พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. นันทนสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  29 ส.ค. 2564
หมายเลข  36257
อ่าน  387

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 350

๔. นันทนสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 350

๔. นันทนสูตร

[๒๕๘] นันทนเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคาถาว่า

ข้าแต่พระโคดม ผู้มีพระปัญญากว้างขวาง ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ถึงญาณทัสสนะ อันไม่มีอะไรขวางกั้นของพระผู้มีพระภาคเจ้า บัณฑิตทั้งหลายเรียกบุคคลชนิดไรว่า เป็นผู้มีศีล เรียกบุคคลชนิดไรว่า เป็นผู้มีปัญญา บุคคลชนิดไรล่วงทุกข์อยู่ได้ เทวดาทั้งหลายบูชาบุคคลชนิดไร.

[๒๕๙] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า

บุคคลใด มีศีล มีปัญญา อบรมตนแล้ว มีจิตตั้งมั่น ยินดีในฌาน มีสติ ปราศจากความโศกทั้งหมด ละได้ขาด สิ้นอาสวะแล้ว ทรงไว้ซึ่งร่างกายสุดท้าย บัณฑิตทั้งหลายเรียกบุคคลชนิดนั้นว่าเป็นผู้มีศีล เรียกบุคคลชนิดนั้นว่า เป็นผู้มีปัญญา บุคคลชนิดนั้นล่วงทุกข์อยู่ได้ เทวดาทั้งหลายบูชาบุคคลชนิดนั้น.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 351

อรรถกถานันทนสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในนันทนสูตรที่ ๔ ต่อไป :-

นันทนเทพบุตร เรียกพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยพระโคตรว่า โคตม.

บทว่า อนาวฏํ ความว่า เมื่อพระตถาคตทรงส่งพระสัพพัญญุตญาณ ต้นไม้หรือภูเขาไม่สามารถจะขวางกั้นได้เลย เพราะฉะนั้น นันทนเทพบุตรจึงกล่าวว่า อนาวฏํ.

ครั้นชมพระตถาคตดังนั้นแล้ว เมื่อจะถามปัญหาซึ่งแต่งไว้ในเทวโลก จึงทูลถามว่า กถํวิธํ เป็นต้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทุกฺขมติจฺจ อิริยติ แปลว่า ล่วงทุกข์อยู่.

บทว่า สีลวา ได้แก่ พระขีณาสพ ผู้ประกอบด้วยศีล ที่เป็นโลกิยะและโลกุตระ.

ปัญญา เป็นต้น ก็พึงทราบว่า ระคนกันเหมือนกัน.

บทว่า ปูชยนฺติ ความว่า บูชาด้วยของหอมและดอกไม้ เป็นต้น.

จบอรรถกถานันทนสูตรที่ ๔