พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. ลฑุกิโกปมสูตร พระอุทายี

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 ส.ค. 2564
หมายเลข  36071
อ่าน  572

[เล่มที่ 20] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 352

๖. ลฑุกิโกปมสูตร

พระอุทายี


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 20]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 352

๖. ลฑุกิโกปมสูตร

พระอุทายี

[๑๗๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้.

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในอังคุตตราปชนบท มีนิคมของชาวอังคุตตราปะชื่ออาปนะเป็นโคจรคาม ครั้งนั้น เวลาเช้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังอาปนนิคม ครั้นเสด็จเที่ยวบิณฑบาตในอาปนนิคมแล้ว เวลาปัจฉาภัตกลับจากบิณฑบาตแล้วเสด็จเข้าไปยังไพรสณฑ์แห่งหนึ่ง เพื่อประทับพักกลางวันที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่งเวลาเช้าวันนั้น แม้ท่านพระอุทายีก็นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังอาปนนิคม ครั้นเที่ยวบิณฑบาตในอาปนนิคมแล้ว เวลาปัจฉาภัตกลับจากบิณฑบาตแล้ว เข้าไปยังไพรสณฑ์นั้น เพื่อพักกลางวัน ครั้นถึงไพรสณฑ์นั้นแล้ว นั่งพักกลางวันที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง.

ครั้งนั้น เมื่อท่านพระอุทายีอยู่ในที่ลับ เร้นอยู่ เกิดความดําริแห่งจิตอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนําธรรมอันเป็นเหตุแห่งทุกข์เป็นอันมากของเราทั้งหลายออกไปได้หนอ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนําธรรมอันเป็นเหตุแห่งสุขเป็นอันมากเข้ามาให้แก่เราทั้งหลายหนอ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงนําอกุศลธรรมเป็นอันมากของเราทั้งหลายออกไปได้หนอ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงนํากุศลธรรมเป็นอันมากเข้ามาให้แก่เราทั้งหลายหนอ ลําดับนั้นเวลาเย็น ท่านพระอุทายีออกจากที่เร้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 353

[๑๗๖] ท่านพระอุทายีนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส เมื่อข้าพระองค์อยู่ในที่ลับ เร้นอยู่ ได้เกิดความดําริแห่งจิตอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนําธรรมอันเป็นเหตุแห่งทุกข์เป็นอันมากของเราทั้งหลายออกไปได้หนอ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนําธรรมอันเป็นเหตุแห่งสุขเป็นอันมากเข้ามาให้แก่เราทั้งหลายหนอ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนําอกุศลธรรมเป็นอันมากของเราทั้งหลายออกไปได้หนอ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนํากุศลธรรมเป็นอันมากเข้ามาให้แก่เราทั้งหลายหนอ.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเมื่อก่อน ข้าพระองค์เคยฉันได้ทั้งเวลาเย็นทั้งเวลาเช้า ทั้งเวลาวิกาลในกลางวัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ได้มีสมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือน เธอทั้งหลายจงละการฉันโภชนะในเวลาวิกาลในเวลากลางวันนั้นเสียเถิด ดังนี้ ข้าพระองค์นั้นมีความน้อยใจ มีความเสียใจ คฤหบดีทั้งหลายผู้มีศรัทธาจะให้ของควรเคี้ยวของควรบริโภคอันประณีต ในเวลาวิกาลในกลางวัน แก่เราทั้งหลาย แม้อันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสการละ แม้อันนั้นของเราทั้งหลายเสียแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายนั้น เมื่อเห็นกะความรัก ความเคารพ ความละอาย และความเกรงกลัว ในพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงละการฉันโภชนะในเวลาวิกาลในกลางวันนั้นเสีย ด้วยประการอย่างนี้.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายนั้นย่อมฉันในเวลาเย็น และเวลาเช้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ได้มีสมัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือน เธอทั้งหลายจงละเว้นการฉัน

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 354

โภชนะในเวลาวิกาลในราตรีนั้นเสียเถิด ดังนี้ ข้าพระองค์นั้นมีความน้อยใจ มีความเสียใจว่า ความที่ภัตทั้งหลายเป็นของปรุงประณีตกว่าอันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสการละอันนั้นของเราทั้งหลายเสียแล้ว พระสุคตตรัสการสละคืนอันนั้นของเราทั้งหลายเสียแล้ว.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว บุรุษคนใดได้ของสมควรจะแกงมาในกลางวัน จึงบอกภริยาอย่างนี้ว่า เอาเถิด จงเก็บสิ่งนี้ไว้ เราทั้งหมดเทียว จักบริโภคพร้อมกันในเวลาเย็น อะไรๆ ทั้งหมดที่สําหรับจะปรุง ย่อมมีรสในเวลากลางคืน กลางวันมีรสน้อย.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายนั้นเห็นกะความรัก ความเคารพ ความละอาย และความเกรงกลัวในพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงพากันละการบริโภคโภชนะในเวลาวิกาลในราตรีนั้นเสีย ด้วยประการอย่างนี้.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว ภิกษุทั้งหลายเที่ยวไปบิณฑบาตในเวลามืดค่ํา ย่อมเข้าไปในบ่อน้ำครําบ้าง ลงไปในหลุมโสโครกบ้าง บุกเข้าไปยังป่าหนามบ้าง เหยียบขึ้นไปบนแม่โคกําลังหลับบ้าง พบกับโจรผู้ทําโจรกรรมแล้วบ้าง ยังไม่ได้ทําโจรกรรมบ้าง มาตุคามย่อมชักชวนภิกษุเหล่านั้นด้วยอสัทธรรมบ้าง.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว ข้าพระองค์เที่ยวบิณฑบาตในเวลามืดค่ํา หญิงคนหนึ่งล้างภาชนะอยู่ ได้เห็นข้าพระองค์โดยแสงฟ้าแลบแล้วตกใจกลัวร้องเสียงดังว่า ความไม่เจริญได้มีแก่เราแล้ว ปีศาจจะมากินเราหนอ. เมื่อหญิงนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ได้พูดกะหญิงนั้นว่าไม่ใช่ปีศาจดอกน้องหญิง เป็นภิกษุยืนเพื่อบิณฑบาต ดังนี้ หญิงนั้นกล่าวว่า บิดาของภิกษุตายเสียแล้ว มารดาของภิกษุตายเสียแล้ว ดูก่อนภิกษุ ท่านเอามีดสําหรับเชือดโคที่คมเชือดท้องเสียยังจะดีกว่า การที่ท่านเที่ยวบิณฑบาต

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 355

ในเวลาค่ํามืดเพราะเหตุแห่งท้องเช่นนั้น ไม่ดีเลย ดังนี้.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ระลึกถึงเรื่องนั้นอยู่ มีความคิดอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนําธรรมอันเป็นเหตุแห่งทุกข์เป็นอันมากของเราทั้งหลายออกไปเสียได้หนอ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนําธรรมอันเป็นเหตุแห่งสุขเป็นอันมากเข้ามาให้แก่เราทั้งหลายหนอ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนําอกุศลธรรมเป็นอันมากของเราทั้งหลายออกไปเสียได้หนอ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนํากุศลธรรมเป็นอันมากเข้ามาให้แก่เราทั้งหลายหนอ.

อุปมาด้วยนางนกมูลไถ

[๑๗๗] ก็อย่างนั้นแลอุทายี โมฆบุรุษบางพวกในธรรมวินัยนี้ เมื่อเรากล่าวว่า จงละโทษสิ่งนี้เสียเถิด เขากลับกล่าวอย่างนี้ว่า ทําไมจะต้องว่ากล่าวเพราะเหตุแห่งโทษเพียงเล็กน้อยนี้เล่า พระสมณะนี้ช่างขัดเกลาหนักไป เขาจึงไม่ละโทษนั้นด้วย ไม่เข้าไปตั้งความยําเกรงในเราด้วย.

