สงสัยเรื่องสติปัฏฐาน

 
lokiya
วันที่  23 ก.ย. 2564
หมายเลข  37424
อ่าน  363

1. สติปัฏฐานเกิดทางมโนทวารวิถีเป็นหลักใช่หรือไม่ครับ

2. ถ้าหากสติปัฏฐานเกิดทางมโนทวารวิถีแล้วก็ต้องเกิดพร้อมกับการคิด หรือ วิตกเจตสิกหรือไม่

3. การรู้เย็นร้อนอ่อนแข็งตามปกติในชีวิตประจำวันต่างจากการรู้เย็นร้อนอ่อนแข็งที่เป็นสติปัฏฐานอย่างไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 24 ก.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สติปัฏฐาน คือ กุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาและเจตสิกฝ่ายดี มีศรัทธา สติ เป็นต้น ที่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ที่เป็นนามธรรม มีจิต เจตสิก และ รูปธรรม มี เสียง สี กลิ่น เป็นต้น ก็ได้ ครับ

ซึ่ง สำหรับ ปัญญา ที่เป็นอโมหเจตสิกเกิดกับจิตที่ดีงาม มีกุศลจิต เป็นต้น ในขณะที่สติปัฏฐานเกิด เป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา สำหรับวิถีจิตนั้น กุศลจิตจะเกิดที่ชวนจิต และ ชวนจิตนั้น ไม่ได้มีเฉพาะทางมโนทวารเท่านั้น ชวนจิต เกิดได้ทางปัญจทวารด้วย ซึ่ง ชวนจิต ก็คือ จิตที่แล่นไป เป็นกุศลจิตบ้าง อกุศลจิตบ้าง เช่น ทางปัญจทวาร คือ อาศัย ทวาร คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เมื่อมี สี มากระทบที่ตา เป็นปัจจัยให้มีการเห็นเกิดขึ้น เมื่อเห็นแล้ว จิตอื่นๆ เกิดสืบต่อ และก็ถึงชวนจิต

สำหรับปุถุชน ผู้ที่หนาด้วยกิเลส แม้เพียงเห็น เพียงสี ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไรเลย ก็เกิดอกุศลจิตที่ชวนจิตแล้ว พอใจ ในสีสวยๆ อย่างรวดเร็ว โดยไม่รู้ตัว แม้แต่ทาง หู เมื่อได้ยินเสียงฟ้าผ่าดังมาก ขณะเพียงวิถีจิตแรก ยังไม่รู้ว่าเป็นเสียงฟ้าผ่า แต่ก็ได้ยินเสียงนั้นแล้ว เกิดจิตอื่นๆ สืบต่อ จนถึง ชวนจิต โดยมากก็เป็นอกุศล เมื่อได้ยินเสียงดัง เกิดโทสมูลจิตนั้น นี่แสดงว่า กุศล และ อกุศล สามารถเกิดได้ทางปัญจทวาร อย่างรวดเร็ว ไม่รู้ตัวเลย ทั้งทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย

จึงกลับมาที่ ประเด็นที่ว่า สติปัฏฐานเกิดทางปัญจทวาร คือ ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ได้หรือไม่

ตามที่กล่าวแล้วครับว่า สติปัฏฐาน ก็เป็นกุศล แต่เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น กุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ก็สามารถเกิดทางปัญจทวารได้ เพราะ ทางปัญจทวารก็มีวิถีจิตที่เป็น ชวนจิตด้วย ครับ

ยกตัวอย่าง การเกิดสติปัฏฐานทางปัญจทวาร ว่ามีลักษณะอย่างไร นะครับ

ขณะนี้ได้ยินเสียง โสตวิญญาณ (จิตได้ยิน) เกิดขึ้น จิตอื่นๆ สืบต่อ เมื่อปัญญาถึงพร้อม สติปัฏฐานก็เกิดระลึกรู้ ลักษณะของเสียงนั้น โดยเกิดที่ชวนจิต ทางปัญจทวารระลึกรู้ว่า เสียงเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ในขณะนั้น ครับ เพราะ เสียงที่เป็นอารมณ์ ตลอดวิถีทางปัญจทวาร ยังไม่ได้ดับไป กุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาที่เป็นสติปัฏฐานก็เกิดรู้ลักษณะของรูป คือ เสียง ที่ยังไม่ได้ดับไปได้

เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานก็สามารถเกิดได้ทั้งทางปัญจทวาร และ มโนทวาร แต่สำหรับทางปัญจทวารนั้น สติปัฏฐาน ไม่สามารถรู้ ลักษณะของนามได้ เพราะ ทางปัญจทวาร มี รูป เป็นอารมณ์ คือ สี เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่ สติปัฏฐานก็ระลึกรู้ ลักษณะของรูปนั้น ทางปัญจทวาร ได้ ครับ แต่ก็ต้อง เป็นผู้มีปัญญามากพอสมควร และ สติปัฏฐาน ก็สามารถเกิดทางมโนทวาร ที่สามารถระลึกลักษณะของนามธรรมได้ มี จิต เจตสิก เป็นต้นได้ ครับ

เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานไม่ปรากฏทางปัญจทวาร เพราะ จะต้องอบรมปัญญามามาก และ ที่สำคัญ สติปัฏฐาน ที่เกิดทางมโนทวาร ก็ต้อง ไม่ใช่เรื่องของการคิดนึก ตรึกพิจารณาตัวธรรม แต่ต้องเป็น สติและปัญญาที่ระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้น โดยไม่ได้คิดนึกเป็นเรื่องเลย ครับ จึงเป็นเรื่องยากและไกล ซึ่ง สติปัฏฐาน ไม่ใช่การคิดนึกไตร่ตรองตัวสภาพธรรม เพราะถ้าเข้าใจว่า เป็นการคิดนึกถึงตัวสภาพธรรม ก็อาจจะทำให้เข้าใจว่า เกิดทางปัญจทวารไม่ได้ เพราะไม่สามารถคิดนึกได้ทางปัญจทวาร ครับ

สรุปได้ว่า สติปัฏฐานสามารถเกิดได้ทางปัญจทวารและมโนทวาร แต่แนะนำเพิ่มอีกครับ ว่า แต่ถ้าเป็นวิปัสสนาญาณ ในแต่ละขั้น จะเกิดทางมโนทวารเท่านั้น ไม่เกิดทางปัญจทวาร เพราะ วิปัสสนาญาณ มีการรู้ลักษณะของนามธรรม ตามความเป็นจริง ด้วยการแทงตลอด ซึ่งทางปัญจทวาร ไม่สามารถรู้นามได้ รู้ได้เฉพาะรูป จึงสามารถเกิดปัญญา ที่คมกล้า ที่รู้นามและรูป โดยนัยต่างๆ ตามความเป็นจริง วิปัสสนาญาณจึงเกิดเฉพาะทางมโนทวาร ส่วน สติปัฏฐาน เกิดได้ทั้งทางปัญจทวาร และ มโนทวาร ตามที่ได้อธิบายมา ครับ


