พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. ปัชโชตสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 ส.ค. 2564
หมายเลข  36187
อ่าน  351

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 139

๖. ปัชโชตสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 139

๖. ปัชโชตสูตร

[๖๘] เทวดากล่าวว่า

โลกย่อมรุ่งเรืองเพราะแสงสว่างทั้งหลายใด แสงสว่างทั้งหลายนั้นย่อมมีอยู่เท่าไรในโลก ข้าพระองค์ทั้งหลายมาเพื่อจะทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้า ไฉนจะรู้จักแสงสว่างที่ทูลถามนั้น.

[๖๙] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

แสงสว่างทั้งหลายในโลกมีอยู่ ๔ อย่าง แสงสว่างที่ ๕ มิได้มีในโลกนี้ ดวงอาทิตย์สว่างในกลางวัน ดวงจันทร์สว่างในกลางคืน อนึ่ง ไฟย่อมรุ่งเรืองในกลางวันและกลางคืนทุกหนแห่ง พระสัมพุทธเจ้าประเสริฐกว่าแสงสว่างทั้งหลาย แสงสว่างของพระสัมพุทธเจ้า เป็นแสงสว่างอย่างเยี่ยม.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 140

อรรถกถาปัชโชตสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในปัชโชตสูตรที่ ๖ ต่อไป :-

บทว่า ปุฏฺํ แก้เป็น ปุจฺฉิตํ แปลว่า เพื่อจะทูลถาม.

บทว่า กถํ ชาเนมุ แก้เป็น กถํ ชาเนยฺยาม แปลว่า ไฉนข้าพระองค์จักทราบ.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า

แสงสว่างทั้งหลายในโลกมีอยู่ ๔ อย่าง แสงสว่างที่ ๕ มิได้มีในโลกนี้ ดวงอาทิตย์สว่างในกลางวัน ดวงจันทร์สว่างในกลางคืน อนึ่ง ไฟย่อมรุ่งเรืองในกลางวันและกลางคืนทุกหนแห่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐกว่าแสงสว่างทั้งหลาย แสงสว่างของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแสงสว่างอย่างเยี่ยม.

บทว่า ทิวารตฺติํ แปลว่า ในกลางวันและกลางคืน.

บทว่า ตตฺถ ตตฺถ แปลว่า ทุกหนแห่ง คือ สว่างไสวในที่นั้นๆ นั่นแหละ.

บทว่า เอสา อาภา แปลว่า แสงสว่างของพระพุทธเจ้านี้.

ถามว่า แสงสว่างของพระพุทธเจ้านี้ เป็นไฉน.

ตอบว่า แสงสว่างแม้ทั้งปวงเหล่านี้ คือ แสงสว่างคือฌานก็ตาม แสงสว่างคือปีติก็ตาม แสงสว่างคือปสาทะก็ตาม แสงสว่างคือธรรมกถาก็ตาม จงยกไว้ แสงสว่างอันเกิดขึ้นเพราะความปรากฏแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายชื่อว่า แสงสว่างแห่งพระพุทธเจ้า แสงสว่างนี้เท่านั้นยอดเยี่ยมประเสริฐสูงสุดกว่าแสงสว่างทั้งหมด ไม่มีแสงสว่างอื่นเทียบได้ ดังนี้แล.

จบอรรถกถาปัชโชตสูตรที่ ๖