พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. อรัญญสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 ส.ค. 2564
หมายเลข  36171
อ่าน  473

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 66

๑๐. อรัญญสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 66

๑๐. อรัญญสูตร

[๒๑] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคาถาว่า

วรรณะของภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ในป่า ฉันภัตอยู่หนเดียว เป็นสัตบุรุษผู้ประพฤติธรรมอันประเสริฐ ย่อมผ่องใสด้วยเหตุอะไร.

[๒๒] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า

ภิกษุทั้งหลายไม่เศร้าโศกถึงปัจจัยที่ล่วงแล้ว ไม่ปรารถนาปัจจัยที่ยังมาไม่ถึง เลี้ยงตนด้วยปัจจัยที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า วรรณะ (ของภิกษุทั้งหลายนั้น) ย่อมผ่องใสด้วยเหตุนั้น เพราะความปรารถนาถึงปัจจัยที่ยังไม่มาถึง และความโศกถึงปัจจัยที่ล่วงแล้ว พวกพาลภิกษุจึงซูบซีดเหมือนต้นอ้อสดที่ถูกถอนเสียแล้ว ฉะนั้น

จบ นฬวรรคที่ ๑

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 67

อรรถกถาอรัญญสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๑๐ ต่อไป :-

บทว่า สนฺตานํ ได้แก่ ผู้มีกิเลสอันสงบระงับแล้ว อีกอย่างหนึ่งได้แก่บัณฑิต.

แม้บัณฑิตท่านก็เรียกว่า สัตบุรุษ เช่นในคำมีอาทิว่า สนฺโตหเว สพฺภิ ปเวทยนฺติ ทูเร สนฺโต ปกาเสนฺติ ดังนี้ก็มี.

บทว่า พฺรหฺมจารินํ แปลว่า ผู้ประพฤติธรรมอันประเสริฐ คือ ผู้อยู่ประพฤติมรรคพรหมจรรย์.

หลายบทว่า เกน วณฺโณ ปสีทติ ความว่า เทวดาทูลถามว่าผิวพรรณของภิกษุผู้อยู่ป่า ย่อมผ่องใส ด้วยเหตุอะไร.

ถามว่า ก็เพราะเหตุไรเทวดานี้จึงทูลถามอย่างนี้.

ตอบว่า ได้ยินว่า เทวดานี้เป็นภุมมเทวดา อาศัยอยู่ในไพรสณฑ์ เห็นภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ป่ากลับจากบิณฑบาตหลังภัตแล้วเข้าไปสู่ป่า ถือเอาลักษณกรรมฐาน (กรรมฐานตามปกติวิปัสสนา) ในที่เป็นที่พักในเวลากลางคืน และที่เป็นที่พักในเวลากลางวันเหล่านั้น นั่งลงแล้ว.

ก็เมื่อภิกษุเหล่านั้นนั่งด้วยกรรมฐานอย่างนี้แล้ว เอกัคคตาจิตซึ่งเป็นเครื่องชำระของท่านก็เกิดขึ้น. ลำดับนั้น ความสืบต่อแห่งวิสภาคะก็เข้าไปสงบระงับ. ความสืบต่อแห่งสภาคะหยั่งลงแล้ว จิตย่อมผ่องใส เมื่อจิตผ่องใสแล้ว โลหิตก็ผ่องใส. อุปาทารูปทั้งหลาย ซึ่งมีจิตเป็นสมุฏฐาน ย่อมบริสุทธิ์. วรรณะแห่งหน้า ย่อมเป็นราวกะสีแห่งผลตาลสุกที่หลุดจากขั้วฉะนั้น.

