พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. ภัททาลิสูตร คุณแห่งการฉันอาหารหนเดียว

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 ส.ค. 2564
หมายเลข  36070
อ่าน  594

[เล่มที่ 20] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 321

๕. ภัททาลิสูตร

คุณแห่งการฉันอาหารหนเดียว


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 20]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 321

๕. ภัททาลิสูตร

คุณแห่งการฉันอาหารหนเดียว

[๑๖๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้.

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นรับพระดํารัสพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว เมื่อเราฉันอาหารในเวลาภัตครั้งเดียว ย่อมรู้สึกคุณ คือ ความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กายเบา มีกําลัง และอยู่สําราญ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้เธอทั้งหลายจงมา จงฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว จักรู้สึกคุณคือความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคบางเบา กายเบา มีกําลัง และอยู่สําราญ.

พระภัททาลิฉันอาหารหนเดียวไม่ได้

[๑๖๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระภัททาลิได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่สามารถจะฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียวได้ เพราะเมื่อข้าพระองค์ฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว จะพึงมีความรําคาญ ความเดือดร้อน.

ดูก่อนภัททาลิ ถ้าอย่างนั้น เธอรับนิมนต์ ณ ที่ใดแล้ว พึงฉัน ณ ที่นั้นเสียส่วนหนึ่ง แล้วนําส่วนหนึ่งมาฉันอีกก็ได้ เมื่อเธอฉันได้ แม้อย่างนี้ ก็จักยังชีวิตให้เป็นไปได้.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 322

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่สามารถจะฉันแม้ด้วยอาการอย่างนั้นได้ เพราะเมื่อข้าพระองค์ฉันแม้ด้วยอาการอย่างนั้น จะพึงมีความรําคาญ ความเดือดร้อน ครั้งนั้นแล ท่านพระภัททาลิประกาศความไม่อุตสาหะขึ้นแล้ว ในเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ากําลังจะทรงบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อภิกษุสงฆ์สมาทานอยู่ซึ่งสิกขา ครั้งนั้นแล ท่านพระภัททาลิไม่ได้ให้ตนประสบพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้าตลอดไตรมาสนั้นทั้งหมด เหมือนภิกษุอื่นผู้ไม่ทําความบริบูรณ์ในสิกขาในพระศาสนาของพระศาสดาฉะนั้น.

พระภัททาลิขอขมาพระพุทธเจ้า

[๑๖๒] ก็สมัยนั้นแล ภิกษุมากด้วยกันช่วยกันทําจีวรกรรมสําหรับพระผู้มีพระภาคเจ้า ตั้งใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้ามีจีวรสําเร็จแล้ว จักเสด็จเที่ยวจาริกไปโดยล่วงไตรมาส ครั้งนั้น ท่านพระภัททาลิเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่อยู่ โดยปราศรัยกับภิกษุเหล่านั้น ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ภิกษุเหล่านั้นได้กล่าวว่า ดูก่อนภัททาลิผู้มีอายุ จีวรกรรมนี้แล ภิกษุทั้งหลายช่วยกันทําสําหรับพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยตั้งใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้ามีจีวรสําเร็จแล้ว จักเสด็จเที่ยวจาริกไปโดยล่วงไตรมาส ดูก่อนภัททาลิผู้มีอายุ เราขอเตือนท่าน ท่านจงมนสิการความผิดนี้ให้ดีเถิด ความกระทําที่ยากกว่าอย่าได้มีแก่ท่านในภายหลังเลย.

ท่านพระภัททาลิรับคําของภิกษุเหล่านั้น แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษได้ครอบงําข้าพระองค์ผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลงไม่ฉลาด ซึ่งได้ประกาศความไม่อุตสาหะขึ้นแล้ว ในเมื่อ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 323

พระผู้มีพระภาคเจ้ากําลังทรงบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อภิกษุสงฆ์สมาทานอยู่ซึ่งสิกขา ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงรับโทษของข้าพระองค์นั้น โดยความเป็นโทษ เพื่อความสํารวมต่อไปเถิด.

[๑๖๓] ดูก่อนภัททาลิ เราขอเตือน โทษได้ครอบงําเธอผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง ไม่ฉลาด ซึ่งได้ประกาศความไม่อุตสาหะแล้ว ในเมื่อเรากําลังจะบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อภิกษุสงฆ์สมาทานอยู่ซึ่งสิกขา ดูก่อนภัททาลิ แม้เหตุที่เธอต้องแทงตลอดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในพระนครสาวัตถี แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าจักทรงทราบเราว่า ภิกษุชื่อภัททาลิไม่ทําให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดาดังนี้ เหตุแม้นี้แล เธอก็มิได้แทงตลอดแล้ว.

ดูก่อนภัททาลิ เหตุที่เธอต้องแทงตลอดว่า ภิกษุมากด้วยกันเข้าจําพรรษาอยู่ในพระนครสาวัตถี แม้ภิกษุเหล่านั้นจักรู้เราว่า ภิกษุชื่อภัททาลิ ไม่ทําให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดาดังนี้ เหตุแม้นี้แล เธอก็มิได้แทงตลอดแล้ว.

ดูก่อนภัททาลิ เหตุที่เธอต้องแทงตลอดว่า ภิกษุณีมากด้วยกันเข้าจําพรรษาอยู่ในพระนครสาวัตถี แม้ภิกษุณีเหล่านั้นจักรู้เราว่า ภิกษุชื่อภัททาลิ ไม่ทําให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดาดังนี้ เหตุแม้นี้แล เธอก็มิได้แทงตลอดมาแล้ว.

ดูก่อนภัททาลิ เหตุที่เธอต้องแทงตลอดว่า อุบาสกมากด้วยกันอาศัยอยู่ในพระนครสาวัตถี แม้อุบาสกเหล่านั้นจักรู้เราว่า ภิกษุชื่อภัททาลิไม่ทําให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสนาดังนี้ เหตุแม้นี้แล เธอก็มิได้แทงตลอดแล้ว.

ดูก่อนภัททาลิ เหตุที่เธอต้องแทงตลอดว่า อุบาสิกามากด้วยกันอาศัยอยู่ในพระนครสาวัตถี แม้อุบาสิกาเหล่านั้นจักรู้เราว่า ภิกษุซึ่งภัททาลิไม่ทําให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดาดังนี้.

เหตุแม้นี้แล เธอก็มิได้แทงตลอดว่าสมณพราหมณ์ต่างลัทธิมากด้วยกันเข้าอยู่กาลฝนในพระนครสาวัตถี

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 324

แม้สมณพราหมณ์เหล่านั้นจักรู้เราว่า ภิกษุชื่อภัททาลิ สาวกของพระสมณโคดมเป็นพระเถระองค์หนึ่ง ไม่ทําให้บริบูรณ์ในสิกขา ในศาสนาของพระศาสดาดังนี้ เหตุแม้นี้แล เธอก็มิได้แทงตลอดแล้ว.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษได้ครอบงําข้าพระองค์ ผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง ไม่ฉลาด ซึ่งได้ประกาศความไม่อุตสาหะขึ้นแล้ว ในเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ากําลังทรงบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อภิกษุสงฆ์สมาทานอยู่ซึ่งสิกขา ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงรับโทษของข้าพระองค์นั้นโดยความเป็นโทษ เพื่อความสํารวมต่อไปเถิด.

[๑๖๔] ดูก่อนภัททาลิ เราขอเตือน โทษครอบงําเธอผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง ไม่ฉลาด ซึ่งได้ประกาศความอุตสาหะขึ้นแล้ว ในเมื่อเรากําลังจะบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อภิกษุสงฆ์กําลังสมาทานอยู่ซึ่งสิกขา ดูก่อนภัททาลิ เธอจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นอริยบุคคลชื่ออุภโตภาควิมุต เราพึงกล่าวกะภิกษุอย่างนี้ว่า มาเถิดภิกษุ เราจะก้าวไปในหล่มดังนี้ ภิกษุนั้นพึงก้าวไป หรือพึงน้อมกายไปด้วยอาการอื่น หรือพึงกล่าวปฏิเสธบ้างหรือ.

ไม่มีเลย พระเจ้าข้า.

ดูก่อนภัททาลิ เธอจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นอริยบุคคลชื่อปัญญาวิมุต เป็นอริยบุคคลชื่อกายสักขี เป็นอริยบุคคลชื่อทิฏฐิปัตตะ เป็นอริยบุคคลชื่อสัทธาวิมุต เป็นอริยบุคคลชื่อธรรมานุสารี เป็นอริยบุคคลชื่อสัทธานุสารี เราพึงกล่าวกะภิกษุอย่างนี้ว่า มาเถิดภิกษุ เราจะก้าวไปในหล่มดังนี้ ภิกษุนั้นพึงก้าวไป หรือพึงน้อมกายไปด้วยอาการอื่น หรือพึงกล่าวปฏิเสธบ้างหรือ.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 325

ไม่มีเลย พระเจ้าข้า.

ดูก่อนภัททาลิ เธอจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ในสมัยนั้น เธอเป็นพระอริยบุคคลชื่อว่าอุภโตภาควิมุต ปัญญาวิมุต กายสักขี ทิฏฐิปัตตะ สัทธาวิมุต ธรรมานุสารี หรือสัทธานุสารี บ้างหรือหนอ.

มิได้เป็นเลย พระเจ้าข้า.

ดูก่อนภัททาลิ ในสมัยนั้น เธอยังเป็นคนว่าง คนเปล่า คนผิดมิใช่หรือ.

เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษได้ครอบงําข้าพระองค์ผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง ไม่ฉลาด ซึ่งได้ประกาศความไม่อุตสาหะขึ้นแล้ว ในเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ากําลังทรงบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อภิกษุสงฆ์กําลังสมาทานอยู่ซึ่งสิกขา ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงรับโทษของข้าพระองค์นั้นโดยความเป็นโทษ เพื่อความสํารวมต่อไปเถิด.

