พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. ทุติยาปุตตกสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  29 ส.ค. 2564
หมายเลข  36293
อ่าน  449

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 496

๑๐. ทุติยาปุตตกสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 496

๑๐. ทุติยาปุตตกสูตร

[๓๙๐] ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าในเวลาเที่ยงวัน ถวายบังคมแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า เชิญเถิดมหาบพิตร พระองค์เสด็จจากไหนมา ในเวลาเที่ยงวัน.

พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คฤหบดีผู้เป็นเศรษฐีในกรุงสาวัตถีนี้ กระทำกาลกิริยาแล้ว ข้าพระองค์ให้ขนทรัพย์สมบัติอันไม่มีบุตรรับมรดกนั้น มาไว้ในวังแล้วก็มา ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เฉพาะเงินเท่านั้นมี ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ ส่วนเครื่องรูปิยะไม่ต้องพูดถึง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็คฤหบดีผู้เป็นเศรษฐีนั้น ได้บริโภคอาหารเห็นปานนี้ คือบริโภคปลายข้าวกับน้ำส้มพะอูม ได้ใช้ผ้าเครื่องนุ่งห่มเห็นปานนี้ คือนุ่งห่มผ้าเนื้อหยาบที่ตัดเป็นสามชิ้นเย็บติดกัน ได้ใช้ยานพาหนะเห็นปานนี้ คือใช้รถเก่าๆ กั้นร่มทำด้วยใบไม้.

[๓๙๑] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนมหาบพิตร ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ดูก่อนมหาบพิตร ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ดูก่อนมหาบพิตร เรื่องเคยมีมาแล้ว คฤหบดีผู้เป็นเศรษฐีนั้น ได้สั่งให้จัดบิณฑบาตถวายพระปัจเจกสัมพุทธะ นามว่า ตครสิขี ว่าท่านทั้งหลาย จงถวายบิณฑะแก่สมณะแล้วลุกจากอาสนะเดินหลีกไป แต่ครั้นถวายแล้ว ภายหลังได้มีความเสียดายว่าบิณฑบาตนี้ ทาสหรือกรรมกรพึงบริโภคยังดีกว่า นอกจากนี้เขายังปลงชีวิตบุตรน้อยคนเดียวของพี่ชาย เพราะเหตุทรัพย์สมบัติอีก ดูก่อนมหาบพิตร การที่คฤหบดีผู้เป็นเศรษฐีนั้น สั่งให้จัดบิณฑบาตถวายพระตครสิขีปัจเจก

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 497

สัมพุทธะ ด้วยวิบากของกรรมนั้น เขาจึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ๗ ครั้ง ด้วยวิบากอันเป็นส่วนเหลือของกรรมนั้นเหมือนกัน ได้ครองความเป็นเศรษฐีในกรุงสาวัตถีนี้แหละถึง ๗ ครั้ง.

ดูก่อนมหาบพิตร การที่คฤหบดีผู้เป็นเศรษฐีนั้นถวายแล้ว ภายหลังได้มีความเสียดายว่า บิณฑบาตนี้ทาสหรือกรรมกรพึงบริโภคยังดีกว่า ด้วยวิบากของกรรมนั้น จิตของเขาจึงไม่น้อมไปเพื่อบริโภคอาหารอันโอฬาร จิตของเขาจึงไม่น้อมไปเพื่อใช้ผ้าเครื่องนุ่งห่มอันโอฬาร จิตของเขาจึงไม่น้อมไปเพื่อใช้ยานพาหนะอันโอฬาร จิตของเขาจึงไม่น้อมไปเพื่อบริโภคเบญจกามคุณอันโอฬาร.

ดูก่อนมหาบพิตร ก็แหละการที่คฤหบดีผู้เป็นเศรษฐีนั้น ปลงชีวิตบุตรน้อยคนเดียวของพี่ชาย เพราะเหตุทรัพย์สมบัติ ด้วยวิบากของกรรมนั้น เขาจึงถูกไฟเผาอยู่ในนรกหลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี หลายแสนปี ด้วยวิบากอันเป็นส่วนเหลือของกรรมนั้นเหมือนกัน ทรัพย์สมบัติอันไม่มีบุตรรับมรดกของเขานี้ จึงถูกขนเข้าพระคลังหลวงเป็นครั้งที่ ๗.

ดูก่อนมหาบพิตร ก็บุญเก่าของคฤหบดีผู้เป็นเศรษฐีนั้นหมดสิ้นแล้ว และบุญใหม่ก็ไม่ได้สะสมไว้.

ดูก่อนมหาบพิตร ก็ในวันนี้ คฤหบดีผู้เป็นเศรษฐี ถูกไฟเผาอยู่ในมหาโรรุวนรก.

พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คฤหบดีผู้เป็นเศรษฐี เข้าถึงมหาโรรุวนรกอย่างนั้นหรือ.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อย่างนั้น มหาบพิตร คฤหบดีผู้เป็นเศรษฐีเข้าถึงมหาโรรุวนรกแล้ว.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 498

[๓๙๒] พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์คำร้อยแก้วนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสพระคาถาคำร้อยกรองต่อไปอีกว่า

ข้าวเปลือก ทรัพย์ เงินทอง หรือข้าวของ ที่หวงแหนอย่างใดอย่างหนึ่งมีอยู่ ทาส กรรมกร คนใช้ และผู้อาศัยของเขา พึงพาเอาไปไม่ได้ทั้งหมด จะต้องละทิ้งไว้ทั้งหมด.

ก็บุคคลทำกรรมใด ด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจ กรรมนั้นแหละ เป็นของๆ เขา และเขาย่อมพาเอากรรมนั้นไป อนึ่ง กรรมนั้นย่อมติดตามเขาไปเหมือนเงาติดตามตน ฉะนั้น เพราะฉะนั้น บุคคลควรทำกรรมดี สั่งสมไว้สำหรับภายหน้า บุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในปรโลก.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 499

อรรถกถาทุติยาปุตตกสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในทุติยาปุตตกสูตรที่ ๑๐ ต่อไป :-

บทว่า ปิณฺฑปาเตน ปฏิปาเทสิ ได้แก่ ประกอบไว้กับบิณฑบาต อธิบายว่า ได้ถวายบิณฑบาต.

บทว่า ปกฺกามิ ได้แก่ ไปโดยกิจบางอย่าง คือโดยกิจมีเข้าเฝ้าพระราชา เป็นต้น.

บทว่า ปจฺฉา วิปฺปฏิสารี อโหสิ ความว่า ได้ยินว่า เศรษฐีนั้นพบพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น แม้ในวันอื่นๆ แต่เขามิได้เกิดจิตคิดจะถวายทาน. ในวันนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าพระนามว่า ตครสิขี บุตรคนที่ ๓ ของนางปทุมวดีเทวี พระองค์นี้ ยับยั้งอยู่ด้วยสุข เกิดแต่ผลสมาบัติ ณ ภูเขาคันธมาทน์ ลุกขึ้น ณ เวลาเช้า บ้วนโอษฐ์ ณ สระอโนดาด นุ่งสบงสีแดงดังน้ำชาด คาดประคดเอว ถือบาตรจีวร เข้าจตุตถฌานอันเป็นบาทแห่งอภิญญา เหาะไปด้วยฤทธิ์ลงที่ประตูนครห่มจีวรแล้วถือบาตร ถึงประตูเรือนของเศรษฐีตามลำดับ ด้วยอากัปปะอาการมีก้าวไป เป็นต้น ที่น่าเลื่อมใสประหนึ่งวางของมีค่าพันหนึ่งที่ประตูนครสำหรับชาวนครทั้งหลาย วันนั้น เศรษฐีตื่นแต่เช้าตรู่ บริโภคอาหารอันประณีต ปูอาสนะ ณ ซุ้มประตูเรือน นั่งทำความสะอาดฟันอยู่ เศรษฐีนั้นเห็นพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าแล้ว เกิดจิตคิดจะถวายทาน เพราะวันนั้นเศรษฐีบริโภคอาหารเช้าแล้วนั่งอยู่จึงเรียกภรรยามาสั่งว่า เจ้าจงถวายบิณฑบาตแก่สมณะผู้นี้แล้วก็หลีกไป.

ภรรยาเศรษฐีคิดว่า โดยเวลาถึงเพียงเท่านี้ เราไม่เคยได้ยินคำว่าเจ้าจงถวายทานแก่ผู้นี้ แต่วันนี้ เศรษฐี แม้เมื่อสั่งให้ถวายทาน ก็มิได้สั่งให้ถวายแก่ผู้นั้นผู้นี้ แต่ให้ถวายทานแก่พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าผู้ปราศจากราคโทสและโมหะ ผู้คายกิเลส ผู้ปลงภาระแล้ว จำเราจักไม่ถวายทานสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่จักถวายบิณ-