เทวดานั้น ครั้นเห็นภิกษุเหล่านั้นแล้ว จึงดำริว่า ธรรมดาว่า สรีระวรรณะ (ผิวพรรณแห่งร่างกาย) นี้ ย่อมผ่องใสแก่บุคคลผู้ได้อยู่ซึ่งโภชนะทั้งหลายอันสมบูรณ์มีรสอันประณีต ผู้มีที่อยู่อาศัยเครื่องปกปิด ที่นั่งที่นอนมี

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 68

สัมผัสอันสบาย ผู้ได้ปราสาทต่างๆ มีปราสาท ๗ ชั้นเป็นต้น อันให้ความสุขทุกฤดูกาล และแก่ผู้ได้วัตถุทั้งหลาย มีระเบียบดอกไม้ของหอม และเครื่องลูบไล้ เป็นต้น แต่ภิกษุเหล่านี้เที่ยวบิณฑบาตฉันภัตปะปนกัน ย่อมสำเร็จการนอนบนเตียงน้อยทำด้วยใบไม้ต่างๆ หรือนอนบนแผ่นกระดาน หรือบนศิลา ย่อมอยู่ในที่ทั้งหลายมีโคนไม้ เป็นต้น หรือว่าที่กลางแจ้ง วรรณะของภิกษุเหล่านี้ ย่อมผ่องใส เพราะเหตุอะไรหนอแล ดังนี้ เพราะฉะนั้น จึงได้ทูลถามข้อความนั้นกะพระบรมศาสดา.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะตรัสถึงเหตุนั้นแก่เทวดา จึงตรัสพระคาถาที่ ๒.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อตีตํ ความว่า พระเจ้าธรรมิกราช พระนามโน้น ได้มีในกาลอันล่วงแล้ว. พระราชาพระองค์นั้นได้ถวายปัจจัยทั้งหลายอันประณีตๆ แก่พวกเรา. อุปัชฌาย์อาจารย์ของเราเป็นผู้มีลาภมาก ครั้งนั้น พวกเราฉันอาหารเห็นปานนี้ ห่มจีวรเห็นปานนี้ ภิกษุเหล่านี้ ย่อมไม่ตามเศร้าโศก ถึงปัจจัยที่ล่วงมาแล้ว เหมือนภิกษุผู้มีปัจจัยมากบางพวก อย่างนี้ด้วยประการฉะนี้.

สองบทว่า นปฺปชปฺปนฺติ นาคตํ อธิบายว่า พระเจ้าธรรมิกราชจักมีในอนาคต ชนบททั้งหลายจักแผ่ไป วัตถุทั้งหลายมีเนยใสเนยข้น เป็นต้น จักเกิดขึ้นมากมาย ผู้บอกกล่าวจักมีในที่นั้นๆ ว่า ขอท่านทั้งหลายจงเคี้ยวกินจงบริโภค เป็นต้น ในกาลนั้น พวกเราจักฉันอาหารเห็นปานนี้ จักห่มจีวรเห็นปานนี้ ภิกษุทั้งหลายเหล่านี้ ย่อมไม่ปรารถนาปัจจัยที่ยังมาไม่ถึงอย่างนี้ด้วยประการฉะนี้.

บทว่า ปจฺจุปฺปนฺเนน ความว่า ย่อมเลี้ยงตนเองด้วยปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งที่ได้ในขณะนั้น.

บทว่า เตน ได้แก่ ด้วยเหตุแม้ ๓ อย่างนั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นแสดงการถึงพร้อมแห่งวรรณะอย่างนี้แล้ว บัดนี้

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 69

เมื่อจะแสดงความพินาศแห่งวรรณะนั้นนั่นแหละ จึงตรัสพระคาถาในลำดับนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนาคตปฺปชปฺปาย แปลว่า เพราะปรารถนาปัจจัยที่ยังไม่มาถึง.

บทว่า เอเตน ได้แก่ ด้วยเหตุทั้ง ๒ นี้.

บทว่า นโฬว หริโต ลุโต อธิบายว่า พวกพาลภิกษุจักซูบซีด เหมือนต้นอ้อสดที่บุคคลถอนทิ้งที่แผ่นหินอันร้อน จักเหี่ยวแห้ง ฉะนั้นแล.

จบอรรถกถาอรัญญสูตร ที่ ๑๐

จบนฬวรรคที่ ๑

รวมพระสูตรในนฬวรรคที่ ๑

๑. โอฆตรณสูตร

๒. นิโมกขสูตร

๓. อุปเนยยสูตร

๔. อัจเจนติสูตร

๕. กติฉินทิสูตร

๖. ชาครสูตร

๗. อัปปฏิวิทิตสูตร

๘. สุสัมมัฏฐสูตร

๙. มานกามสูตร

๑๐. อรัญญสูตร พร้อมทั้งอรรถกถา.