ดูก่อนอุทายี อนึ่ง โทษเพียงเล็กน้อยของภิกษุทั้งหลายผู้ใคร่ในสิกขานั้น ย่อมเป็นเครื่องผูกอันมีกําลัง มั่น แน่นแฟ้น ไม่เปือย เป็นเหมือนท่อนไม้ใหญ่.

ดูก่อนอุทายี เปรียบเหมือนนางนกมูลไถ ถ้าผูกไว้ด้วยเครื่องผูก คือ เถาวัลย์หัวด้วน ย่อมรอเวลาที่จะฆ่าหรือเวลาที่จะถูกมัดหรือเวลาตายในที่นั้นเอง ฉันใด ดูก่อนอุทายี ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เครื่องดัก คือ เถาวัลย์หัวด้วนสําหรับเขาใช้ดักนางนกมูลไถ ซึ่งมันรอเวลาที่จะถูกฆ่า หรือเวลาที่จะถูกมัด หรือเวลาตายนั้น เป็นเครื่องผูกไม่มีกําลัง บอบบาง เปือย ไม่มีแก่น ดังนี้ ผู้นั้นเมื่อกล่าว ชื่อว่าพึงกล่าวโดยชอบหรือหนอ.

ไม่ชอบ พระเจ้าข้า เครื่องดัก คือ เถาวัลย์หัวด้วนสําหรับเขาใช้ดักนางนกมูลไถ ซึ่งมันรอเวลาที่จะถูกฆ่า หรือเวลาที่จะถูกมัด หรือเวลาตายในที่

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 356

นั้นนั่นแล เป็นเครื่องผูกมีกําลัง มั่น แน่นแฟ้น ไม่เปือย เป็นเหมือนท่อนไม้ใหญ่ พระเจ้าข้า.

ดูก่อนอุทายี โมฆบุรุษบางพวกในธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้น เมื่อเรากล่าวว่าจงละโทษนี้เสียเถิด เขากลับกล่าวอย่างนี้ว่า ทําไมจะต้องว่ากล่าวเพราะเหตุแห่งโทษเพียงเล็กน้อยนี้เล่า พระสมณะนี้ช่างขัดเกลาหนักไป เขาจึงไม่ละโทษนั้นด้วย ไม่เข้าไปตั้งความยําเกรงในเราด้วย.

ดูก่อนอุทายี อนึ่ง โทษเพียงเล็กน้อยของภิกษุทั้งหลายผู้ใคร่ในสิกขานั้น เป็นเครื่องผูกมีกําลัง มั่น แน่นแฟ้น ไม่เปือย เป็นเหมือนท่อนไม้ใหญ่.

อุปมาด้วยช้างต้น

[๑๗๘] ดูก่อนอุทายี ส่วนกุลบุตรบางพวกในธรรมวินัยนี้ เมื่อเรากล่าวว่า จงละโทษนี้เสียเถิด เขากล่าวอย่างนี้ว่า ก็ทําไมจะต้องว่ากล่าวเพราะเหตุแห่งโทษเล็กน้อยเพียงที่ควรละนี้ ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสให้เราทั้งหลายละ ซึ่งพระสุคตตรัสให้เราทั้งหลายสละคืนเล่า เขาย่อมละโทษนั้นด้วย เข้าไปตั้งความยําเกรงในเราด้วย.

อนึ่ง ภิกษุทั้งหลายเหล่าใดผู้ใคร่ในสิกขา ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นละโทษนั้นแล้ว มีความขวนขวายน้อย มีขนตก เยียวยาชีวิตด้วยของที่ผู้อื่นให้ มีใจเป็นดุจมฤคอยู่ โทษเพียงเล็กน้อยของภิกษุเหล่านั้นย่อมเป็นเครื่องผูกไม่มีกําลัง บอบบาง เปือย ไม่มีแก่นสาร.

ดูก่อนอุทายี เปรียบเหมือนช้างต้น มีงาอันงอนงาม เป็นราชพาหนะอันประเสริฐ เคยเข้าสงคราม ควาญช้างผูกด้วยเชือกเป็นเครื่องผูกอันมั่น พอเอี้ยวกายไปหน่อยหนึ่งก็ทําเครื่องผูกนั้นให้ขาดหมด ทําลายหมด แล้วหลีกไปได้ตามปรารถนา ฉันใด ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ช้างต้นนั้น มีงาอันงอนงาม เป็นราชพาหนะอันประเสริฐเคยเข้าสงคราม ควาญช้างผูกเชือกเป็นเครื่องผูกอันมั่นเหล่าใด พอ

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 357

เอี้ยวกายไปหน่อยหนึ่ง ก็ทําเครื่องผูกเหล่านั้นให้ขาดหมด ทําลายหมด แล้วหลีกไปได้ตามปรารถนา เครื่องผูกที่เขาผูกช้างต้นนั้น เป็นเครื่องผูกมีกําลัง มั่น แน่นแฟ้น ไม่เปือย เป็นเหมือนท่อนไม้ใหญ่ ดังนี้ ผู้นั้นเมื่อกล่าว ชื่อว่าพึงกล่าวโดยชอบหรือหนอ.

ไม่ชอบ พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ช้างต้นนั้น มีงาอันงอนงามเป็นราชพาหนะอันประเสริฐ เคยเข้าสงคราม เขาผูกด้วยเชือกเป็นเครื่องผูกมั่นพอเอี้ยวกายไปหน่อยหนึ่ง ก็ทําเครื่องผูกเหล่านั้นให้ขาดหมด ทําลายหมดแล้วหลีกไปได้ตามความปรารถนา เครื่องผูกช้างต้น เป็นเครื่องผูกไม่มีกําลัง บอบบาง เปือย ไม่มีแก่นสาร พระเจ้าข้า.

ดูก่อนอุทายี กุลบุตรบางพวกในธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้น เมื่อเรากล่าวว่าจงละโทษนี้เสียเถิด เขากลับกล่าวอย่างนี้ว่า ทําไมจะต้องว่ากล่าวเพราะโทษเพียงเล็กน้อยที่ควรละนี้ ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสให้เราทั้งหลายละ ซึ่งพระสุคตตรัสให้เราทั้งหลายสละคืนด้วยเล่า ดังนี้ เขาละโทษนั้นด้วย เข้าไปตั้งความยําเกรงในเราด้วย.

อนึ่ง ภิกษุทั้งหลายเหล่าใดผู้ใคร่ในสิกขา ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นละโทษนั้นแล้วเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย มีขนตก เยียวยาชีวิตด้วยของที่ผู้อื่นให้ มีใจเป็นดุจมฤคอยู่ ดูก่อนอุทายี โทษเพียงเล็กน้อยที่ควรละของภิกษุเหล่านั้น เป็นเครื่องผูกไม่มีกําลัง เปือย ไม่มีแก่นสาร.

อุปมาด้วยคนจน

[๑๗๙] ดูก่อนอุทายี เปรียบเหมือนบุรุษคนจน ไม่มีอะไรเป็นของตนไม่ใช่คนมั่งคั่ง เขามีเรือนเล็กๆ หลังหนึ่ง มีเครื่องมุงบังและเครื่องผูกหลุดลุ่ยต้องคอยไล่กา มีรูปไม่งาม มีแคร่อันหนึ่ง หลุดลุ่ย มีรูปไม่งาม มีข้าวเปลือกและพืชสําหรับหว่านประจําปีหม้อหนึ่ง ไม่ใช่เป็นพันธุ์อย่างดี มี

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 358

ภรรยาคนหนึ่งไม่สวย เขาเห็นภิกษุผู้อยู่ในอาราม มีมือและเท้าล้างดีแล้ว ฉันโภชนะอันเจริญใจ นั่งอยู่ในที่อันร่มเย็น ประกอบในอธิจิต เขาพึงมีความดําริอย่างนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญ ความเป็นสมณะเป็นสุขหนอ ดูก่อนท่านผู้เจริญ ความเป็นสมณะไม่มีโรคหนอ เราควรจะปลงผมและหนวดแล้วนุ่งห่มผ้ากาสายะออกบวชเป็นบรรพชิตบ้างหนอ.