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 500

ฑบาตอันประณีต นางออกจากเรือนแล้วไหว้พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วรับบาตรนิมนต์ให้นั่งเหนืออาสนะที่จัดไว้ ณ ภายในนิเวศน์ ปรุงอาหารด้วยข้าวสารข้าวสาลีอันบริสุทธิ์ดี กำหนดกับที่ควรเคี้ยวและแกงที่พอสมกับ ประดับของหอมไว้ข้างนอก บรรจงวางไว้ในมือทั้งสองของพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วไหว้ พระปัจเจกพุทธเจ้ายังไม่ฉันด้วยคิดจะทำการสงเคราะห์ พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์อื่นๆ จึงกระทำอนุโมทนาแล้วหลีกไป. เศรษฐีแม้นั้นแลกำลังเดินมาแต่ข้างนอกเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ถามว่า เราสั่งให้เขาถวายบิณฑบาตแก่ท่านแล้วหลีกไป ท่านได้บิณฑบาตแล้วหรือ. พระปัจเจกพุทธเจ้าตอบว่า ถูกละ เศรษฐี เราได้แล้ว เศรษฐีหมายใจว่าจะดู จึงชะเง้อคอขึ้นดู. ขณะนั้นเองกลิ่นบิณฑบาตของพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นก็พลุ่งขึ้นกระทบโพรงจมูก. เขาไม่อาจสำรวมจิตได้ ภายหลังก็มีวิปปฏิสารร้อนใจ

คำว่า วรเมตํ เป็นต้น เป็นการแสดงอาการของความร้อนใจที่เกิดขึ้น แต่เขาก็ฆ่าบุตรคนเดียวของพี่ชายเสีย เพราะเหตุแห่งทรัพย์สมบัติ. ได้ยินว่า ครั้งนั้น เมื่อกองทรัพย์ยังมิได้แบ่งกัน มารดาบิดาและพี่ชายของเขาก็ตายไป เขาจึงอยู่ร่วมกับภรรยาของพี่ชาย. แต่พี่ชายของเขามีบุตรอยู่คนหนึ่ง. เด็กนั้นกำลังเล่นอยู่ที่ถนน คนทั้งหลายก็พูดกันว่า นี้ทาส นี้ทาสี นี้ยาน นี้ทรัพย์เป็นของๆ เจ้า เด็กนั้นก็จับคำของคนเหล่านั้นเอามาพูดว่า บัดนี้ นี้เป็นของๆ เราดังนี้เป็นต้น.

ฝ่ายอาของเด็กนั้นคิดว่า เดี๋ยวนี้ เด็กนี้ยังพูดอย่างนี้ เมื่อแก่ตัวเขาก็จะพึงตัดกองทรัพย์เสียระหว่างกลาง บัดนี้นี่แหละ เราจำจักต้องทำการที่จะพึงทำแก่เด็กนี้. วันหนึ่ง เขาถือมีดสั่งว่า มานี่แน่ลูก เราจะไปป่ากัน แล้วนำเด็กนั้นไปป่าฆ่าเด็กนั้น ซึ่งกำลังร้องโหยหวน โยนลงในบ่อกลบด้วยฝุ่น. ท่านหมายเอาข้อนี้จึงกล่าวคำนี้.

บทว่า สตฺตกฺขตฺตุํ แปลว่า ๗ ครั้ง.

ก็ในคำนี้

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 501

พึงทราบความ โดยเจตนาต้นและเจตนาหลัง.

จริงอยู่ ในการถวายบิณฑบาตครั้งหนึ่ง เจตนาคราวเดียว ย่อมไม่ให้ปฏิสนธิสองครั้ง. ก็เศรษฐีนั้น บังเกิดในสวรรค์ ๗ ครั้ง ในตระกูลเศรษฐี ๗ ครั้ง ก็ด้วยเจตนาต้นและเจตนาหลัง.

บทว่า ปุราณํ ได้แก่ กรรมคือเจตนาในบิณฑบาตทานที่ถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า.

บทว่า ปริคฺคหํ ได้แก่ สิ่งของที่หวงแหน.

บทว่า อนุชีวิโน ได้แก่ เหล่าตระกูล จำนวน ๕๐ บ้าง ๖๐ บ้าง อาศัยตระกูลใหญ่ตระกูลหนึ่งเลี้ยงชีพอยู่. ท่านหมายเอาคนเหล่านั้น จึงกล่าวคำนี้.

บทว่า สพฺพนฺนาทาย คนฺตพฺพํ ได้แก่ พาเอาทรัพย์นั้นทั้งหมดไปไม่ได้.

บทว่า นิกฺขีปคามินํ ได้แก่ ทรัพย์นั้นทั้งหมดมีอันต้องทิ้งไว้เป็นสภาพ อธิบายว่า มีอันจำต้องสละเป็นสภาวะทั้งนั้น.

จบอรรถกถาทุติยาปุตตกสูตรที่ ๑๐

จบโกสลสังยุตทุติยวรรคที่ ๒

พระสูตรในวรรคที่ ๒ นี้ คือ

๑. ชฏิลสูตร

๒. ปัญจราชสูตร

๓. โทณปากสูตร

๔. ปฐมสังคามวัตถุสูตร

๕. ทุติยสังคามวัตถุสูตร

๖. ธีตุสูตร

๗. ปฐมอัปปมาทสูตร

๘. ทุติยอัปปมาทสูตร

๙. ปฐมาปุตตกสูตร

๑๐. ทุติยาปุตตกสูตร

พร้อมทั้งอรรถกถา.