พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๙. สุนทริกสูตร ว่าด้วยการบูชาไฟ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ส.ค. 2564
หมายเลข  36392
อ่าน  368

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 221

๙. สุนทริกสูตร

ว่าด้วยการบูชาไฟ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 221

๙. สุนทริกสูตร

ว่าด้วยการบูชาไฟ

    [๖๕๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำสุนทริกาในโกศลชนบท.

    ก็โดยสมัยนั้นแล สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ บูชาไฟ บำเรอการบูชาไฟ อยู่ที่ฝั่งแม่น้ำสุนทริกา.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 222

    ลำดับนั้นแล สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ บูชาไฟ บำเรอการบูชาไฟแล้ว ลุกขึ้นจากอาสนะ เหลียวดูทิศทั้ง ๔ โดยรอบ ด้วยคิดว่า ใครหนอควรบริโภคปายาสอันเหลือจากการบูชานี้.

    [๖๕๙] สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงคลุมอวัยวะพร้อมด้วยพระเศียร ประทับนั่งที่โคนต้นไม้ต้นหนึ่ง ครั้นแล้วถือข้าวปายาสที่เหลือจากการบูชาไฟด้วยมือซ้าย ถือเต้าน้ำด้วยมือขวา เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังที่ประทับ.

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปิดพระเศียรด้วยเสียงเท้าของสุนทริกภารทวาชพราหมณ์

    ครั้งนั้นแล สุนทริกภารทวาชพราหมณ์กล่าวว่า นี้พระสมณะโล้นผู้เจริญ นี้พระสมณะโล้นผู้เจริญ แล้วประสงค์จะกลับจากที่นั้นทีเดียว.

    ลำดับนั้นแล สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ได้ความดำริว่า พราหมณ์บางพวกในโลกนี้เป็นผู้โล้นบ้างก็มี ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปหาพระสมณะผู้โล้นนั้นแล้ว ถามถึงชาติ.

    ลำดับนั้นแล สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ เข้าไปหาพระผู้มีพระภาคเจ้ายังที่ประทับ ครั้นแล้ว ได้ถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ท่านเป็นชาติอะไร.

    [๖๖๐] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

ท่านอย่าถามถึงชาติ แต่จงถามถึงความประพฤติเถิด ไฟย่อมเกิดจากไม้แล บุคคลแม้เกิดในตระกูลต่ำเป็นมุนี มีความเพียรเป็นผู้รู้ทั่วถึงเหตุ ห้ามโทษเสียด้วยหิริ ฝึกตนแล้วด้วยสัจจะ ประกอบด้วย

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 223

การปราบปราม ถึงที่สุดแห่งเวท มีพรหมจรรย์อันอยู่จบแล้ว ผู้ใดมียัญอันน้อมเข้าไปแล้ว บูชาพราหมณ์ผู้นั้น ผู้นั้นชื่อว่าย่อมบูชาพระทักขิไณยบุคคลโดยกาล

    [๖๖๑] สุนทริกภารทวาชพราหมณ์กราบทูลว่า

    การบูชานี้ของข้าพระองค์เป็นอันบูชาดีแล้ว เซ่นสรวงดีแล้วเป็นแน่ เพราะข้าพระองค์ได้พบผู้ถึงเวทเช่นนั้น และเพราะข้าพระองค์ไม่พบบุคคลเช่นพระองค์ ชนอื่นจึงบริโภคปายาสอันเหลือจากการบูชา.

    สุนทริกภารทวาชพราหมณ์กราบทูลว่า ท่านพระโคดมผู้เจริญท่านพราหมณ์ผู้เจริญ เชิญบริโภคเถิด.

