พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๑. คัคคราสูตร ว่าด้วยพระวังคีสะสรรเสริญพระพุทธเจ้า

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ส.ค. 2564
หมายเลข  36418
อ่าน  309

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 346

๑๑. คัคคราสูตร

ว่าด้วยพระวังคีสะสรรเสริญพระพุทธเจ้า


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 346

๑๑. คัคคราสูตร

ว่าด้วยพระวังคีสะสรรเสริญพระพุทธเจ้า

    [๗๕๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ที่ริมฝั่งสระบัวชื่อว่าคัคครา นครจัมปา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป อุบาสกประมาณ ๗๐๐ คน และเทวดาหลายพันองค์.

    นัยว่า พระผู้มีพระภาคเจ้ารุ่งเรืองล่วงภิกษุ อุบาสกและเทวดาเหล่านั้น ด้วยพระวรรณะและด้วยพระยศ.

    [๗๕๘] ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะ มีความคิดดังนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านี้แล ประทับอยู่ที่ฝั่งสระบัวชื่อว่าคัคครา นครจัมปา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป อุบาสกประมาณ ๗๐๐ คน และเทวดาหลายพันองค์ นัยว่า พระผู้มีพระภาคเจ้ารุ่งเรืองล่วงภิกษุ อุบาสกและเทวดาเหล่านั้น ด้วยพระวรรณะและด้วยพระยศ อย่ากระนั้นเลย เราพึงชมเชยพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ ที่เฉพาะพระพักตร์ ด้วยคาถาอันสมควรเถิด.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 347

    ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะ ลุกขึ้นจากอาสนะ ทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่แล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เนื้อความนี้ย่อมแจ่มแจ้งกะข้าพระองค์ ข้าแต่พระสุคต เนื้อความนี้ย่อมแจ่มแจ้งกะข้าพระองค์.

    พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า เนื้อความนั่น จงแจ่มแจ้งกะเธอเถิดวังคีสะ.

    [๗๕๙] ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะ ได้ชมเชยพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ ที่เฉพาะพระพักตร์ ด้วยคาถาอันสมควรว่า

    พระจันทร์พระอาทิตย์ซึ่งปราศจากมลทิน ย่อมแจ่มกระจ่างในท้องฟ้า ซึ่งปราศจากเมฆฝน ฉันใด ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระรัศมีซ่านออกแต่พระสรีรกาย ผู้เป็นมหามุนี พระองค์ย่อมรุ่งเรืองล่วงสรรพสัตว์โลก ด้วยพระยศ ฉันนั้น ดังนี้.

อรรถกถาคัคคราสูตร

    ในคัคคราสูตรที่ ๑๑ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

    บทว่า ตฺยาสฺสุทํ ตัดบทเป็น เต อสฺสุทํ. คำว่า อสฺสุทํ เป็นเพียงนิบาต. บทว่า วณฺเณน ได้แก่ สีแห่งสรีระ. บทว่า ยเสน ได้แก่ ด้วยบริวาร. บทว่า วีตมโลว ภาณุมา ได้แก่ เหมือนพระอาทิตย์ปราศจากมลทิน.

    จบอรรถกถาคัคคราสูตรที่ ๑๑