พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๙. ปฐมปัชชุนนธีตุสูตร คาถาของธิดาท้าวปัชชุนนะ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 ส.ค. 2564
หมายเลข  36200
อ่าน  349

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 230

๙. ปฐมปัชชุนนธีตุสูตร

คาถาของธิดาท้าวปัชชุนนะ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 230

๙. ปฐมปัชชุนนธีตุสูตร

คาถาของธิดาท้าวปัชชุนนะ

[๑๓๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน กรุงเวสาลี ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว ธิดาของท้าวปัชชุนนะชื่อโกกนทา มีวรรณะงาม ยังป่ามหาวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นแล้วจึงถวายอภิวาท แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

[๑๓๒] ธิดาของท้าวปัชชุนนะ ชื่อโกกนทา ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคาถาทั้งหลายนี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

หม่อมฉันชื่อว่าโกกนทา เป็นธิดาของท้าวปัชชุนนะ ย่อมไหว้เฉพาะพระสัมพุทธเจ้าผู้เลิศกว่าสัตว์ ผู้เสด็จอยู่ในป่ากรุงเวสาลี สุนทรพจน์ว่า ธรรมอันพระสัมพุทธเจ้า ผู้มีพระปัญญาจักษุ ตามตรัสรู้แล้วดังนี้ หม่อมฉันได้ยินแล้วในกาลก่อน แท้จริง หม่อมฉันนั้น เมื่อพระสุคตผู้เป็นมุนีทรงแสดงอยู่ ย่อมรู้ประจักษ์ในกาลนี้ ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีปัญญาทราม ติเตียนธรรมอันประเสริฐเที่ยวไปอยู่ ชนเหล่านั้น ย่อมเข้าถึงโรรุว-

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 231

นรกอันร้ายกาจ ประสบทุกข์ตลอดกาลนาน ส่วนชนทั้งหลายเหล่าใดแล ประกอบด้วยความอดทนและความสงบในธรรมอันประเสริฐ ชนทั้งหลายเหล่านั้น ละร่างกายอันเป็นของมนุษย์ แล้วจักยังหมู่เทวดาให้บริบูรณ์.

อรรถกถาปฐมปัชชุนนธีตุสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในปฐมปัชชุนนธีตุสูตรที่ ๙ ต่อไป :-

บทว่า ปชฺชุนฺนสฺส ธีตา แปลว่า ธิดาของท้าวปัชชุนนะ อธิบายว่า ธิดาของท้าวจาตุมหาราชิกาผู้เป็นเทวราชของวัสสวลาหก ชื่อว่า ท้าวปัชชุนนะ.

บทว่า อภิวนฺเท แปลว่า ย่อมไหว้ อธิบายว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า หม่อมฉันย่อมไหว้พระยุคลบาทของพระองค์.

บทว่า จกฺขุมตา แปลว่า ผู้มีจักษุ อธิบายว่า เทพธิดากล่าวว่า สุนทรพจน์ว่า ธรรมอันพระตถาคตผู้มีจักษุด้วยจักษุ ๕ (๑) ตามตรัสรู้แล้ว หม่อมฉันได้ยินแล้วในสำนักแห่งชนเหล่าอื่นอย่างเดียวเท่านั้น.

บทว่า สาหํทานิ ตัดบทเป็น สา อหํ อิทานิ แปลว่า หม่อมฉันนั้น... ในกาลบัดนี้.

บทว่า สกฺขิ ชานามิ แปลว่า ย่อมรู้ประจักษ์ คือว่า ย่อมรู้ประจักษ์ ด้วยสามารถแห่งการแทงตลอด.

บทว่า วิครหนฺตา แปลว่า ติเตียน คือได้แก่ ติเตียนอย่างนี้ว่า ธรรมนี้มีบทแห่งอักขระและพยัญชนะอันเลว หรือว่า ธรรมนี้ไม่เป็นนิยยานิกะ.

บทว่า โรรุวํ


(๑) จักษุ ๕ คือ มังสจักษุ, ทิพยจักษุ, ปัญญาจักษุ, พุทธจักษุ, และ สมันตจักษุ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 232

แปลว่า โรรุวนรก อธิบายว่า โรรุวนรก มี ๒ คือ ธูมโรรุวนรก และชาลโรรุวนรก.

ในนรก ๒ นั้น ธูมโรรุวนรกมีอยู่ส่วนหนึ่ง ก็คำว่า ชาลโรรุวนรกนั้น เป็นชื่อของอเวจีมหานรก.

เพราะว่า ในโรรุวนรกนั้น เมื่อไฟโพลงอยู่ๆ สัตว์ทั้งหลาย ย่อมร้องบ่อยๆ เพราะฉะนั้น นรกนั้น ท่านจึงเรียกว่า โรรุวะ ดังนี้.

บทว่า โฆรํ แปลว่า ร้ายกาจ ได้แก่ ทารุณ.

บทว่า ขนฺติยา อุปสเมน อุเปตา แปลว่า ผู้ประกอบด้วยความอดทนและความสงบ อธิบายว่า ครั้นชอบใจแล้ว ครั้นอดทนแล้ว จึงชื่อว่าประกอบแล้วด้วยขันติเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวและความสงบจากกิเลสมีราคะ เป็นต้น ดังนี้แล.

จบอรรถกถาปฐมปัชชุนนธีตุสูตรที่ ๙