พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. อัคคิกสูตร ว่าด้วยผู้ถึงพร้อมด้วยไตรวิชชา

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ส.ค. 2564
หมายเลข  36391
อ่าน  364

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 217

๘. อัคคิกสูตร

ว่าด้วยผู้ถึงพร้อมด้วยไตรวิชชา


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 217

๘. อัคคิกสูตร

ว่าด้วยผู้ถึงพร้อมด้วยไตรวิชชา

    [๖๕๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในพระวิหารเวฬุวันอันเป็นที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์

    ก็โดยสมัยนั้นแล อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ปรุงข้าวปายาสด้วยเนยใส ด้วยคิดว่า เราจักบูชาไฟ จักบำเรอการบูชาไฟ.

    [๖๕๓] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปสู่กรุงราชคฤห์ เพื่อบิณฑบาตในเวลาเช้า เสด็จไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ตามลำดับตรอก เสด็จเข้าไปยังที่อยู่ของอัคคิกภารทวาชพราหมณ์ ครั้นแล้วได้ประทับยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

    [๖๕๔] อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับยืนเพื่อบิณฑบาต ครั้นแล้วได้กราบทูลกะพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคาถาว่า

    พราหมณ์ผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยไตรวิชชา มีชาติ ฟังคัมภีร์เป็นอันมาก ถึงพร้อมแล้วด้วยวิชชาและจรณะ พราหมณ์นั้นควรบริโภคปายาสนี้.

    [๖๕๕] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

    พรามหมณ์ผู้กล่าวถ้อยคำแม้มาก เป็นผู้เน่าและเศร้าหมองในภายใน อันความโกหกแวดล้อมแล้ว ย่อมไม่ชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะชาติ ผู้ใดรู้บุพเพนิวาสและเห็นทั้งสวรรค์ทั้งอบาย อนึ่ง ถึงความ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 218

สิ้นไปแห่งชาติ เป็นมุนีผู้อยู่จบแล้วเพราะรู้ยิ่ง ผู้นั้นเป็นผู้มีไตรวิชชาด้วยวิชชาสามเหล่านี้ ชื่อว่าเป็นพราหมณ์ผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยวิชชาและจรณะ พราหมณ์นั้นควรบริโภคปายาสนี้.

    อัคคิกภารทวาชพราหมณ์กราบทูลว่า พระโคดมผู้เจริญ ขอเชิญบริโภคเถิด พระโคดมเป็นพราหมณ์ผู้เจริญ.

    [๖๕๖] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

    เราไม่พึงบริโภคโภชนะที่ได้เพราะการขับกล่อม ดูก่อนพราหมณ์นั่นไม่ใช่ธรรมของผู้พิจารณาอยู่ พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมรังเกียจโภชนะที่ได้เพราะการขับกล่อม ดูก่อนพราหมณ์ เมื่อธรรมมีอยู่ความเลี้ยงชีพนี้ก็ยังมี อนึ่ง ท่านจงบำรุงพระขีณาสพทั้งสิ้นผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ผู้มีความคนองอันสงบแล้วด้วยข้าวน้ำอันอื่น เพราะว่าการบำรุงนั้น ย่อมเป็นเขตของผู้มุ่งบุญ.

    [๖๕๗] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ก็แหละท่านพระภารทวาชะได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย ดังนี้แล.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 219

อรรถกถาอัคคิกสูตร

    ในอัคคิกสูตรที่ ๘ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

    บทว่า อคฺคิกภารทฺวาโช ได้แก่ พราหมณ์แม้นี้ ก็ชื่อว่าภารทวาชะเหมือนกัน แต่โดยที่เขาบำเรอไฟ พระสังคีติกาจารย์จึงตั้งชื่อเขาอย่างนั้น. บทว่า สนฺนิหิโต ได้แก่ อันเขาปรุงอย่างดี. บทว่า อฏฺาสิ ความว่า เพราะเหตุไร จึงยืนอยู่ในที่นั้น. เล่ากันมาว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูโลกในเวลาใกล้รุ่ง ทรงเห็นพราหมณ์นี้ ทรงพระดำริว่า พราหมณ์นี้ถือข้าวปายาสอันเลิศเห็นปานนี้เอาไปเผาไฟ ด้วยตั้งใจจะให้มหาพรหมบริโภค ย่อมกระทำสิ่งที่ไร้ผล ก้าวลงสู่ทางอบาย เมื่อไม่ละลัทธินี้ ก็จักทำอบายให้เต็ม จำเราจักไปทำลายทิฏฐิของเขาด้วยธรรมเทศนาแล้วให้บรรพชา ให้มรรค ๔ ผล ๔ แก่เขา เพราะฉะนั้น ในเวลาเช้า จึงเสด็จเข้ากรุงราชคฤห์ ได้ประทับยืนอยู่ ณ ที่นั้น.

    บทว่า ตีหิ วิชฺชาหิ ได้แก่ ด้วยเวท ๓. บทว่า ชาติมา ความว่า ประกอบด้วยชาติที่บริสุทธิ์ ๗ ชั่วโคตร. บทว่า สุตวา พหู ความว่า ฟังคัมภีร์ต่างๆ เป็นอันมาก. บทว่า โสมํ ภุญฺเชยฺย ความว่า พราหมณ์กล่าวว่าพราหมณ์นั้นได้วิชชา ๓ ควรบริโภคข้าวปายาสนี้ แต่ข้าวปายาสนี้ไม่ควรแก่พระองค์.

