู่อย่าง) ไม่รังเกียจบุคคลอื่น. อีกอย่างหนึ่ง (เราตถาคตนั้น) อยู่อย่างนี้ คือ อยู่โดยมีการพิจารณาเป็นธรรมเครื่องอยู่นี้. บทว่า ตฺวา ธมฺมํ นิรูปธึ ความว่า ทราบธรรมคือพระนิพพานซึ่งเว้นจากอุปธิทั้งปวง. บทว่า สพฺเพ มเท อภิโภสฺมิ ความว่า เราตถาคตครอบงำ คือ ก้าวล่วง ความเมาหมดทั้ง ๓ อย่าง.

บทว่า เนกฺขมฺเม ทฏฺฐุ เขมตํ ความว่า เห็นภาวะที่เกษมในพระนิพพาน. ปาฐะเป็น เนกฺขมฺมํ ทฏฺฐุ เขมโต ก็มี. ความหมายก็คือว่า เห็นเนกขัมมะโดยความเป็นสภาวะที่เกษม.

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 184

บทว่า ตสฺส เม อหุ อุสฺสาโห ความว่า เมื่อเรานั้นเห็นพระนิพพานกล่าวคือเนกขัมมะนั้นอย่างแจ่มแจ้ง จึงได้มีความอุตสาหะ หมายความว่า ได้มีความพยายาม.

บทว่า นาหํ ภพฺโพ เอตรหิ กามานิ ปฏิเสวิตุํ ความว่า บัดนี้เราตถาคตไม่ควรที่จะเสพกามทั้งสองอย่าง. บทว่า อนิวตฺติ ภวิสฺสามิ ความว่า เราตถาคตจักไม่หวนกลับ คือ จักไม่ถอยกลับจากบรรพชา และจากสัพพัญญุตญาณ. บทว่า พฺรหฺมจริยปรายโน ความว่า เราตถาคตกลายเป็นผู้มีมรรคพรหมจรรย์เป็นที่ไปในเบื้องหน้าแล้ว.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงความเพียรที่เป็นเหตุให้พระองค์ได้บรรลุ ณ บัลลังก์ใต้ต้นมหาโพธิ ด้วยคาถาเหล่านี้ ดังว่ามานี้.

จบอรรถกถาสุขุมาลสูตรที่ ๙