แต่เขาไม่อาจละเรือนเล็กหลังหนึ่งมีเครื่องมุงบังและเครื่องผูกอันหลุดลุ่ย ที่ต้องคอยไล่กา มีรูปไม่งาม มีแคร่อันหนึ่งที่หลุดลุ่ย ไม่งาม ละแคร่อันหนึ่งที่หลุดลุ่ย มีรูปไม่งาม ละข้าวเปลือกและพืชสําหรับหว่านประจําปีหม้อหนึ่ง ไม่ใช่พันธุ์อย่างดี และภรรยาคนหนึ่งไม่สวย แล้วปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกบวชเป็นบรรพชิตได้ฉันใด.

ดูก่อนอุทายี ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษนั้นถูกเขาผูกด้วยเครื่องผูกเหล่านั้น ไม่อาจละเรือนเล็กๆ หลังหนึ่ง ซึ่งมีเครื่องมุงบังและเครื่องผูกหลุดลุ่ย ที่ต้องคอยไล่กา มีรูปไม่งาม ละแคร่อันหนึ่งที่หลุดลุ่ย ไม่งาม ละข้าวเปลือกและพืชสําหรับหว่านประจําปีหม้อหนึ่ง ไม่ใช่พันธุ์อย่างดี ละภรรยาคนหนึ่ง ไม่สวย แล้วปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะออกบวชเป็นบรรพชิตได้ ก็เครื่องผูกของเขานั้นเป็นเครื่องผูกไม่มีกําลัง บอบบาง เปือย ไม่มีแก่นสาร ดังนี้ ผู้นั้นเมื่อกล่าว ชื่อว่า พึงกล่าวโดยชอบหรือหนอ.

ไม่ชอบ พระเจ้าข้า บุรุษนั้นถูกเขาผูกด้วยเครื่องผูกเหล่าใด แล้วไม่อาจละเรือนเล็กๆ หลังหนึ่ง มีเครื่องมุงบังและเครื่องผูกอันหลุดลุ่ย ที่ต้องคอยไล่กา มีรูปไม่งาม ละแคร่อันหนึ่งอันหลุดลุ่ย ไม่งาม ละข้าวเปลือกและพืชสําหรับหว่านประจําปีหม้อหนึ่ง ไม่ใช่พันธุ์อย่างดี ละภรรยาคนหนึ่ง ไม่สวย แล้วปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะออกบวชเป็นบรรพชิตได้ เครื่องผูกของเขานั้นเป็นเครื่องผูกมีกําลัง มั่น แน่นแฟ้น ไม่เปือย เป็นเหมือนท่อนไม้ใหญ่ พระเจ้าข้า.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 359

ดูก่อนอุทายี โมฆบุรุษบางพวกในธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อเรากล่าวว่า จงละโทษนี้เสียเถิด เขากลับกล่าวอย่างนี้ว่า ก็ทําไมจะต้องว่ากล่าวเพราะเหตุแห่งโทษเพียงเล็กน้อยนี้ด้วยเล่า พระสมณะนี้ช่างขัดเกลาหนักไป เขาไม่ละโทษนั้นด้วย ไม่เข้าไปตั้งความยําเกรงในเราด้วย.

ดูก่อนอุทายี อนึ่ง โทษเพียงเล็กน้อยของภิกษุทั้งหลายผู้ใคร่ในสิกขานั้น ย่อมเป็นเครื่องผูกมีกําลัง มั่น แน่นแฟ้น ไม่เปือย เป็นเหมือนท่อนไม้ใหญ่.

อุปมาด้วยคนมั่งมี

[๑๘๐] ดูก่อนอุทายี เปรียบเหมือนคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก สะสมทองหลายร้อยแท่ง สะสมข้าวเปลือก นา ที่ดิน ภรรยา ทาส ทาสี ไว้เป็นอันมาก เขาเห็นภิกษุผู้อยู่ในอาราม มีมือและเท้าล้างดีแล้ว ฉันโภชนะอันเจริญใจ นั่งอยู่ในที่อันร่มเย็น ประกอบในอธิจิต เขาพึงมีความดําริอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ความเป็นสมณะเป็นสุขหนอ ท่านผู้เจริญ ความเป็นสมณะไม่มีโรคหนอ เราควรจะปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะออกบวชเป็นบรรพชิตบ้างหนอ.

เขาอาจละทองหลายร้อยแท่ง ละข้าวเปลือก นา ที่ดิน ภรรยา ทาส ทาสี เป็นอันมาก แล้วปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกบวชเป็นบรรพชิตได้ ฉันใด ดูก่อนอุทายี ผู้ใดพึงกล่าวว่า เครื่องผูกที่เป็นเครื่องผูกคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดี ซึ่งเขาอาจละทองหลายร้อยแท่ง ละข้าวเปลือก นา ที่ดิน ภรรยา ทาส ทาสี เป็นอันมาก แล้วปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกบวชเป็นบรรพชิตนั้น เป็นเครื่องผูกมีกําลัง มั่น แน่นแฟ้น ไม่เปือย เป็นเหมือนท่อนไม้ใหญ่ ดังนี้ ผู้นั้นเมื่อกล่าว ชื่อว่าพึงกล่าวโดยชอบหรือหนอ.

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 360

ไม่ชอบ พระเจ้าข้า เครื่องผูกที่เป็นเครื่องผูกคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดี ซึ่งอาจละทองหลายร้อยแท่ง ละข้าวเปลือก นา ที่ดิน ภรรยา ทาส ทาสี เป็นอันมาก แล้วปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกบวชเป็นบรรพชิตนั้นเป็นเครื่องผูกไม่มีกําลัง บอบบาง เปือย ไม่มีแก่นสาร พระเจ้าข้า.

ดูก่อนอุทายี กุลบุตรบางพวกในธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อเรากล่าวว่า จงละโทษนี้เสียเถิด เขากลับกล่าวอย่างนี้ว่า ก็ทําไมจะต้องว่ากล่าวเพราะเหตุแห่งโทษเพียงเล็กน้อยซึ่งควรละนี้ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสให้เราทั้งหลายละ ที่พระสุคตตรัสให้เราทั้งหลายสละคืนด้วยเล่า กุลบุตรเหล่านั้นย่อมละโทษนั้นด้วย เข้าไปตั้งความยําเกรงในเราด้วย.

ภิกษุทั้งหลายเหล่าใดผู้ใคร่ในสิกขา ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นละโทษนั้นแล้ว เป็นผู้มีความขวนขวายน้อย มีขนตก เยียวยาชีวิตด้วยของที่ผู้อื่นให้ มีใจเป็นดุจมฤคอยู่ ดูก่อนอุทายี โทษเพียงเล็กน้อยของภิกษุเหล่านั้น เป็นเครื่องผูกไม่มีกําลัง บอบบาง เปือย ไม่มีแก่นสาร.

บุคคล ๔ จําพวก

[๑๘๑] ดูก่อนอุทายี บุคคล ๔ จําพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๔ จําพวกเป็นไฉน ดูก่อนอุทายี บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสละคืนอุปธิ แต่ความดําริที่แล่นไป อันประกอบด้วยอุปธิ ยังครอบงําผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสละคืนอุปธินั้นได้อยู่ ผู้นั้นยังรับเอาความดํารินั้นไว้ ไม่ละ ไม่บรรเทา ไม่ทําให้สิ้นสุด ไม่ให้ถึงความไม่มี เราเรียกบุคคลนี้แลว่า ผู้อันกิเลสประกอบไว้ ไม่ใช่ผู้อันกิเลสคลายแล้ว ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะความที่อินทรีย์เป็นของต่างกันในบุคคลนี้ เรารู้แล้ว.