[๑๖๕] ดูก่อนภัททาลิ เราขอเตือน โทษได้ครอบงําเธอผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง ไม่ฉลาด ซึ่งได้ประกาศความไม่อุตสาหะขึ้นแล้วบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อภิกษุสงฆ์กําลังสมาทานอยู่ซึ่งสิกขา แต่เพราะเธอเห็นโทษโดยความเป็นโทษ แล้วทําคืนตามธรรม เราจึงรับโทษของเธอนั้น ข้อที่บุคคลเห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้ว ทําคืนตามธรรม ถึงความสํารวมต่อไป นี้เป็นความเจริญในวินัยของพระอริยะ.

ผู้ไม่ทําให้บริบูรณ์ในสิกขา

[๑๖๖] ดูก่อนภัททาลิ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่ทําให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดา เธอมีความดําริอย่างนี้ว่า ถ้ากระไรเราพึงเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 326

ที่แจ้ง ลอมฟางเถิด บางทีเราพึงทําให้แจ้งซึ่งคุณวิเศษ คือ ความรู้ความเห็นของพระอริยะผู้สามารถยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ได้ดังนี้ เธอเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง เมื่อเธอหลีกออกอยู่ด้วยประการนั้น พระศาสดาก็ทรงติเตียนได้ เพื่อนพรหมจรรย์ผู้รู้ทั้งหลายใคร่ครวญแล้วก็ติเตียนได้ เทวดาก็ติเตียนได้ แม้ตนเองก็ติเตียนตนได้ เธออันพระศาสดาติเตียนบ้าง เพื่อนพรหมจรรย์ผู้รู้ทั้งหลายติเตียนบ้าง เทวดาติเตียนบ้าง ตนเองติเตียนตนบ้าง ก็ไม่ทําให้แจ้งซึ่งคุณวิเศษ คือ ความรู้ความเห็นของพระอริยะผู้สามารถ ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูก่อนภัททาลิ ข้อนั้นเป็นเพราะภิกษุไม่ทําให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดา.

ผู้ทําให้บริบูรณ์ในสิกขา

[๑๖๗] ดูก่อนภัททาลิ ส่วนภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้กระทําให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดา เธอมีความดําริอย่างนี้ว่า ถ้ากระไรเราพึงเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง บางทีเราพึงทําให้แจ้งซึ่งคุณวิเศษ คือความรู้ความเห็นของพระอริยะผู้สามารถ ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ได้ ดังนี้ เธอเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง เมื่อเธอหลีกออกอยู่ด้วยประการนั้น แม้พระศาสดาก็ไม่ทรงติเตียน แม้เพื่อนพรหมจรรย์ผู้รู้ทั้งหลายใคร่ครวญแล้วก็ไม่ติเตียน แม้เทวดาก็ไม่ติเตียน แม้ตนเองก็ติเตียนตนไม่ได้ เธอแม้อันพระศาสดาไม่ทรงติเตียน แม้เพื่อนพรหมจรรย์ผู้รู้ทั้งหลายไม่ติเตียน แม้เทวดาไม่ติเตียน แม้ตนเองติเตียน

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 327

ตนไม่ได้ ย่อมทําให้เจ้งชัดซึ่งคุณวิเศษ คือความรู้ความเห็นของพระอริยะผู้สามารถยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์.

ภิกษุนั้นสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน ศาสดาไม่ทรงติเตียน แม้เพื่อนพรหมจรรย์ผู้รู้ทั้งหลายไม่ติเตียน แม้เทวดาไม่ติเตียน แม้ตนเองติเตียนตนไม่ได้ ย่อมทําให้แจ้งชัดซึ่งคุณวิเศษคือความรู้ความเห็นของพระอริยะผู้สามารถยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์.

ภิกษุนั้นสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาณ มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูก่อนภัททาลิ ข้อนั้นเป็นเพราะภิกษุทําให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดา.

ดูก่อนภัททาลิ อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูก่อนภัททาลิ ข้อนั้นเป็นเพราะภิกษุทําให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดา.

ดูก่อนภัททาลิ อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูก่อนภัททาลิ ข้อนั้นเป็นเพราะภิกษุทําให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดา.

ดูก่อนภัททาลิ อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุขเพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูก่อนภัททาลิ ข้อนั้นเป็นเพราะภิกษุทําให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดา.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 328

ญาณ ๓

[๑๖๘] ภิกษุนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกําหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกําหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูก่อนภัททาลิ ข้อนั้นเป็นเพราะภิกษุทําให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดา.

ภิกษุนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย เธอเห็นหมู่สัตว์ที่กําลังจุติ กําลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียน

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 329

พระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทําด้วยอํานาจมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทําด้วยอํานาจสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ดังนี้ เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์กําลังจุติ กําลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมด้วยประการฉะนี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูก่อนภัททาลิ ข้อนั้นเป็นเพราะภิกษุทําให้บริบูรณ์ในสิกขาในพระศาสนาของพระศาสดา.

ภิกษุนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้น ครั้นเมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทําทําเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูก่อนภัททาลิ ข้อนั้นเป็นเพราะภิกษุทําให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดา.

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระภัททาลิได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัย สําหรับภิกษุทั้งหลายจะข่มแล้วข่มเล่าซึ่งภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้แล้วทําเป็นเหตุ ก็อะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัย สําหรับภิกษุทั้งหลายจะไม่ข่มแล้วข่มเล่าซึ่งภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้แล้วทําเป็นเหตุ.

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 330

การระงับอธิกรณ์

[๑๖๙] ดูก่อนภัททาลิ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ต้องอาบัติเนืองๆ เป็นผู้มากด้วยอาบัติ เธออันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ ก็ยังฝ่าฝืนประพฤติอย่างอื่นด้วยอาการอื่น นําเอาถ้อยคําในภายนอกมากลบเกลื่อน ทําความโกรธ ความขัดเคือง และความไม่อ่อนน้อม ให้ปรากฏ ไม่ประพฤติโดยชอบ ไม่ทําขนให้ตก ไม่ประพฤติถอนตนออก ไม่กล่าวว่า ข้าพเจ้าจะทําตามความพอใจของสงฆ์.

ดูก่อนภัททาลิ ในเหตุที่ภิกษุเป็นผู้ว่ายากนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงมีวาจาอย่างนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุนี้เป็นผู้ต้องอาบัติเนืองๆ เป็นผู้มากด้วยอาบัติ เธออันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ ก็ยังฝ่าฝืนประพฤติอย่างอื่นด้วยอาการอื่น นําเอาถ้อยคําในภายนอกมากลบเกลื่อน ทําความโกรธ ความขัดเคือง และความไม่อ่อนน้อมให้ปรากฏ ไม่ประพฤติโดยชอบ ไม่ทําขนให้ตก ไม่ประพฤติถอนตนออก ไม่กล่าวว่า ข้าพเจ้าจะทําตามความพอใจของสงฆ์ ดีละหนอ ขอท่านผู้มีอายุทั้งหลายจงพิจารณาโทษของภิกษุนี้ โดยประการที่อธิกรณ์นี้ไม่พึงระงับโดยเร็วฉะนั้นเถิด.

ด้วยประการอย่างนี้ ภิกษุทั้งหลายจึงพิจารณาโทษของภิกษุนั้น โดยประการที่อธิกรณ์นี้จะไม่ระงับโดยเร็วฉะนั้น.

ดูก่อนภัททาลิ ส่วนภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ต้องอาบัติเนืองๆ เป็นผู้มากด้วยอาบัติ เธออันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ ย่อมไม่ฝ่าฝืน ประพฤติอย่างอื่นด้วยอาการอื่น ไม่นําถ้อยคําในภายนอกมากลบเกลื่อน ไม่ทําความโกรธความขัดเคือง และความอ่อนน้อม ให้ปรากฏ ประพฤติชอบ ทําขนให้ตก ประพฤติถอนตนออก กล่าวว่า ข้าพเจ้าจะทําตามความพอใจของสงฆ์.

ดูก่อนภัททาลิ ในเหตุที่ภิกษุเป็นผู้ว่าง่ายนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงมีวาจาอย่าง

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 331

นี้ว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุนี้เป็นผู้ต้องอาบัติเนืองๆ เป็นผู้มากด้วยอาบัติ เธออันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ ย่อมไม่ประพฤติฝ่าฝืนอย่างอื่นด้วยอาการอื่น ไม่นําถ้อยคําในภายนอกมากลบเกลื่อน ไม่ทําความโกรธ ความขัดเคือง และความไม่อ่อนน้อม ให้ปรากฏ ประพฤติชอบ ทําขนให้ตก ประพฤติถอนตนออก กล่าวว่าข้าพเจ้าจะทําตามความพอใจของสงฆ์ ดีละหนอ ขอท่านผู้มีอายุทั้งหลาย จงพิจารณาโทษของภิกษุนี้ โดยประการที่อธิกรณ์นี้จะพึงระงับโดยเร็วฉะนั้นเถิด.

ด้วยประการอย่างนี้ ภิกษุทั้งหลายย่อมพิจารณาโทษของภิกษุนั้น โดยประการที่อธิกรณ์นี้จะระงับได้โดยเร็วฉะนั้น.

[๑๗๐] ดูก่อนภัททาลิ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ต้องอาบัติเป็นบางครั้ง ไม่มากด้วยอาบัติ เธออันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ ก็ยังฝ่าฝืน ประพฤติอย่างอื่นด้วยอาการอื่น นําเอาถ้อยคําในภายนอกมากลบเกลื่อน ทําความโกรธ ความขัดเคืองและความไม่อ่อนน้อม ให้ปรากฏ ไม่ประพฤติชอบ ไม่ทําขนให้ตก ไม่ประพฤติถอนตนออก ไม่กล่าวว่า ข้าพเจ้าจะทําตามความพอใจของสงฆ์.