    [๖๖๒] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

    เราไม่บริโภคโภชนะที่ได้เพราะการขับกล่อม ดูก่อนพราหมณ์ นั่นไม่ใช่ธรรมของผู้พิจารณาอยู่ พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมบรรเทาโภชนะที่ได้เพราะการขับกล่อม ดูก่อนพราหมณ์ เมื่อธรรมมีอยู่ นั่นเป็นความประพฤติ อนึ่ง ท่านจงบำรุงพระขีณาสพทั้งสิ้น ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ผู้มีความคะนองอันสงบแล้ว ด้วยสิ่งอื่น

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 224

คือข้าวน้ำ เพราะว่าการบำรุงนั้นย่อมเป็นเขตของผู้มุ่งบุญ.

    [๖๖๓] ลำดับนั้น สุนทริกภารทวาชพราหมณ์กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ถ้าเช่นนั้นข้าพระองค์จะให้ปายาสอันเหลือจากการบูชานี้แก่ใคร.

    พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า. ดูก่อนพราหมณ์ เรายังไม่แลเห็นบุคคลในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ ซึ่งจะบริโภคปายาสที่เหลือจากการบูชานี้แล้ว จะพึงถึงความย่อยไปโดยชอบ นอกจากตถาคตหรือสาวกของตถาคต ดูก่อนพราหมณ์ ถ้าอย่างนั้นท่านจงทิ้งปายาสอันเหลือจากการบูชานั้น ณ ที่ปราศจากของเขียวหรือทิ้งให้จมลงไปในน้ำที่ไม่มีตัวสัตว์.

    [๖๖๔] ลำดับนั้น สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ทิ้งปายาสอันเหลือจากการบูชานั้น ให้จมลงไปในน้ำที่ไม่มีตัวสัตว์.

    ครั้งนั้นแล ปายาสอันเหลือจากการบูชานั้น อันสุนทริกภารทวาชพราหมณ์เทลงแล้วในน้ำย่อมมีเสียงดัง วิจิฏะ วิฏิจิฏะ และเดือดเป็นควันกลุ้มเหมือนอย่างผาลที่เผาตลอดวัน อันบุคคลใส่ลงแล้วในน้ำ ย่อมมีเสียงดัง วิจิฏะวิฏิจิฏะ และเดือดเป็นควันคลุ้ม ฉะนั้น.

    ลำดับนั้น สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ หลากใจเกิดขนชูชัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังที่ประทับ ครั้นแล้ว ได้ยืนอยู่ในที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

    [๖๖๕] พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะสุนทริกภารทวาชพราหมณ์ ผู้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ด้วยพระคาถาทั้งหลายว่า

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 225

    ดูก่อนพราหมณ์ ท่านเผาไม้อยู่อย่าสำคัญซึ่งความบริสุทธิ์ ก็การเผาไม้นี้เป็นของภายนอก ผู้ฉลาดทั้งหลายย่อมไม่กล่าวความบริสุทธิ์ด้วยการเผาไม้นั้น ดูก่อนพราหมณ์ เราละการเผาไม้ซึ่งบุคคลพึงปรารถนาความบริสุทธิ์ด้วยการเผาไม้อันเป็นของมีในภายนอก แล้วยังไฟคือญาณให้โพลงภายในตนทีเดียว เราเป็นพระอรหันต์ มีไฟอันโพลงแล้วเป็นนิตย์ มีจิตตั้งไว้ชอบแล้วเป็นนิตย์ ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ ดูก่อนพราหมณ์ มานะแลเป็นดุจภาระคือหาบของท่าน ความโกรธดุจควัน มุสาวาทเป็นดุจเถ้า ลิ้นเป็นประดุจภาชนะเครื่องบูชา หทัยเป็นที่ตั้งกองกูณฑ์ ตนที่ฝึกดีแล้ว เป็นความรุ่งเรืองของบุรุษ ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลผู้ถึงเวททั้งหลายนั้นแล อาบให้ห้วงน้ำคือธรรมของบุรุษทั้งหลาย มีท่าคือศีลไม่ขุ่นมัว อันบิณฑิตทั้งหลายสรรเสริญแล้ว มีตัวไม่เปียกแล้ว ย่อมข้ามถึงฝั่ง ดูก่อนพราหมณ์ สัจธรรม ความสำรวม พรหมจรรย์ การถึงธรรมอันประเสริฐอาศัยในท่ามกลาง ท่านจงกระทำความ

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 226

นอบน้อมในพระขีณาสพผู้ตรงทั้งหลาย เรากล่าวคนนั้นว่าผู้มีธรรมเป็นสาระ.