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 361

ดูก่อนอุทายี ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสละคืนอุปธิ ความดําริที่แล่นไป อันประกอบด้วยอุปธิ ยังครอบงําผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสละคืนอุปธินั้นได้อยู่ แต่ผู้นั้นไม่รับเอาความดําริเหล่านั้นไว้ ละได้ บรรเทาได้ ทําให้สิ้นสุดได้ ให้ถึงความไม่มีได้ แม้บุคคลผู้นี้ เราก็กล่าวว่า ผู้อันกิเลสประกอบไว้ ไม่ใช่ผู้อันกิเลสคลายแล้ว ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะความที่อินทรีย์เป็นของต่างกันในบุคคลนี้ เรารู้แล้ว.

ดูก่อนอุทายี บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสละคืนอุปธิ ความดําริที่แล่นไป อันประกอบด้วยอุปธิ ยังครอบงําผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสละคืนอุปธินั้นได้อยู่ เพราะความหลงลืมแห่งสติในบางครั้งบางคราว ความดําริที่แล่นไป อันประกอบด้วยอุปธิ ยังครอบงําผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสละคืนอุปธินั้นได้อยู่ ความบังเกิดแห่งสติช้าไป ที่จริงเขาละบรรเทา ทําให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มี ซึ่งความดํารินั้นฉับพลัน.

ดูก่อนอุทายี เปรียบเหมือนบุรุษเอาหยาดน้ำสองหยาด หรือสามหยาด หยดลงในกะทะเหล็กอันร้อนอยู่ตลอดวัน หยาดน้ำตกลงช้าไป ความจริงหยาดน้ำถึงความสิ้นไปแห้งไปนั้นเร็วกว่า ฉันใด ดูก่อนอุทายี บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้น เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสละคืนอุปธิ ความดําริที่แล่นไปอันประกอบด้วยอุปธิ ยังครอบงําผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสละคืนอุปธินั้นได้อยู่ เพราะความหลงลืมแห่งสติในบางครั้งบางคราว ความบังเกิดแห่งสติช้าไป ที่จริงเขาละ บรรเทา ทําให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มี ซึ่งความดํารินั้นฉับพลัน ถึงบุคคลนี้เราก็กล่าวว่า ผู้อันกิเลสประกอบไว้ มิใช่ผู้อันกิเลสคลายแล้ว ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะความที่อินทรีย์เป็นของต่างกันในบุคคลนี้ เรารู้แล้ว.

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 362

ดูก่อนอุทายี ก็บุคคลบางคนในโลกนี้ รู้ว่าเบญจขันธ์อันชื่อว่าอุปธิ เป็นมูลแห่งทุกข์ ครั้นรู้ดังนี้แล้ว เป็นผู้ไม่มีอุปธิ แล้วน้อมจิตไปในนิพพาน เป็นที่สิ้นอุปธิ บุคคลนี้เรากล่าวว่า ผู้อันกิเลสคลายแล้ว มิใช่ผู้อันกิเลสประกอบไว้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะความที่อินทรีย์เป็นของต่างกันในบุคคลนี้ เรารู้แล้ว ดูก่อนอุทายี บุคคล ๔ จําพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก.

ว่าด้วยกามคุณ ๕

[๑๘๒] ดูก่อนอุทายี กามคุณห้าเหล่านี้ กามคุณห้าเป็นไฉน คือ รูปอันพึงรู้แจ้งด้วยจักษุที่สัตว์ปรารถนารักใคร่ชอบใจ เป็นสิ่งที่น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกําหนัด เสียงอันพึงรู้แจ้งด้วยโสตะ... กลิ่นอันพึงรู้แจ้งด้วยฆานะ... รสอันพึงรู้แจ้งด้วยชิวหา... โผฏฐัพพะอันพึงรู้แจ้งด้วยกาย ที่สัตว์ปรารถนารักใคร่ชอบใจ เป็นสิ่งน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกําหนัด กามคุณห้านี้แล.

ดูก่อนอุทายี ความสุขโสมนัสที่เกิดเพราะอาศัยกามคุณห้านี้ เรากล่าวว่ากามสุข ความสุขไม่สะอาด ความสุขของปุถุชน ไม่ใช่สุขของพระอริยะ อันบุคคลไม่ควรเสพ ไม่ควรให้เกิดมี ไม่ควรทําให้มาก ควรกลัวแต่สุขนั้น.

ฌาน ๔

[๑๘๓] ดูก่อนอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ มี

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 363

อุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขา เป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ฌานทั้งสี่นี้เรากล่าวว่า ความสุขเกิดแต่ความออกจากกาม ความสุขเกิดแต่ความสงัด ความสุขเกิดแต่ความสงบ ความสุขเกิดแต่ความสัมโพธิ อันบุคคลควรเสพ ควรให้เกิดมี ควรทําให้มาก ไม่ควรกลัวแต่สุขนั้น ดังนี้.

[๑๘๔] ดูก่อนอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ดูก่อนอุทายี ปฐมฌานเรากล่าวว่ายังหวั่นไหว ก็ในปฐมฌานนั้น ยังมีอะไรหวั่นไหว ข้อที่วิตกและวิจารยังไม่ดับในปฐมฌานนี้ เป็นความหวั่นไหวในปฐมฌานนั้น ดูก่อนอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ ดูก่อนอุทายี แม้ทุติยฌานนี้ เราก็กล่าวว่ายังหวั่นไหว ก็ในทุติยฌานนั้น ยังมีอะไรหวั่นไหว ข้อที่ปีติและสุขยังไม่ดับในทุติยฌานนี้ เป็นความหวั่นไหวในทุติยฌานนั้น ดูก่อนอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข.

ดูก่อนอุทายี แม้ตติยฌานนี้ เราก็กล่าวว่ายังหวั่นไหว ก็ในตติยฌานนั้นยังมีอะไรหวั่นไหว ข้อที่อุเบกขาและสุขยังไม่ดับในตติยฌานนี้ เป็นความหวั่นไหวในตติยฌานนั้น ดูก่อนอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุจตุตถฌาน

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 364

อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ จตุตถฌานนี้ เรากล่าวว่า ไม่หวั่นไหว.

การละรูปฌานและอรูปฌาน

[๑๘๕] ดูก่อนอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ปฐมฌานนี้ เรากล่าวว่า ไม่ควรทําความอาลัย เธอทั้งหลายจงละเสีย จงก้าวล่วงเสีย ก็อะไรเล่าเป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงปฐมฌานนั้น ดูก่อนอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ นี้เป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงปฐมฌานนั้น ดูก่อนอุทายี แม้ทุติยฌานนี้ เราก็กล่าวว่า ไม่ควรทําความอาลัย เธอทั้งหลายจงละเสีย จงก้าวล่วงเสีย ก็อะไรเล่าเป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงทุติยฌานนั้น.

ดูก่อนอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข นี้เป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงตติยฌานนั้น ดูก่อนอุทายี แม้ตติยฌานนี้เราก็กล่าวว่า ไม่ควรทําความอาลัย เธอทั้งหลายจงละเสีย จงก้าวล่วงเสีย ก็อะไรเล่าเป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงตติยฌานนั้น ดูก่อนอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ นี้เป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงตติยฌานนั้น.