ในเหตุที่ภิกษุเป็นผู้ว่ายากนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงมีวาจาอย่างนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุนี้ต้องอาบัติเป็นบางครั้ง ไม่มากด้วยอาบัติ เธออันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ ก็ยังฝ่าฝืนประพฤติอย่างอื่นด้วยอาการอื่น นําเอาถ้อยคําในภายนอกมากลบเกลื่อน ทําความโกรธ ความขัดเคือง และความไม่อ่อนน้อม ให้ปรากฏ ไม่ประพฤติโดยชอบ ไม่ทําขนให้ตก ไม่ประพฤติถอนตนออก ไม่กล่าวว่า ข้าพเจ้าจะทําตามความพอใจของสงฆ์ ดีละหนอ ขอท่านผู้มีอายุทั้งหลาย จงพิจารณาโทษของภิกษุนี้ โดยประการที่อธิกรณ์จะไม่พึงระงับโดยเร็วฉะนั้นเถิด.

ด้วยประการอย่างนี้ ภิกษุทั้งหลายจึงพิจารณาโทษของภิกษุนั้น โดยประการที่อธิกรณ์นี้จะไม่ระงับโดยเร็วฉะนั้น.

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 332

ดูก่อนภัททาลิ ส่วนภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ต้องอาบัติเป็นบางครั้ง ไม่มากด้วยอาบัติ เธออันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ ย่อมไม่ฝ่าฝืน ประพฤติอย่างอื่นด้วยอาการอย่างอื่น ไม่นําถ้อยคําในภายนอกมากลบเกลื่อน ไม่ทําความโกรธ ความขัดเคือง และความไม่อ่อนน้อม ให้ปรากฏ ประพฤติชอบ ทําขนให้ตก ประพฤติถอนตนออก กล่าวว่า ข้าพเจ้าจะทําตามความพอใจของสงฆ์.

ดูก่อนภัททาลิ ในเหตุที่ภิกษุเป็นผู้ว่าง่ายนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงมีวาจาอย่างนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุนี้ต้องอาบัติเป็นบางครั้ง ไม่มากด้วยอาบัติ เธออันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ ย่อมไม่ประพฤติฝ่าฝืนอย่างอื่นด้วยอาการอื่น ไม่นําถ้อยคําในภายนอกมากลบเกลื่อน ไม่ทําความโกรธ ความขัดเคือง และความไม่อ่อนน้อม ให้ปรากฏ ประพฤติชอบ ทําขนให้ตก ประพฤติถอนตนออก กล่าวว่า ข้าพเจ้าจะทําตามความพอใจของสงฆ์ ดีละหนอ ขอท่านผู้มีอายุทั้งหลายจงพิจารณาโทษของภิกษุนี้ โดยประการที่อธิกรณ์นี้พึงระงับได้โดยเร็วฉะนั้นเถิด.

ด้วยประการอย่างนี้ ภิกษุทั้งหลายจึงพิจารณาโทษของภิกษุนั้น โดยประการที่อธิกรณ์นี้จะระงับได้โดยเร็วฉะนั้น.

[๑๗๑] ดูก่อนภัททาลิ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ นําชีวิตไปด้วยศรัทธาพอประมาณ ด้วยความรักพอประมาณ ดูก่อนภัททาลิ ในเหตุที่ภิกษุเป็นผู้นําชีวิตไปด้วยศรัทธาพอประมาณ ด้วยความรักพอประมาณนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงมีวาจาอย่างนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุนี้นําชีวิตไปด้วยศรัทธาพอประมาณ ด้วยความรักพอประมาณ ถ้าเราทั้งหลายจักข่มแล้วข่มเล่าซึ่งภิกษุนี้แล้วให้ทําเหตุ ด้วยความตั้งใจว่า ศรัทธาพอประมาณ ความรักพอประมาณ ของเธอนั้น อย่าเสื่อมไปจากเธอเลย.

ดูก่อนภัททาลิ เปรียบเหมือนชนผู้เป็นมิตรอํามาตย์ญาติสายโลหิตของบุรุษผู้มีนัยน์ตาข้างเดียว พึงรักษา

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 333

นัยน์ตาข้างเดียวนั้นไว้ ด้วยความตั้งใจว่า นัยน์ตาข้างเดียวของเขานั้น อย่าได้เสื่อมไปจากเขาเลย ฉันใด ดูก่อนภัททาลิ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้น นําชีวิตไปด้วยความศรัทธาพอประมาณ ด้วยความรักพอประมาณ ในเหตุที่ภิกษุเป็นผู้นําชีวิตไปด้วยศรัทธาพอประมาณ.

ด้วยความรักพอประมาณนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงมีวาจาอย่างนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุนี้นําชีวิตไปด้วยศรัทธาพอประมาณ ด้วยความรักพอประมาณ ถ้าเราทั้งหลายจักข่มแล้วข่มเล่าซึ่งภิกษุนี้แล้วให้ทําเหตุ ด้วยความตั้งใจว่า ศรัทธาพอประมาณ ความรักพอประมาณ ของเธออย่าได้เสื่อมไปจากเธอเลย.

ดูก่อนภัททาลิ นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัย​ ให้ภิกษุทั้งหลายที่จะข่มแล้วข่มเล่าซึ่งภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้​ อนึ่ง​ นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัย​ ให้ภิกษุทั้งหลายไม่ข่มซึ่งภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัย ที่เมื่อก่อนได้มีสิกขาบทน้อยนักเทียว แต่ภิกษุดํารงอยู่ในอรหัตผลเป็นอันมาก และอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย ที่เดี๋ยวนี้ ได้มีสิกขาบทเป็นอันมาก แต่ภิกษุดํารงอยู่ในอรหัตผลน้อยนัก.

อาสวัฏฐานิยธรรม

[๑๗๒] ดูก่อนภัททาลิ ข้อนี้เป็นจริงอย่างนั้น เมื่อสัตว์ทั้งหลายกําลังเสื่อม พระสัทธรรมกําลังอันตรธาน สิกขาบทมีอยู่มากมาย แต่ภิกษุดํารงอยู่ในอรหัตผลน้อยนัก พระศาสดายังไม่ทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย ตราบเท่าที่อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่ายังไม่ปรากฏในสงฆ์ ในธรรมวินัยนี้.

ต่อเมื่อใด อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่าปรากฏขึ้นในสงฆ์ ในธรรมวินัยนี้ เมื่อนั้น พระศาสดาจึงทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อกําจัด

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 334

อาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้น.

อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่ายังไม่ปรากฏในสงฆ์ ในธรรมวินัยนี้ ตราบเท่าที่สงฆ์ยังไม่ถึงความเป็นหมู่ใหญ่ ต่อเมื่อใด สงฆ์ถึงความเป็นหมู่ใหญ่ เมื่อนั้น อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่าจึงจะปรากฏในสงฆ์ ในธรรมวินัยนี้ ครั้งนั้น พระศาสดาจึงทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อกําจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้น.

อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่ายังไม่ปรากฏในสงฆ์ ในธรรมวินัยนี้ ตราบเท่าที่สงฆ์ยังไม่ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยลาภ... ยังไม่ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยยศ... ยังไม่ถึงความเป็นพหูสูต... ยังไม่ถึงความเป็นรัตตัญู ต่อเมื่อใด สงฆ์ถึงความเป็นรัตตัญู เมื่อนั้น อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่าจึงปรากฏในสงฆ์ ในธรรมวินัยนี้ ครั้งนั้นพระศาสดาจึงทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อกําจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้น.

[๑๗๓] ดูก่อนภัททาลิ ณ สมัยที่เราแสดงธรรมปริยายเปรียบด้วยอาชาไนยหนุ่ม แก่เธอทั้งหลาย ณ สมัยนั้น เธอทั้งหลายได้มีอยู่น้อย เธอยังระลึกถึงธรรมปริยายนั้นได้อยู่หรือ.

ข้าพระองค์ระลึกถึงธรรมปริยายข้อนั้นไม่ได้ พระเจ้าข้า.

ดูก่อนภัททาลิ ในการระลึกไม่ได้นั้น เธออาศัยอะไรเป็นเหตุเล่า.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะข้าพระองค์นั้นมิได้ทําให้บริสุทธิ์ในสิกขา ในศาสนาของพระศาสดา เป็นเวลานานเป็นแน่ พระเจ้าข้า.

ดูก่อนภัททาลิ ความเป็นผู้ไม่ทําให้บริบูรณ์ในสิกขานี้ จะเป็นเหตุเป็นปัจจัย หามิได้ แต่เรากําหนดใจด้วยใจ รู้เธอมานานแล้วว่า โมฆบุรุษนี้ เมื่อเราแสดงธรรมอยู่ ไม่ต้องการ ไม่ใส่ใจ ไม่รวบรวมด้วยใจทั้งปวง ไม่เงี่ยโสตลงฟังธรรม แต่ก็เราจักแสดงธรรมปริยายเปรียบด้วยม้าอาชาไนยหนุ่มแก่เธอ เธอจงฟังธรรมนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว. ท่านพระภัททาลิทูลรับพระดํารัสพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 335

ธรรม ๑๐ ประการ

[๑๗๔] พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนภัททาลิ เปรียบเหมือนนายสารถีฝึกม้าคนขยัน ได้ม้าอาชาไนยตัวงามมาแล้ว ครั้งแรกทีเดียว ฝึกให้รู้เหตุในการใส่บังเหียน เมื่อนายสารถีฝึกให้มันรู้เหตุในการใส่บังเหียน ความประพฤติเป็นข้าศึก การพยศ การดิ้นรนบางอย่างบางประการยังมีอยู่ทีเดียว เหมือนของม้าที่นายสารถีฝึกให้รู้เหตุที่ยังไม่เคยฝึก ฉะนั้น มันจะสงบลงได้ในการพยศนั้น เพราะนายสารถีฝึกให้รู้เนืองๆ เพราะนายสารถีฝึกให้รู้โดยลําดับ ในการที่ม้าอาชาไนยตัวงามสงบลงได้ในการพยศนั้น เพราะนายสารถีฝึกให้รู้เนืองๆ เพราะนายสารถีฝึกให้รู้โดยลําดับ.