    [๖๖๖] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ก็แหละท่านพระภารทวาชะ ได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย ดังนี้.

อรรถกถาสุนทริกสูตร

    ในสุนทริกสูตรที่ ๙ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

    บทว่า สุนฺทริกภารทฺวาโช ได้แก่ ผู้มีชื่ออย่างนั้นเพราะบูชาไฟที่ฝั่งแม่น้ำ ชื่อว่า สุนทุริกา. บทว่า สุนฺทริกาย ได้แก่แม่น้ำมีชื่ออย่างนั้น. บทว่า อคฺคึ ชุหติ ได้แก่ให้ไฟโพลงขึ้นด้วยการใส่ของบูชา. บทว่า อคฺคิหุตฺตํ ได้แก่เข้าไปยังโรงไฟด้วยการขัดสีฉาบทา และพลีกรรมเป็นต้น. บทว่า โก นุโข อิมํ หพฺยเสสํ ภุญฺเชยฺย ความว่า ได้ยินว่า พราหมณ์นั้นเห็นข้าวปายาสที่เหลือจากการบูชาไฟแล้วคิดว่า ข้าวปายาสที่ใส่ลงในไฟ อันมหาพรหมบริโภคก่อนแล้ว แต่ข้าวปายาสนี้ยังเหลืออยู่ ถ้าว่าเราพึงให้ข้าวปายาสนั้นแก่พราหมณ์ผู้เกิดแต่ปากพระพรหม เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้บุตรพร้อมทั้งบิดาก็เป็นผู้เราเลี้ยงอิ่มหนำสำราญแล้ว และทางไปพรหมโลกก็เป็นอันเราทำให้บริสุทธิ์ดีแล้ว. สุนทริกภารทวาชพราหมณ์นั้นลุกจากอาสนะ เหลียวแลดูทิศทั้ง ๔ โดย

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 227

รอบเพื่อจะดูพราหมณ์ ด้วยคิดว่า ใครหนอควรบริโภคข้าวปายาสอันเหลือจากการบูชานี้.

    บทว่า รุกฺขมูเล ความว่า ที่โคนต้นไม้ใหญ่ในไพรสณฑ์นั้น. บทว่า สสีสํ ปารุตํ นิสินฺนํ ความว่า ประทับนั่งคลุมพระวรกายพร้อมทั้งพระเศียร. ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงประทับนั่ง ณ ที่นั้น. ตอบว่าได้ยินว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูโลกในเวลาใกล้รุ่ง เห็นพราหมณ์นี้แล้วทรงพระดำริว่า พราหมณ์นี้ถือข้าวปายาสอันเลิศเห็นปานนี้เอาไปเผาไฟ ด้วยตั้งใจจะให้มหาพรหมบริโภค ชื่อว่าทำสิ่งที่ไร้ผล ฯลฯ เราจะให้มรรค ๔ ผล ๔. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงเสด็จลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ทีเดียว ทรงชำระพระวรกายเสร็จแล้วทรงถือบาตรจีวร เสด็จไปประทับนั่ง ณ โคนต้นไม้นั่นโดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล. ถามว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุไร พระองค์จึงทรงคลุมตลอดพระเศียร. ตอบว่าเพื่อป้องกันหิมะตกและลมหนาว. พระตถาคตทรงสามารถอดทนหิมะตกและลมหนาวนั้นได้ แต่ถ้ามิได้ทรงนั่งคลุมพระวรกาย พราหมณ์จำได้แก่ไกลก็จะกลับเสีย. เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะไม่ได้พูดจากัน ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระดำริว่า เมื่อพราหมณ์มา เราจักเปิดศีรษะ ทีนั้นพราหมณ์ก็จะเห็นเรา จักได้พูดจากัน เราจักแสดงธรรมตามแนวที่พูดจากันแก่พราหมณ์ ดังนี้ จึงได้ทรงทำอย่างนั้นเพื่อจะได้พูดจากัน.