ดูก่อนอุทายี แม้จตุตถฌานนี้เราก็กล่าวว่า ไม่ควรทําความอาลัย เธอทั้งหลายจงละเสีย จงก้าวล่วงเสีย ก็อะไรเล่าเป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงจตุตถ-

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 365

ฌานนั้น ดูก่อนอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุอากาสานัญจายตนฌาน ด้วยบริกรรมว่า อากาศไม่มีที่สุด เพราะล่วงรูปสัญญาได้โดยประการทั้งปวง เพราะดับปฏิฆสัญญาได้ เพราะไม่มนสิการนานัตตสัญญาอยู่ นี้เป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงจตุตถฌานนั้น.

ดูก่อนอุทายี แม้อากาสานัญจายตนฌานนั้น เราก็กล่าวว่า ไม่ควรทําความอาลัย เธอทั้งหลายจงละเสีย จงก้าวล่วงเสีย ก็อะไรเล่าเป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงอากาสานัญจายตนฌานนั้น ดูก่อนอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้บรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน ด้วยบริกรรมว่า วิญญาณไม่มีที่สุด เพราะล่วงอากาสานัญจายตนฌานได้ โดยประการทั้งปวงอยู่ นี้เป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงอากาสานัญจายตนฌานนั้น ดูก่อนอุทายี แม้วิญญาณัญจายตนฌานนี้ เราก็กล่าวว่า ไม่ควรทําความอาลัย เธอทั้งหลายจงละเสีย จงก้าวล่วงเสีย ก็อะไรเล่าเป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนฌานนั้น.

ดูก่อนอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุอากิญจัญญายตนฌาน ด้วยบริกรรมว่า อะไรๆ ก็ไม่มี เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนฌานได้โดยประการทั้งปวงอยู่ นี้เป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนฌานนั้น แม้อากิญจัญญายตนฌานนั้น เราก็กล่าวว่า ไม่ควรทําความอาลัย เธอทั้งหลายจงละเสีย จงก้าวล่วงเสีย ก็อะไรเล่าเป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงอากิญจัญญายตนฌานนั้น ดูก่อนอุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เพราะล่วงอากิญจัญญายตนฌานได้โดยประการทั้งปวงอยู่ นี้เป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงอากิญจัญญายตนฌานนั้น แม้เนวสัญญานาสัญญายตนฌานนี้ เราก็กล่าวว่า ไม่ควรทําความอาลัย เธอทั้งหลายจงละเสีย จงก้าวล่วงเสีย ก็อะไรเล่าเป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้น ดูก่อนอุทายี ที่ภิกษุใน

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 366

ธรรมวินัยนี้ บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานได้โดยประการทั้งปวงอยู่ นี้เป็นธรรมเครื่องก้าวล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้น เรากล่าวการละกระทั่งเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ด้วยประการฉะนี้แล ดูก่อนอุทายี เธอเห็นหรือหนอซึ่งสังโยชน์ละเอียดก็ดี หยาบก็ดีนั้นที่เรามิได้กล่าวถึงการละนั้น.

อุ. ไม่เห็นเลย พระเจ้าข้า.

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระสูตรนี้แล้ว ท่านพระอุทายียินดีชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้แล.

จบลฑุกิโกปมสูตรที่ ๖

๖. อรรถกถาลฏกิโกปมสูตร (๑)

ลฏุกิโกปมสูตร มีบทเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้.

ในบรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เยน โส วนสณฺโฑ เข้าไปยังไพรสณฑ์นั้น ความว่า พระมหาอุทายีเถระนี้ เข้าไปบิณฑบาตกับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วหลีกออกไปพร้อมกับพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น. เพราะฉะนั้นพึงทราบว่า พระมหาอุทายีเถระเข้าไปยังไพรสณฑ์ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าพึงเสด็จเข้าไป.

บทว่า อปหตฺตา คือ นําออกไป.

บทว่า อุปหตฺตา คือ นําเข้าไป.

บทว่า ปฏิสลฺลานา วุฏฺิโต ท่านพระมหาอุทายีเถระออกจากที่เร้น คือ ออกจากผลสมาบัติ.

บทว่า ยํ ภควา ในสมัยใดพระผู้มีพระภาคเจ้า.

บทว่า อิงฺฆ


(๑) บาลีว่า ลฑุกิโกปมสูตร

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 367

เป็นนิบาต ลงในความบังคับ.

บทว่า อฺถตฺตํ ความที่จิตเป็นอย่างอื่น.

เราไม่ได้โภชนะอันประณีตเห็นปานนี้ เพราะอาศัยพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น. จักยังชีวิตให้เป็นไปได้อย่างไร ด้วยประการฉะนี้ พึงทราบว่า เพราะอาศัยลาภ คือ โภชนะอันประณีต จึงได้เป็นอยู่ได้.

ด้วยบทว่า ภูตปุพฺพํ เรื่องเคยมีมาแล้วนี้ พระอุทายีเถระแสดงความที่โภชนะเป็นของประณีตในเวลากลางคืน.

บทว่า สูเปยฺยํ ของควรจะแกง ได้แก่ ปลา เนื้อและหน่อไม้เป็นต้น ควรนําไปแกง.

บทว่า สมคฺคา ภุฺชิสฺสาม เราจักบริโภคพร้อมกัน คือ บริโภคร่วมกัน.

บทว่า สงฺขติโย คือ ของเคี้ยวสําหรับจะปรุงบริโภค.

บทว่า สพฺพา ตา รตฺติํ คือ ของเคี้ยวสําหรับปรุงบริโภคทั้งหมดเหล่านั้น ย่อมมีรสในเวลากลางคืน. แต่กลางวันมีรสน้อยนิดหน่อย. เพราะกลางวันมนุษย์ทั้งหลายยังชีวิตให้เป็นไปด้วยข้าวยาคูและข้าวต้มเป็นต้น กลางคืนย่อมบริโภคตามส่วนที่ถึง ตามสติ ตามความประณีต.

ด้วยบทว่า ภูตปุพฺพํ นี่อีก ท่านพระอุทายีเถระแสดงถึงโทษในการบริโภคในกลางคืนและเวลาวิกาล.

ในบทเหล่านั้นบทว่า อนฺธการติมิสาย ได้แก่ ในเวลามืดมาก.

บทว่า มาณเวหิ ได้แก่ พวกโจร.

บทว่า กตกมฺเมหิ คือ ทําโจรกรรม.

ได้ยินว่าโจรเหล่านั้นทําโจรกรรมฆ่ามนุษย์แล้ว ถือเอาโลหิตในลําคอเป็นต้น เพื่อต้องการนํากรรมที่สําเร็จเพราะได้บวงสรวงเทวดาไว้เข้าไปแก้บน. โจรเหล่านั้นสําคัญว่า เมื่อมนุษย์อื่นถูกฆ่า ก็จักเกิดโกลาหล. ชื่อว่า ผู้แสวงหาบรรพชิตย่อมไม่มี จึงจับภิกษุทั้งหลายฆ่า. ท่านกล่าวบทนั้นหมายถึงความข้อนี้.

บทว่า อกตกมฺเมหิ ยังไม่ทําโจรกรรม คือ ประสงค์จะทําพลีกรรมก่อนเพื่อให้สําเร็จการงานในเวลามาจากดงเข้าสู่บ้าน.

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 368

บทว่า อสทฺธมฺเมน นิมนฺเตติ มาตุคามย่อมเชื้อเชิญด้วยอสัทธรรม คือ เชื้อเชิญด้วยเมถุนธรรมว่า ข้าแต่ภิกษุ ท่านจงมาเถิด. วันนี้ท่านจักฉันในที่นี้แหละ จักอยู่ในที่นี้ตลอดคืนหนึ่งแล้วเสวยสมบัติ พรุ่งนี้จึงค่อยไป.

ด้วยบทว่า ภูตปุพฺพํ นี้อีก ท่านพระอุทายีเถระกล่าวถึงเหตุที่เห็นด้วยตนเอง.

