พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. สกลิกสูตร ว่าด้วยถูกสะเก็ดหิน

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ส.ค. 2564
หมายเลข  36345
อ่าน  314

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 34

๓. สกลิกสูตร

ว่าด้วยถูกสะเก็ดหิน


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 34

๓. สกลิกสูตร

ว่าด้วยถูกสะเก็ดหิน

    [๔๕๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ มัททกุจฉิมิคทายวัน กรุงราชคฤห์.

    ก็โดยสมัยนั้นแล พระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าถูกสะเก็ดหินเจาะแล้ว ได้ยินว่า เวทนาทั้งหลาย อันยิ่ง เป็นไปในพระสรีระ เป็นทุกข์ แรงกล้าเผ็ดร้อน ไม่เป็นที่ยินดี ไม่เป็นที่พอพระทัย ย่อมเป็นไปแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์มีพระสติสัมปชัญญะอดกลั้นซึ่งเวทนาเหล่านั้น ไม่กระสับกระส่าย.

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งให้ปูผ้าสังฆาฏิเป็น ๔ ชั้น แล้วสำเร็จสีหไสยา โดยพระปรัศว์เบื้องขวา พระบาทซ้ายเหลื่อมพระบาทขวา มีพระสติสัมปชัญญะ.

    [๔๕๓] ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปเข้าไปหาพระองค์ถึงที่ประทับ แล้วทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคาถาว่า

    ท่านนอนด้วยความเขลา หรือมัวเมา คิดกาพย์กลอนอยู่ ประโยชน์ทั้งหลายของท่านไม่มีมาก ท่านอยู่ ณ ที่นอนที่นั่ง อันสงัดแต่ผู้เดียว ตั้งหน้านอนหลับ นี่อะไร ท่านหลับทีเดียวหรือ.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 35

[๔๕๔] พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสตอบว่า

    เราไม่ได้นอนด้วยความเขลา ทั้งมิได้มัวเมาคิดกาพย์กลอนอยู่ เราบรรลุประโยชน์แล้วปราศจากความโศก อยู่ ณ ที่นอนที่นั่ง อันสงัดแต่ผู้เดียว นอนรำพึงด้วยความเอ็นดูในสัตว์ทั้งปวง. ลูกศรเข้าไปในอกของชนเหล่าใด เสียบหทัยให้ลุ่มหลงอยู่ แม้ชนเหล่านั้นในโลกนี้ ผู้มีลูกศรเสียบอกอยู่ ยังได้ความหลับ เราผู้ปราศจากลูกศรแล้ว ไฉนจะไม่หลับเล่า.เราเดินทางไปในทางที่มีราชสีห์เป็นต้นก็มิได้หวาดหวั่น ถึงหลับในที่เช่นนั้นก็มิได้กลัวเกรง กลางคืนและกลางวันย่อมไม่ทำให้เราเดือดร้อน เราย่อมไม่พบเห็นความเสื่อมอะไรๆ ในโลก ฉะนั้น เราผู้มีความเอ็นดูในสัตว์ทั้งปวงจึงนอนหลับ.

    ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้จักเรา พระสุคตทรงรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้หายไปในที่นั้นเอง.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 36

อรรถกถาสกลิกสูตร

    พึงทราบวินิจฉัยในสกลิกสูตรที่ ๓ ต่อไป :-

    บทว่า มนฺทิยา นุ เสสิ ได้แก่ ท่านนอนด้วยความเขลา ด้วยความลุ่มหลง. บทว่า อุทาหุ กาเวยฺยมตฺโต ได้แก่ ก็หรือว่า ท่านนอนเหมือนอย่างกวี นอนครุ่นคิดคำที่จะพึงกล่าว หมกมุ่นด้วยเหตุที่จะพึงแต่งนั้น.บทว่า สมฺปจุรา แปลว่า มาก. บทว่า กิมิทํ โสปฺปเสว ได้แก่ เหตุไรท่านจึงหลับอย่างนี้เล่า. บทว่า อตฺถํ สเมจฺจ ได้แก่ มาถึงพร้อม คือบรรลุประโยชน์แล้ว ด้วยว่า เราไม่มีประโยชน์ [ความต้องการ] ว่า ขึ้นชื่อว่า ผู้ไม่เกี่ยวข้อง ก็วิบัติจากผู้เกี่ยวข้องดังนี้. บทว่า สลฺลํ ได้แก่หอกแลลูกศรอันคม.บทว่า ชคฺคํ น สงฺเกมิ ความว่า เราถึงเดินทางก็ไม่ระแวง อย่างคนบางคน เดินไปในทางสีหะเป็นต้น ก็ระแวง. บทว่า นปิ เภมิ โสตฺตุํ ความว่า เราไม่กลัวจะหลับ อย่างคนบางคน กลัวจะหลับ ในทางสีหะเป็นต้น. บทว่านานุปตนฺติ มา มํ ความว่า คนทั้งหลายไม่เดือดร้อนตามไปกะเรา อย่างเมื่ออาจารย์หรืออันเตวาสิกเกิดไม่สบาย อันเตวาสิก มัวแต่เล่าเรียนและสอบถามเสีย คืนวันล่วงไปๆ ก็เดือดร้อนถึง ด้วยว่า กิจที่ยังไม่เสร็จไรๆ ของเราไม่มี. ด้วยเหตุนั้นนั่นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า หานึ น ปสฺสามิ กุหิญฺจิ โลเก เราไม่เห็นความเสื่อมในโลกไหนๆ .

    จบอรรถกถาสกลิกสูตรที่ ๓