    บทว่า อุปสงฺกมิ ความว่า พราหมณ์คิดว่า ท่านผู้นี้คลุมตลอดศีรษะประกอบความเพียรคืนยังรุ่ง เราจักถวายทักษิโณทกแล้วถวายข้าวปายาสที่เหลือจากการบูชาไฟนี้แก่ท่านผู้นี้ ดังนี้ มีความสำคัญว่าท่านเป็นพราหมณ์จึงเข้าไปหา. บทว่า มุณฺโฑ อยํ ภวํ มุณฺฑโก อยํ ภวํ ความว่า พอพระผู้มีพระภาคเจ้าเปิดพระเศียร พราหมณ์เห็นพระองค์มีผมสั้น จึงกล่าวว่าผู้นี้เป็นสมณะโล้น. เมื่อตรวจดูตระหนักยิ่งกว่านั้น ก็มิได้เห็นแม้ปลายผมพอ

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 228

จะไหวได้ จึงกล่าวติว่า สมณะโล้น. บทว่า ตโตว ได้แก่ จากประเทศที่ตนยืนเห็นนั้นแหละ. บทว่า มุณฺฑาปิ หิ ความว่า ด้วยเหตุบางอย่างพราหมณ์มีศีรษะโล้นก็มี.

    บทว่า มา ชาตึ ปุจฺฉ ความว่า ถ้าท่านหวังว่าทานมีผลมาก ก็อย่าถามถึงชาติเลย. เพราะชาติไม่ใช่เหตุแห่งความเป็นพระทักขิไณยบุคคล บทว่า จรณญฺจ ปุจฺฉ ความว่า อีกอย่างหนึ่ง จงถามถึงความประพฤติคือประเภทแห่งคุณมีศีลเป็นต้น. เพราะข้อนั้นเป็นเหตุแห่งความเป็นพระทักขิไณยบุคคล. บัดนี้ เมื่อจะทรงทำความนั้นให้แจ่มแจ้งแก่พราหมณ์นั้น จึงตรัสว่า กฏฺา หเว ชายติ ชาตเวโท เป็นต้น. ในข้อนั้น มีอธิบายดังต่อไปนี้ ในที่นี้ไฟย่อมเกิดจากไม้ และไฟที่เกิดจากไม้มีศาลาเป็นต้นนั้น มิได้ทำหน้าที่ของไฟ ไฟที่เกิดจากไม้มีรางน้ำดื่มเป็นต้น มิได้ทำหน้าที่ของไฟ แต่ไฟซึ่งเกิดแต่ที่ใดที่หนึ่งก็ตาม ย่อมทำหน้าที่ของไฟแท้ด้วยคุณสมบัติมีเปลวของตนเป็นต้น. ด้วยประการฉะนี้ ผู้ที่เกิดในตระกูลพราหมณ์เป็นต้น ย่อมเป็นทักขิไณยบุคคล ผู้ที่เกิดในตระกูลจัณฑาลเป็นต้น เป็นทักขิไณยบุคคลไม่ได้. อีกอย่างหนึ่ง ผู้ที่เกิดในตระกูลต่ำก็ตาม ผู้ที่เกิดในตระกูลสูงก็ตามเป็นมุนีผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว มีความเพียร กำจัดโทษด้วยหิริ เป็นผู้รู้ทั่วถึงเหตุ ย่อมเป็นผู้มีชาติ คือเป็นทักขิไณยบุคคลสูงสุด ด้วยคุณสมบัติซึ่งมีความเพียรและหิริเป็นประธานนี้ ด้วยว่าเขาย่อมทรงไว้ซึ่งคุณทั้งหลายด้วยความเพียร ย่อมหักห้ามโทษทั้งหลายด้วยหิริ. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า มุนิ ในที่นี้ ได้แก่ผู้ประกอบด้วยโมนธรรม (ความเป็นผู้นิ่ง). บทว่า ธิติมา ได้แก่มีความเพียร. บทว่า อาชานีโย ได้แก่รู้ถึงเหตุ. บทว่า หิรินิเสโธ ได้แก่ ห้ามจากความชั่วด้วยหิริ. บทว่า สจฺเจน ทนฺโต ได้แก่ฝึกตนด้วยปรมัตถสัจจะ บทว่า ทมสา อุเปโต ได้แก่เข้าถึงด้วยการฝึกอินทรีย์. บทว่า เวทนฺตคู ความว่า ถึงที่สุดแห่งเวท