บทว่า วิชฺชนฺตริกาย โดยแสงฟ้าแลบ คือ โดยขณะที่สายฟ้าส่องแสง.

บทว่า วิสฺสรมกาสิ คือ ร้องเสียงดัง.

บทว่า อภุมฺเม ความว่า คําว่า ภู ได้แก่ ความเจริญ คําว่า อภู ได้แก่ ความเสื่อม. อธิบายว่า ความพินาศได้มีแก่เรา.

บทว่า ปิสาโจ วต มํ คือ ปีศาจจะมากินเรา.

พึงทราบความในบทนี้ว่า อาตุมารี มาตุมารี ดังต่อไปนี้.

บทว่า อาตุ ได้แก่ บิดา.

บทว่า มาตุ ได้แก่ มารดา.

ท่านอธิบายว่า บิดาหรือมารดาของภิกษุใดยังมีอยู่ มารดาบิดาเกิดความเอ็นดูภิกษุนั้นว่า เป็นบุตรของเรา แล้วให้ของเคี้ยวของฉันอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้นอนในที่แห่งหนึ่ง ภิกษุนั้นจะไม่เที่ยวบิณฑบาตในกลางคืนอย่างนี้เลย. แต่มารดาบิดาของท่านคงจะตายเสียแล้วท่านจึงเที่ยวไปอย่างนี้.

บทว่า เอเมวํ ปน ก็อย่างนั้นแล คือ โมฆบุรุษทั้งหลายไม่เห็นอานิสงส์ไรๆ อย่างนั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงติเตียนจึงตรัสว่า เอวมาหํสุ เขากลับมากล่าวโดยไม่มีเหตุอย่างนี้.

ในบทเหล่านั้นบทว่า อาหํสุ คือ ย่อมกล่าว.

บทว่า กิํ ปนิมสฺส คือ ทําไมจึงต้องว่ากล่าวเพราะเหตุแห่งโทษเพียงเล็กน้อยนี้เล่า. ควรทําเป็นดุจไม่เห็นไม่ได้ยินมิใช่หรือ.

บทว่า โอรมตฺตกสฺส คือ พอประมาณ.

บทว่า อธิสลฺเลขเตวายํ พระสมณะนี้ช่างขัดเกลาหนักไป คือ พระสมณะนี้ย่อมขัดเกลาเกินไป คือ ทําความพยายามหนักไป ดุจดื่มเนยข้น ดุจตัดสายก้านบัวด้วยเลื่อย.

บทว่า สิกฺขากามา ผู้ใคร่ในการศึกษา

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 369

คือ ผู้ใคร่การศึกษา ดุจพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นต้นฉะนั้น. ไม่เข้าไปตั้งความยําเกรงในท่านเหล่านั้น.

โมฆบุรุษเหล่านั้นมีความคิดอย่างนี้ว่าหากภิกษุเหล่านี้พึงกล่าวว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระองค์จงนําโทษเพียงเล็กน้อยออกไป. ทําไมพระศาสดาไม่ทรงนําออกไป.

อนึ่ง ครั้นภิกษุทั้งหลายไม่กล่าวอย่างนี้นั่งแวดล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมได้ความอุตสาหะอย่างยิ่งว่า เอวํ ภควา สาธุ ภควา สาธุ ภควา ปฺเปถ ภควา ความว่าข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า อย่างนี้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นความดี ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นความดี ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระองค์ทรงบัญญัติเถิด. เพราะฉะนั้น โมฆบุรุษทั้งหลายชื่อว่า ไม่เข้าไปตั้งความยําเกรงในภิกษุเหล่านั้น.

บทว่า เตสํ คือ แห่งโมฆบุรุษบางพวกเหล่านั้น.

บทว่า ตํ คือ ควรละโทษเพียงเล็กน้อยนั้น.

บทว่า ถูโล กฬิงฺคโร เหมือนท่อนไม้ใหญ่ คือ เหมือนไม้ใหญ่ผูกไว้ที่คอ.

บทว่า ลฏกิกา (๑) สกุณิกา คือ นางนกมูลไถ. นัยว่านางนกมูลไถนั้นร้อง ๑๐๐ ครั้ง ฟ้อน ๑๐๐ ครั้ง หาอาหารคราวเดียว. คนเลี้ยงโคเป็นต้นเห็นนางนกมูลไถนั้นบินจากอากาศยืนอยู่บนพื้นดินจึงเอาเถาวัลย์หัวด้วนผูกไว้เพื่อจะเล่นอย่างเลี้ยงลูกสัตว์. ท่านกล่าวอุปมานี้หมายถึงการผูกนั้น.

บทว่า อาคเมติ ย่อมรอ คือ ย่อมถึง.

บทว่า ตฺหิ ตสฺสา คือ การผูกด้วยเถาวัลย์หัวด้วนนั้น ชื่อว่าเป็นเครื่องผูกมัดมีกําลัง เพราะนางนกมูลไถมีร่างกายเล็กและมีกําลังน้อย เชือกใยกาบมะพร้าวก็ยังใหญ่ขาดได้ยาก.

บทว่า เตสํ ชื่อว่าเครื่องผูกมัดมีกําลังเพราะโมฆบุรุษมีศรัทธาอ่อนและเพราะมีปัญญาอ่อน แม้โทษเพียงวัตถุแห่งอาบัติทุกกฎ ก็เป็นของใหญ่ละได้ยาก ดุจวัตถุแห่งปาราชิกฉะนั้น.


(๑) บาลีเป็น ลฑุกิกา.

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 370

พึงทราบความในธรรมฝ่ายขาวดังต่อไปนี้.

บทว่า ปหาตพฺพสฺส พึงละ ความว่า มีข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ควรตรัสเพราะเหตุแห่งโทษเพียงเล็กน้อยที่ควรละนี้ ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสให้เราละ. อธิบายว่า แม้ทราบพระประสงค์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้แล้ว ก็ควรละมิใช่หรือ.

บทว่า อปฺโปสฺสุกฺกา มีความขวนขวายน้อย คือ ไม่มีความขวนขวายเลย.

บทว่า ปนฺนโลมา มีขนตก คือ ไม่มีขนชัน เพราะกลัวจะพึงละโทษเพียงเล็กน้อยนั้น.

บทว่า ปรทวุตฺตา คือ มีความเป็นอยู่ด้วยของผู้อื่นให้ อธิบายว่าเลี้ยงชีวิตด้วยของที่ได้จากผู้อื่น.

บทว่า มิคภูเตน เจตสา วิหรนฺติ มีใจเป็นดุจมฤคอยู่ คือ เป็นผู้ตั้งอยู่ในฝ่ายแห่งความไม่หวังอยู่.

จริงอยู่มฤคได้รับการประหารแล้วไม่คิดว่า เราจักไปยังที่อยู่ของมนุษย์แล้วจักได้ยาหรือน้ำมันใส่แผล ครั้นได้รับการประหารแล้วจึงเข้าไปยังป่าที่มิใช่บ้าน ทําที่ถูกประหารไว้เบื้องหลังแล้วนอน ครั้นสบายดีก็ลุกไป. มฤคทั้งหลายตั้งอยู่ในฝ่ายแห่งความไม่หวังอย่างนี้. ท่านกล่าวว่า มิคภูเตน เจตสา วิหรนฺติ มีใจเป็นดุจมฤคอยู่หมายถึงข้อนี้.

บทว่า ตฺหิ ตสฺส คือ การผูกด้วยเชือกนั้น ชื่อว่าเป็นเครื่องผูกบอบบาง เพราะพญาช้างนั้นมีกายใหญ่มีกําลังมาก จึงเป็นเครื่องผูกที่ขาดได้ง่าย ดุจเถาวัลย์หัวด้วนฉะนั้น.

