พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. ชราสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 ส.ค. 2564
หมายเลข  36212
อ่าน  375

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 270

ชราวรรคที่ ๖

๑. ชราสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 270

ชราวรรคที่ ๖

๑. ชราสูตร

[๑๕๘] เทวดาทูลถามว่า

อะไรหนอ ยังประโยชน์ให้สำเร็จจนกระทั่งชรา อะไรหนอ ตั้งมั่นแล้วยังประโยชน์ให้สำเร็จ อะไรหนอ เป็นรัตนะของคนทั้งหลาย อะไรหนอ โจรลักไปไม่ได้.

[๑๕๙] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า

ศีลยังประโยชน์ให้สำเร็จจนกระทั่งชรา ศรัทธาตั้งมั่นแล้วยังประโยชน์ให้สำเร็จ ปัญญาเป็นรัตนะของคนทั้งหลาย บุญอันโจรลักไปไม่ได้.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 271

อรรถกถาชราสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในสูตรที่ ๑ แห่งชราวรรคที่ ๖ ต่อไป :-

บทว่า สาธุ ความว่า ย่อมให้บรรลุประโยชน์อันดี.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมทรงแสดงคำว่า สาธุ นี้ ด้วยบทว่า สีลํ ยาว ชรา นี้ ก็เครื่องประดับทั้งหลาย มีแก้วมุกดาแก้วมณีและผ้า เป็นต้น ย่อมงามแก่บุคคลในเวลาที่ยังเป็นหนุ่มสาวเท่านั้น เมื่อบุคคลทรงเครื่องประดับเหล่านั้นในเวลาที่ตนเป็นผู้แก่คร่ำคร่าแล้วเพราะชรา ก็จะประสบถ้อยคำอันบุคคลพึงกล่าวว่าบุคคลนี้ย่อมปรารถนาจะเป็นเด็กแม้ในวันนี้ เห็นจะเป็นบ้า ดังนี้ ส่วนศีลหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะว่า ศีลย่อมงามตลอดกาลเป็นนิตย์ ชนทั้งหลายย่อมรักษาศีลในวัยเด็กก็ดี ในวัยกลางคนก็ดี ในวัยแก่ก็ดี ย่อมไม่มีผู้ที่จะกล่าวว่ามีประโยชน์อะไรด้วยศีลของบุคคลนี้ ดังนี้.

บทว่า ศรัทธาตั้งมั่นแล้วยังประโยชน์ให้สำเร็จ อธิบายว่า ชื่อว่า ศรัทธาตั้งมั่นอันมาแล้วด้วยมรรคย่อมยังประโยชน์ให้สำเร็จ เหมือนศรัทธาของชนทั้งหลาย มีหัตถกะอุบาสกชาวอาฬวกะและจิตตคหบดี เป็นต้น.

ในคำว่า ปัญญาเป็นรัตนะของคนทั้งหลาย นี้บัณฑิตพึงทราบว่าเป็น รัตนะ เพราะชนทั้งหลายทำความยำเกรง.

สมจริงตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ถ้าว่า รัตนะ คือบุคคลผู้อันบุคคลพึงทำความยำเกรงไซร้ พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นบุรุษเพียงดังสีหะ ก็เป็นผู้อันบุคคลพึงทำความยำเกรงมิใช่หรือ แม้ชนทั้งหลายผู้ควรยำเกรงในโลกมีอยู่ ชนเหล่านั้น ควรทำความยำเกรงในพระผู้มีพระภาคเจ้า.

ผิว่า รัตนะ คือบุคคลผู้ประกอบความยินดีไซร้ พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นบุรุษเพียงดังสีหะ ก็เป็นผู้อันบุคคลพึงทำความยินดีมิใช่หรือ เพราะเมื่อประพฤติตามคำของพระองค์

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 272

ย่อมอภิรมย์ด้วยความสุข อันเกิดแต่ความพอใจในฌาน และความสุขอันเกิดแต่ความยินดี.

ผิว่า รัตนะ คือเป็นผู้ไม่มีใครเสมอไซร้ พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นบุรุษเพียงสีหะ ก็ไม่มีบุคคลเสมอ (มีคุณอันบุคคลชั่งไม่ได้) มิใช่หรือ เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้า มีพระบารมีอันเป็นความดียิ่งกว่าความดีทั้งหลาย ใครๆ ไม่อาจเพื่อจะเสมอ (ใครๆ ไม่อาจเพื่อชั่งได้).

ผิว่า รัตนะ คือเป็นบุคคลหาได้โดยยาก พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นบุรุษเพียงดังสีหะ ก็เป็นบุคคลที่หาได้โดยยาก มิใช่หรือ.

ผิว่า รัตนะ คือเครื่องใช้สอยของสัตว์อันไม่ทราม พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็เป็นผู้ไม่ทรามด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ มิใช่หรือ.

แต่ในที่นี้ ตรัสว่า ปัญญาเป็นรัตนะ เพราะอรรถว่าเป็นความปรากฏแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าอันบุคคลหาได้โดยยาก.

บทว่า บุญ ได้แก่ บุญเจตนา (เจตนาอันเป็นบุญ) เพราะว่าเจตนานั้นถึงความเป็นภาวะ มิใช่รูป อันใครๆ ไม่อาจเพื่อนำไปได้ ดังนี้แล.

จบอรรถกถาชราสูตรที่ ๑