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 229

คือมรรค ๔ หรือถึงที่สุดแห่งกิเลสด้วยเวทคือมรรค ๔ บทว่า วุสิตพฺรหฺมจริโย ได้แก่ อยู่จบมรรคพรหมจรรย์. บทว่า ยญฺญูปนีโต ได้แก่น้อมนำยัญ หรือจัดแจงยัญ. บทว่า ตมุปวฺหเยถ ความว่า ผู้ที่จัดแจงยัญนั้น ชื่อว่าบูชาพราหมณ์นั้น คือพราหมณ์โดยปรมัตถ์. ก็คำว่า ข้าเรียกคือเรียกพระอินทร์ เรียกพระโสมะ เรียกพระวรุณ เรียกพระอีสานะ เป็นคำเรียกร้องที่ไร้ประโยชน์. บทว่า กาเลน ความว่า พราหมณ์เมื่อแสดงการบูชา พึงบูชาพราหมณ์นั้นภายในเวลาเที่ยงเท่านั้น ด้วยคำว่า ถึงเวลาแล้วเจ้าข้า ภัตตาหารสำเร็จแล้ว. บทว่า โส ชุหติ ทกฺขิเณยฺเย ความว่า ผู้ใดนิมนต์พระขีณาสพมา ถวายทักขิณาคือปัจจัยสี่ในพระขีณาสพนั้น ผู้นั้นชื่อว่าบูชาพระทักขิไณยบุคคลในกาลด้วยประการฉะนี้ มิใช่ใส่เข้าในไฟซึ่งไม่มีจิตใจ.

    พราหมณ์ฟังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยประการฉะนี้ เลื่อมใสแล้ว บัดนี้ เมื่อจะทำความเลื่อมใสของตนให้แจ่มแจ้ง จึงกราบทูลว่า อทฺธา สุยิฏฺํ เป็นต้น. ข้อนั้นมีใจความดังต่อไปนี้ การบูชาของข้าพระองค์นี้ บัดนี้จักเป็นการบูชาด้วยดี เซ่นสรวงด้วยดีแน่แท้ แต่เมื่อก่อนข้าพระองค์เอาเผาไฟเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์. บทว่า อญฺโ ชโน ได้แก่ ปุถุชนผู้อันธพาลพูดอยู่ว่า เราเป็นพราหมณ์ เราเป็นพราหมณ์. บทว่า หพฺยเสสํ ได้แก่ เหลือจากการบูชา. คำว่า ภุญฺชตุ ภวํ เป็นต้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในสูตรก่อน

    บทว่า น ขฺวาหํ ตัดเป็น น โข อหํ. ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสอย่างนั้น. ตอบว่า เล่ากันมาว่า พอพราหมณ์น้อมโภชนะนั้นเข้าไปเท่านั้น เทวดาในทวีปใหญ่ ๔ ทวีปน้อย ๒,๐๐๐ ถือเอาดอกไม้ผลไม้และเนยใสเนยข้นน้ำมันน้ำผึ้งน้ำอ้อยเป็นต้น ด้วยสำคัญว่าพระศาสดาจักเสวย จึงถือเอาโอชะที่ให้เกิดด้วยอานุภาพอันเป็นทิพย์ใส่เข้า เหมือนบีบรวง