บทว่า เตสํ ตํ คือ โทษเพียงเล็กน้อยของภิกษุเหล่านั้นเป็นโทษที่ละได้ง่าย เพราะกุลบุตรทั้งหลายมีศรัทธามากมีปัญญามาก แม้วัตถุแห่งปาราชิกอันเป็นของใหญ่ก็ละได้ง่าย ดุจเพียงวัตถุแห่งอาบัติทุกกฎฉะนั้น.

บทว่า ทลิทฺโท คนจน คือ เป็นผู้ประกอบด้วยความขัดสน.

บทว่า อสฺสโก คือ ไม่มีอะไรเป็นของตน.

บทว่า อนาฬฺหิโย คือ ไม่ใช่คนมั่งคั่ง.

บทว่า อคาริกํ มีเรือนหลังเล็ก.

บทว่า โอลุคฺควิลคฺคํ มีเครื่องมุงและเครื่องผูกหลุดลุ่ย คือ มีเครื่องมุงบังหลุดจากหลังคาลงมาเกี่ยวอยู่ที่ฝา

 
  ข้อความที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 371

หลุดจากฝาลงมากองที่พื้น.

บทว่า กากาติปายิํ ต้องคอยไล่กา คือ ในเวลานั่งข้างในด้วยคิดว่าจักบริโภคอะไรๆ ชื่อว่ากิจด้วยประตูไม่มีต่างหาก. แต่นั้นฝูงกาก็จะเข้าไปรุมล้อม แต่กากล้า ในเวลาหนีก็จะหนีออกไปซึ่งๆ หน้า.

บทว่า น ปรมรูปํ มีทรงไม่งาม คือ มีทรงไม่งามเหมือนเรือนของผู้มีบุญ.

บทว่า กโฬปิกา มีแคร่อันหนึ่ง.

บทว่า โอลุคฺควิลุคฺคา หลุดลุ่ย คือ จะพังมิพังแหล่.

บทว่า ธฺสมวาปกํ คือ ข้าวเปลือกและพืชสําหรับหว่าน.

ในบทนั้น ข้าวชื่อว่า ธฺํ พืชมีพืชน้ำเต้า พืชฟักเป็นต้นชื่อว่า สมวาปกํ.

บทว่า น ปรมรูปํ ไม่ใช่เป็นพันธุ์อย่างดี คือ พืชบริสุทธิ์มีพืชข้าวสาลีมีกลิ่นหอมเป็นต้น ไม่ใช่พันธุ์อย่างดีเหมือนของคนมีบุญทั้งหลาย.

บทว่า ชายิกา ภรรยา คือ ภรรยาขัดสน.

บทว่า น ปรมรูปา มีรูปไม่งาม คือ น่าเกลียดมีก้นห้อยเหมือนกระเช้า ดุจปีศาจท้องพลุ้ย.

บทว่า สามฺํ คือ ความเป็นสมณะ.

บทว่า โส วตสฺสํ โยหํ คือ เราควรจะปลงผมและหนวดออกบวช.

บทว่า โส น สกฺกุเณยฺย เขาไม่อาจ คือ แม้เขาคิดแล้วอย่างนี้ก็กลับไปเรือนไตร่ตรองว่า ชื่อว่า บรรพชา หนัก ยากที่จะทําได้ ยากที่จะเข้าถึงได้ แม้เที่ยวไปบิณฑบาตใน ๗ บ้านบ้าง ๘ บ้านบ้างก็ต้องกลับมาล้างบาตร เราไม่อาจเป็นอยู่อย่างนี้ได้จึงกลับมาอีก อยู่บ้านเราดีกว่า ทัพสัมภาระของหญ้าและเถาวัลย์ก็เก็บรวมทําผ้าไว้ได้. บรรพชาจะทําอะไรได้.

ทีนั้นเรือนหลังเล็กของเขานั้นก็ปรากฏดุจเวชยันตปราสาท. ต่อแต่นั้นเขาแลดูแคร่ของเขาแล้วคิดว่า เมื่อเราไปแล้วชนทั้งหลายจะไม่ซ่อมแคร่นี้จักทําเป็นเตาไฟ เราควรจะได้ไม้ไผ่ทําแคร่อีก. เราจักทําอะไรกับการบวช.

ทีนั้นแคร่ของเขานั้นปรากฏดุจเป็นที่นอนอันมีสิริ. จากนั้นเขาแลดูหม้อใส่ข้าวเปลือกแล้วคิดว่า เมื่อเราไปแล้ว หญิงแม่เรือนนี้จักบริโภคข้าวเปลือกนี้กับชายนั้น. เราควรกลับมาให้ความเป็นไปของชีวิตใหม่. เราจักทํา

 
  ข้อความที่ 21  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 372

อะไรกับการบวช.

ทีนั้น หม้อข้าวเปลือกของเขานั้นปรากฏดุจยุ้ง ๑,๒๕๐ หลัง จากนั้นเขาแลดูภรรยาแล้วคิดว่า เมื่อเราไปแล้ว คนเลี้ยงช้างก็ดี คนเลี้ยงม้าก็ดีคนใดคนหนึ่งจักเกี้ยวภรรยานี้. เราควรจะกลับมาได้หญิงหุงอาหารอีก. เราจักทําอะไรกับการบวช.

ทีนั้นภรรยาของเขานั้นปรากฏดุจเทวีรูปงาม. ท่านหมายถึงข้อนี้จึงกล่าวบทมีอาทิว่า โส น สกฺกุเณยฺย เขาไม่สามารถดังนี้.

บทว่า นิกฺขคณานํ คือ ทองร้อยแท่ง.

บทว่า จโย สะสม คือ ทําการสะสมสืบต่อกันมา.

บทว่า ธฺคณานํ คือ ข้าวเปลือกร้อยเกวียน.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงถึงอะไรในบทนี้ว่า จตฺตาโร เม อุทายิ ปุคฺคลา ดูก่อนอุทายี บุคคล ๔ จําพวกเหล่านี้. บุคคลเหล่านั้นละอุปธินั้นในภายหลัง. และบุคคลเหล่านั้นไม่ละอุปธินั้น เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงทั้งผู้ละและผู้ไม่ละด้วยสามารถเป็นหมวดหมู่. มิได้ทรงจําแนกเฉพาะตัว.

บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อทรงแสดงว่า บุคคลผู้ทิ้งอุปธิที่ยังละไม่ได้แล้ว กระทําให้เป็นอัพโพหาริก มีอยู่ ๔ จําพวกเหมือนบุคคลไปเพื่อต้องการทัพสัมภาระ (อุปกรณ์การสร้าง) จึงตัดต้นไม้ตามลําดับ แล้วกลับมาอีกคัดต้นที่คดทิ้ง ถือเอาแต่ไม้ที่สมควรจะพึงนําไปประกอบการงานได้เท่านั้น ฉะนั้น จึงทรงปรารภเทศนานี้.

บทว่า อุปธิปฺปหานาย เพื่อละอุปธิ ได้แก่ เพื่อละอุปธิเหล่านี้ คือ ขันธูปธิ กิเลสูปธิ อภิสังขารรูปธิ กามคุณูปธิ.

บทว่า อุปฺธิปฏิสํยุตฺตา อันประกอบด้วยอุปธิ คือ แล่นไปในอุปธิ.

ในบทว่า สรสงฺกปฺปา นี้มีความดังต่อไปนี้.

ชื่อว่า สรา เพราะอรรถว่า แล่นไป วิ่งไป. ชื่อว่า สงฺกปฺปา เพราะอรรถว่าดําริ. เอาความว่าความดําริที่แล่นไป. แม้ด้วยบททั้งสองนี้ ท่านกล่าวถึงวิตกนั่นเอง.

บทว่า

 
  ข้อความที่ 22  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 373

สมุทาจรนฺติ คือ ครอบงํา ประพฤติท่วมทับ.

