พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. โมคคัลลานสูตร พระวังคีสะสรรเสริญพระโมคคัลานะ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ส.ค. 2564
หมายเลข  36417
อ่าน  426

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 344

๑๐. โมคคัลลานสูตร

พระวังคีสะสรรเสริญพระโมคคัลานะ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 344

๑๐. โมคคัลลานสูตร

พระวังคีสะสรรเสริญพระโมคคัลานะ

    [๗๕๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ กาฬสิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ กรุงราชคฤห์ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ล้วนเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด.

    ได้ยินว่า ท่านพระมหาโมคคัลลานะตามพิจารณาจิตอันหลุดพ้นพิเศษ (จากกิเลส) อันหาอุปธิมิได้ ของภิกษุเหล่านั้นด้วยจิตอยู่.

    [๗๕๕] ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะมีความคิดดังนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านี้แลประทับที่กาฬสิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ กรุงราชคฤห์ พร้อมด้วย

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 345

ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป ล้วนเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด ท่านพระมหาโมคคัลลานะก็ตามพิจารณาจิตอันหลุดพ้นพิเศษ (จากกิเลส) อันหาอุปธิมิได้ของภิกษุเหล่านั้นด้วยจิตอยู่ อย่ากระนั้นเลย เราพึงชมเชยท่านพระมหาโมคคัลลานะ เฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคาถาทั้งหลายอันสมควรเถิด.

    ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะลุกขึ้นจากอาสนะ ทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้ว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เนื้อความนี้ย่อมแจ่มแจ้งกะข้าพระองค์ ข้าแต่พระสุคต เนื้อความนี้ย่อมแจ่มแจ้งกะข้าพระองค์.

    พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เนื้อความนั่นจงแจ่มแจ้งกะเธอเถิด วังคีสะ.

    [๗๕๖] ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะ ได้ชมเชยท่านพระมหาโมคคัลลานะ เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคาถาทั้งหลายอันสมควรว่า

    พระสาวกทั้งหลายผู้สำเร็จไตรวิชชา ผู้ละมฤตยูเสียได้ ย่อมนั่งห้อมล้อมพระมุนีผู้ถึงฝั่งแห่งทุกข์ ซึ่งประทับนั่งอยู่ที่ข้างแห่งภูเขา พระมหาโมคคัลลานะผู้มีฤทธิ์มาก ย่อมสอดส่องพระสาวกเหล่านั้นด้วยจิต ตามพิจารณาจิตอันหลุดพ้นพิเศษแล้ว อันหาอุปธิมิได้ของพระสาวกเหล่านั้นอยู่ พระสาวกทั้งหลายย่อมนั่งห้อมล้อมพระโคดม ผู้เป็นมุนี ซึ่งสมบูรณ์ด้วยพระคุณทั้งปวงอย่างนี้ ผู้ถึงฝั่งแห่งทุกข์ ผู้ประกอบด้วยพระคุณเป็นอเนกประการดั้งนี้.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 346

อรรรถกถาโมคคัลลานสูตร

    ในโมคคัลลานสูตรที่ ๑๐ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

    บทว่า สมนฺเวสติ ได้แก่ แสวงหา คือพิจารณา. บทว่า นคสฺส ได้แก่ ภูเขา. บทว่า มุนึ ได้แก่พุทธมุนี. บทว่า ทุกฺขสฺส ปารคุํ ได้แก่ ผู้ถึงฝั่งแห่งทุกข์. บทว่า สมนฺเวสํ ได้แก่พิจารณาอยู่. บทว่า เอวํ สพฺพงฺคสมฺปนฺนํ ได้แก่สมบูรณ์ด้วยคุณทั้งปวง ด้วยอาการอย่างนี้. บทว่า อเนการสมฺปนฺนํ ได้แก่ ประกอบด้วยคุณมากมาย.

    จบอรรถกถาโมคคัลลานสูตรที่ ๑๐