    บทว่า เวทิ ความว่า รู้ คือแทงตลอดด้วยบุพเพนิวาสญาณ. บทว่า สคฺคาปายํ ได้แก่ เห็นทั้งสวรรค์ทั้งอบายด้วยทิพยจักษุ. บทว่า ชาติกฺขยํ ได้แก่พระอรหัต. บทว่า อภิญฺาโวสิโต ความว่า ผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 220

เพราะรู้ยิ่ง. บทว่า พฺราหฺมโณ ภวํ ความว่า พราหมณ์ขีณาสพผู้สมบูรณ์ด้วยชาติเช่นพระโคดมผู้เจริญนั้น ตั้งแต่อเวจีจนถึงภวัคคพรหมไม่มี พระองค์ผู้เจริญนี่แหละเป็นพราหมณ์.

    ก็แลครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว พราหมณ์ได้บรรจุข้าวปายาสเต็มถาดทองแล้วน้อมเข้าไปถวายพระทศพล. พระศาสดาทรงแสดงอุบัติเหตุเกิด ทรงห้ามโภชนะเสีย จึงตรัสคำเป็นต้นว่า คาถาภิคีตํ เม ดังนี้. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า คาถาภิคีตํ ได้แก่ ขับกล่อมด้วยคาถาทั้งหลาย. บทว่า อโภชเนยฺยํ ได้แก่ไม่ควรบริโภค. ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า พราหมณ์ ท่านไม่อาจให้อาหารเพียงทัพพีหนึ่งแก่เรา ผู้ดำรงอยู่ด้วยภิกขาจารวัตรตลอดกาลเท่านี้ แต่บัดนี้เราประกาศพระพุทธคุณทั้งปวงแก่ท่าน เหมือนคนหว่านงาลงบนเสื่อลำแพน ดังนั้นโภชนะนี้เหมือนได้มาเพราะขับกล่อม ฉะนั้น เราไม่ควรบริโภคโภชะที่ได้มาด้วยการขับกล่อม. บทว่า สมฺปสฺสตํ พฺรหฺมณ เนส ธมฺโม ความว่า พราหมณ์ ผู้ที่พิจารณาเห็นอรรถและธรรม ไม่มีธรรมเนียมนี้ว่า ควรบริโภคโภชนะเห็นปานนี้ แต่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงรังเกียจสุธาโภชนะที่ได้ด้วยการขับกล่อม คือพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมทรงขจัดออกซึ่งโภชนะที่ได้มา เพราะขับกล่อม. บทว่า ธมฺเม สติ พฺราหฺมณ วุตฺติ เรสา ความว่า พราหมณ์ เมื่อธรรมมีอยู่ เมื่อบุคคลพิจารณาธรรม ตั้งอยู่ในธรรม เลี้ยงชีพอยู่นี้เป็นความประพฤติ คือนี้เป็นการเลี้ยงชีพว่า ควรขจัดโภชนะเห็นปานนี้เสียแล้วบริโภคโภชนะที่ได้มาโดยธรรมเท่านั้น.

    ลำดับนั้น พราหมณ์คิดว่า เมื่อก่อนเราไม่รู้ถึงคุณหรือโทษของพระสมณโคดม แต่บัดนี้เรารู้คุณของพระสมณโคดมนั้นแล้ว จึงปรารถนาจะโปรยทรัพย์ประมาณ ๘๐ โกฏิ ในเรือนของเราลงในพระศาสนา ก็พระสมณโคดมนี้จะตรัสว่า ปัจจัยที่เราถวาย เป็นอกัปปิยะ พระสมณโคดมคงไม่ทรงตำหนิเรา

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 221

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงส่งพระสัพพัญญุตญาณพิจารณาวารจิตของพราหมณ์นั้น ทรงพระดำริว่า พราหมณ์นี้กำหนดปัจจัยที่ตนให้แม้ทั้งหมดว่าเป็นอกัปปิยะ ความจริง กถาเกิดขึ้นเพราะปรารภโภชนะใด โภชนะนั้นแลไม่มี กถานอกนั้นไม่มีโทษ ดังนี้ เมื่อจะทรงแสดงประตูแห่งการถวายปัจจัย ๔ แก่พราหมณ์ จึงตรัสคำมีอาทิว่า อญฺเน จ ดังนี้. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กุกฺกุจฺจํ วูปสนฺตํ ความว่า สงบความรำคาญเสียได้ด้วยอำนาจความคนองมือเป็นต้น. คำว่า อนฺเนน ปาเนน นี้เป็นเพียงเทศนา. ก็ความนี้พึงทราบดังต่อไปนี้ ท่านจงบำรุงด้วยปัจจัยเหล่าอื่นมีจีวรเป็นต้น ที่ท่านกำหนดว่าจักบริจาค ข้อนั้นเป็นเขตของผู้มุ่งบุญ. ชื่อว่าคำสอนของพระตถาคตนี้เป็นอันท่านผู้มุ่งบุญคือปรารถนาบุญตกแต่งแล้ว เหมือนพืชแม้น้อยที่หว่านลงในนาดี ย่อมให้ผลมาก ดังนี้แล.

    จบอรรถกถาอัคคิกสูตรที่ ๘