บทว่า สํยุตฺโต คือ ประกอบด้วยกิเลสทั้งหลาย.

บทว่า อินฺทฺริยเวมตฺตตา คือ ความต่างแห่งอินทรีย์.

บทว่า กทาจิ กรหจิ บางครั้งบางคราว คือ ล่วงไปๆ ในเวลานานมาก.

บทว่า สติสมฺโมสา คือ เพราะความหลงลืมแห่งสติ.

บทว่า นิปาโต คือ ตกลงไปในกระทะเหล็ก.

ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ท่านแสดง ๓ หมวด คือ ยังละไม่ได้ ๑ ละ ๑ ละได้เร็ว ๑.

ใน ๓ หมวดนั้น ชน ๔ จําพวก ชื่อว่าละไม่ได้. ๔ จําพวก ชื่อว่าละ. ๔ จําพวก ชื่อว่าละได้เร็ว.

ในบุคคลเหล่านั้น ชน ๔ จําพวกเหล่านี้ คือ ปุถุชน ๑ พระโสดาบัน ๑ พระสกทาคามี ๑ พระอนาคามี ๑ ชื่อว่ายังละไม่ได้. ปุถุชนเป็นต้นยังละไม่ได้ จงยกไว้.

พระอนาคามียังละไม่ได้เป็นอย่างไร. เพราะพระอนาคามีแม้นั้นก็ยังยินดีว่า โอ สุข โอ สุข ตราบเท่าที่ยังมีความอยากได้ในภพของเทวดาอยู่. ฉะนั้นจึงชื่อว่ายังละไม่ได้.

ส่วนชน ๔ จําพวกเหล่านี้ชื่อว่าละได้. พระโสดาบันเป็นต้น ละได้ จงยกไว้ก่อน.

ปุถุชนละได้อย่างไร. เพราะปุถุชนผู้เจริญวิปัสสนาทําความสังเวชว่า เมื่อกิเลสเกิดขึ้นทันทีทันใด เพราะความหลงลืมแห่งสติ กิเลสเกิดขึ้นแล้วแก่ภิกษุเช่นเรา ดังนี้ จึงประคองความเพียรเจริญวิปัสสนา ถอนกิเลสด้วยมรรค. ปุถุชนนั้นชื่อว่าละได้ด้วยประการฉะนี้.

ชน ๔ จําพวกเหล่านั้น ชื่อว่าละได้โดยเร็ว. ท่านถือเอาตติยวาระในสูตรเหล่านี้ คือ ในสูตรนี้ ในมหาหัตถิปโทปมสูตร ในอินทริยภาวนาสูตรโดยแท้. แม้ปัญหาก็พึงทราบว่าท่านกล่าวไว้แล้วในทุติยวารนั่นแหละ.

เบญจขันธ์ ชื่อว่า อุปธิ ในบทนี้ว่า อุปธิ ทุกฺขสฺส มูลํ เบญจขันธ์อันชื่อว่าอุปธิเป็นมูลแห่งทุกข์. ครั้นรู้ว่าอุปธินั้นเป็นมูลแห่งทุกข์ดังนี้แล้ว เป็นผู้ไม่มี

 
  ข้อความที่ 23  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 374

อุปธิด้วยกิเลสูปธิ. อธิบายว่าไม่มีรกชัฏ ไม่มีตัณหา.

บทว่า อุปธิสงฺขเย วิมุตฺโต น้อมจิตไปในนิพพานอันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิ คือ น้อมจิตไปในนิพพาน อันเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหาจากอารมณ์.

พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นยังบุคคล ๔ ประเภทให้พิสดารอย่างนี้แล้ว บัดนี้เพื่อทรงแสดงว่าบุคคลใดละได้ บุคคลนั้นชื่อว่าละกิเลสประมาณเท่านี้ได้. บุคคลใดยังละไม่ได้ แม้บุคคลนั้นก็ชื่อว่ายังละกิเลสประมาณเท่านี้ไม่ได้ จึงตรัสบทมีอาทิว่า ปฺจ โข อิเม อุทายิ กามคุณา ดูก่อนอุทายี กามคุณ ๕ เหล่านี้แล.

ในบทเหล่านั้นบทว่า มิฬฺหสุขํ คือ ความสุขไม่สะอาด.

บทว่า อนริยสุขํ ไม่ใช่สุขของพระอริยะ คือ สุขอันพระอริยะไม่เสพ.

บทว่า ภายิตพฺพํ ควรกลัวแต่การได้รับความสุขนี้บ้าง แต่วิบากบ้าง.

บทว่า เนกฺขมฺมสุขํ คือ ความสุขอันเกิดแต่การออกจากกาม.

บทว่า ปวิเวกสุขํ ความสุขเกิดแต่ความสงัดจากหมู่บ้าง จากกิเลสบ้าง.

บทว่า อุปสมสุขํ ความสุขเกิดแต่ความสงบ คือ ความสุขเพื่อประโยชน์แก่ความสงบจากราคะเป็นต้น.

บทว่า สมฺโพธิสุขํ ความสุขเกิดแต่ความตรัสรู้พร้อม คือ ความสุขเพื่อประโยชน์แก่ความเกิดแห่งความตรัสรู้พร้อมกล่าว คือ มรรค.

บทว่า น ภายิตพฺพํ ไม่พึงกลัว คือ ไม่พึงกลัวแต่การได้สุขนี้บ้าง แต่วิบากบ้าง. ความสุขนี้ควรให้เกิดมี.

บทว่า อิฺชิตสฺมิํ วทามิ ปฐมฌานเรากล่าวว่ายังหวั่นไหว คือ เรากล่าวว่า หวั่นไหว ยุ่งยาก ดิ้นรน.

บทว่า กิฺจ ตตฺถ อิฺชิตสฺมิํ คือ ปฐมฌานนั้นยังมีอะไรหวั่นไหว.

บทว่า อิทํ ตตฺถ อิฺชิตสฺมิํ นี้เป็นความหวั่นไหวในปฐมฌานนั้น คือ วิตกวิจารยังไม่ดับ นี้เป็นความหวั่นไหวในปฐมฌานนั้น.

แม้ในทุติยฌานและตติยฌานก็มีนัยนี้เหมือนกัน.

บทว่า อเนฺชิตสฺมิํ วทามิ จตุตถฌานนี้เรากล่าวว่าไม่หวั่นไหว คือ จตุตถฌานนี้เรากล่าวว่าไม่หวั่นไหว ไม่ยุ่งยาก ไม่ดิ้นรน.

 
  ข้อความที่ 24  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 375

บทว่า อนลนฺติ วทามิ คือ เรากล่าวว่าไม่ควรทําความอาลัย.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ไม่ควรให้ความอาลัยในตัณหาเกิดขึ้นในฌานนี้. อีกอย่างหนึ่ง เรากล่าวว่าไม่ควรทําความตกลงใจว่า ไม่พอ ไม่มีที่สิ้นสุด เพียงเท่านี้จึงจะพอ.

บทว่า เนวสฺานาสฺายตนสฺสปิ คือ เรากล่าวการละสมาบัติอันสงบแล้วแม้เห็นปานนี้.

บทว่า อณุํ วา ถูลํ วา สังโยชน์ละเอียดก็ดี หยาบก็ดี ได้แก่ สังโยชน์เล็กก็ดี ใหญ่ก็ดี คือ มีโทษน้อยก็ดี มีโทษมากก็ดี.

บทที่เหลือในที่ทั้งปวงง่ายทั้งนั้น.

อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจบเทศนา ด้วยธรรมเป็นยอด คือ พระอรหัต ด้วยสามารถบุคคลที่ควรแนะนําได้ด้วยประการฉะนี้.

จบอรรถกถาลฏกิโกปมสูตรที่ ๖