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 230

ผึ้งถือเอาน้ำผึ้ง. เพราะฉะนั้น โภชนะนั้นจึงถึงความเป็นของละเอียด. ก็โภชนะนั้นเป็นวัตถุหยาบสำหรับมนุษย์ ฉะนั้น จึงไม่ถึงความย่อยไปโดยชอบสำหรับมนุษย์เหล่านั้น เพราะเป็นวัตถุหยาบนั่นเอง. แต่ผสมพืช ๓ อย่างลงในนมโคโภชนะนั้นจึงกลายเป็นเจือด้วยของหยาบ. อนึ่ง โภชนะนั้นเป็นวัตถุละเอียดสำหรับหมู่เทพ เพราะฉะนั้น จึงไม่ถึงความย่อยไปโดยชอบสำหรับเทวดาเหล่านั้น เพราะเป็นวัตถุละเอียด. แม้ในท้องของพระขีณาสพผู้สุกขวิปัสสกก็ไม่ย่อยไป. แต่พระขีณาสพผู้ได้สมาบัติแปด พึงย่อยไปด้วยอำนาจสมาบัติ. แต่สำหรับพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงย่อยไปด้วยเตโชธาตุเกิดแต่กรรมตามปกติอย่างเดียว.

    บทว่า อปฺปหริเต แปลว่า ปราศจากของเขียว. ก็ถ้าพึงใส่ลงในหญ้าเขียว หญ้าทั้งหลายก็จะพึงเน่าด้วยข้าวปายาสที่ละเอียด ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่ล่วงละเมิดภูตคามสิกขาบท เพราะฉะนั้น จึงตรัสอย่างนี้. แต่ควรใส่เข้าในที่มีหญ้าต้นใหญ่ๆ สูงประมาณแค่คอ.

    บทว่า อปฺปาณเก ความว่า ด้วยว่าเมื่อใส่ลงในน้ำน้อยที่มีตัวสัตว์สัตว์ก็จะตาย เพราะน้ำนั้น จึงตรัสอย่างนั้น แต่ที่ใดมีน้ำลึกมาก แม้เมื่อใส่ตั้ง ๑๐๐ ถาด ๑,๐๐๐ ถาด น้ำย่อมไม่เสีย ควรใส่ในน้ำเช่นนั้น. บทว่า โอปิลาเปสิ ความว่า ให้จมลงพร้อมกับถาดทอง. บทว่า วิจิฏายติ วิฏิจิฏายติ ความว่า ย่อมทำเสียงอย่างนั้น. ถามว่า ก็นั่นเป็นอานุภาพของข้าวปายาส หรือเป็นอานุภาพของพระตถาคต. ตอบว่า เป็นอานุภาพของพระตถาคต. ก็พราหมณ์นี้ให้ข้าวปายาสจมลงแล้ว ก็จะเดินนอกทาง ไม่มายังสำนักพระศาสดา เดินเลยไป. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระดำริว่า พราหมณ์เห็นข้ออัศจรรย์นี้แล้วจักมาสู่สำนักของเรา เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจะทำสายการยึดถือมิจฉาทิฏฐิของเขาด้วยพระธรรมเทศนา ให้หยั่งลงในพระศาสนา ให้ดื่มน้ำอมฤตดังนี้แล้วได้ทรงกระทำอย่างนั้นด้วยกำลังอธิษฐาน.

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 231

    บทว่า ทารุสมาทหาโน ได้แก่ เผาไม้. บทว่า พหิทฺธา หิ เอตํ ความว่า ชื่อว่า การเผาไม้นี้ มีภายนอกแต่อริยธรรม ถ้าความบริสุทธิ์พึงมีด้วยการเผาไม้นี้ พวกเผาป่าเป็นต้น เผาไม้เป็นอันมาก ก็จะพึงบริสุทธิ์ก่อนเขา. บทว่า กุสลา ได้แก่ ผู้ฉลาดในขันธ์เป็นต้น. บทว่า อชฺฌตฺตเมว ชลยามิ โชตึ ความว่า เราจะยังไฟคือญาณให้โพลงภายในตน คือในสันดานของตน. บทว่า นิจฺจคฺคินี ได้แก่ มีไฟโพลงเป็นนิตย์ ด้วยสัพพัญญุตญาณอันเนื่องด้วยอาวัชชนจิต. บทว่า นิจฺจสมาหิตตฺโต ได้แก่ ผู้มีจิตตั้งอยู่โดยชอบเป็นนิตย์. บทว่า พฺรหฺมจริยํ จรามิ ได้แก่ พระองค์ทรงยึดถือพรหมจรรย์ซึ่งทรงประพฤติที่โพธิมณฑลสถาน จึงตรัสอย่างนี้.

