พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. นชีรติสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  29 ส.ค. 2564
หมายเลข  36238
อ่าน  343

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 308

๖. นชีรติสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 308

๖. นชีรติสูตร

[๒๐๙] เทวดาทูลถามว่า

อะไรหนอย่อมทรุดโทรม อะไรไม่ทรุดโทรม อะไรหนอท่านเรียกว่าทางผิด อะไรหนอเป็นอันตรายแห่งธรรม อะไรหนอสิ้นไปตามคืนและวัน อะไรหนอเป็นมลทินของพรหมจรรย์ อะไรไม่ใช่น้ำแต่เป็นเครื่องชำระล้าง ในโลกมีช่องกี่ช่องที่จิตไม่ตั้งอยู่ได้ ข้าพระองค์มาเพื่อทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้า ไฉนข้าพระองค์จะรู้ความข้อนั้นได้.

[๒๑๐] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า

รูปของสัตว์ทั้งหลายย่อมทรุดโทรม นามและโคตรย่อมไม่ทรุดโทรม ราคะท่านเรียกว่าทางผิด ความโลภเป็นอันตรายของธรรม วัยสิ้นไปตามคืนและวัน หญิงเป็นมลทินของพรหมจรรย์ หมู่สัตว์นี้ย่อมข้องอยู่ในหญิงนี้ ตบะและพรหมจรรย์ทั้งสองนั้น มิใช่น้ำแต่เป็นเครื่องชำระล้าง ในโลกมีช่องอยู่ ๖ ช่องที่จิตไม่ตั้งอยู่ได้ คือ ความเกียจคร้าน ๑ ความประมาท ๑ ความไม่หมั่น ๑ ความไม่สำรวม ๑ ความมักหลับ ๑

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 309

ความอ้างเลศไม่ทำงาน ๑ พึงเว้นช่องทั้ง ๖ เหล่านั้นเสียโดยประการทั้งปวงเถิด.

อรรถกถานชีรติสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในนชีรติสูตรที่ ๖ ต่อไป :-

บทว่า นามแลโคตรย่อมไม่ทรุดโทรม ความว่า นามและโคตรของพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีต จนถึงทุกวันนี้ บัณฑิตยังกล่าวอยู่ เพราะฉะนั้น นามและโคตรนั้น จึงตรัสว่า ย่อมไม่ทรุดโทรม.

อนึ่ง โบราณาจารย์กล่าวว่า เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ นามและโคตรนั้นจักไม่ปรากฏ แต่สภาวะที่ทรุดโทรมย่อมไม่มีเลย.

บทว่า อาลสฺยํ แปลว่า ความเกียจคร้าน คือว่าด้วยความเกียจคร้านอันใด ดุจบุคคลผู้ยืนอยู่ในที่อันตนยืนอยู่นั่นแหละ นั่งแล้วก็นั่งอยู่นั่นแหละ ถึงผมทั้งหลายอันตั้งอยู่ในที่สูงเปียกชุ่มอยู่ก็ไม่กระทำ (ไม่สนใจทำ).

บทว่า ปมาโท ความว่า ชื่อว่า ความประมาทเพราะหลับหรือด้วยอำนาจแห่งกิเลส.

บทว่า อนุฏฺานํ ได้แก่ ไม่มีความเพียรเป็นเครื่องทำการงานในเวลาแห่งการงาน.

บทว่า อสญฺโม คือว่า ไม่มีความระวังศีล มีอาจาระอันทอดทิ้งเสียแล้ว.

บทว่า นิทฺทา อธิบายว่า เมื่อเดินก็ดี ยืนอยู่ก็ดี นั่งแล้วก็ดี ย่อมหลับ เพราะความเป็นผู้มากด้วยความหลับ ก็จะป่วยกล่าวไปไยถึงการนอนเล่า.

บทว่า ตนฺที ได้แก่ ความเกียจคร้านอันจรมาด้วยอำนาจแห่งความกระหายจัด เป็นต้น.

บทว่า เต นิทฺเท แปลว่า ช่องเหล่านั้น ได้แก่ ช่องทั้ง ๖.

บทว่า สพฺพโส แปลว่า โดยประการทั้งปวง.

บทว่า ตํ แปลว่า สักว่า เป็นนิบาต.

บทว่า วิวชฺชเย แปลว่า พึงเว้นคือ พึงละเสีย.

จบอรรถกถานชีรติสูตรที่ ๖