พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. มหัทธนสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 ส.ค. 2564
หมายเลข  36189
อ่าน  345

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 143

๘. มหัทธนสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 143

๘. มหัทธนสูตร

[๗๒] เทวดากล่าวว่า

กษัตริย์ทั้งหลายมีทรัพย์มาก มีสมบัติมาก ทั้งมีแว่นแคว้น ไม่รู้จักพอในกามทั้งหลาย ย่อมแข็งขันซึ่งกันและกัน เมื่อกษัตริย์ทั้งหลายนั้นมัวขวนขวาย ลอยไปตามกระแสแห่งภพ บุคคลพวกไหนไม่มีความขวนขวาย ละความโกรธและความทะเยอทะยานเสียแล้วในโลก.

[๗๓] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

บุคคลทั้งหลาย ละเรือน ละบุตร ละปศุสัตว์ที่รัก บวชแล้ว กำจัดราคะ โทสะ และอวิชชาเสียแล้ว เป็นผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว เป็นผู้ไกลจากกิเลส บุคคลพวกนั้นเป็นผู้ไม่ขวนขวายในโลก.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 144

อรรถกถามหัทธนสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในมหัทธนสูตรที่ ๘ ต่อไป :-

บุคคลชื่อว่า มีทรัพย์มาก เพราะอรรถว่า ทรัพย์ของเขาอันเป็นสาระมีแก้วมุกดาเป็นต้นมีมาก. บุคคลมีโภคะมาก (สมบัติมาก) เพราะอรรถว่าเขามีมหาโภคะอันเป็นภาชนะที่ทำด้วยทองและเงินเป็นต้นมาก.

บทว่า อญฺญมญฺาภิคิชฺฌนฺติ แปลว่า ย่อมต้องการ ของกันและกัน คือ ย่อมปรารถนา ย่อมริษยาของกันและกัน.

บทว่า อนลงฺกตา แปลว่า ไม่รู้จักพอคือไม่รู้จักอิ่ม เกิดความอยากไม่สิ้นสุด.

บทว่า อุสฺสุกฺกชาเตสุ แปลว่า มีความขวนขวาย คือ พยายามเพื่อต้องการสิ่งที่ชอบใจทั้งหลายอันมีรูป เป็นต้นที่ยังไม่เกิดขึ้น ให้เกิดขึ้นในบรรดาสิ่งที่ชอบใจซึ่งมีลักษณะต่างๆ เพื่อต้องการเสวยสิ่งที่เกิดขึ้น.

บทว่า ภวโสตานุสาริสุ แปลว่า ลอยไปตามกระแสแห่งภพ ได้แก่ แล่นไป ตามกระแสแห่งวัฏฏะ.

บทว่า อนุสฺสุกา แปลว่า ไม่มีความขวนขวาย ได้แก่ เพราะไม่มีสิ่งเบียดเบียน.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

บุคคลทั้งหลายละเรือน ละบุตร ละปศุสัตว์ที่รัก บวชแล้วกำจัดราคะโทสะและอวิชชาเสียแล้ว เป็นผู้มีอาสวะสิ้นแล้วเป็นผู้ไกลจากกิเลส บุคคลพวกนั้น เป็นผู้ไม่ขวนขวายในโลก.

บทว่า อคารํ แปลว่า เรือน ได้แก่ บ้านพร้อมทั้งมาตุคาม.

บทว่า วิราชิยา แปลว่า กำจัดแล้ว ได้แก่ ทำลายแล้ว.

คำที่เหลือง่ายทั้งนั้น.

จบอรรถกถามหัทธนสูตรที่ ๘