    บทว่า มาโน หิ เต พฺราหฺมณ ขาริภาโร ความว่า ภาระ คือ หาบอันบุคคลนำไปด้วยคอแม้อยู่ข้างบน ก็ย่อมถูกต้องกับแผ่นดินในที่ที่เหยียบไปๆ ฉันใด มานะที่ยกขึ้นเพราะอาศัยสิ่งที่ถือกันมี ชาติโคตรตระกูลเป็นต้นฉันนั้น เมื่อยังความริษยาให้เกิดขึ้นที่นั้นๆ ย่อมให้จมลงในอบาย ๔. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า พราหมณ์ ก็มานะของเธอเป็นดังภาระคือหาบ. บทว่า โกโธ ธูโม ความว่า ความโกรธ ชื่อว่า เป็นดังควันไฟเพราะอรรถว่าเป็นความเศร้าหมองแห่งไฟคือญาณของเธอ. เพราะเหตุนั้นนั่นแล ไฟคือญาณอันเศร้าหมองของเธอ จึงไม่รุ่งเรือง. ด้วยบทว่า ภสฺมนิมฺโมสวชฺชํ ท่านแสดงว่า มุสาวาท ชื่อว่า ขี้เถ้า. เพราะอรรถว่า ปราศจากโอชะ ท่านอธิบายว่า เหมือนอย่างว่า ไฟที่ขี้เถ้าปิดไว้ ย่อมไม่โชติช่วงฉันใด ญาณของเธออันมุสาวาทปิดไว้ก็ฉันนั้น. ด้วยคำว่า ชิวฺหา สุชา ท่านกล่าวว่า ท่านมีทัพพีที่ทำด้วยทองเงินโลหะไม้และดินอย่างใดอย่างหนึ่งไว้เพื่อจะบูชายัญ ฉันใด เรามีลิ้นใหญ่เป็นดุจทัพพีเครื่องบูชา เพื่อประโยชน์แก่การบูชาธรรม ฉันนั้น. บทว่า หทยํ โชติฏฺานํ ความว่า หทัยของ

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 232

สัตว์ทั้งหลาย เป็นที่ตั้งแห่งกองกูณฑ์ ด้วยอรรถว่าเป็นที่ตั้งแห่งการบูชาธรรมของเรา เหมือนหทัยของท่านเป็นที่ตั้งแห่งกองกูณฑ์ที่ฝั่งแห่งแม่น้ำ. บทว่า อตฺตา ได้แก่ จิต.