เชิญอ่านคำบรรยาย ท่าน อ.สุจินต์ดังนี้ ครับ

สุ. แข็งเป็นสิ่งที่ปรากฏให้รู้ได้ทางกาย แน่นอนมีการกระทบทางกายเมื่อไหร่แข็งก็ปรากฏ ก็อาจจะเป็นอ่อน เป็นเย็น เป็นร้อน เป็นตึงเป็นไหวซึ่งเป็นปกติ เพราะฉะนั้นทุกคนก็จะรู้แข็งเมื่อกายวิญญาณเกิดขึ้นและแข็งกำลังปรากฏ แต่ที่จะมีความเข้าใจถูก เห็นถูกว่าแข็งเป็นแต่ลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้น ขณะที่กำลังรู้ตรงแข็งและเข้าใจถูกอย่างนี้ ขณะนั้นก็เข้าถึงความเป็นธรรมของแข็ง เพราะว่าขณะนี้แข็งก็กำลังปรากฏ แต่ก็มีเห็น มีได้ยินด้วย ไม่ใช่มีการรู้ตรงแข็งซึ่งเป็นลักษณะหนึ่ง เพราะฉะนั้นสภาพธรรมไม่เปลี่ยนเลย แต่ขึ้นอยู่กับปัญญาที่สามารถเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของแข็ง หรือในลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เป็นเราหรือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพราะว่ากำลังมีลักษณะของธรรมนั้นๆ ปรากฏให้รู้ถูก ให้เข้าใจถูก และปัญญาสามารถที่จะประจักษ์การเกิดดับของแข็งนั้นด้วย เมื่อถึงกาลที่ได้อบรมแล้ว สภาพธรรมทั้งหมดคงทนต่อการพิสูจน์ มิฉะนั้นจะไม่มีวิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงปัญญาต่างขั้นต่างระดับว่าถ้าเป็นนามรูปปริจเฉทญาณไม่ใช่อุทยัพพยญาณ เพราะฉะนั้นความรู้ต่างกัน นี่ก็แสดงให้เห็นว่าแม้แต่ขั้นเริ่มต้นที่เรากำลังรู้แข็ง ขณะนั้นเป็นความเข้าใจถูก เห็นถูกด้วยหรือเปล่า ในความเป็นลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เริ่มค่อยๆ ชินกับลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งกำลังปรากฏ แล้วแต่ว่าสติจะเกิดระลึกคือรู้ตรงนั้น ลักษณะนั้นหรือว่าไม่ได้รู้ตรงนั้น แต่ว่าเริ่มระลึกรู้บ้าง แต่ว่าขณะนั้นต้องมีปัญญาที่รู้ว่าขณะที่หลงลืมสตินั้นเป็นอย่างหนึ่ง และขณะที่สติเกิดก็เป็นอีกอย่างหนึ่งซึ่งแข็งไม่เปลี่ยน แต่ว่าความรู้ต่างกัน คือความรู้ของกายวิญญาณคือรู้เพียงแข็ง และก็ไม่รู้อะไรมากกว่านั้นเลย ก็แค่รู้แข็ง แต่รู้ว่าแข็งเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งจากการที่ได้ฟัง และสิ่งที่ได้ฟังก็ไม่ได้สูญหายไปไหนสะสมสืบต่อจนกระทั่งสามารถเข้าใจ ค่อยๆ เข้าใจในความเป็นธรรมของลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏพร้อมสติ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 24 ก.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำคัญมีการฟังพระธรรมบ่อยๆ เนืองๆ จึงมีเหตุที่จะทำให้มีการพิจารณาหรือระลึกถึงพระธรรมที่ได้ยินได้ฟังอย่างถูกต้องแยบคาย ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากเรื่องของธรรมที่ได้ยินได้ฟัง ในขณะนั้นก็เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญา ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมเลย ก็คงจะไม่มีการพิจารณาไตร่ตรองพระธรรมอย่างแน่นอน แต่ส่วนใหญ่จะตื่นเต้นกับคำว่าสติปัฏฐาน อยากให้สติปัฏฐานเกิด ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย สติปัฏฐาน (ระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง) ไม่สามารถเกิดได้เพราะความอยาก ความต้องการ จึงสำคัญที่การตั้งต้นการฟังพระธรรมให้เข้าใจ เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนทำอะไร ก็คือ ธรรมที่มีจริงๆ สติปัฏฐานสามารถเกิดขึ้นระลึกรู้ในความเป็นจริงของสภาพธรรมได้ ซึ่งสามารถเกิดได้ทั้งทางปัญจทวารและทางมโนทวาร ดังนั้น กว่าจะไปถึงตรงนั้น ต้องอาศัยเหตุที่สำคัญ คือการฟังพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ครับ

ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

ก่อนจะถึง ... สติ-ปัฏฐาน

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
lokiya
วันที่ 24 ก.ย. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 25 ก.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