นายสารถีฝึกม้า จึงฝึกให้มันรู้เหตุยิ่งขึ้นไป ในการเทียมแอก เมื่อนายสารถีฝึกให้มันรู้เหตุในการเทียมแอก ความประพฤติเป็นข้าศึก การพยศ การดิ้นรนบางอย่างบางประการยังมีอยู่ทีเดียว เหมือนของม้าที่นายสารถีฝึกให้รู้เหตุที่ยังไม่เคยฝึก ฉะนั้น มันจะสงบลงได้ ในการพยศนั้น เพราะนายสารถีฝึกให้รู้เนืองๆ เพราะนายสารถีฝึกให้รู้โดยลําดับ ในการที่ม้าอาชาไนยตัวงามสงบลงได้ ในการพยศนั้น เพราะนายสารถีฝึกให้รู้เนืองๆ เพราะนายสารถีฝึกให้รู้โดยลําดับ.

นายสารถีผู้ฝึกม้าจึงฝึกให้มันรู้เหตุยิ่งขึ้นไป ในการก้าวย่าง (๑) ในการวิ่งเป็นวงกลม (๒) ในการจรดกีบ (๓) ในการวิ่ง ในประโยชน์ต่อเสียงร้อง ในการฝึกไม่ให้ตื่นตกใจเพราะเสียงกึกก้องต่างๆ ในการเป็นม้ามีคุณที่พระราชาพึงรู้ ในวงศ์พญาม้า ในความว่องไวชั้นเยี่ยม ในการเป็นม้าชั้นเยี่ยม ในการเป็นม้าควรแก่คําอ่อนหวานชั้นเยี่ยม.

เมื่อนายสารถีฝึกให้มันรู้เหตุ ในการว่องไวชั้นเยี่ยม ในการเป็นม้าชั้นเยี่ยม ในการเป็นม้าควรแก่คําอ่อนหวานชั้นเยี่ยม ความประพฤติ


(๑) ในการยกและวางเท้าทั้ง ๔ ครั้งเดียวกัน

(๒) ในการสามารถให้คนนั่งบนหลัง เก็บอาวุธที่ตกภาคพื้นได้

(๓) ในการประสงค์จะให้เดินเบา ไม่ให้ข้าศึกได้ยินเสียงฝีเท้า.

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 336

เป็นข้าศึก การพยศ การดิ้นรนบางอย่างบางประการ ยังมีอยู่ทีเดียว เหมือนของม้าที่นายสารถีฝึกให้รู้เหตุที่ยังไม่เคยฝึก ฉะนั้น มันย่อมสงบลงได้ในการพยศนั้น เพราะนายสารถีฝึกให้รู้เนืองๆ เพราะนายสารถีฝึกให้รู้โดยลําดับ ในการที่ม้าอาชาไนยตัวงามสงบลงได้ในการพยศนั้น เพราะนายสารถีฝึกให้รู้เนืองๆ เพราะนายสารถีฝึกให้รู้โดยลําดับ สารถีผู้ฝึกม้าย่อมเพิ่มให้ซึ่งเหตุเป็นที่ตั้งแห่งคุณและเหตุเป็นที่ตั้งแห่งพละยิ่งขึ้นไป.

ดูก่อนภัททาลิ ม้าอาชาไนยตัวงาม ประกอบด้วยองค์ ๑๐ ประการนี้แล ย่อมเป็นพาหนะควรแก่พระราชา เป็นพาหนะสําหรับใช้สอยของพระราชา นับได้ว่าเป็นองค์ของพระราชา ฉันใด ดูก่อนภัททาลิ ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ก็ฉันนั้น ย่อมเป็นผู้ควรของคํานับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญยิ่งกว่า.

ธรรม ๑๐ ประการเป็นไฉน ดูก่อนภัททาลิ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ อันเป็นของพระอเสขะ.

ดูก่อนภัททาลิ ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ควรของคํานับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรแก่อัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งไปกว่า ดังนี้.

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระสูตรนี้แล้ว ท่านพระภัททาลิชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้แล.

จบภัททาลิสูตรที่ ๕

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 337

๕. อรรถกถาภัททาลิสูตร

ภัททาลิสูตร มีบทเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้.

ในบทเหล่านั้นบทว่า เอกาสนโภชนํ ได้แก่ ฉันอาหารในเวลาก่อนภัตหนเดียว ความว่าอาหารที่ควรฉัน.

บทมีอาทิว่า อปฺปาพาธตํ ความเป็นผู้มีอาพาธน้อยกล่าวไว้พิสดารแล้วในกกโจปมสูตร.

บทว่า น อุสฺสหามิ คือ ไม่สามารถ.

บทว่า สิยา กุกฺกุจฺจํ สิยา วิปฺปฏิสาโร พึงมีความรําคาญ พึงมีความเดือดร้อน ความว่า เมื่อฉันอย่างนี้จะพึงมีความเดือดร้อนรําคาญแก่เราว่า เราจักสามารถประพฤติพรหมจรรย์ได้ตลอดชีวิตหรือไม่หนอ.

บทว่า เอกเทสํ ภุฺชิตฺวา พึงฉันส่วนหนึ่ง ความว่า ได้ยินว่าพระเถระแต่ก่อนเมื่อทายกใส่อาหารลงในบาตรแล้วถวายเนยใส ฉันเนยใสร้อนหน่อยหนึ่งแล้วล้างมือนําส่วนที่เหลือไปภายนอก นั่งฉันในที่มีร่มไม้และน้ำสบาย. พระศาสดาตรัสหมายถึงอย่างนั้น.

แต่ท่านพระภัททาลิคิดว่า หากภิกษุฉันอาหารที่ทายกถวายเต็มบาตรคราวเดียว แล้วล้างบาตรนําอาหารที่ได้เต็มด้วยข้าวสุกไปในภายนอกแล้วพึงฉันในที่มีร่มไม้และน้ำสบาย. พึงควรอย่างนี้. นอกไปจากนี้ใครเล่าจะสามารถ. เพราะฉะนั้น ท่านพระภัททาลิจึงทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่สามารถฉันอาหารแม้อย่างนี้ได้.

ได้ยินว่า ในอดีตท่านพระภัททาลินี้เกิดในกําเนิดกา ในชาติเป็นลําดับมา. ธรรมดา กาทั้งหลายเป็นสัตว์ที่หิวบ่อย. เพราะฉะนั้นพระเถระจึงชื่อว่าเป็นผู้หิว. ก็เมื่อพระเถระนั้นโอดครวญอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงข่มทับถมพระเถระนั้นแล้วทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุใดพึงเคี้ยวก็ดี พึงบริโภคก็ดี ซึ่ง

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 338

ของเคี้ยวของบริโภค ในเวลาวิกาล ต้องอาบัติปาจิตตีย์.

ด้วยเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า ครั้งนั้นแล ท่านพระภัททาลิประกาศความไม่อุตสาหะขึ้นแล้วในเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ากําลังทรงบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อภิกษุสงฆ์สมาทานอยู่ซึ่งสิกขา.

บทว่า ยถาตํ ความว่า ท่านพระภัททาลิไม่ได้ให้เหมือนภิกษุอื่นผู้ไม่ทําความบริบูรณ์ในสิกขา แม้อยู่ในวัดเดียวกันก็ไม่พึงให้ตนประสบพระพักตร์พระศาสดา. ไม่ไปอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้า. ไม่ไปยังที่แสดงธรรม. ไม่ไปโรงตรึก ไม่ปฏิบัติเพียงภิกขาจารครั้งเดียว. ไม่ยืนแม้ที่ประตูของตระกูลที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่ง. หากพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปยังที่อยู่ของพระภัททาลินั้น. พระภัททาลิรู้ก่อนก็ไปเสียในที่อื่น.

นัยว่าท่านพระภัททาลินั้นเป็นกุลบุตรบวชด้วยศรัทธามีศีลบริสุทธิ์. ด้วยเหตุนั้นวิตกอย่างอื่นมิได้มีแก่ท่านพระภัททาลินั้น. ได้มีวิตกนี้เท่านั้นว่า เราคัดค้านการบัญญัติสิกขาบทของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะเหตุแห่งท้อง. เราทํากรรมไม่สมควร. เพราะฉะนั้น ท่านพระภัททาลิแม้อยู่ในวัดเดียวกันก็ไม่ได้ให้ตนประสบพระพักตร์พระศาสดา.

บทว่า จีวรกมฺมํ กโรนฺติ ภิกษุทั้งหลายทําจีวรกรรม ความว่าพวกมนุษย์ได้ถวายผ้าสาฎกทําจีวรแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า. ภิกษุทั้งหลายจึงถือเอาจีวรสาฎกนั้นทําจีวร.

บทว่า เอตํ เทสํ ความผิดนี้ ความว่าท่านจงมนสิการโอกาสนี้ ความผิดนี้คือเหตุที่ท่านคัดค้านการบัญญัติสิกขาบทของพระศาสดาให้ดี.

บทว่า ทุกฺกรตรํ การทําที่ยากกว่า ความว่า พวกภิกษุถามภิกษุทั้งหลายผู้อยู่จําพรรษาแล้วหลีกออกไปตามทิศว่า ท่านทั้งหลายอยู่ ณ ที่ไหน. เมื่อภิกษุทั้งหลายบอกว่าอยู่ ณ พระเชตวัน. ภิกษุเหล่านั้นก็จะเป็นผู้ถามว่า อาวุโสทั้งหลาย ในภายในพรรษานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสชาดกอะไร. ตรัสพระสูตรอะไร.

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 339

ทรงบัญญัติสิกขาบทอะไร.

ภิกษุทั้งหลายจักบอกว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติวิกาลโภชนสิกขาบท. แต่พระเถระรูปหนึ่งชื่อว่าภัททาลิได้คัดค้าน. ภิกษุทั้งหลายได้ฟังดังนั้นจึงพากันกล่าวว่า ธรรมดาแม้เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทมิใช่เหตุอันไม่ควรคัดค้าน. ภิกษุทั้งหลายสําคัญว่าความผิดของท่านนี้ปรากฏในระหว่างมหาชนอย่างนี้ จักถึงความเป็นผู้ทําคืนได้ยากจึงกล่าวอย่างนี้.

อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุแม้เหล่าอื่นครั้นออกพรรษาแล้วจักพากันไปเฝ้าพระศาสดา. เมื่อเป็นเช่นนั้นท่านจักประชุมสงฆ์ด้วยกล่าวว่า อาวุโสทั้งหลายเมื่อผมยังพระศาสดาให้ทรงยกโทษในความผิดนี้ ขอพวกท่านจงเป็นเพื่อนผมด้วยเถิด. อาคันตุกภิกษุทั้งหลาย ณ ที่นั้นจักถามว่า อาวุโส ภิกษุนี้ทําอะไรเล่า. ครั้นพวกอาคันตุกภิกษุฟังความนั้นแล้วจักกล่าวว่า ภิกษุทํากรรมหนัก. กรรมนี้ไม่สมควรเลยที่ภิกษุจักคัดค้านพระทศพล. ภิกษุทั้งหลายแม้สําคัญอยู่ว่า ความผิดของท่านนี้ปรากฏในระหว่างมหาชนแม้อย่างนี้จักถึงความเป็นผู้ทําคืนได้ยาก จึงกล่าวอย่างนี้.

ลําดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นออกพรรษาแล้วจักทรงหลีกไปจาริก. เมื่อเป็นเช่นนั้นท่านจักประชุมสงฆ์เพื่อขอให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกโทษในที่ที่เสด็จไปแล้ว. ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ในทิศ ณ ที่นั้นจักถามว่า อาวุโสทั้งหลาย ภิกษุนี้ทํากรรมอะไรไว้ ฯลฯ แม้สําคัญอยู่ว่าความผิดนี้จักถึงความเป็นผู้ทําคืนได้ยากจึงกล่าวอย่างนี้.

บทว่า เอตทโวจ ท่านพระภัททาลิได้กล่าวคํานั้นความว่า ท่านพระภัททาลิแม้สําคัญว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจักยกโทษแก่เรา ได้กล่าวคํานี้มีอาทิว่า อจฺจโย มํ ภนฺเต ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษได้ครอบงําข้าพระองค์ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 340

ในบทเหล่านั้นบทว่า อจฺจโย คือ โทษ.

บทว่า มํ อจฺจคมา ได้ครอบงําข้าพระองค์ คือ โทษได้ล่วงล้ำครอบงําข้าพระองค์เป็นไปแล้ว.

บทว่า ปฏิคฺคณฺหาตุ คือ ขอจงทรงยกโทษ.

บทว่า อายติํ สํวราย เพื่อความสํารวมต่อไป คือ เพื่อต้องการความสํารวมในอนาคต เพื่อไม่ทําความผิดความพลั้งพลาดเห็นปานนี้อีก.

บทว่า ตคฺฆ คือ โดยแน่นอน.

บทว่า ยถาธมฺมํ ปฏิกโรสิ เธอทําคืนตามชอบธรรม คือ เธอดํารงอยู่ในธรรมอย่างใดจงทําอย่างนั้น. อธิบายว่า ให้ยกโทษ.

บทว่า ตนฺเต มยํ ปฏิคฺคณฺหาม คือ เรายกโทษของท่านนั้น.

บทว่า วุฑฺฒิ เหสา ภทฺทาลิ อริยสฺส วินเย ความว่า ดูก่อนภัททาลิ นี้ชื่อว่าเป็นความเจริญในวินัยของพระอริยเจ้า คือ ในศาสนาของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า. การเห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้วทําคืนตามสมควรแก่ธรรมแล้วถึงความสํารวมต่อไปเป็นอย่างไร.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภิกษุใดทําเทศนาให้เป็นบุคลาธิษฐาน เห็นโทษโดยความเป็นโทษ แล้วทําคืนตามสมควรแก่ธรรม ภิกษุนั้นชื่อว่าย่อมถึงความสํารวมต่อไป.

บทว่า สมโยปิ โข เต ภทฺทาลิ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ดูก่อนภัททาลิ แม้เหตุหนึ่งอันควรที่เธอพึงแทงตลอดมีอยู่. เธอก็มิได้แทงตลอด มิได้กําหนดไว้.

พึงทราบวินิจฉัยในบทมีอาทิว่า อุภโตภาควิมุตฺโต พระอริยบุคคลชื่อว่า อุภโตภาควิมุต เป็นต้น ดังต่อไปนี้.

บุคคลทั้งหลายผู้มีความพร้อมเพรียงด้วยมรรคในขณะจิตหนึ่ง ๒ จําพวกคือ พระอริยบุคคลชื่อธรรมานุสารี ๑ พระอริยบุคคลชื่อสัทธานุสารี ๑. การที่พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงให้พระอริยบุคคล ๗ จําพวกเหล่านี้ทําตามคําสั่งก็ไม่ควร. เพราะเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงออกคําสั่งแล้ว พระอริยบุคคลเหล่านั้นก็ไม่ควรเพื่อทําอย่างนั้น.

อนึ่งเพื่อ

 
  ข้อความที่ 21  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 341

แสดงความที่พระอริยบุคคลทั้งหลายเป็นผู้ว่าง่ายด้วยการกําหนดมิใช่ฐานะและเพื่อแสดงความที่พระภัททาลิเถระเป็นผู้ว่ายาก พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสบทนี้.

เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงปรารภเทศนาว่า อปิ นุ ตวํ ตสฺมิํ สมเย อุภโตภาควิมุตฺโต ในสมัยนั้นเธอเป็นพระอริยบุคคลชื่อว่า อุภโตภาควิมุต บ้างหรือหนอ. เพื่อข่มพระภัททาลิ.

ในบทนี้มีอธิบายดังต่อไปนี้ว่า ดูก่อนภัททาลิ พระอริยบุคคล ๗ จําพวกเหล่านี้เป็นทักขิไณยบุคคลในโลกเป็นเจ้าของในศาสนาของเรา เมื่อเราบัญญัติสิกขาบท เมื่อมีเหตุอันควรที่พระอริยบุคคลจะพึงคัดค้าน การคัดค้านของพระอริยบุคคลเหล่านั้นจึงควร. แต่เธอเป็นคนภายนอกจากศาสนาของเรา เมื่อเราบัญญัติสิกขาบท เธอไม่ควรคัดค้าน.

บทว่า วิตฺโต ตุจฺโฉ เธอเป็นคนว่างคนเปล่า คือ พระภัททาลิเป็นคนว่างคนเปล่าเพราะไม่มีอริยคุณในภายใน ไม่มีอะไรๆ ในคําพูดเป็นอิสระ.

บทว่า สตฺถาปิ อุปวทติ แม้พระศาสดาก็ทรงติเตียนได้ ความว่า ภิกษุผู้อยู่วัดโน้นเป็นสัทธิวิหาริกของพระเถระรูปโน้น ภิกษุชื่อนี้เป็นอันเตวาสิกของพระเถระรูปโน้น เข้าไปสู่ป่าเพื่อยังโลกุตตรธรรมให้เกิด แล้วทรงติเตียนอย่างนี้ว่าเพราะเหตุไรภิกษุไม่ทําให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของเรา ด้วยการอยู่ป่าของภิกษุนั้น.

แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน. โดยที่แท้เทวดาไม่ติเตียนอย่างเดียว ยังแสดงอารมณ์น่ากลัวแล้วทําให้หนีไปอีกด้วย.

บทว่า อตฺตาปิ อตฺตานํ แม้ตนก็ติเตียนตน ความว่า เมื่อภิกษุนึกถึงศีล ฐานะอันเศร้าหมองย่อมปรากฏ. จิตย่อมแล่นไป กรรมฐานย่อมไม่ติด. ภิกษุนั้นมีความรําคาญว่าประโยชน์อะไรด้วยการอยู่ป่าของภิกษุเช่นเรา ลุกหลีกไป.

บทว่า อตฺตาปิ อตฺตานํ อุปวทิโต แม้ตนเองก็ติเตียนตนได้ คือ ตนเองติเตียนแม้ด้วยตน.

ปาฐะเป็นอย่างนี้แหละ พึงทราบธรรมฝ่ายขาวโดยนัยตรงกันข้ามกับที่กล่าวแล้ว.

 
  ข้อความที่ 22  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 342

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบทมีอาทิว่า โส วิวิจฺเจว กาเมหิ ภิกษุนั้นสงัดจากกาม เพื่อแสดงบทว่า เอวํ สจฺฉิกโรติ ภิกษุย่อมทําให้แจ้งอย่างนี้.

บทว่า ปวยฺห ปวยฺห การณํ กาเรนฺติ ภิกษุทั้งหลายข่มแล้วข่มเล่าแล้วทําให้เป็นเหตุ คือ ข่มโทษแม้มีประมาณน้อยแล้วทําบ่อยๆ.

บทว่า โน ตถา ไม่ข่มอย่างนั้น คือ ไม่ข่มความผิดแม้ใหญ่เหมือนภิกษุนอกนี้แล้วทําเป็นเหตุ.

ได้ยินว่า ภิกษุนั้นกล่าวว่า ดูก่อนภัททาลิผู้มีอายุ ท่านอย่าคิดไปเลย ชื่อว่ากรรมเห็นปานนี้ย่อมมี ท่านจงมาขอให้พระศาสดาทรงยกโทษเถิด แล้วส่งภิกษุรูปหนึ่งจากหมู่ภิกษุให้เรียกพระภัททาลิมาหาตน หวังการอนุเคราะห์จากสํานักของพระศาสดาอย่างนี้ว่า ดูก่อนภัททาลิ เธออย่าคิดไปเลย กรรมเห็นปานนี้ย่อมมี. จากนั้น ท่านพระภัททาลิคิดว่า แม้ภิกษุสงฆ์ แม้พระศาสดาก็มิได้ปลอบเราเลยแล้วจึงกล่าวอย่างนี้.

ลําดับนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อทรงแสดงว่า แม้ภิกษุสงฆ์ แม้พระศาสดาก็ย่อมทรงสั่งสอนและสอนผู้ที่ควรสั่งสอน มิได้ทรงสั่งสอนและสอนนอกไปจากนี้ จึงตรัสบทมีอาทิว่า อิธ ภทฺทาลิ เอกจฺโจ ดูก่อนภัททาลิ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้.