    บทว่า ธมฺโม รหโท ความว่า ท่านบำเรอไฟมีร่างกายเปื้อนด้วยควัน ขี้เถ้าและเหงื่อ ลงอาบน้ำในแม่น้ำสุนทริกา ฉันใด เราไม่ต้องการด้วยห้วงน้ำภายนอกเช่นแม่น้ำสุนทริกา แต่เรามีธรรมคือมรรคมีองค์ ๘ เป็นห้วงน้ำเราให้สัตว์ ๑๐๐ บ้าง ๑,๐๐๐ บ้าง ๘๔,๐๐๐ บ้าง ให้อาบในธรรมคือมรรคมีองค์ ๘ นั้น พร้อมๆ กัน ฉันนั้น. ด้วยบทว่า สีลติตฺโถ ท่านแสดงว่า ปาริสุทธิศีล ๔ เป็นท่าแห่งห้วงน้ำคือธรรมของเรานั้น. บทว่า อนาวิโล ความว่า แม่น้ำสุนทริกาของท่าน เมื่อคน ๔ - ๕ คนอาบพร้อมกัน มีทรายทั้งข้างล่างข้างบนขุ่นมัว ฉันใด ห้วงน้ำของเราหาเป็นเช่นนั้นไม่ แม้เมื่อสัตว์หลายพันลงไปอาบห้วงน้ำนั้นก็ไม่ขุ่นมัวคงใสอยู่. บทว่า สพฺภิ สตํ ปสฏฺโ ความว่าธรรมของบัณฑิตทั้งหลาย อันพวกบัณฑิตสรรเสริญ อีกอย่างหนึ่ง ธรรมนั้นของสัตบุรุษทั้งหลาย ท่านเรียกว่า สัพภิ เพราะอรรถว่าสูงสุด ท่านเรียกว่าปสัฏฐะ เพราะบัณฑิตสรรเสริญ. บทว่า ตรนฺติปารํ ได้แก่ ถึงฝั่ง คือพระนิพพาน.

    บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงยกองค์แห่งห้วงน้ำคืออริยมรรคขึ้นแสดง จึงตรัสคำว่า สจฺจํ ธมฺโม ดังนี้เป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สจฺจํ ได้แก่ วจีสัจ. ด้วยบทว่า ธรรมนี้ทรงแสดงสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ. ด้วยบทว่า สํยโม นี้ทรงหมายเอาสัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ. อีกอย่างหนึ่ง ด้วยบทว่า สจฺจํ นี้ทรงหมายเอามรรคสัจ. ธรรมคือมรรคสัจนั้น โดยอรรถได้แก่สัมมาทิฏฐิ. สมจริงดังคำที่ตรัสไว้ว่า สัมมาทิฏฐิเป็นทั้งตัวมรรค เป็นทั้งตัวเหตุ, แต่เมื่อ

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 233

หมายเอาสัมมาทิฏฐิ ก็ทรงหมายเอาสัมมาสังกัปปะเหมือนกัน เพราะมีคติเหมือนสัมมาทิฏฐินั้น. ด้วยบทว่า ธมฺโม นี้ ทรงหมายเอาสัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิ. ด้วยบทว่า สํยโม นี้ ทรงหมายเอาสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะและสัมมาอาชีวะ รวมความว่า ทรงแสดงมรรคมีองค์ ๘ ด้วยประการฉะนี้. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า สจฺจํ ได้แก่ ปรมัตถสัจ. ปรมัตถสัจนั้นโดยความได้แก่พระนิพพาน. ด้วยบทว่า ธมฺโม ท่านหมายเอาองค์ ๕ คือสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ. ด้วยบทว่า สํยโม หมายเอาองค์ ๓ คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ ย่อมเป็นอันท่านแสดงมรรคมีองค์ ๘ แม้ด้วยประการฉะนี้. บทว่า พฺรหฺมจริยํ นี้ก็คือ ชื่อว่าพรหมจรรย์. บทว่า มชฺเฌ สิตา ได้แก่ เว้นสัสสตทิฏฐิและอุทเฉททิฏฐิ อาศัยอยู่ตรงกลาง. บทว่า พฺรหฺมปตฺติ ได้แก่ ถึงความเป็นผู้ประเสริฐ. อักษรในคำว่า สตุชฺชุภูเตสุ นโม กโรหิ นี้ กระทำบทสนธิ. อธิบายว่า ท่านนั้นจงกระทำความนอบน้อมในพระขีณาสพทั้งหลายผู้ตรง. บทว่า ตมหํ นรํ ธมฺมสารีติ พฺรูมิ ความว่า เราเรียกบุคคลผู้ปฏิบัติอย่างนี้นั้นว่า ผู้นี้เป็นธรรมสารี และว่าผู้นี้ปฏิบัติเพื่อธรรมสารี หรือว่าผู้นี้ละอกุศลธรรมด้วยกุศลธรรมตั้งอยู่ ดังนี้.

    จบอรรถกถาสุนทริกสูตรที่ ๙