พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. วิตตสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  29 ส.ค. 2564
หมายเลข  36235
อ่าน  380

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 300

๓. วิตตสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 300

๓. วิตตสูตร

[๒๐๒] เทวดาทูลถามว่า

อะไรหนอเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างประเสริฐของคนในโลกนี้ อะไรหนอที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้ อะไรหนอเป็นรสดีกว่าบรรดารสทั้งหลาย คนมีชีวิตเป็นอยู่อย่างไร นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า มีชีวิตประเสริฐ.

[๒๐๓] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า

ศรัทธาเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างประเสริฐของคนในโลกนี้ ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้ ความจริงเท่านั้นเป็นรสที่ดียิ่งกว่ารสทั้งหลาย คนที่เป็นอยู่ด้วยปัญญา นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า มีชีวิตประเสริฐ.

อรรถกถาวิตตสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในวิตตสูตรที่ ๓ ต่อไป :-

บทว่า สทฺธีธ วิตฺตํ แปลว่า ศรัทธาเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจในโลกนี้ อธิบายว่า คนมีศรัทธา ย่อมได้เครื่องปลื้มใจทั้งหลาย แม้มีแก้วมุกดาเป็นต้น บุคคลถึงซึ่งกุลสัมปทา (คือการถึงพร้อมด้วยสกุล) ๓ กามสวรรค์ ๖

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 301

พรหมโลก ๙ แล้ว ในที่สุดย่อมได้แม้การเห็นอมตมหานิพพาน เพราะเหตุนั้น ศรัทธาเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอันประเสริฐยิ่งกว่าทรัพย์เครื่องปลื้มใจ อันมีแก้วมณีและแก้วมุกดา เป็นต้น.

บทว่า ธมฺโม ได้แก่ กุศลกรรมบถ ๑๐.

บทว่า สุขมาวหาติ แปลว่า นำความสุขมาให้ คือว่า ย่อมนำซึ่งอาสวะออกไปจากผู้มีสัพพอาสวะ ให้มีความสุข ปราศจากเครื่องเศร้าหมอง.

บทว่า สาธุตรํ แปลว่า รสดียิ่งกว่า คือว่า สัจจะ (ความจริง) เท่านั้น เป็นรสดีกว่ารสทั้งปวง อันมีรสเค็มและรสเปรี้ยว เป็นต้น.

อธิบายว่า บุคคลตั้งอยู่ในสัจจะ ย่อมยังแม้แม่น้ำอันไหลเชี่ยวให้ไหลกลับได้ ย่อมนำพิษร้ายออกได้ ย่อมห้ามแม้ไฟ ย่อมยังฝนให้ตกก็ได้ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า สัจจะนั้นเป็นรสดี ยิ่งกว่ารสทั้งปวง ดังนี้.

บทว่า ปญฺาชีวี ชีวิตมาหุ เสฏฺํ แปลว่า คนที่เป็นอยู่ด้วยปัญญา นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่ามีชีวิตประเสริฐ.

ความว่า บุคคลใดเป็นอยู่ด้วยปัญญา เป็นคฤหัสถ์ย่อมดำรงอยู่ในศีล ๕ เริ่มตั้งสลากภัต เป็นต้น จึงชื่อว่าเป็นอยู่ด้วยปัญญา หรือว่าเป็นบรรพชิต เมื่อปัจจัยเกิดขึ้นแล้วโดยธรรม ก็ย่อมพิจารณาสิ่งที่มีอยู่นี้แล้วจึงบริโภค ถือเอากรรมฐาน เริ่มตั้งวิปัสสนา ชื่อว่าเป็นอยู่ด้วยปัญญา เพราะสามารถบรรลุอริยผลได้ ด้วยเหตุนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า บุคคลผู้เป็นอยู่ด้วยปัญญานั้น มีชีวิตเป็นอยู่อันประเสริฐดังนี้แล.

จบอรรถกถาวิตตสูตรที่ ๓