ในบทเหล่านั้นบทมีอาทิว่า อฺเนฺํ อย่างอื่นด้วยอาการอย่างอื่น ท่านกล่าวพิสดารแล้วในอนุมานสูตร.

บทว่า น สมฺมา วตฺตติ ไม่ประพฤติโดยชอบ คือ ไม่ประพฤติในวัตรโดยชอบ.

บทว่า น โลมํ วตฺเตติ ไม่ทําขนให้ตก ได้แก่ ไม่ประพฤติในอนุโลมวัตรคือถือเอาย้อนขน.

บทว่า น นิตฺถารํ วตฺตติ ไม่ประพฤติถอนตนออก คือ ไม่ประพฤติในวัตรคือการถอนตนออก ไม่พอใจรีบด่วนเพื่อออกจากอาบัติ.

บทว่า ตตฺร คือ ในเหตุแห่งการว่ายากนั้น.

บทว่า อภิณฺหาปตฺติโก คือ เป็นผู้ต้องอาบัติเนื่องๆ.

บทว่า อาปตฺติพหุโล เป็นผู้มากด้วยอาบัติ คือ เวลาต้องอาบัติมีมาก เวลาบริสุทธิ์

 
  ข้อความที่ 23  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 343

ไม่ต้องอาบัติมีน้อย.

บทว่า น ขิปฺปเมว วูปสมติ คือ อธิกรณ์ไม่ระงับเร็ว เป็นผู้นอนหลับนาน.

พระวินัยธรทั้งหลายกล่าวกะภิกษุผู้มาในเวลาล้างเท้าว่า อาวุโส จงไปได้เวลาปฏิบัติแล้ว. กล่าวกะภิกษุผู้รู้เวลามาแล้วอีกมีอาทิว่า อาวุโส จงไปได้เวลากวาดวัดแล้ว ได้เวลาสอนสามเณรเป็นต้นแล้ว. ได้เวลาอาบน้ำของเราแล้ว. ได้เวลาอุปัฏฐากพระเถระแล้ว. ได้เวลาล้างหน้าแล้ว. แล้วส่งภิกษุผู้มาในตอนกลางวันบ้าง ในตอนกลางคืนบ้างไป. เมื่อภิกษุกล่าวว่า ท่านขอรับ จักมีโอกาสในเวลาไหนอีก, จึงกล่าวคํามีอาทิว่า อาวุโส จงไปเถิด. ท่านย่อมรู้ถึงฐานะนี้. พระเถระผู้เป็นวินัยธร รูปโน้นจะดื่มน้ำมัน. รูปโน้นจะให้ทําการสวน. (สวนทวาร) เพราะเหตุไรท่านจึงรีบร้อนนักเล่า. แล้วนอนหลับนานต่อไป.

บทว่า ขิปฺปเมว วูปสมติ อธิกรณ์ย่อมระงับเร็ว คือ ระงับเร็ว ไม่นอนหลับนาน.

ภิกษุทั้งหลายผู้มีความขวนขวายกล่าวว่า อาวุโสทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้เป็นผู้ว่าง่าย. ชื่อว่าภิกษุผู้อยู่ในชนบท ย่อมไม่มีความผาสุก มีการอยู่ การยืน และการนั่งเป็นต้น ในเสนาสนะท้ายบ้าน. แม้ภิกขาจารก็ลําบาก. อธิกรณ์ของภิกษุรูปนั้นระงับได้เร็ว แล้วประชุมกันให้ภิกษุนั้นออกจากอาบัติ ให้ตั้งอยู่ในความบริสุทธิ์.

บทว่า อาธิจฺจาปตฺติโก คือ ภิกษุเป็นผู้ต้องอาบัติเป็นบางครั้ง. ภิกษุนั้นแม้เป็นผู้มีความละอาย เรียบร้อยก็จริง. แต่เพราะภิกษุนั้นเป็นผู้ว่ายาก ภิกษุทั้งหลายจึงต้องปฏิบัติอย่างนั้น.

บทว่า สทฺธามตฺตเกน วหติ เปมมตฺตเกน ภิกษุบางรูปนําชีวิตไปด้วยศรัทธาพอประมาณ ด้วยความรักพอประมาณ ความว่า ภิกษุบางรูป

 
  ข้อความที่ 24  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 344

ยังชีวิตให้เป็นไปในอาจารย์และอุปัชฌาย์ทั้งหลาย ด้วยศรัทธาเกี่ยวกับครอบครัวมีประมาณน้อย ด้วยความรักเกี่ยวกับครอบครัวมีประมาณน้อย. ชื่อว่าบรรพชา นี้เช่นกับถือเอาปฏิสนธิ. ภิกษุบวชใหม่ยังไม่รู้คุณของบรรพชา ยังชีวิตให้เป็นไปด้วยความรักพอประมาณในอาจารย์และอุปัชฌาย์. เพราะฉะนั้น ควรสงเคราะห์ ควรอนุเคราะห์ ภิกษุเห็นปานนี้. เพราะภิกษุทั้งหลายครั้นได้สงเคราะห์ แม้มีประมาณน้อย แล้วตั้งอยู่ในบรรพชา จักเป็นมหาสมณะสําเร็จอภิญญา.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงความข้อนี้ไว้ว่า พระศาสดาย่อมทรงสั่งสอนผู้ที่ควรสั่งสอน ด้วยกถามรรคประมาณเท่านี้. นอกนี้ไม่ทรงสั่งสอน.

บทว่า อฺาย สณฺหึสุ คือ ภิกษุดํารงอยู่ในอรหัตผล.

บทว่า สตฺเตสุ หายมาเนสุ เมื่อสัตว์ทั้งหลายกําลังเสื่อม คือ เมื่อการปฏิบัติเสื่อม สัตว์ก็ชื่อว่า เสื่อม.

บทว่า สทฺธมฺเม อนฺตรธายมาเน เมื่อพระสัทธรรมกําลังอันตรธาน คือ เมื่อปฏิบัติสัทธรรม กําลังอันตรธาน. จริงอยู่ เมื่อไม่มีสัตว์ผู้บําเพ็ญการปฏิบัติ แม้ปฏิบัติสัทธรรม ก็ชื่อว่าอันตรธาน.

บทว่า อาสวฏานียา คือ ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะทั้งหลาย. อธิบายว่า อาสวะทั้งหลายมีการติเตียนผู้อื่น ความเดือดร้อน การฆ่า และการจองจํา เป็นต้น และเป็นความพิเศษแห่งทุกข์ในอบาย ย่อมตั้งอยู่ในธรรมเหล่าใด. เพราะฉะนั้น เหตุนั้นย่อมมีแก่ธรรมเหล่านั้น.

ในบทนี้โยชนาแก้ไว้ว่า วีติกกมธรรม (ธรรมคือความก้าวล่วง) อันเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะเหล่านั้น ยังไม่ปรากฏในสงฆ์เพียงใด. พระศาสดายังไม่ทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลายเพียงนั้น.

บทว่า ยโต จ โข ภทฺทาลิ พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงอกาละอย่างนี้แล้ว จึงทรงแสดงถึงกาละต่อไป ตรัสคํามีอาทิว่า ยโต จ โข ภทฺทาลิ.

ในบทเหล่านั้นบทว่า ยโต คือ ในกาลใด.

บทที่เหลือพึงทราบ

 
  ข้อความที่ 25  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 345

โดยทำนองเดียวกันดังได้กล่าวแล้วนั่นแหละ.

อีกอย่างหนึ่ง ความสังเขปในบทนี้มีดังนี้.

ในกาลใดวีติกกมโทษอันนับว่า ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะปรากฏในสงฆ์. ในกาลนั้น พระศาสดาจึงทรงบัญญัติแก่สาวกทั้งหลาย. เพราะเหตุไร. เพราะเพื่อกําจัดวีติกกมโทษ อันได้แก่ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะเหล่านั้นนั่นแหละ.

พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นตรัสถึงอกาละแห่งกาลบัญญัติสิกขาบท อันยังไม่เกิดธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะอย่างนี้ และกาละอันเกิดขึ้นแห่งธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะ แล้วบัดนี้ เพื่อทรงแสดงถึงกาละอันยังไม่เกิดธรรมเหล่านั้น และกาละอันเกิดธรรมเหล่านั้น จึงตรัสคํามีอาทิว่า น ตาว ภทฺทาลิ อิเธกจฺเจ คือ ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะบางเหล่า ยังไม่ปรากฏในสงฆ์ในธรรมวินัยนี้.

ในบทเหล่านั้นบทว่า มหตฺตํ คือ ความเป็นใหญ่. จริงอยู่ สงฆ์เป็นผู้ถึงความเป็นใหญ่ด้วยอํานาจแห่งพระนวกะ พระมัชฌิมะ และพระเถระทั้งหลาย เพียงใด. เสนาสนะย่อมมีธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะบางเหล่ายังไม่เกิดขึ้นในศาสนา เพียงนั้น. แต่เมื่อสงฆ์ถึงความเป็นใหญ่ ธรรมเหล่านั้นจึงเกิดขึ้น. เมื่อเป็นดังนั้นพระศาสดาย่อมทรงบัญญัติสิกขาบท.

เมื่อสงฆ์ถึงความเป็นใหญ่ พึงทราบสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้โดยนัยนี้ว่า ภิกษุนอนร่วมกับอนุปสัมบันเกิน ๒ - ๓ ราตรีขึ้นไป ต้องปาจิตตีย์. ภิกษุณียังภิกษุผู้ยิ่งไม่มีพรรษาให้ลุกออกไป เป็นปาจิตตีย์. ภิกษุณียังภิกษุหนึ่งพรรษา สองพรรษาให้ลุกไป เป็นปาจิตตีย์.

บทว่า ลาภคฺคํ คือ ความเป็นผู้เลิศด้วยลาภ. จริงอยู่ สงฆ์ยังไม่ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยลาภ เพียงใด. ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะยังไม่เกิดขึ้นเพราะอาศัยลาภเพียงนั้น. แต่เมื่อสงฆ์ถึงแล้ว ธรรมเหล่านั้นจึงเกิด.

