พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. สีหสูตร ว่าด้วยบันลือสีหนาท

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ส.ค. 2564
หมายเลข  36344
อ่าน  351

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 32

๒. สีหสูตร

ว่าด้วยบันลือสีหนาท


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 32

๒. สีหสูตร

ว่าด้วยบันลือสีหนาท

[๔๔๙] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี.

    ก็สมัยนั้นแล พระองค์แวดล้อมด้วยบริษัทหมู่ใหญ่ ทรงแสดงธรรมอยู่.

    ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปได้มีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมนี้แล แวดล้อมด้วยบริษัทหมู่ใหญ่ แสดงธรรมอยู่ ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปใกล้ ณ ที่พระสมณโคดมประทับอยู่ เพราะประสงค์จะยังปัญญาจักษุให้พินาศ.

    [๔๕๐] ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเข้าไปใกล้พระผู้มีพระภาคเข้าถึงประทับ ครั้นแล้ว กล่าวกะพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคาถาว่า

    ท่านเป็นผู้องอาจในบริษัท บันลือสีหนาท ดุจราชสีห์ ฉะนั้นหรือ ก็ผู้ที่พอจะต่อสู้ท่านยังมี ท่านเข้าใจว่าเป็นผู้ชนะแล้วหรือ.

    [๔๕๑] พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสตอบด้วยพระคาถาว่า

    ตถาคตเป็นมหาวีรบุรุษ องอาจในบริษัท บรรลุทสพลญาณ ข้ามตัณหาอันเป็นเหตุข้องในโลกเสียได้ บันลืออยู่โดยแท้.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 33

    ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้จักเรา พระสุคตทรงรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้หายไปในที่นั้นเอง.

อรรถกถาสีหสูตร

    พึงทราบวินิจฉัยในสีหสูตรที่ ๒ ต่อไป :-

    บทว่า วิจกฺขุกมฺมาย ได้แก่ เพื่อประสงค์จะทำปัญญาจักษุของบริษัทให้เสีย. แต่มารนั้น ไม่อาจทำปัญญาจักษุของพระพุทธะทั้งหลายให้เสียได้ ได้แต่ประกาศหรือสำแดงอารมณ์ที่น่ากลัวแก่บริษัท. บทว่า วิชิตาวี นุมญฺสิ ความว่า ท่านยังสำคัญว่า เราเป็นผู้ชนะอยู่หรือหนอ ท่านอย่าสำคัญอย่างนี้ ความชนะของท่านไม่มีดอก. บทว่า ปริสาสุ ได้แก่ ในบริษัท ๘.บทว่า พลปฺปตฺตา ได้แก่ ผู้บรรลุทศพลญาณ.

    จบอรรถกถาสีหสูตรที่ ๒