พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. มัลลิกาสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  29 ส.ค. 2564
หมายเลข  36281
อ่าน  470

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 435

๘. มัลลิกาสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 435

๘. มัลลิกาสูตร

[๓๔๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามแห่งท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี.

สมัยนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลกับพระนางมัลลิการาชเทวีได้ประทับ ณ ปราสาทอันประเสริฐชั้นบน.

ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ตรัสกับพระนางมัลลิการาชเทวีว่า มัลลิกา คนซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตน มีแก่เธอบ้างไหม.

พระนางมัลลิกาได้ทูลสนองว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า คนซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตน ไม่มีแก่หม่อมฉันดอก มีแก่พระองค์บ้างหรือ.

พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสว่า แน่ะมัลลิกา คนซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตนย่อมไม่มีแม้แก่ฉัน.

[๓๔๗] ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จลงจากปราสาทเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

พระเจ้าปเสนทิโกศล ได้ทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้ ข้าพระองค์ได้อยู่ที่ปราสาทอันประเสริฐชั้นบนกับพระนางมัลลิการาชเทวี ได้พูดกับพระนางมัลลิการาชเทวีว่า แน่ะมัลลิกา คนซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตน มีอยู่แก่เธอบ้างไหม ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระนางมัลลิการาชเทวีได้ตอบว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า คนซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตน ไม่มีแก่หม่อมฉันดอก มีอยู่แก่พระองค์บ้างไหม ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้พูดกับพระนางมัลลิการาชเทวีว่า แน่ะมัลลิกา คนซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตน ไม่มีแม้แก่ฉันเหมือนกัน.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 436

[๓๔๘] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงได้ตรัสพระคาถานี้ในเวลานั้นว่า

บุคคลค้นหาด้วยจิตตลอดทุกทิศ ไม่ได้พบใครซึ่งเป็นที่รัก ยิ่งกว่าตนในที่ไหนๆ เลย สัตว์ทั้งหลายเหล่าอื่นก็รักตนมากเช่นนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ผู้รักตนจึงไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น.

อรถกถามัลลิกาสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในมัลลิกาสูตรที่ ๘ ต่อไป :-

เพราะเหตุไร พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงตรัสถามว่า อตฺถิ โข เต มลฺลิเก เป็นต้น.

ได้ยินว่า พระนางมัลลิกานี้ เป็นธิดาของนายช่างทำดอกไม้ผู้เข็ญใจ วันหนึ่ง ถือขนมจากตลาด คิดว่าจักไปสวนดอกไม้แล้วจึงจักกินขนม เดินไปพบพระผู้มีพระภาคเจ้า มีภิกษุเป็นบริวาร เสด็จเข้าไปแสวงหาอาหารสวนทางกัน ก็มีจิตเลื่อมใส ได้ถวายขนมนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอาการจะประทับนั่ง. พระอานนทเถระจึงได้ปูผ้าถวาย. พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับนั่ง ณ ที่นั้นแล้วเสวยขนม ล้างพระโอษฐ์แล้วได้ทรงทำความแย้มพระโอษฐ์ให้ปรากฏ. พระเถระทูลถามว่า ด้วยการถวายขนมนี้ จักมีผลอะไร พระเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อานนท์ วันนี้นี่แหละ นางมัลลิกานั้นได้ถวายโภชนะแก่ตถาคตเป็นคนแรก วันนี้นี่แหละนางก็จักได้เป็นอัครมเหสีของพระเจ้าโกศล วันนั้นนั่นแล พระราชาผู้อัน

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 437

พระเจ้าหลาน (พระเจ้าอชาตศัตรู) ทรงให้ปราชัยในการรบที่หมู่บ้านกาสี (กาสิกคาม) พ่ายหนีไป กลับมาสู่พระนคร เสด็จเข้าไปยังสวนดอกไม้ ทรงคอยหมู่ทหารกลับมา. นางมัลลิกานั้น ได้ทำการปรนนิบัติถวายท้าวเธอ. พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงเลื่อมใสในข้อวัตรปฏิบัติที่นางทำถวาย จึงโปรดให้นำนางเข้าไปภายในพระบุรี ทรงสถาปนานางไว้ในตำแหน่งพระอัครมเหสี.

ต่อมาวันหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงพระดำริว่า เราให้อิสริยยศอย่างใหญ่แก่ธิดาของตระกูลที่เข็ญใจผู้นี้ ถ้ากระไร เราจะควรถามนางว่าใครเป็นที่รักของเจ้า. นางจะตอบว่า พระมหาราชเจ้า พระองค์ทรงเป็นที่รักของหม่อมฉัน แล้วจักถามเราอีกว่า เมื่อเป็นดังนั้น เราจะบอกแก่นางว่าเจ้าคนเดียวเป็นที่รักของเรา ดังนี้. พระเจ้าปเสนทิโกศลนั้น เมื่อจะตรัสพระวาจาที่บันเทิง เพื่อให้เกิดความสนิทสนมกะกันแลกัน จึงถาม.

ส่วนพระนางมัลลิกาเทวีนั้น เป็นบัณฑิต เป็นอุปัฏฐายิกาของพระพุทธเจ้า เป็นอุปัฏฐายิกาของพระสงฆ์ มีปัญญามาก เพราะฉะนั้น พระนางจึงทรงดำริอย่างนี้ว่า เราไม่พึงเห็นแก่หน้าพระราชา ตอบปัญหานี้. ครั้นตรัสตอบตามรสนิยมของตนแล้ว ก็ทูลถามพระราชาบ้าง.

พระราชาเมื่อกลับพระวาจาไม่ได้ เพราะพระนางตรัสตามรสนิยมของพระนางเอง แม้พระองค์เองก็ตรัสตามรสนิยมเหมือนกัน ทรงพระดำริว่า จักให้พระนางกราบทูลเหตุนี้แด่พระตถาคต ดังนี้แล้ว ก็เสด็จไปกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.

บทว่า เนวชฺฌคา แปลว่า ไม่พบ.

บทว่า เอวํ ปิโย ปุถุ อตฺตา ปเรสํ ความว่า คนเป็นที่รักของตนเท่านั้นฉันใด คนอื่นก็เป็นที่รักของคนอื่นๆ แม้เป็นอันมาก ฉันนั้น.

จบอรรถกถามัลลิกาสูตรที่ ๘