เมื่อเป็นเช่นนั้นพระศาสดาจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุให้ของเคี้ยวของฉันแก่อเจลก

 
  ข้อความที่ 26  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 346

ก็ดี แก่ปริพาชกก็ดี แก่ปริพาชิกาก็ดี ด้วยมือตนเองต้องปาจิตตีย์. เพราะเมื่อสงฆ์ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยลาภ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงบัญญัติสิกขาบทนี้.

บทว่า ยสคฺคํ คือ ความเป็นผู้เลิศด้วยยศ. จริงอยู่ สงฆ์ยังไม่ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยยศเพียงใด. ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะยังไม่เกิดขึ้นเพราะอาศัยยศเพียงนั้น. แต่เมื่อสงฆ์ถึงแล้วธรรมเหล่านั้นจึงเกิดขึ้น.

เมื่อเป็นเช่นนั้น พระศาสดาจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุดื่มน้ำเมาต้องปาจิตตีย์. เพราะเมื่อสงฆ์ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยยศ พระศาสดาจึงทรงบัญญัติสิกขาบทนี้.

บทว่า พาหุสจฺจํ คือ ความเป็นพหูสูต. จริงอยู่ สงฆ์ยังไม่ถึงความเป็นพหูสูตเพียงใด. ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะจึงยังไม่เกิดเพียงนั้น. แต่เมื่อสงฆ์ถึงความเป็นพหูสูต บุคคลทั้งหลายเล่าเรียนนิกาย ๑ บ้าง ๒ นิกายบ้าง ๕ นิกายบ้าง เกลาโดยไม่แยบคาย เทียบเคียงรสด้วยรส แล้วแสดงคําสอนของพระศาสดานอกธรรมนอกวินัย.

เมื่อเป็นเช่นนั้นพระศาสดาจึงทรงบัญญัติสิกขาบทโดยนัยมีอาทิว่า ภิกษุพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เรารู้ธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วอย่างนั้น ฯลฯ แม้สมณุเทศก็พึงกล่าวอย่างนั้น.

พึงทราบความในบทนี้ว่า รตฺตฺุตปฺปตฺโต ถึงความเป็นผู้รู้ราตรี. ชื่อว่า รตฺตฺู เพราะอรรถว่า รู้ราตรี. คือ รู้ราตรีมากตั้งแต่วันที่ตนบวช. อธิบายว่า บวชนาน.

ความเป็นแห่งผู้รู้ราตรี ชื่อว่า รตฺตฺุตํ ในบทนั้นพึงทราบว่า เมื่อสงฆ์ถึงความเป็นผู้รู้ราตรี พระศาสดาจึงทรงบัญญัติสิกขาบทปรารภท่านอุปเสนวังคันตบุตร เพราะท่านอุปเสนวังคันตบุตรนั้นเห็นภิกษุทั้งหลาย มีพรรษาหย่อน ๑๐ ให้อุปสมบท ตนมีพรรษาเดียวให้สัทธิวิหาริกบวช.

เมื่อเป็นเช่นนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีพรรษาหย่อน ๑๐ ไม่ควรให้กุลบุตรบวช. ภิกษุ

 
  ข้อความที่ 27  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 347

ให้กุลบุตรบวชต้องอาบัติทุกกฏ. เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทอย่างนี้ ภิกษุเขลาไม่ฉลาด ให้กุลบุตรบวชอีกด้วยคิดว่าเรามีพรรษา ๑๐ แล้ว เรามีพรรษา ๑๐ แล้ว.

เมื่อเป็นเช่นนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงบัญญัติสิกขาบทแม้อื่นอีกว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเขลา ไม่ฉลาด ไม่ควรให้กุลบุตรบวช ภิกษุให้กุลบุตรบวช ต้องอาบัติทุกกฎ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถมีพรรษา ๑๐ หรือมีพรรษาหย่อนกว่า ๑๐ เราอนุญาตให้บวชกุลบุตรได้.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบท ๒ ข้อ ในเวลาที่สงฆ์ถึงความเป็นผู้รู้ราตรี ด้วยประการฉะนี้.

บทว่า อาชานียสุสูปมํ ธมฺมปริยายํ เทเสสิํ คือ เราแสดงธรรมปริยายเปรียบด้วยอาชาไนยหนุ่ม.

บทว่า ตตฺถ คือ ในการระลึกไม่ได้นั้น.

บทว่า น โข ภทฺทาลิ เอเสว เหตุ คือ ความเป็นผู้ไม่ทําให้บริบูรณ์ในสิกขานี้ จะเป็นเหตุหามิได้.

บทว่า มุขาธาเน การณํ กาเรติ ฝึกให้รู้เหตุในการใส่บังเหียน คือ ฝึกให้รู้เหตุ เพื่อยกคอให้ดีในการใส่บังเหียนเป็นต้นที่ปาก.

ด้วยบทมีอาทิว่า วิสูกายิกานิ ประพฤติเป็นข้าศึก พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงความประพฤติพยศ.

บทนี้ทั้งหมดเป็นไวพจน์ของกันและกัน.

บทว่า ตสฺมิํ าเน ในฐานะนั้น คือ ในการประพฤติพยศนั้น.

บทว่า ปรินิพฺพายติ สงบ คือ หมดพยศ. อธิบายว่า ละความพยศนั้นได้.

บทว่า ยุคาธาเน ในการเทียมแอก คือ ในการวางแอกเพื่อประคองแอกให้ดี.

บทว่า อนุกฺกเม ในการก้าวย่าง คือ ในการยกและการวางเท้าทั้ง ๔ ครั้งเดียวกัน. ย่อมยืนในหลุมถือดาบตัดเท้าม้าของข้าศึกที่กําลังเดินมาอยู่ ในสมัยนั้น ม้านั้นจักยกเท้าแม้ทั้ง ๔ ครั้งเดียวกัน เพราะเหตุนั้น คนฝึกม้าจึงฝึกให้รู้เหตุนั้นด้วยวิธีผูกเชือก.

บทว่า

 
  ข้อความที่ 28  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 348

มณฺฑเล ในการวิ่งเป็นวงกลม คือ ฝึกให้รู้เหตุในการวิ่งเป็นวงกลม เพื่อทําโดยอาการที่ผู้นั่งบนหลังสามารถเก็บอาวุธที่ตกบนแผ่นดินได้.

บทว่า ขุรกาเส ในการจรดกีบ คือ ในการเอาปลายกีบจรดแผ่นดิน. เพราะในเวลาวิ่งไปในกลางคืน เพื่อมิให้ข้าศึกได้ยินเสียงเท้า จึงให้สัญญาในที่แห่งหนึ่งแล้วให้ศึกษาการเดินด้วยปลายกีบ. ท่านกล่าวบทนี้หมายถึงไม่ให้ข้าศึกได้ยินเสียงเท่านั้น.

บทว่า ธาเร ในการวิ่ง คือ ในการเป็นพาหนะเร็วไว. บาลีว่า ธาเว ก็มีฝึกให้รู้เหตุนั้น เพื่อหนีในเมื่อตนแพ้ และเพื่อติดตามจับข้าศึกที่หนี.

บทว่า รวตฺเถ ในประโยชน์ต่อเสียงร้อง คือ เพื่อประโยชน์แก่การร้อง. เพราะในการรบ เมื่อช้างแผดเสียงร้อง ม้าคะนอง รถบุกทําลาย หรือทหารโห่ร้องยินดี เพื่อมิให้กลัวเสียงร้องนั้น แล้วให้เข้าไปหาข้าศึก จึงฝึกให้รู้เหตุนั้น.

บทว่า ราชคุเณ ในการเป็นม้ามีคุณที่พระราชาพึงรู้.

ได้ยินว่า พระราชากูฏกัณฐะได้มีม้าชื่อว่าตุฬวณะ. พระราชาเสด็จออกทางประตูด้านทิศปราจีน เสด็จถึงฝังกทัมพนทีด้วยทรงพระดําริว่า เราจักไปเจดีย์บรรพต. ม้ายืนใกล้ฝังไม่ปรารถนาจะข้ามน้ำไป. พระราชาตรัสเรียกคนฝึกม้ามาแล้วตรัสว่า โอ ม้าที่เจ้าฝึกไม่ปรารถนาจะข้ามน้ำ.

คนฝึกม้ากราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ น่าอัศจรรย์ ม้านี้ข้าพระองค์ฝึกดีแล้ว. ม้าอาจคิดว่า หากเราจักข้ามน้ำ หางก็จักเปียก เมื่อหางเปียกน้ำ จะพึงเปียกที่พระวรกายของพระราชา เพราะเหตุนั้น ม้าจึงไม่ข้ามเพราะเกรงว่าน้ำจะเปียกที่พระวรกายของพระองค์ ด้วยอาการอย่างนี้. ขอพระองค์โปรดให้จับทางม้าไว้เถิดพระเจ้าข้า. พระราชาได้ทรงให้ทําอย่างนั้น. ม้ารีบข้ามไปถึงฝัง. คนฝึกม้าฝึกให้รู้เหตุนี้เพื่อต้องการอย่างนั้น.

บทว่า ราชวํเส ในวงศ์พญาม้า จริงอยู่ วงศ์ของพญาม้านั้นมีอธิบายว่า แม้ร่างกายจะถูกแทงทําลายไป ด้วยการประหารเห็นปานนั้น ก็ไม่ทําให้คนขี่ม้าตกไปในหมู่ข้าศึก

 
  ข้อความที่ 29  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 349

ย่อมนําออกไปภายนอกได้. ฝึกให้รู้เหตุเพื่อประโยชน์นั้น.

บทว่า อุตฺตเม ชเว ในความว่องไวชั้นเยี่ยม คือ ในการถึงพร้อมด้วยกําลัง อธิบายว่า ฝึกให้รู้เหตุโดยอาการที่มีกําลังชั้นเยี่ยม.

บทว่า อุตฺตเม หเย ในความเป็นม้าชั้นเยี่ยม อธิบายว่า ฝึกให้รู้เหตุโดยอาการที่เป็นม้าชั้นเยี่ยม. ในบทนั้นตามปรกติม้าชั้นเยี่ยมย่อมควรแก่เหตุแห่งความเป็นม้าชั้นเยี่ยม. ม้าอื่นไม่ควร. ม้าย่อมปฏิบัติ ความมีกําลังชั้นเยี่ยมอย่างนี้ด้วยเหตุเป็นม้าชั้นเยี่ยม. ม้าอื่นย่อมไม่ปฏิบัติ ความมีกําลังชั้นเยี่ยม.

ในม้าชั้นเยี่ยมนั้น มีเรื่องเล่าดังต่อไปนี้.

ได้ยินว่าพระราชาองค์หนึ่งได้ลูกม้าสินธพไว้ตัวหนึ่ง แต่ไม่ทรงทราบว่าเป็นม้าสินธพ จึงได้ทรงให้คนฝึกม้า เอาม้านี้ไปฝึก. แม้คนฝึกม้าก็ไม่รู้ว่าม้านั้นเป็นม้าสินธพ จึงนําถั่วเหลืองไปให้ลูกม้ากิน. ลูกม้าก็ไม่กินเพราะไม่สมควรแก่ตน. คนฝึกม้าไม่สามารถฝึกม้านั้น ได้จึงทูลพระราชาว่า ข้าแต่พระมหาราช ม้านี้เป็นม้าโกง พระเจ้าข้า แล้วปล่อยไป.

วันหนึ่งภิกษุหนุ่มรูปหนึ่ง เคยเป็นคนฝึกม้า ผู้ถือสิ่งของของอุปัชฌาย์ไป เห็นม้านั้นเที่ยวไปบนหลังคู จึงเรียนอุปัชฌาย์ว่า ท่านขอรับ ลูกม้าสินธพหาค่ามิได้ หากพระราชาทรงทราบพึงทําลูกม้านั้นให้เป็นม้ามงคล.

พระเถระกล่าวว่า นี่คุณ พระราชาเป็นมิจฉาทิฏฐิ ถ้ากระไร พึงทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เธอจงไปทูลพระราชาเถิด.

ภิกษุหนุ่มไปทูลพระราชาว่า มหาบพิตร มีลูกม้าสินธพหาค่ามิได้อยู่ตัวหนึ่ง.

พระราชาตรัสถามว่าพระคุณเจ้าเห็นหรือ, ภิกษุหนุ่มถวายพระพรว่า เห็นมหาบพิตร. ตรัสถามว่า ได้อะไรจึงจะควร. ถวายพระพรว่า ควรได้พระกระยาหารที่มหาบพิตรเสวยในภาชนะทองที่ใส่เครื่องเสวยของมหาบพิตร รสเครื่องดื่มของมหาบพิตร กลิ่นหอมดอกไม้ของมหาบพิตร ถวายพระพร.

พระราชารับสั่งให้ให้ทุกอย่าง. ภิกษุหนุ่มได้ให้คนถือนําไป. ม้าสูดกลิ่นคิดว่า ผู้ฝึกม้ารู้คุณของเราเห็นจะพอมีจึงยกศีรษะยืนแลดูอยู่.

 
  ข้อความที่ 30  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 350

ภิกษุหนุ่มเดินไปดีดนิ้วมือกล่าวว่า กินอาหารเถิด. ม้าเดินตรงมากินอาหารในถาดทอง. ดื่มน้ำมีรส.

ลําดับนั้นภิกษุหนุ่มเอากลิ่นหอมลูบไล้ม้าแล้วประดับเครื่องประดับของพระราชา ดีดนิ้ว กล่าวว่า จงไปข้างหน้าเถิด. ม้าเดินไปข้างหน้า ภิกษุหนุ่มได้ยืนในที่ของม้ามงคล. ภิกษุหนุ่มถวายพระพรว่า ขอถวายพระพร ลูกม้านี้หาค่ามิได้. ขอมหาบพิตรโปรดให้คนฝึกม้าประคบประหงมม้านั้นโดยทํานองนี้สัก ๒ - ๓ วันเถิด แล้วก็ออกไป.

ครั้นล่วงไป ๒ - ๓ วัน ภิกษุหนุ่มมาทูลถามว่าขอถวายพระพร มหาบพิตรจะทรงดู อานุภาพของม้าหรือ. ตรัสว่า ดีซิอาจารย์. เรายืนที่ไหนจึงจะเห็นเล่า. ถวายพระพรว่า ขอมหาบพิตรเสด็จไปยังพระอุทยานเถิด. พระราชารับสั่งให้จับม้าไป.

ภิกษุหนุ่มดีดนิ้วมือให้สัญญาแก่ม้าว่า เจ้าจงวิ่งไปรอบต้นไม้ต้นหนึ่ง. ม้าวิ่งไปรอบต้นไม้แล้วก็มา. พระราชามิได้ทรงเห็นม้าวิ่งไปวิ่งมา.

ภิกษุหนุ่มทูลถามว่า มหาบพิตรทรงเห็นหรือ. ตรัสว่า ไม่เห็นเลยพระคุณเจ้า.

ภิกษุหนุ่มทูลว่า ขอมหาบพิตรวางไม้ทําเครื่องหมายพิงค้นไม้ต้นหนึ่งไว้แล้วดีดนิ้วมือกล่าวว่า เจ้าจงคาบไม้เครื่องหมายนั้นมา. ม้าวิ่งไปคาบไม้นั้นมา ทูลถามว่า มหาบพิตรทรงเห็นหรือ. ตรัสว่า ไม่เห็นเลยพระคุณเจ้า.

ภิกษุหนุ่มดีดนิ้วมืออีกกล่าวว่า เจ้าจงวิ่งไปรอบๆ จนสุดกําแพงพระอุทยานมาเถิด. ม้าได้ทําอย่างนั้น. ทูลถามว่า มหาบพิตรทรงเห็นหรือ. ตรัสว่า ไม่เห็นเลยพระคุณเจ้า.

ภิกษุหนุ่มให้นําผ้ากัมพลสีแดงมาแล้วให้ผูกที่เท้าม้า ได้ให้สัญญาเหมือนอย่างนั้น. ม้ากระโดดวิ่งไปจนสุดกําแพง. ได้ปรากฏ ณ สุดกําแพงพระอุทยานดุจเปลวลูกไฟที่บุรุษมีกําลังแกว่ง. ม้าไปยืนอยู่ ณ ที่ใกล้. ทูลถามว่า มหาบพิตรทรงเห็นหรือ. ตรัสว่า เห็นแล้วพระคุณเจ้า.

ภิกษุได้ให้สัญญาว่า เจ้าจงวิ่งไปรอบๆ จนสุดกําแพงสระมงคลโบกขรณี. ม้าได้วิ่งไปรอบๆ จนสุดกําแพง

 
  ข้อความที่ 31  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 12 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 351

สระมงคลโบกขรณี. ภิกษุหนุ่มได้ให้สัญญาอีกว่า เจ้าจงหยั่งลงสู่สระโบกขรณีแล้ววิ่งไปบนใบบัวทั้งหมด. มิได้มีแม้แต่ใบหนึ่งที่ไม่ได้เหยียบก็ดี ฉีกขาดหักหักก็ดี. ทูลถามว่า มหาบพิตรทรงเห็นหรือ. ตรัสว่า เห็นแล้วพระคุณเจ้า.

ภิกษุหนุ่มดีดนิ้วมือแล้ว ยื่นฝ่ามือออกไป. ม้าเร็วดุจลมได้กระโดดไปยืนบนฝ่ามือ. ทูลถามว่า มหาบพิตรทรงเห็นหรือ. ตรัสว่า เห็นแล้วพระคุณเจ้า. ม้าชั้นเยี่ยมอย่างนี้ย่อมปฏิบัติกําลังชั้นเยี่ยม ด้วยเหตุอันยอดเยี่ยมอย่างนี้.

บทว่า อุตฺตเม สาขเลฺย ในการเป็นม้าควรแก่คําอ่อนหวานชั้นเยี่ยม. ความว่า ควรฝึกเหตุแห่งการเป็นม้าชั้นเยี่ยมด้วยวาจาอ่อนหวานว่าดูก่อนพ่อม้าเจ้าอย่าคิดไปเลย. เจ้าจักเป็นม้ามงคลของพระราชา, เจ้าจักได้อาหารมีพระกระยาหารเครื่องเสวยของพระราชาเป็นต้น. ด้วยเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า อุตฺตเม สาขเลฺย ดังนี้.

บทว่า ราชโภคฺโค คือ เป็นพาหนะสําหรับใช้สอยของพระราชา.

บทว่า รฺโ องฺคนฺเตฺวว สงฺขํ คจฺฉติ นับได้ว่าเป็นองค์ของพระราชา ความว่าพระราชาเสด็จไปในที่ไหนๆ ไปไม่ทอดทิ้งดุจมือและเท้าเพราะฉะนั้นจึงนับว่าเป็นองค์. หรือเป็นองค์หนึ่งในองค์แห่งเสนา ๔ เหล่า.

บทว่า อเสกฺขาย สมฺมาทิฏิยา สัมมาทิฏฐิอันเป็นของพระอเสขะ คือ สัมมาทิฏฐิอันเป็นอรหัตผล. แม้สัมมาสังกัปปะเป็นต้นก็สัมปยุตด้วยอรหัตผลนั้น. สัมมาญาณเป็นสัมมาทิฏฐิดังกล่าวแล้วในก่อน.

อนึ่ง ธรรมที่เหลือเว้นองค์แห่งผล ๘ พึงทราบว่าเป็นวิมุตติ.

บทที่เหลือในบททั้งปวงง่ายทั้งนั้น.

เทศนานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือเอาด้วยธรรมเป็นยอดแห่งพระอรหัต แล้วจบลงด้วยสามารถแห่งอุคฆฏิตัญูบุคคล ด้วยประการฉะนี้.

จบอรรถกถาภัททาลิสูตรที่ ๕